สุรชาติ บำรุงสุข : เสียสัตย์เพื่อชาติภาค 2 ! บทรำลึกพฤษภาคม 2535

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คุณสามารถหลอกประชาชนทุกคนได้บางเวลา และหลอกประชาชนบางคนได้ทุกเวลา แต่คุณไม่สามารถหลอกประชาชนทุกคนได้ทุกเวลา”

อับราฮัม ลินคอล์น

“ความซื่อสัตย์เป็นของขวัญที่มีราคาแพงมากๆ ดังนั้น จึงอย่าหวังของขวัญชิ้นนี้จากคนกระจอกๆ”

วอร์เรน บัฟเฟตต์

แล้วในที่สุดตารางเวลาหรือ “โรดแม็ป” ที่จะเป็นเครื่องวัดการรักษาพันธสัญญาในการพาประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะการเมืองปกติก็กลายเป็นเพียงเรื่องของการ “โกหกหลอกลวง” ในเวทีโลก

คำกล่าวที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งผู้นำทหารไทยเดินทางเยือนวอชิงตันในปี 2560 และได้กล่าวให้ความมั่นใจกับประชาคมระหว่างประเทศว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้หมดคุณค่าของการเป็น “คำสัญญา” ในเวทีระหว่างประเทศไปในทันที

เมื่อมีทิศทางที่ชัดเจนไม่ว่าจะจากผู้นำรัฐบาลทหาร การออกเสียงในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดรวมถึงการเริ่มเปิดประเด็นในแบบ “ชี้นำ” จากคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป

ว่าที่จริงแล้ว ไม่มีนักสังเกตการณ์ทางการเมืองคนไหนที่เชื่อว่ารัฐบาลทหารไทยจะรักษาคำมั่นสัญญาดังกล่าว

เพราะหากย้อนกลับไปสู่การสัญญาในเวทีระหว่างประเทศของผู้นำทหารไทยแล้ว จะพบได้ชัดเจนว่า คำสัญญาก่อนหน้านี้ทั้งสองครั้งว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2559 และต่อมาสัญญาว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 ก็ล้วนสะท้อนถึงการไม่รักษาสัญญาตามการประกาศที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

ลักษณะของการไม่รักษาคำสัญญาในเวทีระหว่างประเทศมาแล้วถึง 2 ครั้ง จึงทำให้การประกาศเลื่อนเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความน่าประหลาดใจแต่อย่างใด

และในความเป็นจริงก็ไม่มีใครที่เชื่อว่ารัฐบาลทหารจะยอมลงจากอำนาจและพาประเทศเข้า “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ทางการเมือง

เพราะยิ่งอยู่นานเท่าใด กลุ่มรัฐประหารและบรรดาเครือข่ายที่ปรากฏอยู่ในรูปของแม่น้ำสายต่างๆ ล้วนได้รับผลประโยชน์และค่าตอบแทนอย่างต่อเนื่อง

และเป็นการได้รับด้วยเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน

อันทำให้แม่น้ำทุกสายของรัฐบาลทหารกลายเป็นความ “อิ่มหนำสำราญ” จากงบประมาณอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน…

แม่น้ำทั้งห้าสายเป็น “แม่น้ำแห่งความสมบูรณ์พูนสุข” จนไม่มีสมาชิกคนใดอยากให้น้ำในแม่น้ำของตนหยุดไหลและแห้งเหือดลง

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระยะเวลาที่ทอดนานขึ้นก็คือ “ระยะเวลาแห่งความสุข” ที่บรรดานักรัฐประหารและเครือข่ายไม่ต้องการให้ยุติลง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การอยู่ต่อในอำนาจให้ได้ยาวนานที่สุดจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสำหรับรัฐบาลทหารแล้ว ยุทธศาสตร์หลักคือจะต้องยืดระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจให้ออกไปนานที่สุด เพื่อป้องกันการกลับสู่อำนาจของพรรคการเมือง

ดังนั้น หากมองผ่านประสบการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว คงต้องยอมรับว่าการเมืองไทยได้กลับเข้าสู่ยุค “เสียสัตย์เพื่อชาติ” อีกครั้ง เหมือนกับเหตุการณ์ในอดีตเมื่อครั้งปี 2535 โดยผู้นำรัฐบาลทหารในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน

แต่ก็มีแนวความคิดในแบบเดียวกันว่า พวกเขาจำเป็นต้องเสียคำสัตย์ (โกหก) ก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และพวกเขาเชื่ออีกด้วยว่า

คนไทยโดยทั่วไปจะยอมรับถึงการเสียสัตย์ที่เกิดขึ้นได้

และขณะเดียวกันพวกเขาเชื่อว่าสังคมไทยจะยอมให้ผู้นำทหารที่ “เสียสัตย์” อยู่ในอำนาจต่อไปโดยไม่ประท้วงหรือคัดค้าน

