วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

Coco : โครงกระดูกในตู้ (จบ)

ที่สนุกก็คือบทบาทของรูปถ่าย หนังเรื่อง Coco จะบอกว่ารูปถ่ายกับความตายเป็นของคู่กัน
และการไม่มีรูปถ่ายบนแท่นบูชาแปลว่าตายแล้วถูกลืม
วันแห่งความตายของเม็กซิโกจึงเหมือนเช็งเม้งในแง่นี้ด้วย
คือใช้รูปถ่ายของบรรพบุรุษเป็นส่วนสำคัญของพิธีศพและการแสดงความเคารพผู้ตาย
รูปถ่ายปู่ทวดของมิกูเอลถูกฉีกขาดจนไม่เห็นใบหน้าและไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งแปลว่าถูกลืม นอกจากนั้น รูปนี้ยังเป็นที่มาของความเข้าใจผิดต่างๆ เช่น กีตาร์ในรูปทําให้เขานึกว่าเดอ ลา ครูซ เป็นญาติของตน
ความสัมพันธ์ระหว่างรูปถ่ายกับความตายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานานแล้ว บางคนบอกว่าคล้ายบทบาทในยุคแรกเริ่มของรูปถ่ายในตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 รูปถ่ายเป็นวัตถุมงคลที่ลูกหลานจะเก็บเอาไว้ดู ‘ต่างหน้า’ ทั้งนี้เพราะมีลักษณะคล้าย ‘หน้ากากผู้ตาย’ หรือ death mask ซึ่งเกิดจาการหล่อใบหน้าของผู้ตายด้วยปูนพลาสเตอร์ หน้ากากผู้ตายจะเป็นสิ่งที่บอกว่าเขามีคุณงามความดีและเป็นที่นึกถึงอยู่เสมอ
การที่รูปถ่ายเกิดจากแสงที่ตกกระทบร่างกายของผู้ถูกถ่าย แล้วถูกบันทึกลงบนกระดาษ กระจก หรือแผ่นหิน ทำให้มันมีที่มาที่ ‘แท้จริง’ การดูรูปถ่ายจึงเท่ากับว่าได้สัมผัสร่างกายที่แท้จริงด้วย นอกจากนั้น ยังช่วยย่นระยะห่างระหว่างคนตายกับบรรพบุรุษ หรือระหว่างสิ่งที่ถูกถ่ายรูปกับผู้ดู ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่มีอยู่เสมอ ทั้งในรูปถ่ายบุคคลและเซลฟี่
สิ่งที่ถูกเน้นควบคู่กับรูปถ่ายคือเอกสารข้ามแดน ในหนัง ก่อนจะข้ามมาสู่โลกของคนเป็น คนตายต้องบอกว่าตนเป็นใคร ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่จะเช็กด้วยการเทียบกับรูปขณะมีชีวิตอยู่ หรือที่ญาติวางไว้บนแท่นบูชา ถ้าใครไม่มีก็ไม่มีสิทธิผ่าน
ฉากนี้จะคล้ายด่านที่เราเคยเห็นในสนามบิน สถานีรถไฟ หรือที่พรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีการตรวจเอกสารและรูปถ่ายอย่างละเอียด ในหนัง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ถูกใช้ในการพิสูจน์เอกสาร โดยการจับคู่บุคคลนั้นกับรูปถ่ายได้อย่างรวดเร็ว
มุขตลกคือคนดังอย่างศิลปินเม็กซิกันชื่อฟรีดา คาโล ผ่านด่านไปได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ผีไม่มีญาติอย่างเฮกเตอร์ไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่มีรูปถ่ายบนแท่นบูชา
การแสดงเอกสารและด่านตรวจคนเข้าเมือง เกิดขึ้นเมื่อมีการแบ่งประเทศด้วยพื้นที่หรืออาณาเขตบนแผนที่ ซึ่งแปลว่าหลายร้อยปีมาแล้ว สิ่งนี้ต้องรับรองโดยรัฐบาลและเชื่อกันจนเป็นจารีตที่มั่นคงทั่วโลก และตราบจนทุกวันนี้ เราก็ยังพิสูจน์ตัวตนด้วยรูปถ่ายและลายเซ็น ในการเดินทางข้ามประเทศ ไม่ว่าจะในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้อพยพ พาสปอร์ตและบัตรประจำตัวเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องมี
และสำหรับคนงานที่เป็นผู้อพยพนั้น ต้องถือใบต่างด้าวไว้แนบกายตลอดเวลาทีเดียว

