ฉัตรสุมาลย์ / เส้นทางสายไหม : ถ้ำโมเกา

ถํ้าโมเกา หรือโมเกาคู คูแปลว่าถ้ำค่ะ เราไม่ต้องเรียกคูซ้ำก็ได้นะคะ อยู่ระหว่างเขาเว่ยซาน และหมิงซาซาน

เดิมมีกว่า 3,000 ถ้ำ แต่เพิ่งเริ่มบูรณะซ่อมแซมเสร็จเพียง 400 กว่าถ้ำ

ตอนที่รถเราแล่นเข้ามาในบริเวณ มองดูไกลๆ เหมือนรังผึ้ง

ถ้ำโมเกาใช้เวลาขุดและแกะสลักต่อเนื่องกันนานนับพันปี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษที่ 14 มีความยาวถึง 1,680 เมตร มีถ้ำน้อยใหญ่ 735 ถ้ำ

มีรูปวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังถึง 2,000 รูป

กินเนื้อที่กว่า 45,000 ตารางเมตร

รูปวาดเหล่านี้ จัดประเภทได้เป็น 7 ประเภท รูปเคารพ ที่เป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ เรื่องราวที่มาจากพระสูตร เล่าประวัติศาสตร์พุทธศาสนา มีตำนานตามความเชื่อของจีน รูปของผู้บริจาคอุทิศให้สร้าง และลวดลายประดับ

ในปี ค.ศ.1900 ได้พบห้องสมุดที่เป็นที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในถ้ำหมายเลข 17 มีถึง 50,000 ชิ้น นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของถ้ำ

ในจำนวนนี้ 90% เป็นวรรณคดีทางพุทธศาสนา มีทั้งภาษาจีน ภาษาทิเบต ภาษายูเตี้ยน ภาษาสันสกฤต ภาษาอุยเกอร์ ภาษาซอกเดียน และเติร์ก

มรดกทางวัฒนธรรมที่ตุนฮวางเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่สุด ใน ค.ศ.1987 ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

 

ใน ค.ศ.366 มีพระภิกษุยู่ซุนเดินทางมาจากที่ราบภาคกลางแล้วมานั่งสมาธิที่นี่ พอลืมตาขึ้นมาก็ได้เห็นรัศมีสว่างออกมาจากเทือกเขา แล้วก็เห็นพระพุทธเจ้าเป็นพันองค์ ท่านถือเป็นนิมิตให้ท่านดูแลรักษาถ้ำเหล่านี้

โดยเริ่มต้นโกยทรายที่ทับถมเข้าไปในถ้ำได้รับความช่วยเหลือจากช่างมาร่วมมือกัน

ไม่นานก็มีพระภิกษุฟาเหลียงที่เดินทางผ่านมาก็ลงมือช่วยกันทำงาน และเริ่มเรียกถ้ำนี้ว่า โมเกา แปลว่าพระพุทธเจ้าพันองค์ ตามนิมิตที่ท่านยู่ซุนเห็นครั้งแรก

เฉพาะในสมัยถัง ที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุด มีการขุดถ้ำและสร้างพระพุทธรูปถึง 140 ถ้ำ เราโชคดีที่ได้เห็นถ้ำสำคัญที่สุด คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในถ้ำหมายเลข 130

พระพุทธรูปองค์นี้ แหงนคอตั้งบ่าเลยค่ะ สูงถึง 35 เมตร เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาททั้งสองข้าง สร้างในสมัยถัง ค.ศ.704-781 พระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้สร้างถวาย

รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เข้ามาควบคุมใกล้ชิด มากกว่าที่เราไปชมถ้ำอชันตาของอินเดียมากนัก ที่นั่นเราจะอยู่นานเท่าไรก็ได้ตามความพอใจของเรา

 

เราไปถึงอาคารด้านหน้าซึ่งเป็นที่ที่เราซื้อตั๋ว เข้าห้องน้ำ อาคารในส่วนที่ขายของงานศิลปะจากถ้ำก็ทำได้ดีมีรสนิยม

จากนั้น เราจึงขึ้นรถของศูนย์ควบคุมดูแลศิลปะของชาติ เมื่อไปถึงตัวถ้ำ ไม่เหมือนกับที่คิดค่ะ ทุกถ้ำไม่ว่าถ้ำเล็กถ้ำน้อย มีประตูกรอบไม้ปิด มีลูกกุญแจล็อก บอกหมายเลขถ้ำชัดเจน

แต่ละปีจะสลับสับเปลี่ยนกันว่าจะจัดให้ชมกี่ถ้ำ ถ้ำอื่นที่ปิดไม่ให้เข้าชมก็จะได้ศึกษารายละเอียดเพื่อการบูรณะต่อไป

แต่ละคณะที่มาต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำ จะไปเดินเพ่นพ่านตามใจชอบไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่นำคณะของเราเป็นผู้หญิงท่าทางทะมัดทะแมง เมื่ออธิบายเป็นภาษาจีนแล้ว ล่ามของเราจะแปลเป็นไทยอีกทีหนึ่ง

รอบหนึ่งของการนำชม ทุกคณะจะใช้เวลาเท่ากัน 1 ชั่วโมง 20 นาที ล่ามของเราก็มีเครื่องขยายเสียงเล็กๆ พอที่จะอธิบายให้เราได้ยินในกลุ่มของเรา ขณะที่กลุ่มเราอยู่ในถ้ำใด เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งจะไม่ซ้อนกัน เพราะพื้นที่ในถ้ำแต่ละแห่งคับแคบมาก

เราเดินเกาะกลุ่มค่อนข้างกระชับ มิฉะนั้น จะไม่ได้ยินคำอธิบาย เจ้าหน้าที่ถือกุญแจเฉพาะห้องมาเปิดพาเราเข้าไป ทุกถ้ำมืดมาก จะเห็นก็เฉพาะที่ผู้นำกลุ่มส่องไฟฉายให้เราเห็น และห้ามถ่ายรูป ถึงถ่ายก็คงจะมืดๆ มัวๆ มากกว่า

การที่จะรักษาสีสันของจิตรกรรมฝาผนังภายในไว้ให้ยาวนาน ช่องประตูที่เข้าไปนั้น ช่องไหนยิ่งแคบ งานศิลปะด้านในยิ่งงาม คือไม่ค่อยถูกอากาศจากภายนอก เมื่อถูกทรายทับถมจนแทบไม่มีอากาศยิ่งดี เพราะการสัมผัสกับออกซิเจนจะเป็นตัวแปรทำให้สีซีดลงหรือเปลี่ยนไป

ทางเดินที่ขุดเข้าไปแต่ละถ้ำกว้างไม่เกิน 1.5 เมตร บริเวณโดยรอบฝาผนังมีชาวพุทธจีนจากฮ่องกงถวาย เป็นกระจก หรือพลาสติกหนากั้น เพื่อมิให้เอามือไปแตะต้องจิตรกรรมฝาผนังได้

 

ถํ้าแรกที่เราได้ดู เป็นถ้ำที่ 331

รูปทรงถ้ำเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู มีเทพถือเครื่องดนตรี แต่ละองค์ไม่ซ้ำกัน ทั้งหมดมี 9 อย่าง กำแพงด้านซ้ายมือ เป็นจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าหมื่นองค์ แสดงถึงความเข้าในปรัชญาจีนในเรื่องพุทธะ ที่ผนังด้านหลังเป็นรูปดอกไม้ 8 ทิศ

เราได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน เป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มถ้ำโมเกา

โครงสร้างของพระนั้น ภายในเป็นโครงไม้แล้วฉาบด้วยดินเหนียว แต่ดูเหมือนพระที่แกะสลักจากหิน แล้วทาสี งดงาม พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทอดตามยาวของพระวรกาย

พระพุทธรูปยืนที่อยู่เหนือพระเศียร เป็นพระพุทธเจ้าทีปังกร พระพุทธรูปนอนนี้ นักโบราณคดีกำหนดว่าสร้างสมัยปลายราชวงศ์ถัง ในช่วง ค.ศ.781-848

บนเพดานด้านบน ตีเป็นช่องๆ มีลวดลายประดับ สลับกับรูปที่เล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ

ฉากด้านหลังของพระนอน เป็นรูปผู้คนที่มากราบพระบรมศพ อยู่ในอาการเศร้าโศก มีทั้งพระภิกษุ เจ้านายทั้งผู้ชายและผู้หญิง และมุขอำมาตย์ที่ติดตามมาด้วย ภาพที่อยู่ด้านหลังนี้ เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ทำขึ้นสมัยหลัง คือหลังจากที่สร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพานแล้ว

บนเพดานของอีกถ้ำหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นจากงานนิทรรศการที่มีสมาคมจีนมาจัดที่ประเทศไทยเมื่อปีก่อน (2559) มีถ้ำหนึ่งที่ภาพประดับบนเพดานนั้น เป็นเริ่องราวจากสัทธรรมปุณพรีกสูตรทั้งหมด

การชมศิลปะเช่นนี้ หากมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นมาบ้างก็จะทำให้เราทราบซึ้งกับงานศิลปะที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้าได้ดี

เจ้าหน้าที่ได้พาเราไปชมถ้ำหมายเลข 332, 334 โทนสีที่ใช้เป็นแบบเดียวกัน คือน้ำตาลเฉดต่างๆ และเขียวแกมฟ้า คล้ายสีไข่นกการะเวก ในเฉดต่างๆ เทพยดานางฟ้าที่ลอยตัวถวายสักการะอยู่บนอากาศกลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะจากตุนฮวางไปโดยปริยาย

 

ถํ้าโมเกาใช้เวลานานในการค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ในช่วงที่ทิเบตปกครองดินแดนแถบนี้ คือใน ค.ศ.781 ชาวทิเบตนับถือพุทธศาสนาก็ได้สร้างถ้ำหลายถ้ำที่สร้างไม่เสร็จให้สำเร็จลง เฉพาะในช่วงของทิเบตปกครองบริเวณนี้ ได้สร้างถ้ำเพิ่มถึง 50 ถ้ำ ขนาดของถ้ำไม่ได้เล็กกว่าสมัยราชวงศ์ถังตอนต้นเลย

ถ้ำที่สร้างสมัยนี้ มีถ้ำหมายเลข 365 มีพระพุทธรูป 7 พระองค์ ในช่วงที่ทิเบตมีอำนาจ พวกพระทิเบตก็เข้ามาเล่นการเมืองด้วย พระทิเบตที่เป็นเชื้อสายฮั่นก็มี ดังนั้น ถ้ำบางถ้ำก็ยังรักษาศิลปะของฮั่นไว้ด้วย

ในถ้ำที่ 135 เป็นเรื่องราวจากพระสูตรวิมลเกียรนิเทศสูตร มีรูปกษัตริย์ของทิเบตกำลังรับฟังธรรมที่พระโพธิสัตว์แสดงด้วย

ราชวงศ์ถังรุ่งเรืองในช่วง ค.ศ.618 และเริ่มเสื่อมลงในช่วง ค.ศ.907 จากนั้นก็ถูกทอดทิ้งเรื่อยมาจนกระทั่ง ค.ศ.1900 วันที่ 22 มิถุนายน เมื่อพระในศาสนาเต๋าชื่อหวัง หยวนลู่ เข้าไปทำความสะอาด และสังเกตเห็นรอยร้าวที่ผนังด้านหนึ่งของถ้ำ เขาจึงเริ่มขุดดู

พบว่ามีห้องอีกห้องหนึ่งอยู่ข้างใน ความยาว 2 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง

หัวใจเขาเต้นตูมตามเมื่อรู้ว่า เขาได้ค้นพบมรดกที่สำคัญคือพระธรรมคัมภีร์ของโบราณ

เขาพยายามติดต่อเจ้าบ้านผ่านเมืองเพื่อขอเงินสนับสนุนการรักษาถ้ำโมเกาไว้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจ และไม่ให้ความสำคัญ

เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปไม่ช้านาน นักวิชาการจากฝรั่งเศส จากอังกฤษที่รู้คุณค่าก็เดินทางเข้ามา ขนออกไปเป็นจำนวนมาก

งานที่ได้กลับคืนมาจากนายออเรล สไตน์ ชาวฮังการีที่ไปอยู่ที่อังกฤษก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีรูปมาให้ดู

สมบัติจากถ้ำเหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่า เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญ อยากขอบคุณพระนิกายเต๋า หวัง หยวนลู่ รูปร่างเล็กๆ แต่ก็ได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะปกป้องและดูแลรักษาถ้ำโมเกาไว้ในระยะแรก

เขียนเท่าไรก็ไม่จบค่ะ อยากชวนท่านผู้อ่านให้ได้ไปสัมผัสบ้าง เป็นมรดกโลกที่น่าทึ่งมากๆ