ย้อนประวัติศาสตร์

หากเราย้อนทบทวนประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็จะเห็นถึงการตัดสินใจของคณะทหารที่มีชื่อว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) โดยมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า

และผลจากการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นก็ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่ถูกยกเลิกไป) ซึ่งได้มีข้อถกเถียงที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปิดโอกาสให้บุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่

เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น ได้มีการชุมนุมของผู้คนเป็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้คณะรัฐประหารมีความชัดเจนว่า รัฐบาล รสช. จะไม่ทำรัฐธรรมนูญเพื่อก่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจของบุคคลในคณะรัฐประหาร ด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หรือเป็น “นายกฯ คนกลาง”

ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ พล.อ.สุจินดาจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ว่า “…ที่พูดกันว่าสภา รสช. จะสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญนั้น เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยสมาชิกสภา รสช. และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากเลือกตั้งแล้ว สภา รสช. ก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะกลับไปทำหน้าที่ในกองทัพเพียงอย่างเดียว… ขอยืนยันในที่นี้ว่าทั้ง พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตรจะไม่เป็นนายกฯ…” (มติชนรายวัน, 19 พฤศจิกายน 2534)

แต่แล้วในที่สุด กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามความต้องการของผู้นำทหาร รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเปิดช่องทางให้เกิด “นายกฯ คนนอก”

และนายกฯ คนนอกเช่นนี้จะเป็นคนอื่นใดไปไม่ได้ถ้ามิใช่ผู้นำทหาร

ประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่มีความซับซ้อนทางการเมือง และทุกฝ่ายก็มีความเห็นที่ชัดเจนตรงกันว่า ผู้นำทหารใช้ช่องทางทางกฎหมายในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการ “สืบทอดอำนาจ”

หากใช้วาทกรรมการเมืองปัจจุบันก็คงอธิบายได้ว่า การสืบทอดอำนาจจะทำให้รัฐประหาร “ไม่เสียของ” และทั้งยังจะเป็นหลักประกันที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้นำทหารได้อยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงบรรดาเครือข่ายของพวกเขาอีกด้วย

จนอาจกล่าวได้ว่า การสืบทอดอำนาจ คือ การดำรงผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ให้อยู่ในมือของผู้นำทหารและเครือข่ายต่อไป

และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์นี้จะต้องไม่ถูกทำลายลงด้วยผลจากกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และนักการเมืองไม่สามารถกลับสู่อำนาจได้

เสียสัตย์เพื่อชาติ

ต่อมา มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 แม้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารจะมีผลรวมของคะแนนเสียงที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แม้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 2 ในขณะนั้นคือพรรคความหวังใหม่ที่นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลอันเป็นไปตามกติกาของระบอบประชาธิปไตยเมื่อกลุ่มที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

จึงทำให้กลุ่มคะแนนเสียงข้างมากประกาศสนับสนุน พล.อ.สุจินดา รองประธานสภา รสช. เป็นนายกฯ และมีการเจรจาเพื่อขอให้ พล.อ.ชวลิตยอมเปิดทางให้ พล.อ.สุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ

ในการนี้ พล.อ.ชวลิตได้ให้สัมภาษณ์ว่า “หาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกไปรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมก็ผิดหวังหลายอย่าง เพราะเคยพูดว่าจะไม่เป็นมาตลอด…”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.สุจินดาก็ตัดสินใจที่จะรับตำแหน่งนายกฯ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้จะประกาศชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งดังกล่าวก็ตามที

และต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2535 พล.อ.สุจินดาได้กล่าวอำลาและให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้ข้าราชการประจำมาเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าที่มิได้มีบทบัญญัติไว้เช่นนั้นก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญถูกร่างให้เป็นไปตามความต้องการของผู้นำทหารต่างหาก และการร่างรัฐธรรมนูญมิได้เป็นไปตาม “เจตนารมณ์ของมหาชน” แต่อย่างใด

ในเวลาต่อมา พล.อ.สุจินดายังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ตัดสินใจรับตำแหน่งนายกฯ ว่า “มีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ”…

แน่นอนว่าสถานการณ์นับจากคำประกาศ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” แล้วเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และเริ่มมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขึ้น

พร้อมกันนี้การชุมนุมก็ขยายตัวออกไปในวงกว้าง มีกลุ่มและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาล แต่รัฐบาลทหารทุกชุดก็มักมีชุดความคิดที่ไม่แตกต่างกัน

ดังคำกล่าวของ พล.อ.สุจินดาในครั้งหนึ่งว่า “…เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่วิตกอะไรทั้งสิ้น สามารถควบคุมสถานการณ์ได้…”

รัฐบาลทหารมีความเชื่อเสมอว่าปืนคุมทุกอย่างได้ โดยไม่ตระหนักว่า สถานการณ์ขณะนั้นมีพลวัตสูงและอาจเดินไปสู่จุดพลิกผันทางการเมืองได้

