ธุรกิจพอดีคำ : “หลักการ หรือ จินตนาการ”

ในวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง

คุณตื่นขึ้นมาตอนเช้า พบว่ากำลังจะไปทำงานสายแล้ว

คุณหยิบมือถือขึ้นมา กด “จองรถ” แล้วก็ไปอาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว

โทรศัพท์มือถือคุณสั่น ส่งสัญญาณ “รถ” มารับแล้ว

คุณก้าวขึ้นไปบนรถคันนั้น กล่าวทักทายกับผู้โดยสารอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว

“อ้าว เจอกันอีกแล้วนะครับ วันนี้ออกช้าเหมือนกันเลย”

ผู้โดยสารยิ้มตอบ แล้วก้มหน้าทำงานบน “คอมพิวเตอร์” บนโต๊ะ

คุณเลือกที่จะนั่งอีกฝั่งหนึ่งของโต๊ะที่อยู่ตรงกลาง “รถ”

นึกภาพรถคันนี้เป็นเหมือน “กระเช้าชิงช้าสวรรค์”

รูปร่างกลมๆ มีที่นั่งสองฝั่งหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางที่โต๊ะเอาไว้วางของ

แน่นอน “ไม่มีที่สำหรับคนขับรถ” เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รถคันนี้วิ่งผ่านสี่แยกทุกสี่แยกโดยที่ไม่ติดไฟแดง เพราะ “ถนน” แห่งนี้ไม่มีไฟจราจร

รถยนต์ทุกคัน “พูดคุย” กัน เพื่อแบ่งช่องทางแบบอัตโนมัติ

ราวกับเป็น “วิดีโอเกม”

คุณก้มหน้าลงดูเช็กอีเมลจาก “โทรศัพท์มือถือ” พร้อมทานผลไม้ที่หยิบติดมือมาจากที่บ้าน

คุณพบว่ามี “ประชุมทางไกล” กับคนที่อยู่ต่างประเทศตอนนี้

จึงต่อสายไปอีกประเทศหนึ่ง เพื่อพูดคุย

สายอีกฝั่ง ฟังแล้ว ก็คงจะนั่ง “ทำงาน” ในรถยนต์เช่นกัน

คุยงานเสร็จแล้ว กำลังจะถึงที่ทำงาน

คนที่นังตรงข้ามเรียกชื่อคุณ

“อ้าว เจอกันอีกแล้วนะคะ วันนี้ยุ่งแต่เช้าเลยนะ”

คุณไม่ทันสังเกตว่า ผู้โดยสารคนแรกลงจากรถไปแล้ว

คนใหม่ที่ไปทางเดียวกัน ก็ขึ้นมาระหว่างทาง

“ครับผม เดี๋ยวไปก่อนนะครับ ไม่แน่เราอาจจะเจอกันอีกทีเย็นนี้”

เมื่อสัปดาห์ก่อน

ผมมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมประชุมเรื่อง อนาคตของการเดินทาง (The Future of Mobility) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดยบริษัทวิจัยข้อมูลชั้นนำชื่อว่า “บลูมเบิร์ก (Bloomberg)”

มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนจากทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากบริษัทรถยนต์ บริษัทพลังงาน หรือสถาบันวิจัยระดับโลก ก็ต่างพยายามจะ “พยากรณ์” อนาคตของ “การเดินทาง”

คำหนึ่งคำที่ทุกคนต่างชื่นชอบ และนำกลับไปต่อยอดธุรกิจ

คือคำว่า “CASE”

CASE ถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า กล่อง หรือกรณีศึกษา

แต่ CASE ในที่นี้ เป็นตัวแทนของอักษรสี่ตัว ที่เป็นแนวโน้มอนาคตของ “การเดินทาง”

หนึ่ง “C” คือ Connected หรือเชื่อมต่อกัน

อนาคต รถยนต์จะสื่อสารกันเองได้ สื่อสารกับสิ่งแวดล้อม และผู้คนได้

ไม่ต่างจากโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่มี “ล้อ” วิ่งได้

สอง “A” คือ Autonomous หรือไร้คนขับนั่นเอง

อย่างที่หลายท่านอาจจะทราบดี

“ความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error)” คือ สาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนน

หาก “มนุษย์” ไม่ต้องขับรถแล้ว

ในทาง “ทฤษฎี” อุบัติเหตุบนท้องถนนก็ควรจะลดลง ซึ่งแน่นอน ต้องขึ้นกับ “เทคโนโลยี” ที่กำลังพัฒนาด้วย

สาม “S” คือ Shared หรือแบ่งปันกัน ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน

สำหรับคนหนึ่งคนนั้น รถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแพงเป็นอันดับสองในชีวิตที่หาซื้อมา รองจาก “บ้าน”