ทําไมรูปถ่ายและลายเซ็นมีอิทธิฤทธิ์อย่างยืนยาว?
หรือกลายเป็นหัวใจของประเพณีบูชาบรรพบุรุษซึ่งมีอายุหลายพันปี?
คำตอบนั้นอาจจะมีหลากหลาย ที่ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่ก็ให้แง่คิดที่ดีคือ Contested Citizenship : Cards, Colors and the Culture of Identification บทความของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ซึ่งพูดถึงรูปถ่ายในบัตรประชาชนและใบต่างด้าวแบบต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งในยุคโบราณและปัจจุบัน
ผู้เขียนอ้างหนังสือบางเล่ม เช่น Modernity at Large : Cultural Dimensions of Globalization ของอรชุน อาภาธุลัย (Arjun Appadurai) ซึ่งพูดถึงการขึ้นต่อบริบทท้องถิ่นของรูปถ่าย และการทำหน้าที่บอกตัวตนของผู้ยังมีชีวิตอยู่ ผู้เขียนเรียกการใช้รูปถ่ายในพิธีศพและวันแห่งความตายว่า “experiments with self-making”
อีกเล่มคือ Government of Paper : The Materiality of Bureaucracy in Urban Pakistan ของ แมตธิว ฮัลล์ ซึ่งพูดถึงกำเนิดของเอกสาร เช่น ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนในปากีสถาน ซึ่งทำให้รูปถ่ายมีสองฐานะ คือเครื่องมือในการควบคุมกับสิ่งที่เชื่อมร้อยระหว่างผู้ที่ยังอยู่และผู้ตาย และได้ยักย้ายรูปถ่ายจากพื้นที่ของรัฐเข้ามาสู่พื้นที่ของครอบครัว
ถ้าผู้ตายอยากให้คนอื่น Remember Me ก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้
Coco พูดถึงบทบาทของรูปถ่ายในแง่ที่ช่วยในการจดจำในครอบครัวมากกว่าเครื่องมือของสถาบันการควบคุม แต่ก็ไม่ได้ละเลยประเด็นหลัง และเล่นกับรูปถ่ายไปจนจบเรื่อง

เพราะเป็นหนังสำหรับเด็ก โครงกระดูกจึงไม่ได้น่ากลัวมาก อีกทั้งการใช้ไอเดียที่คล้าย “โครงกระดูกในตู้” หรือ Skeleton in the Closet ซึ่งหมายถึงเรื่องลับเกี่ยวกับคนในวงศ์ตระกูลที่ต้องเก็บซ่อนไว้ เพราะมีความน่าอับอายและไม่อยากให้ใครๆ รู้ พูดอีกอย่าง การมีปมลึกลับหรือแนวสืบสวนทำให้หนังเป็นที่ยอมรับง่ายขึ้น
ความลับนั้นคือบรรพบุรุษของมิกูเอลหลงใหลในดนตรีจนไม่กลับมาหาครอบครัว ซึ่งตอนแรก เขาคิดไปเองว่าคนๆ นั้นคือ เดอ ลา ครูซ แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป จึงพบว่าเฮกเตอร์ต่างหากที่เป็นปู่ทวดของเขา เดอ ลา ครูซ ขโมยผลงานของเฮกเตอร์ และทำให้นักดนตรีตัวจริง ไม่สามารถกลับมาตามสัญญา ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ด้วยรูปถ่ายที่แท้จริง
มิกูเอลพยายามเปิดเผยโครงกระดูกที่อยู่ในตู้ นั่นคือพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้แต่งเพลง Remember Me ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของบรรพบุรุษคนนี้และฐานะของดนตรีในครอบครัวพร้อมกัน การแย่งชิงรูปถ่ายกับฉากเพลงไพเราะมากมายดำเนินไป และตอนท้าย หนังจะบอกว่าหลักฐานที่ดีที่สุดคือ โคโค่ ย่าทวดของเขาซึ่งเป็นลูกสาวของเฮกเตอร์นั่นเอง
Coco สนุกพอจะไม่ทำให้ผู้ดูตกใจกับโครงกระดูกและความตาย และมีประโยชน์คือใช้เป็นจุดเริ่มในการคุยกับเด็กเรื่องนี้ได้ อีกทั้งชี้แนะวิธีปฏิบัติต่อญาติผู้ใหญ่ที่ตายไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเช็งเม้งหรือวันแห่งความตาย หนังจะบอกว่าคุณค่าสูงสุดของพิธีบูชาบรรพบุรุษคือความทรงจำ การจดจําและพูดถึงญาติผู้ล่วงลับอยู่เสมอ ย่อมเป็นการบอกแก่คนอื่นว่าเรามีที่มา และที่สำคัญ บอกว่าผู้ตายยังมีชีวิต และอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับเรา