ฉัตรสุมาลย์ / เส้นทางสายไหม : ศิลปะตุนฮวาง

ถ้าไม่เขียนตอนนี้ ท่านพี่ขรรค์ชัย บุนปาน อาจจะท้วงเอาได้

ใช่ค่ะ ถ้าไปถึงตุนฮวางแล้วไม่พูดถึงศิลปะที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ก็ดูเหมือนไม่เคารพตุนฮวาง

รูปนางอัปสรจากตุนฮวางที่ร่อนไปทั่ว แม้คนไม่ได้ไป ก็เคยเห็นนะคะ

การศึกษาเรื่องศิลปะที่ตุนฮวางอาจจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ไม่ใช่เรื่องเดียว แต่อาจจะเป็นหลายเรื่องก็ได้ คิดแต่เพียงสีที่เขาใช้ ศิลปะของหลายยุคหลายสมัย งานศิลปะที่ตุนฮวางไม่ได้เกิดขึ้นวันเดียวแล้วจบ แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นพันปี

ปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยน ไม่ใช่เฉพาะสมัย แต่ขึ้นอยู่กับว่า ตอนนั้นใครปกครองดินแดนแถบนี้ด้วย

อย่างที่กล่าวไปเมื่ออาทิตย์ก่อนว่า เมื่อสมัยที่ทิเบตปกครอง ก็มีรูปของกษัตริย์ทิเบตมาฟังธรรมปรากฏในถ้ำ 2-3 แห่งด้วยกัน

 

เรื่องแรกที่อยากจะแบ่งปัน คือการดูรูปพระพุทธเจ้า บางครั้งก็ดูไม่ออกว่า พระพุทธเจ้าองค์ไหนบ้าง พระโพธิสัตว์องค์ใดบ้าง

มีที่มาจากพระสูตรที่ต่างกัน ถ้าเป็นพระสูตรอวตัมสกะ เล่มนี้ ยังไม่มีแปลเป็นไทยค่ะ เคยหยิบขึ้นมา 2-3 หนแล้วก็วางคืน เพราะเนื้อหาเป็นปรัชญาลึกซึ้ง เกรงว่า แปลไปครึ่งเล่มแล้วไม่เสร็จ จะเสียความรู้สึกมาก ถ้าเริ่มต้นทำแล้วต้องให้เสร็จ มิฉะนั้นจะค้างคาใจ

เดี๋ยวรอให้บารมีแก่กล้าอีกหน่อยอาจจะหยิบมาพิจารณาใหม่

ในพระสูตรนี้ พูดถึงพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ จะหมายถึง องค์กลางคือพระอมิตาภะ แห่งพุทธเกษตรในทางตะวันตก ขนาบทั้งสองข้างด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ควรอยู่ด้านขวาพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ด้านซ้ายพระหัตถ์จะเป็นพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์

ถ้าเป็นพุทธเกษตรทางตะวันออก องค์กลางจะเป็นพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า องค์นี้พระวรกายสีน้ำเงิน หรือฟ้าเข้ม อันเป็นสีของหินลาปิสลาสุลี ซึ่งหินนี้ ชาวทิเบตใช้เป็นหินที่มีคุณค่าในการรักษา เมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้าที่เยียวยารักษาจึงใช้แทนด้วยสีน้ำเงิน สองข้างของพระองค์จะเป็นพระโพธิสัตว์สุริยประภาข้างหนึ่ง และพระโพธิสัตว์จันทรประภาอีกข้างหนึ่ง

หากองค์กลางเป็นพระศากยมุนี โพธิสัตว์สองข้างจะเป็นพระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์ทางปัญญา และพระโพธิสัตว์สมันตภัทร องค์นี้มักเห็นทรงช้างขาว หกงา

ในสมัยถังบางครั้งวาดพระโพธิสัตว์โดยไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน เช่น พระมัญชุศรี และพระโพธิสัตว์สมันตภัทร เพราะทั้งสองต่างมีพระสูตรของตนเอง อาจจะหมายถึงความเป็นที่นิยมของท่านนั่นเอง เช่น ในถ้ำ 172 เป็นต้น

บางครั้งพระพุทธเจ้าอยู่ที่กำแพงด้านตรงที่เราหันหน้าเข้า และผนังด้านซ้ายจะเป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผนังด้านซ้ายจะเป็นรูปพระโพธิสัตว์สมันตภัทร และเหนือขึ้นไปจะเน้นทิวทัศน์ที่งดงามอลังการ เป็นโตรกหิน หน้าผา น้ำตก ฯลฯ เช่นที่ในถ้ำหมายเลข 159

 

นอกเหนือจากรูปปั้น และจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นรูปพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์แล้ว ยังมีกลุ่มจิตรกรรมที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ เช่น ปฐมเทศนา และบางครั้งมีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์นั่งเรียงกัน ในความหมายถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

บางถ้ำจะเน้นพระพุทธเจ้า 1,000 องค์ เป็นรูปเขียนอยู่ในช่องสี่เหลี่ยม ความสูงประมาณ องค์ละ 10 ถึง 20 ซ.ม. สีที่ใช้จะซ้ำ เป็นสีเขียว สีน้ำตาล สีดำและสีขาว เข้าใจว่าเป็นสีที่ใช้ฝนเอาจากหินที่หาได้ในปริเวณนั้น บางครั้งทำพระพุทธรูป 1,000 องค์ในภัทรกัลป์ สมัยราชวงศ์ทางเหนือ บางทีใช้แม่พิมพ์ปั๊มพระพุทธรูปแต่ละพระองค์บรรจุในช่องเท่าๆ กันให้ครบ 1,000 องค์ก็มี ในวัดพุทธมหายานในปัจจุบันก็ยังเห็นความนิยมนี้ เช่น ในพระอุโบสถของวัดโฝกวางซันในเมืองเกาซุง ในไต้หวัน

หวูไท คือภูเขา 5 ลูก ที่มีความเกี่ยวโยงกับภูเขา 5 ลูกที่เป็นที่ประทับของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น บนเขาหวูไท จึงมีวัดพระโพธิสัตว์มัญชุศรีเป็นหมายสำคัญ ภาพภูเขาหวูไท จะได้รับความนิยมมากในเมืองหลวงฉางอัน และพระโพธิสัตว์มัญชุศรีมักทรงสิงห์

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นอกจากจะได้รับการกล่าวถึงในพระสัทธรรมปุณฑรีกสูตรที่เป็นสูตรสำคัญที่สุดของมหายานแล้ว ยังมีพระสูตรเฉพาะของพระอวโลกิเตศวรด้วย

ที่ตุนฮวางจึงมีภาพของพระอวโลกิเตศวรอยู่หลายถ้ำ ที่สวยที่สุด ดูที่กำแพงด้านใต้ของถ้ำหมายเลข 205 และในถ้ำ 45

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นที่รู้จักได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาพระโพธิสัตว์ มีทั้งปางสหัสเนตรสหัสกร คือพันตา พันมือ ในฝ่ามือแต่ละฝ่ามือจะมีตากำกับ ในความหมายว่า พร้อมที่จะดูแล พร้อมที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ได้ทุกข์ นอกจากนั้นก็ยังมีพระอวโลกิเตศวร 6 กร และ 11 เศียรด้วย

ในสมัยถัง มีศิลปินชื่อ โชว ได้เริ่มวาดรูปพระอวโลกิเตศวร มีพระจันทร์สุกสว่างสะท้อนอยู่ในน้ำเบื้องหน้า เฉพาะที่ตุนฮวางมีรูปเช่นนี้อยู่ถึง 34 แห่ง

 

เทพรักษาสี่ทิศที่เรียกว่าจตุโลกบาลก็มีความนิยมเช่นกัน บ่อยครั้งที่จะเห็นเทพเจ้าตรงกำแพงทางเข้าถ้ำ อยู่ข้างละสององค์ บางครั้ง ขึ้นไปอยู่บนเพดานทั้งสี่ทิศ โดยหันศีรษะเข้ามาตรงกลาง