หากแต่ว่า บ้านนั้น เราอยู่ทุกวัน นอนทุกวัน

แต่รถยนต์มีการวิจัยว่า 96% ของอายุรถยนต์คันหนึ่ง กลับถูกจอดไว้ “เฉยๆ”

หรือที่เรียกว่า มีอัตราการใช้งาน (Utilization Rate) เพียง 4% เท่านั้น

ก็หมายความว่า รถยนต์เป็นสินทรัพย์ราคาแพง ที่ผู้ครอบครองมีโอกาสใช้งานเพียง 4%

ในหลักของเศรษฐศาสตร์แล้ว การที่ทุกคนมี “รถยนต์” จอดไว้เฉยๆ มากมาย จึงเป็นสิ่งที่ “ไม่มีประสิทธิภาพ”

แนวคิดเรื่อง “ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน (carpool)” หรือการใช้รถยนต์เป็นการบริการ (car as a service) จึงเป็นทางออก

นอกจากเรื่องความคุ้มค่าของการใช้รถยนต์แล้ว

การที่เราสามารถ “แบ่งปัน” ที่นั่งในรถยนต์ให้ผู้อื่น จะทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนน “ลดลง”

แก้ปัญหา “รถติด” ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

เส้นกั้นระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ รถไฟ แท็กซี่ และระบบ “ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน” ก็จะค่อยๆ ละลายหายเป็นเรื่องเดียวกันในที่สุด

สุดท้าย ตัว “E” คือ Electric หรือการใช้พลังงานไฟฟ้า

ด้วยแนวโน้มของราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงเรื่อยๆ แถมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ เอาไว้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์

รวมถึงแหล่งพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ทีjไม่มีวันหมด และราคาถูกลงเรื่อยๆ เช่นกัน

แถมด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาประกาศ “จุดยืน” อย่างมากมาย

ทำให้เกิดแนวโน้มว่า รถยนต์ในอนาคต จะใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนการใช้ “น้ำมัน”

แน่นอนว่า สิ่งนี้คงจะไม่เกิดชั่วข้ามคืน แต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดูจะชัดเจน

คำถามคงไม่ใช่ว่า “จะเกิดหรือไม่”

แต่คือ “เมื่อไร”

และคำถามที่สำคัญสำหรับบริษัทน้ำมันทั่วโลกทั้งหลายก็คือ “คุณจะเริ่มทำอะไรในวันนี้บ้าง”

CASE นั้น จะเปลี่ยนโลกของการเดินทางไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แบบที่เราก็นึกไม่ถึง

เพราะหากเรามองย้อนไปในวันแรกของ “รถยนต์” ที่ออกมาวิ่งแทน “รถม้า”

การเปลี่ยนแปลงของ “การใช้ชีวิตของคน” หลายๆ อย่างอาจจะเป็นสิ่งที่คาดเดาได้

เช่น คงจะต้องมี “ที่จอดรถ” เพิ่มมากขึ้น หรือมีธุรกิจปั๊มน้ำมันเกิดขึ้น

แต่ใครจะคาดเดาได้ว่า การที่คนสามารถเดินทางได้ระยะไกลขึ้น จากการ “ขับรถยนต์”

จะทำให้เกิดการ “ซื้อขาย” ของในรูปแบบใหม่ ที่รวมศูนย์ไว้ที่เดียวมากขึ้น

ก่อให้เกิดธุรกิจ “ค้าปลีกยักษ์ใหญ่” อย่าง Walmart ที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นบริษัทที่มี “รายได้” มากที่สุดในโลก

โลกในอนาคตนั้น ไม่เคยเลยที่จะ “ชัดเจน” สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ

คำถามคือ “องค์กรที่คิดจะสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต จะปรับตัวอย่างไร”

ผมนั่งรถมาถึงที่ทำงาน เป็นบริษัทค้าปลีก “น้ำมัน” เล็กๆ

ลูกค้าของเราคือ “บริษัทเครื่องบินเจ๊ตหรู” ที่ยังใช้ “น้ำมัน” อยู่ ในขณะที่เครื่องบินโดยสารอื่นๆ เป็น “ไฟฟ้า” หมดแล้ว

ผมเดินเข้ามาในห้องประชุม “แผนธุรกิจ” สำหรับปีหน้า

หัวหน้าที่นั่งที่หัวโต๊ะ เริ่มการประชุม

“เอ้าไหน ใครวิเคราะห์อนาคตมาบ้าง ว่าจะเป็นอย่างไร นำมาอธิบายหน่อย เดี๋ยวเรามีที่ปรึกษาเจ้าเก่งมาเล่าให้ฟัง เปรียบเทียบกัน”

ธุรกิจแห่งอนาคต อาจไม่ต้องการ “หลักการ” ดูดีมากมาย

แต่คงต้องอาศัย “จินตนาการ” สักหน่อย