มองบ้านมองเมือง/ว่าด้วยความหวาน

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

ว่าด้วยความหวาน

โดยทั่วไป ถ้าถามถึงรสหวาน เราคงตัดสินใจหรือรับรู้ได้ง่าย เพียงแค่นำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม หรือผลไม้ มาแตะปลายลิ้น ก็จะบอกได้ว่า หวานหรือไม่หวาน
แต่ถ้าถามถึงความหวาน ในงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม สิ่งทอ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ ที่ไม่สามารถใช้ลิ้นสัมผัสได้ หากต้องใช้ตา หู หรือมือสัมผัส ก็ยากที่จะบอกได้ว่า หวานหรือไม่หวาน
ดังนั้น การรับรู้ความหวานในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อาหาร จะต้องอาศัยการรับรู้ผ่านทางตา หู และมือสัมผัส โดยใช้ประสบการณ์เทียบเคียงกับสิ่งที่เคยรู้รสหวานมาก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศิลปินและนักออกแบบ ต้องหันไปหาความรู้พื้นฐานทางศิลปะ มาเป็นตัวช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความหวาน

อย่างเส้นสายที่คดโค้ง น่าจะทำให้เกิดการรับรู้ถึงความอ่อนโยน อ่อนไหว ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้รับรู้ถึงความหวานได้บ้าง
ซึ่งต่างไปจากเส้นตั้งหรือเส้นนอน ที่แสดงถึงความมั่นคง ความสงบ ส่วนเส้นหักฉากหรือเส้นเฉไฉ ที่แสดงถึงความเฉียบขาด รุนแรง ย่อมไม่หวานแน่นอน
เช่นเดียวกับรูปร่างเหลี่ยมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือหลายเหลี่ยม หรือแม้กระทั่งวงกลม ล้วนแสดงถึงความสมบูรณ์ และไม่ใช่ความหวาน หากรูปทรงโค้งมน จะช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงความหวาน
จังหวะขององค์ประกอบที่คงที่และชัดเจน นอกจากทำให้เกิดความซ้ำซาก ยังสะท้อนถึงความเป็นระเบียบ ที่ไม่น่าจะใช่คุณสมบัติของความหวาน ในขณะที่จังหวะไม่คงที่ องค์ประกอบกระจัดกระจาย ดูเหมือนจะช่วยให้รับรู้ถึงความหวานได้ง่ายกว่า
เหมือนผิวสัมผัสขององค์ประกอบที่เรียบนวล ก็ช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความหวานได้ง่ายกว่าสิ่งที่หยาบกระด้าง
สีขององค์ประกอบ น่าจะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้รับรู้ถึงความหวานได้ง่ายและชัดเจน อย่างเช่น สีโทนเย็น ได้แก่ น้ำเงิน เขียว และคราม ส่วนสีอื่นนั้น หากลดความเข้มของเนื้อสี (ใส) หรือเพิ่มความสว่าง (ออกขาว) ได้แก่ ชมพู (แดงอ่อน) ส้มอ่อน ม่วงอ่อน ซึ่งรวมทั้งเหลือง ฟ้า (น้ำเงินอ่อน) เขียวอ่อน ที่เรียกขานทั่วไปว่า สีพาสเทล
รวมทั้งความแวววาว ล้วนมีส่วนช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความหวาน

เมื่อรวมประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมา จะพบว่า ความคดโค้ง อ่อนไหว เรียบนวล สีอ่อนหรือสีใส และกระจัดกระจาย ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการรับรู้ถึงความหวานได้
เช่นว่า คนไทยนั้น เดิมทีรับรู้ถึงความหวานจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ น้ำผึ้ง (ความลื่นไหล ความใสสีเหลือง) น้ำตาลทรายแดง (สีอ่อน เป็นผงกระจัดกระจาย) อ้อย มะพร้าว ลูกตาล (ของเหลวและความใส) มะม่วง มะปรางหวาน ทุเรียน ขนุน (สีเหลือง) ชมพู่ แตงโม (สีชมพู แดง) ผักหวาน (สีเขียวอ่อน) เป็นต้น
ประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตนเองหรือคำบอกเล่า จะสั่งสมไว้จนกลายเป็นการรับรู้ เมื่อใดพบสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน ก็จะเข้าใจว่าเป็นความหวาน
แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้คนไทยรับรู้ถึงความหวานผ่านอีกหลายสิ่งที่นำมาจากดินแดนอื่น เช่น รสหวานของสตรอว์เบอร์รี่สดสีแดง ช็อกโกแลตสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลทรายขาวใส หรือแม้กระทั่งขนมที่มีส่วนผสมของงาดำ
ด้วยเหตุนี้ การรับรู้เรื่องความหวานจึงอาจแปรเปลี่ยนไป ทำให้สีแดงเข้ม สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ ก็อาจสื่อถึงความหวานได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับอารมณ์และความรู้สึกที่เพิ่มขึ้น นอกจากความหวานปกติแล้ว ยังมีหวานฉ่ำ หวานคม หวานแหวว หวานเอียน ไปจนถึงหวานแหวะ
ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของศิลปินผู้ปรุงองค์ประกอบต่างๆ ในงานศิลปะนั้น