วัดจีนในเมืองไทย จะมีจตุโลกบาลประจำสี่ทิศในห้องแรกที่เข้าไปเสมอ ถัดเข้าไปจึงจะเป็นพระศรีอารยเมตไตรย มักจะหันพระพักตร์เข้าไปสู่พระอุโบสถ ที่อยู่ด้านหน้า

ที่มีชื่อและเป็นที่รู้จักกันดีมาก คือ นางอัปสร คนธรรพ์ และกินนร กินรี พวกนี้จะลอยอยู่บนฟ้า ในความหมายว่าเข้ามาถวายสักการะแก่พระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ที่เป็นประธานในห้องนั้น หรือในพื้นที่นั้นๆ

นางอัปสรและคนธรรพ์ที่เล่นดนตรีนี้ จะสังเกตความแตกต่างได้ตามยุคสมัย

ในราชวงศ์ถัง ก็มีราชวงศ์ตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ส่วนเว่ยตะวันตกก็จะต่างไปจากนางอัปสรของเว่ยทางเหนือ เป็นต้น

งานที่ว่านี้ ยังเปิดประตูท้าทายให้ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง จากในหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ สีที่ใช้ สไตล์ที่นิยม ฯลฯ

 

ในหมวดพุทธประวัตินั้น ก็จะปรากฏภาพพระนางศิริมหามายาทรงสุบิน เห็นช้างเผือก 6 งาเข้ามาหา ภาพตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ โดยพระมารดาเหนี่ยวกิ่งไม้ และพระโอรสกำลังเสด็จดำเนิน 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท

ฉากที่พระนางเสด็จกลับกบิลพัสดุ์หลังจากประสูติพระโอรส

ภาพมหาภิเนษกรม เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าออกจากเมืองกบิลพัสดุ์ ม้ากัณฑกะกำลังโลดแล่นลอยตัวเหนือแม่น้ำอโนมา เป็นสัญลักษณ์ว่าทรงสละทางโลกย์โดยสิ้นเชิง

ฉากที่เจ้าชายสิทธัตถะนั่งใต้ต้นโพธิ์ จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ฉากแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นการเคลื่อนกงล้อพระธรรมจักรเป็นครั้งแรก

ฉากปรินิพพาน พระพุทธองค์ทอดพระกายลงระหว่างต้นสาละคู่ ฯลฯ

ภาพเหล่านี้ แม้การแต่งกายเป็นจีน แต่เราก็สามารถเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอด

ในถ้ำที่ 275 เล่าถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะได้พบเทวทูตทั้งสี่ ในถ้ำที่ 428 เป็นฉากมหาปรินิพพาน เขียนในสมัยราชวงศ์โจวเหนือ (ค.ศ.557-581) พระพุทธองค์แม้นอนตะแคง แต่พระกรแนบพระวรกายทั้งสองข้าง ห้อมล้อมด้วยผู้คนที่อยู่ในอาการเศร้าโศก มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ด้านในชิดพระพุทธองค์ แถวถัดไปจึงเป็นฆราวาส

มีรูปที่แสดงการออกบวชของเจ้านายผู้หญิง มีการปลงพระเกศาด้วย โดยใช้นางสนองพระโอษฐ์ถือม่านกั้น ภาพนี้ นำมาแสดงที่กำแพงด้านนอก ที่เราสามารถถ่ายรูปได้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะพูดถึง คือลวดลาย ที่ใช้ประดับ อาจจะเป็นการคั่น เรื่องราวในพุทธประวัติ หรือบางที่ก็เป็นลวดลายประดับทั้งพื้นที่น่าดูมาก มีทั้งลวดลายไม้เถาและไม้ดอก ถ้าเป็นลวดลายประดับด้านบน บางทีใช้เต็มพื้นที่ทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวของพระพุทธเจ้าและบรรดาพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ที่คัดลงบนผ้า บนแพร เป็นจำนวนมาก มีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิลปะที่พูดมาทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เปิดพื้นที่สำหรับการค้นคว้าศึกษาติดตามเรื่องราวได้อีกน่าจะเป็นพันปี

เมื่อเห็นงานที่ตุนฮวางแล้ว ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า ตัวเองเล็กเท่ามด เท่าตัวไรเท่านั้นเอง

ข้าน้อยขอคารวะ