ความเชื่อและจินตนาการอย่างหยาบๆ ของผู้มีอำนาจทางทหารที่ยึดติดอยู่กับ “อำนาจปืน” มักจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทหารในตัวแบบเช่นนี้มักจะชอบใช้คำพูดแบบ “ท้าทาย”

เพราะด้านหนึ่งเป็นความ “ไร้เดียงสา” ทางการเมืองที่คิดแบบหยาบๆ ว่า “ปืนคุมประชาชน ประชาชนกลัวปืน”

แต่ไม่เคยคิดกลับว่าแล้วถ้าประชาชนไม่กลัวปืนจะเกิดอะไรขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งผู้นำทหารในบริบทนี้ไม่เคยมีชีวิตและประสบการณ์ในสงครามก่อความไม่สงบ

ซึ่งบทเรียนแรกที่จะถูกสอนก็คือ พลังประชาชน… สงครามชนะได้ด้วยคนไม่ใช่ด้วยปืน

ดังนั้น บรรดานายพลที่กรีดกรายอยู่กับอำนาจการเมืองในเมืองหลวง และเชื่อว่าพวกเขาจะควบคุมประชาชนได้ด้วยปืน จึงมักเป็นเพียงนายทหารที่ไม่เคยมีชีวิตจริงในสนามรบ หรือไม่เคยมีประสบการณ์กับสงครามก่อความไม่สงบที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสงครามในโลกสมัยใหม่…

ผู้นำทหารที่ดูถูกพลังประชาชนไม่มีทางเป็น “ผู้ชนะสงคราม” ไม่ว่าจะเป็นสนามรบทางการเมืองหรือสนามรบทางการทหารก็ตาม

แล้วในที่สุด พลวัตของการเมืองไทยก็พาคณะรัฐประหาร รสช. ไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535

และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทหารในการเมืองไทยอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516…

ใครเลยจะคาดคิดว่าการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จะจบลงด้วยชะตากรรมที่ไม่คาดคิดของผู้นำทหารชุดนี้… ปืนไม่เคยคุมการเมืองไทยได้เช่นที่ผู้นำทหารคาดหวัง

เสียสัตย์เพื่อชาติ (อีกครั้ง)

แม้ผู้นำคณะรัฐประหารปัจจุบันอาจจะคิดว่า พวกเขาอยู่ในบริบททางการเมืองที่แตกต่างออกไป และไม่จำเป็นต้องคิดที่จะรักษา “พันธสัญญา” ที่เกิดจากคำพูดของผู้นำในเวทีระหว่างประเทศ

ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้นำรัฐบาลทหารเชื่อมั่นว่าคณะรัฐประหารชุดนี้มี “กองเชียร์” ที่เหนียวแน่น

กล่าวคือ รัฐประหารพฤษภาคม 2557 นั้นเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มปีกขวาจัดในการเมืองไทยที่ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และพัฒนาการจากการต่อต้านรัฐบาลในปี 2548 จนถึงปี 2557 เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงฐานสนับสนุนการรัฐประหารในสังคมไทย จนผู้นำการยึดอำนาจเชื่อเสมอว่า กองเชียร์รัฐประหารเช่นนี้จะเป็นรากฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งให้แก่รัฐบาลทหาร

และเชื่อต่อว่าพวกเขาจะพูดอะไรก็ได้ เพราะกองเชียร์ย่อมจะต้องเชียร์ไม่หยุด…

ถึงจะ “เสียสัตย์” ก็ไม่เป็นไร และก็จะมีแต่พวกที่ต่อต้านรัฐบาลเท่านั้นที่จะคัดค้าน

แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ด้วยความตระหนักรู้ในสถานการณ์การเมืองไทยแล้ว การ “เสียสัตย์” จากกำหนดการเลือกตั้งอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะครั้งนี้เป็นการพูดในเวทีระหว่างประเทศ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสถานะของประเทศจึงอาจจะซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้นำทหารจะตระหนักถึง

และขณะเดียวกันก็มีมากกว่าคำอธิบายแบบ “แก้ตัว” ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยที่เชื่อว่า “สหรัฐไม่ถือ” (ไทยรัฐออนไลน์, 23 มกราคม 2561)

แม้ผู้นำทหารปัจจุบันจะเชื่อว่าการเสียสัตย์ครั้งนี้อาจจะไม่นำไปสู่วิกฤตการเมืองเช่นเมื่อครั้งปี 2535 แต่อย่างน้อยพวกเขาควรจะตระหนักว่าการเสียสัตย์ครั้งนี้กำลังส่งสัญญาณถึงการไร้เสถียรภาพและความไม่แน่นอนของอนาคตการเมืองไทยที่ยิ่งทวีมากขึ้น

และบ่งบอกว่าปี 2561 จะเป็นปีของความผันผวนที่อาจคาดเดาไม่ได้ด้วย!