จิตต์สุภา ฉิน : คลื่นไม่เป็นภัยแต่ไร้ความรื่นรมย์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์ที่แล้วเราไปกันไกลถึงหนังโป๊ปลอมที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาเปลี่ยนหน้านักแสดงให้เป็นหน้าใครก็ได้ที่เราปรารถนา

สัปดาห์นี้กลับมาเรื่องใกล้ตัวกันหน่อยแล้วกันค่ะ

ซู่ชิงมีสองเรื่องน่าสนใจมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนที่เราพกใส่กระเป๋ากันแทบจะตลอดเวลาที่เราตื่นนอน

หรือดีไม่ดีอาจจะวางไว้ข้างหมอนในยามที่เราหลับด้วย (แต่อย่าวางไว้ใต้หมอนนะคะขอร้อง)

นับตั้งแต่การเริ่มต้นยุคของโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาให้เล็กลงๆ ทำให้พกง่าย ใช้คล่อง จนหลายคนใช้แทนโทรศัพท์บ้านไปแล้ว

สิ่งหนึ่งที่เราถกเถียงกันมาโดยตลอดก็คือ “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ” นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์หรือไม่

เราทุกคนน่าจะเคยถูกเตือนจากคนรอบข้างที่หวังดีมาแล้วว่าอย่าใช้โทรศัพท์บ่อยๆ หรืออย่าวางไว้ใกล้ตัวตอนนอน เพราะคลื่นที่ปล่อยออกมาอาจทำลายสุขภาพเราได้

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครมีหลักฐานมายืนยันได้เสียทีว่าตกลงแล้วโทรศัพท์มือถือเนี่ยมันไม่ดีต่อสุขภาพของเราจริงๆ หรือเรากังวลไปเองกันแน่

ล่าสุดผลวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์โดยหน่วยพิษวิทยาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาออกมาฟันธงแล้วว่า “คลื่นจากโทรศัพท์มือถือในระดับปกติทั่วไปนั้นไม่ส่งผลเสียต่อมนุษย์แต่อย่างใด”

ซึ่งผลสรุปนี้มาจากการทดลองที่ให้หนูอาบคลื่นความถี่วิทยุในระดับสูง ที่ความถี่เซลลูลาร์แบบ 2G และ 3G และไม่พบอันตรายที่เกิดขึ้นแม้จะเร่งระดับให้สูงมากก็ตาม

ในการทดลองครั้งหนึ่งพบว่าหนูตัวผู้มีเนื้องอกมะเร็งเกิดขึ้นรอบหัวใจ แต่หนูตัวเมียกลับไม่เป็นอะไรเลย

ในขณะที่อีกการทดลองหนึ่งพบว่าหนูทั้งตัวผู้และเมียไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นหลังจากการทดลอง

แถมกลับค้นพบข้อมูลที่ต้องทำให้ประหลาดใจอีก คือลูกหนูที่เพิ่งเกิดใหม่และแม่หนูมีน้ำหนักที่ลดลงแต่เติบโตมีขนาดตัวตามปกติ

โดยหนูที่ผ่านการอาบคลื่นมานั้นกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าหนูที่ไม่ได้ถูกนำมาทดลองด้วยซ้ำ

ซึ่งต้องย้ำอีกรอบว่าคลื่นที่หนูเหล่านี้อาบกันนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยไปมากกกก แบบ ก.ไก่สักสิบตัว คืออาบคลื่น 1.5 ถึง 6 วัตต์ต่อกิโลกรัม นานเก้าชั่วโมงต่อวัน เป็นระยะเวลานานถึง 2 ปี! (น้ำตาซึมด้วยความสงสารหนู)

ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับมนุษย์ ต่อให้เป็นคนที่ติดโทรศัพท์มือถือที่สุดในโลกก็ยังไม่ได้สัมผัสคลื่นมากเท่านี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการทดลองนี้ไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นผลลัพธ์แบบเดียวกับมนุษย์ได้เต็มรูปแบบ เพราะหนูมีขนาดตัวที่เล็กกว่าคนมาก ดังนั้น หนูจึงรับคลื่นเข้าไปทั้งตัวแบบเต็มๆ

ในขณะที่คนจะมีเฉพาะส่วนเหนือใบหู หรือต้นขาเท่านั้น ที่จะสัมผัสกับคลื่นแบบเดียวกันนี้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือสัมผัสตามลักษณะการใช้โทรศัพท์ คือแนบไว้กับหู หรือใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงนั่นเอง

และการทดลองนี้ก็ไม่ได้ทำกับคลื่นความถี่ 4G หรือ 5G ด้วย

จึงเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ 2G และ 3G อาจจะไม่เกิดกับการเชื่อมต่อแบบ LTE ด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อดูโดยรวมๆ แล้วก็อาจแปลความได้ว่า ผลการทดลองชี้ว่าไม่เกิดผลกระทบต่อหนู หรือหากเกิดอย่างกรณีของหนูที่มีเนื้องอก ก็อาจจะเพราะว่าปริมาณคลื่นที่ได้รับนั้นมันสูงกว่ามนุษย์มาก และหนูรับไปเต็มๆ

