เจาะตัวตน-ความคิด “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา : คนธรรมดา-แม่-นักกิจกรรม (คลิป)

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน 

บทสัมภาษณ์นี้หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรก ก.พ. 2561


นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ตลอดหลายปีที่ทหารปกครองประเทศ ได้มีคนหนุ่มสาวรวมกลุ่มแสดงจุดยืนคัดค้านต่อต้านมาตั้งแต่ทหารก้าวสู่อำนาจทางการเมืองรอบใหม่ ทำให้มีนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางการเมือง ที่เรารู้จักในหน้าสื่อ ไม่ว่า รังสิมันต์ โรม, จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ชลธิชา แจ้งเร็ว

แต่สำหรับ ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ หญิงสาวแม่ลูกหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนเมืองทั่วไป กลับเลือกเส้นทางที่กลายเป็นนักกิจกรรมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้

อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้ผู้หญิงธรรมดา ก้าวออกมาแสดงออกและเต็มใจที่จะ “เสี่ยง”

 

: ชีวิตก่อนทำกิจกรรมทางการเมือง

ชีวิตโบว์ก็เป็นผู้หญิงกรุงเทพฯ ธรรมดาคนหนึ่ง เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่คุณพ่อคุณแม่เน้นเรื่องการศึกษา ก็เข้าเรียนที่อัสสัมชัญ (ประถม) ต่อด้วยสาธิตปทุมวัน (ม.ต้น) เตรียมอุดมศึกษา (ม.ปลาย) ศึกษาต่อที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ และทำงานเหมือนคนที่จบคณะนี้ เกี่ยวกับการต่างประเทศ การสื่อสาร งานประจำที่ทำนานหน่อยก็ที่บริติช เคาน์ซิล มีทำกิจการส่วนตัว แล้วออกมาเป็นรับจ้างอิสระ (Freelance) เน้นการสอน เช่น วิทยากรอิสระ พิธีกรและครูด้วย

 

: ออกจอโทรทัศน์ครั้งแรก

โบว์เป็นพิธีกรที่แรกให้กับช่องวอยซ์ทีวี อย่างรายการ ดีว่าส์ คาเฟ่ และโคซี่ ลิฟวิ่ง ก่อนที่รายการจะหยุดผลิตไป

 

: ชีวิตธรรมดาๆ หันมาสนใจการเมือง

ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ก็เริ่มสนใจการเมือง ส่วนใหญ่ขยับบนเฟซบุ๊กมากกว่า เช่น อ่านข้อมูล แสดงความคิดเห็นไปเรื่อยๆ แต่รัฐประหาร 2557 เป็นจุดเปลี่ยน ตอนนั้นได้ไปทำงานทีวี ก็ยังคงแสดงความคิดเห็นเหมือนเดิมแต่คนเริ่มรู้จักมากขึ้น

อยู่มาวันหนึ่ง อานนท์ นำภา ก็ชักชวนเพราะเห็นโบว์เล่นขิมแบบอัดคลิปอยู่ พอรู้ว่าแนวคิดทางการเมืองเป็นยังไง จึงได้ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกช่วยเหลือนักโทษการเมือง นั้นเป็นการออกสู่ถนนครั้งแรกนอกจากอยู่บนเฟซบุ๊ก

หลังจากนั้นก็ถลำตัวเข้ามากเรื่อยๆ จนถูกเรียกกว่า “นักกิจกรรม” ตอนทำรณรงค์ ไผ่ ดาวดิน เป็นหนึ่งในคนนำการณรงค์ แล้วก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ปกติเราลงมือจะมีความรู้สึกร่วมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคนโดนข้อหาจากการแสดงความคิดเห็น โบว์เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่คนจะถูกทำร้าย เราควรจะมีเสรีภาพในความคิด

 

