เศรษฐกิจ/’พ.ร.บ.อีอีซี’ กำหนดอนาคตลงทุนไทย ‘พลิกโฉมประเทศ’ หรือ ‘แค่ลมปาก’

‘พ.ร.บ.อีอีซี’

กำหนดอนาคตลงทุนไทย

‘พลิกโฉมประเทศ’ หรือ ‘แค่ลมปาก’

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติโหวตรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ด้วยมติเอกฉันท์ 170 เสียง และเตรียมส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำขึ้นทูลเกล้าฯ
ขณะนี้เริ่มมีการจับตาว่า ทิศทางการลงทุนตลอดจนการพัฒนาประเทศไทยจะเป็นไปตามที่หวัง คือ ก้าวเป็นผู้นำอาเซียนแบบแข็งแกร่ง หรือสุดท้ายถูกเวียดนามและอินโดนีเซียสอยจนต้องรั้งท้ายในอาเซียนถาวร จากสัญญาณความวุ่นวายทางการเมืองที่เริ่มก่อตัว
จึงเป็นโจทย์ให้รัฐบาล โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องวางแผนการทำงานอย่างรัดกุม

ซึ่งเรื่องนี้ดูท่าทีของนายสมคิดจะพบว่า ทันทีที่กฎหมายผ่านได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นระหว่างการชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ก็ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางทำงานของรัฐบาลภายหลังกฎหมายผ่าน สนช. เช่นกัน ระบุว่าจะเร่งแผนชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยการโรดโชว์เต็มรูปแบบภายใต้การนำของสำนักงานอีอีซี จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม
ขณะเดียวกันก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมโรดโชว์ให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างเข้มข้น
พื้นที่แรกที่จะไปคือยุโรปก่อน ประเทศเยอรมนี เพราะมีอุตสาหกรรมตรงเป้าหมายของไทย
จากนั้นจะเดินทางไปญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศที่น่าสนใจอื่นๆ
ซึ่งรูปแบบการชักจูงการลงทุนจะกำหนดชัดเจนว่าอุตสาหกรรมกลุ่มใดจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ใดบ้าง เป็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนไม่สะเปะสะปะ
อาทิ อาจเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปร่วมคณะกรณีที่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังเตรียมแผนรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาดูพื้นที่จริงในอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมามีคณะนักลงทุนมากกว่า 500 รายที่เข้ามาดูพื้นที่จริงและร่วมสัมมนากับไทยแล้ว
และเร็วๆ นี้ จะมีคณะนักลงทุนจีน 200-300 รายที่จะเข้ามาดูพื้นที่เช่นกัน
และล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์จะมีคณะนักลงทุนจากรัสเซียประมาณ 30-40 รายเข้ามาดูลู่ทางการลงทุน มั่นใจว่าจะมีหลายประเทศสนใจเข้ามาดูพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนตามเป้าหมายแน่นอน
“หลังกฎหมายผ่านแล้ว ตอนนี้ทั้งโล่งใจและมั่นใจว่า จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าพัฒนาการลงทุนโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับประเทศให้มีการพัฒนาพื้นที่เต็มศักยภาพต่อเนื่อง”
นายอุตตมระบุ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเจริญที่สวยหรู ปัญหาผลกระทบจากกิจการโรงงานย่อมเป็นคำถามยอดฮิตจากภาคประชาสังคม ซึ่งเรื่องนี้ นายอุตตมยืนยันว่า การพัฒนาพื้นที่ครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยปัญหามลพิษ ความขัดแย้งระหว่างโรงงานกับชุมชนที่เคยเกิดในพื้นที่มาบตาพุด
เพราะครั้งนี้เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตไม่ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแน่นอน
อีกทั้งจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในพื้นที่อีอีซี วงเงินประเดิมที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา ช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและชุมชน สร้างสมดุลให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่แน่นอน
อีกสิ่งสำคัญที่นายอุตตมประกาศเร่งรัด คือ 5 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 600,000 ล้านบาท ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โดยจะประกาศร่างประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อให้ได้ผู้ลงทุนภายในปี 2561
นอกจากนี้ สำนักงานอีอีซีจะจัดทำแผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา และท่องเที่ยว ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งตลอดแผนการลงทุน 5 ปี (2560-2564) จะมีเม็ดเงินเข้าพื้นที่อีอีซีขั้นต่ำ 1.5 ล้านล้านบาท
หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มมีความชัดเจน เพราะอยู่ในขั้นตอนทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คือ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลังกฎหมายอีอีซี กนอ. มีแผนในการร่วมโรดโชว์กับสำนักงานอีอีซี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อกระตุ้นในการลงทุนในพื้นที่
ขณะเดียวกัน กนอ. ก็มีภารกิจเดินหน้าท่าเรือมาบตาพุดเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการอีอีซี โดยปีนี้ กนอ. ได้เตรียมพัฒนาพื้นที่สำหรับก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ประมาณ 1,000 ไร่ พร้อมเตรียมแผนดำเนินการเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาท่าเทียบเรือในช่วงกลางปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ผู้ร่วมทุนเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จากนั้นก็เข้าสู่การก่อสร้างทันที ซึ่งน่าจะทันภายในปีนี้แน่นอน
โดยการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนพื้นที่ถมทะเลและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประกอบด้วย งานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือและแอ่งกลับเรือ งานถมทะเล งานก่อสร้างเขื่อนหินกันทรายรอบพื้นที่ งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ
ส่วนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า มีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ 150 ไร่

ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย (อีอีซี) ที่ทำงานกับโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่ม แสดงความมั่นใจว่าปีนี้จะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากกว่า 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีอุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นคำขอในพื้นที่อีอีซี 2.8 ล้านบาท ส่วนการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปี 2560
“คำขอปีที่ 2560 ส่วนใหญ่เป็นการขยายกิจการ ส่วนปีนี้กฎหมายมีความชัดเจน มั่นใจว่าจะมีคำขอลงทุนใหม่แน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก 30 บริษัทชั้นนำของโลกที่สำนักงานอีอีซีอยู่ระหว่างเชิญชวนลงทุน ซึ่งขณะนี้ได้จำนวนบริษัทใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว” นายคณิศระบุ
ซึ่งคำขอลงทุนนี้ อีกหน่วยงานที่เป็นกำลังหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ถึง 7.2 แสนล้านบาท จำนวนนี้กำหนดเป้าหมายคำขอในพื้นที่อีอีซี 3 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้บีโอไอมีแผนเดินทางออกไปชักชวนนักลงทุนในท้องถิ่นทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์นี้ได้เดินทางไปโรดโชว์ที่เมืองฟุกุโอกุ ประเทศญี่ปุ่น
โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ

และไฮไลต์สำคัญของปีนี้คือ การจัดงานสัมมนาใหญ่ Thailand Talking Off วันที่ 19 มีนาคม 2561 เป็นสัมมนาประจำปีของบีโอไอ ที่จะเชิญนักธุรกิจชั้นนำของโลกมาร่วมงาน
ซึ่งเนื้อหาของสัมมนาจะแสดงให้นักธุรกิจเห็นถึงความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของภูมิภาคเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ ซึ่ง น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ จะใช้สาระของ พ.ร.บ.อีอีซี เป็นเครื่องมือในการชักจูงการลงทุนเช่นกัน
ซึ่งความคึกคักของงานสัมมนา ตลอดจนความสนใจในการยื่นคำขอลงทุนในอีอีซี จะเป็นคำตอบได้ดีว่า กฎหมายดังกล่าวคือแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนไทยตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่
หรือสุดท้ายการลงทุนไทยจะติดหล่มความวุ่นวายทางการเมืองที่เริ่มจุดพลุกันรายวัน เพราะความเชื่อมั่นด้านการลงทุนมักมาคู่กับความเชื่อมั่นด้านการเมืองเสมอ…