ในขณะที่มนุษย์ตัวใหญ่กว่าและรับคลื่นน้อยกว่ามาก

คำถามคือเราจะสามารถไว้ใจกับผลการทดลองครั้งนี้ได้แค่ไหน

และนี่แปลว่าเราจะวางใจใช้โทรศัพท์มือถือแนบหูแบบไม่อั้นได้วันละหลายๆ ชั่วโมง ต่อไปอีกเป็นสิบปีหรือไม่

เราก็อาจจะยังไม่สามารถเบาใจได้ขนาดนั้นค่ะ เพราะการทดลองครั้งนี้บ่งบอกเฉพาะผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น

และเนื่องจากโทรศัพท์มือถือเพิ่งกลายมาเป็นสิ่งของต้องห้ามขาดของเราได้ไม่นานนัก (ประมาณสิบปียังถือว่าไม่นานมากนะคะ)

ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาในระยะยาวต่อไปอีก

แต่ข่าวดีที่ว่าคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เราก็พอจะโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่งแล้วว่ามันไม่มีผลกระทบระยะสั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็บอกว่าแม้ทุกวันนี้เราจะใช้โทรศัพท์มือถือกันเพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้มีรายงานการเพิ่มขึ้นของเนื้องอกในสมองแต่อย่างใด จึงนับว่ามาตรฐานทุกวันนี้ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

แต่ก็อย่างว่านะคะ เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสบายใจเป็นรายคนไป ใครยังรู้สึกว่าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงใดๆ ก็ตามให้กับตัวเอง ก็จะต้องหาวิธีหลีกเลี่ยง อย่างเช่น การใช้ให้น้อยลง หรือการเสียบหูฟังแทน

ก็เอาตามที่สบายใจเลยค่ะ

 

กระโดดไปดูอีกเรื่องกันค่ะ ยังวนเวียนอยู่กับโทรศัพท์มือถือนี่แหละ

แต่คราวนี้เป็นผลวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการใช้สมาร์ตโฟนอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่เว้นแม้แต่บนโต๊ะอาหารเหมือนอย่างที่เราทำกันทุกวันนี้ และไม่ใช่ผลกระทบทางร่างกายเหมือนเรื่องแรก แต่เป็นผลกระทบทางใจค่ะ

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนียและมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ในแคนาดา ร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สมาร์ตโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร โดยทดลองกับผู้เข้าร่วม 304 คน ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี

พวกเขาแบ่งเงื่อนไขออกเป็น 2 รูปแบบ

กลุ่มแรก ให้วางโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะอาหารในระหว่างรับประทานอาหาร

ส่วนกลุ่มที่สอง จะต้องเอาโทรศัพท์ไปวางไว้ไกลๆ

พวกเขาบอกอาสาสมัครกลุ่มแรกว่าที่ต้องวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัวเพราะจะมีการส่งคำถามมาให้ตอบในระหว่างมื้ออาหาร

ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับแจกแบบสอบถามกระดาษหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ก็เลยไม่ต้องใช้โทรศัพท์ในระหว่างกินก็ได้

หลังกินเสร็จ ทั้งสองกลุ่มก็มาตอบคำถามว่าพวกเขาเพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆ แค่ไหน

อย่างเช่น รสชาติของอาหาร บทสนทนาในระหว่างกินอาหาร หรือประสบการณ์โดยรวมทั้งหมด และถามว่าใช้โทรศัพท์มือถือไปมากแค่ไหน

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบว่ากลุ่มที่วางโทรศัพท์มือถือไว้ห่างตัว จะมีประสบการณ์การกินอาหารที่ดีกว่ากลุ่มที่มีโทรศัพท์ติดตัว

ซึ่งทีมนักวิจัยก็สรุปว่าการที่มีโทรศัพท์มาคอยแย่งความสนใจอยู่เรื่อยๆ นั้น ลดความรื่นรมย์ของการนั่งกินข้าวด้วยกันลงไป

และไม่ได้ลดไปนิดเดียวด้วยนะคะ พวกเขาบอกว่าลดลงไปมากอย่างเป็นนัยสำคัญเลยทีเดียว

นักวิจัยเน้นย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะว่าสมาร์ตโฟนเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง การแบ่งปันอาหารกันเป็นกิจกรรมที่เราทำเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ต่อมนุษย์คนอื่นๆ แต่คนในยุคนี้กลับไม่รู้แล้วด้วยซ้ำว่าการใช้ชีวิตโดยไม่มีสมาร์ตโฟนติดตัวมันเป็นยังไง

และเราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองคุ้นเคยกับการถูกสมาร์ตโฟนแย่งความสนใจแบบนี้ให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

สองเรื่องที่หยิบมาเล่าวันนี้ก็คงต้องให้เป็นหน้าที่ของคุณผู้อ่านที่จะเก็บไปคิดต่อว่าจะกำหนดให้โทรศัพท์ข้องเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองเป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนหลังจากนี้ไป

แต่อันที่จริงซู่ชิงก็สามารถปิดจบบทความได้ง่ายๆ ว่า

ตัดพฤติกรรมเรื่องหลังทิ้งไปได้ เรื่องแรกก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวลสักเท่าไหร่แล้วค่ะ