:ตัวตนของ “โบว์” กลายเป็นแรงผลักดัน

ตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ชัดสำหรับโบว์มากที่สุด คือเป็นเด็กที่รักความยุติธรรม เวลาเห็นอะไรที่ไม่แฟร์ หรือใครถูกรังแก โบว์มักจะออกหน้า มันเป็นลักษณะที่ติดตัวมาแต่เด็ก เรียกว่าไม่ค่อยเปลี่ยนมาตั้งแต่เด็กจนโต ไม่เปลี่ยนทั้งหน้าตาทรงผม มันยังมีความเป็นเด็กแบบนั้นอยู่ในตัวเราคือรักความยุติธรรม มันจะทนไม่ได้เวลาเห็นคนที่อ่อนแอถูกรังแก

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย คนที่ต้องการประชาธิปไตยทุกคนมีความรู้สึกร่วมแบบนี้ อันนี้คือปัจจัยภายใน ส่วนปัจจัยภายนอกหรือเหตุบ้านการเมืองมันมากระทบความรู้สึกของเรา

พอหลังรัฐประหาร การแสดงความคิดเห็นของเราโดนรังแก มันชัดในสังคม มันเกิดขึ้นตลอดเวลา มันทำให้เรามีความรู้สึกร่วมมาก แล้วเมื่ออยู่ในส่วนที่สนับสนุน มีส่วนร่วมลงมือทำอะไรได้ มันก็ทำออกไปตามธรรมชาติ พอทำแล้วเห็นผล พอเหตุการณ์ใหม่เกิด ก็ไปทำใหม่ มันเกิดการต่อยอด เกิดทักษะที่เรียกว่าทำกิจกรรมเป็นแล้ว ก็กลายเป็นนักกิจกรรม ที่เป็นมือสมัครเล่น ไม่ได้เป็นอาชีพ

 

: ผลกระทบในหน้าที่การงาน

ในความเป็นฟรีแลนซ์ มันมีความเป็นอิสระ เมื่อทำงานอิสระ เราไม่ได้สังกัดองค์กรไหน มันไม่มีใครบอกเราหรอกว่า คุณอย่าแสดงความเห็นแบบนี้ อย่าเคลื่อนไหวมากเกินไปเดี๋ยวจะดูไม่ดีต่อองค์กร ไม่มีใครกล้าพูดกับเราแบบนี้ อย่างมากถ้าไม่ชอบก็เลิกจ้าง แต่ความเป็นฟรีแลนซ์ก็ไปรับจ้างคนอื่นแทน

แต่ที่ผ่านมา โบว์โชคดีที่ไม่เคยเจอกีดกันอะไรด้วยสาเหตุนี้ เรามืออาชีพมากในงานของเรา เพราะฉะนั้น มันเดินคู่ขนานกันไปได้ และเราสามารถจัดการเวลาได้ด้วย เช่น สถานการณ์ไหนมันแย่ โบว์อยากเผื่อเวลาไว้สำหรับกิจกรรม เราก็รับงานน้อย

 

: ชีวิต 2 ด้าน “ความเป็นแม่-นักกิจกรรม”

โบว์อาจจะมีเวลาให้กับลูกน้อยลงบ้าง เช่น ในบางสัปดาห์ หากมีงานเสวนาเชิญโบว์เป็นพิธีกร เท่ากับว่าช่วงนั้นหายไป แต่ลูกอยู่ในวัยที่มีความเป็นอิสระพอสมควร เป็นเด็กผู้ชายแต่นิสัยคล้ายโบว์ที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง มีโลกส่วนตัว

เวลาอยู่ในบ้านด้วยกันก็ไม่ได้มุ้งมิ้งตลอดเวลา ลูกออกไปเตะบอลกับเพื่อน ดูคลิปวิดีโอของเขา เล่นรูบิกหรือเกมของเขาไป

ถ้าดีที่สุดคือช่วงเย็นที่ได้อยู่ด้วยกันหรือก่อนนอน พาลูกเข้านอน มันค่อนข้างลงตัวเพราะลูกชายตอนนี้ 10 ขวบ มันเป็นวัยที่ไม่ได้ต้องการเรามากขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทิ้งลูก แต่ยอมรับว่าเวลาถูกแบ่งไปบ้าง

 

: ครอบครัวกังวลแค่ไหน

ในแง่กิจกรรมกับครอบครัว อาจจะมีปัญหาว่าแนวคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน หรือครอบครัวไม่ยอมให้ออกมาเพราะห่วงว่าจะเกิดอันตราย ซึ่งในเรื่องนี้โบว์ไม่มี เพราะโบว์มีความเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนเข้าใจลักษณะของเรา เลยไม่มีใครกล้าห้ามเรา ความเป็นห่วงอาจจะมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีการก้าวก่าย

 

: ช่วงที่ออกมาทำกิจกรรมมากสุด

ช่วงนี้แหละ! ถ้าช่วงพีคสุดคือตอนรณรงค์ไผ่ ทั้งยื่นหนังสือ อะไรต่อมิอะไร แต่เวลาก็ผ่านไปเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะแอ็คทีฟในงานเสวนา แต่พอมาถึงเหตุการณ์บนสกายวอล์กแยกปทุมวัน (27 มกราคมที่ผ่านมา) และก็โดนดำเนินคดี กลายเป็นว่าต้องเคลื่อนในเรื่องเพื่อผลเกี่ยวกับคดีในภาพรวมของกลุ่มด้วย ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ มีเรื่องให้ทำตลอด บางอย่างที่ต้องทำเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น

: การคุกคามครั้งแรก

เรื่องถูกคุกคามกลายเป็นชินไปกับมันเฉย เวลาจัดงานเสวนาอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจจะโทรมาประสานงานก่อน คือในแง่หลักการ มันคือการคุกคาม เพราะเราสามารถทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องคุยกับตำรวจ แต่ในแง่ท่าทีมันไม่ใช่การคุกคามเพราะพวกเขาสุภาพกับเราและเราก็คุ้นเคย ดังนั้นการคุกคามที่นักกิจกรรมจะต้องเผชิญก็เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่หลังรัฐประหาร ตั้งแต่ตีขิมตอนนั้นก็มีตำรวจเฝ้าจับตา มันเป็นการคุกคามในแง่ระบอบ มากกว่าตัวบุคคลซึ่งแบบนั้นโบว์ยังไม่ค่อยโดนยกเว้นเมื่อวาน (เพลงชาติแห่งความเงียบหน้าสยามพารากอน) หลังจบแถลง พอไปกินข้าว นอกเครื่องแบบตามถ่ายรูปแบบหลบๆซ่อนๆ เป็นครั้งแรกที่โบว์เจอ ปกติจะแสดงตัวคุ้นเคยกัน ทำให้หลายคนเป็นห่วงโบว์ หลังงานจบจะไม่ขึ้นรถกลับคนเดียวแล้ว จะมีเพื่อนประกบด้วย 

 

: ถูกคุกคามแบบนี้ กังวลแค่ไหน?

โบว์ไม่ค่อยเป็นคนวิตก อาจถึงขั้นประมาทก็ได้ ตอนนี้ยังไม่กังวลอะไร ถ้ารู้สึกเจอกันซึ่งหน้าก็คุยได้ นอกเสียจากจะเล่นสกปรก ดักทำร้าย โบว์คิดว่า วิตกไปก็ป้องกันไม่ได้อยู่ดี เราไม่สามารถจ้างบอดี้การ์ดดูแล 24 ชั่วโมง และเราคงไม่ต้องการชีวิตแบบนั้นด้วย เลยไม่ได้คิดถึง

 

: ถ้าต้องอยู่ในเรือนจำเพราะทำกิจกรรม

สมมติถ้าเดินออกไป โดนรถชน ขาพิการตลอดชีวิต จะรับมือยังไง เช่นกันถ้าถูกจับและไม่ได้ปล่อยตัวออกมา จะรับมือยังไง มันก็ต้องเจอก่อน รับมือมันด้วยสติ แต่สิ่งที่โบว์มั่นใจนั้นคือ เราเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ ไม่ว่าชะตาชีวิตจะเอาโบว์ไปวางไว้ตรงไหนในโลก ภารกิจของเราคือ อยู่ตรงนั้นและทำประโยชน์ โบว์อยู่ที่นี่ (มหาวิทยาลัย) สอนหนังสือ ถ้าต้องไปอยู่ในเรือนจำ จะต้องดูว่าโบว์อยู่ตรงนั้นทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

: อนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น

อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยะ ก้าวหน้า ทั้งความคิด เคารพสิทธิมนุษยชน เวลาเราบอกว่า ประเทศอะไรที่เคารพสิทธิมนุษยชนแล้วมีความเป็นประชาธิปไตย มันคือประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก เราอยากให้ทุกคนอยู่ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก และระบอบที่มีความรัก ความเห็นใจต่อกันมากที่สุด มันก็คือ ระบอบประชาธิปไตย เพราะในความเป็นประชาธิปไตย มันเห็นคนเท่ากัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะรับฟัง และเสียงทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน โบว์คิดว่า มันคือระบอบแห่งความรักสำหรับเรา คิดว่าเมืองไทยอยากให้เป็นแบบนั้น

 

: สื่อสารกับสังคมยังไงให้มีส่วนร่วม

ถ้าบอกกับคนที่ไม่รู้เรื่อง มันคงจะไม่ทัน เราควรบอกกับคนที่รู้เรื่องดีกว่า คนที่รู้แล้วแต่ไม่ขยับ โบว์อยากให้พิจารณาตัวเองดีๆ ว่ามีองค์ประกอบบางอย่างในตัวคุณที่เอามาลงแรงช่วยกันได้ ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องออกมาอยู่แนวหน้า บางคนเขียนเก่ง ถ่ายรูปเก่ง บางคนเป็นคนรวยก็เอาเงินมาช่วย อะไรก็ได้ที่คุณเชื่อในสิ่งเดียวกัน ลองพิจารณาดูว่าเรามีอะไร และเอาสิ่งนั้นออกมา

อย่างโบว์มีทักษะการสื่อสารที่ดีก็พยายามใช้ผ่านเฟซบุ๊ก มันมีวิธีที่ทุกคนสนับสนุน มีส่วนร่วมในพันธกิจได้โดยที่ไม่ต้องเอาตัวไปแนวหน้าเสมอไป เพียงแต่คิดซักนิดว่า เรามีต้นทุนอะไรที่คนอื่นไม่มี แล้วเราเอามาลงได้มากกว่า เมื่อมารวมกัน มันคือความหมายของ “พลังมด” ทำเท่าที่ทำได้ในระดับเท่าที่คุณรับไหว แต่ถ้าไม่ดูดาย พลังจะเยอะมากเป็นทวีคูณ แล้วนั้นทำให้สังคมที่อยากเห็น สิ่งที่เราฝัน มันอาจจะมาถึงเร็วขึ้น

: ทำด้วยใจรัก?

ใจสั่งมา (หัวเราะ) โบว์ยอมรับว่าเป็นคนโรแมนติก เป็นคนมีอุดมคติ บางคนมองเราแล้วรู้สึกว่า เว่อร์ไป แต่โลกมันก็มีคนแบบนี้ เช่นเดียวกับโลกที่มีคนอย่าง จอห์น เลนน่อน เราอาจไม่เป็นเหมือนเขา แต่เรามีความโรแมนติกแบบนั้น เรามีความฝัน บางคนอาจรู้สึกล่องลอย

แต่ว่าสิ่งนี้แหละ ที่คอยขับเคลื่อนชีวิตเรา