เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (17) มูลสาสนาสำนวนล้านนา : จดหมายเหตุการพระศาสนาฝ่ายบุปผวาสีแห่งโยนกโลก (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์แล้ว กับการนำเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยวรรณกรรมล้านนาชื่อก้อง อาทิ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี ชินกาลมาลินี จามเทวีวงส์ และโคลงนิราศหริภุญไชย

คงจะไม่ครบถ้วนบริบูรณ์แน่ๆ หากร่มเงาหนึ่งในหมวกใบใหญ่แห่งหัวข้อเรื่อง 5 ศตวรรษยุคทองวรรณกรรมล้านนา ของเวทีไทศึกษา จักขาดเสียซึ่งวรรณกรรมชิ้นสำคัญอีกเล่มที่มีอายุร่วมสมัยกัน

นั่นคือ “ตำนานมูลศาสนา” โชคดียิ่งนักที่ได้อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษาคนสำคัญ มาเป็นผู้เปิดประเด็น

 

ไม่ใช่ “ตำนาน” แต่เป็น “วังสะ”

คําว่า “ตำนานมูลศาสนา” ปรากฏคำนี้ในตัวหนังสือไทยของกรมศิลปากร ทั้งๆ ที่ต้นฉบับใบลานของล้านนา ไม่มีคำว่า “ตำนาน” ซ้ำยังเขียนว่า “สาสนา” ใช้ ส.เสือ แบบบาลี ไม่ใช่ “ศาสนา” ใช้ ศ.ศาลา แบบสันสกฤตเหมือนที่ฝ่ายสยามเอาไปแปล(ง)

ดังนั้น ในบทความนี้ เมื่อเอ่ยถึง มูลสาสนา (อ่าน มู-ละ-สาด-สะ-นา) สำนวนล้านนา จะขอใช้ ส.เสือ แต่เมื่อเอ่ยถึง ตำนานมูลศาสนา ที่กรมศิลปากรปริวรรต ขอใช้ ศ.ศาลา

ขอรีบอธิบายไว้ก่อน เพื่อป้องกันความสับสนงุนงง

ปกติแล้วการเขียนบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต จะมีแนวทางการเขียน 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ประเภทแรก ผูกร้อยเป็นภาษาบาลี เรียกว่า “วังสะ” (หรือ วงส์ / วงศ์)

คำคำนี้สามารถแปลได้ 2 อย่าง

อย่างแรก วังสะ ใช้เรียกไม้ไผ่ที่มีข้อต่อร้อยเรียงกันไปเป็นปล้องๆ

กับอย่างหลัง วังสะหมายถึงเรื่องจริงที่มีความน่าเชื่อถือได้ นำมาเล่าสืบเนื่องต่อกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ กระทั่งรุ่นลูกหลานเหลนโหลน

การที่เล่าสืบต่อในวงศ์ตระกูลกันแบบนี้เอง จึงเรียก วงศ์ หรือวังสะ แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Chronicle

ประเภทที่สอง ตำนาน เป็นภาษาเขมรมาจากคำว่า “ดอมนาน” เป็นเรื่องเล่าเชิงอภินิหาร เทพนิยายปรัมปรา แบบ Myth เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่มีโครงเรื่องหลักที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง แล้วผู้แต่งในแต่ละพื้นที่สามารถตอกไข่ใส่สีแต้มสัน เติมรายละเอียดบางอย่างลงไปได้ การเขียนประเภทนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Legend

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของ “มูลสาสนา” แล้วพบว่าไม่ใช่เรื่องประเภทตำนาน แต่เป็นวังสะ / พงศาวดาร / จดหมายเหตุ ดังนั้น เมื่อกรมศิลปากรไปใส่คำว่า “ตำนาน” นำหน้า เท่ากับเป็นการผลักให้วังสะเรื่องนี้ไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มปรัมปรานิทานประเภทหลัง

เป็นการประเมินคุณค่าวรรณกรรมศาสนาชิ้นเยี่ยมชิ้นนี้แบบ “ผิดฝาผิดตัว” ตั้งแต่เริ่มต้นการตั้งชื่อเรื่องแล้ว

กรมศิลปากรควรรีบออกมารับผิดชอบแก้ไขให้ถูกต้องเป็นการด่วน อย่าปล่อยเลยตามเลย (ซึ่งอันที่จริงก็ล่วงเลยมานานถึง 80 ปีแล้ว!)

 

ความลักลั่นในสำนวนไทยปนล้านนา

ตํานานมูลศาสนา ฉบับภาษาไทยกลาง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2480 โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้มหาเปรียญสองคนที่เป็นพนักงานในกองวรรณคดี หอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้แปล (หลังจากที่กรมศิลปากรได้แปลชินกาลมาลินี รัตนพิมพวงส์ และจามเทวีวงส์ ไปแล้ว)

เปรียญทั้งสองคือ นายสุด ศรีสมวงศ์ และนายพรหม ขมาลา อาจารย์เกริกเชื่อว่า คนหนึ่งจะเป็นคนเหนือหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ ที่แน่ๆ ต้องสามารถอ่านตั๋วเมือง (อักรธัมม์ล้านนา) ได้ ส่วนอีกคนหนึ่งจะต้องเก่งภาษาบาลีพอสมควร

เพราะวังสะเรื่องมูลสาสนา เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา แต่ใช้ภาษาบาลีปะปนกับภาษาพื้นถิ่นเมืองเหนือ โดยเปรียญทั้งสองช่วยกันพากย์เป็นภาษาไทยกลาง

ความที่อาจไม่ใช่เป็นคนล้านนาโดยกำเนิด หรืออาจมีเชื้อสายอยู่บ้าง แต่ไม่เสพคุ้นภาษาล้านนาโบราณ ทำให้การแปล มูลสาสนา มาเป็น ตำนานมูลศาสนา ของสองเปรียญนี้ เกิดความลักลั่นในการใช้ภาษาอย่างประดักประเดิด กล่าวคือ จะเป็นภาษาไทยกลางให้อ่านรื่นหูทั้งหมดก็ไม่ใช่ หรือจะปล่อยให้เป็นสำนวนล้านนาดั้งเดิมก็ไม่เชิง

ประมาณว่า คำบางคำก็แปลเป็นไทยกลาง แต่คำบางคำก็เขียนทับศัพท์ภาษาเหนือ อาทิเช่น “ตี่” ควรแก้เป็นที่, “หื้อ” ควรแก้เป็น ให้, “หัน” ควรแก้เป็น เห็น ก็ไม่แก้ กลับใส่คำเหล่านั้นคงไว้ตามสำนวนท้องถิ่น

“ก้ำ” ไม่ใช่ ค้ำ แต่แปลว่า ฝ่าย, มุม, ข้าง เช่น “ให้นักปราชญ์ไปดูแต่ก้ำหริภุญไชยหนวันออก” สองเปรียญก็เขียนตามเดิมว่า “ก้ำ” คนอ่านพลอยเข้าใจไปว่าหมายถึง ค้ำ

แต่ครั้นศัพท์ยากๆ ที่คนภาคกลางมิอาจตีความได้เลยว่าหมายถึงอะไร คือ ดอกทายหาน ซึ่งต้นฉบับใบลานก็เขียนไว้เช่นนั้น แต่เวลาอ่านเป็นเสียงแบบล้านนา จะออกว่า ดอกตะเหิน อันหมายถึง ดอกมหาหงส์ ที่คนภาคกลางรู้จักดี เป็นดอกไม้สีขาวขนาดใหญ่พบตามคันนา

นี่เล่นใส่ตรงตัวว่า ดอกทายหาน คนภาคกลางก็ไม่เข้าใจ คนล้านนาก็ไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้ อาจารย์เกริกยังยกคำว่า “จา” ซึ่งเป็นคำลงท้ายในเชิงคำถาม คล้ายคำว่า หรือไม่ เช่น นี้จา? อันใดจา? เมื่อเปรียญทั้งสองนำมาแปลเป็นไทย กลับไปแปลว่า จา ตัวนี้ หมายถึงเจรจา พูดจา

หรือกรณีของคำว่า “งอม” “…ถัดนั้น ให้แก่หมู่ฝูงปากต้านเจรจาให้หายงอม” ตำนานมูลศาสนาใส่เชิงอรรถ อธิบายว่า งอมหมายถึง “ง่วงนอน” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ภาษาล้านนา งอม คือ “ง่อม” แปลว่า “เหงา”

อาจารย์เกริกกล่าวว่า ความผิดเรื่องภาษาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ยังพอทำเนา ถือว่าไม่ได้ร้ายแรงอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ไม่น่าให้อภัยเลย คือความผิดพลาดอันหนักหนาสาหัส 2 ประการหลัก

ภาษาล้านนาเรียกว่า “แอกขะแตก” หมายถึงการบังอาจหรืออุกอาจ ที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะไม่น่าเกิดขึ้นกับเสาหลักด้านวัฒนธรรม คือกรมศิลปากร

เรื่องแรกคือ ชื่อของผู้แต่ง จากพระพุทธกาม กลายมาเป็น พระพุทธพุกาม และเรื่องที่สองคือ การตัดจุณณียบทคาถาบาลีทิ้งไป ทั้ง 60 กว่าบท อันถือเป็นความผิดพลาดขั้นอุกฤษฏ์ในการทำงานวิชาการ

 

พระพุทธกาม ผู้ปรารถนาในพุทธะ
หาใช่ พระพุทธพุกาม จากเมืองพม่า

ชื่อผู้ประพันธ์ “มูลสาสนา” ในต้นฉบับคัมภีร์ใบลานสำนวนล้านนาระบุชัดว่า ชื่อ “พระพุทธกาม” กี่ผูกต่อกี่ผูก กี่วัดต่อกี่วัดก็ไม่ปรากฏคำว่า “พุ” แทรกเข้ามาแต่อย่างใด

การถอดคำว่า พระพุทธกาม เป็น พระพุทธพุกาม อาจารย์เกริกเห็นว่า นี่คือจริตของปราชญ์สำนักรัตนโกสินทร์ที่รังเกียจคำว่า “กาม” ใช่หรือไม่ ด้วยมองเห็นเป็นเรื่องต่ำทราม เพราะกาม = ความใคร่ จึงคงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุรูปใดจะมีชื่อว่า พุทธกาม แบบนั้น

จึงตัดสินใจเติม “พุ” เข้ามาให้เสร็จสรรพ กลายเป็น “พระพุทธพุกาม” ประหนึ่งว่าพระภิกษุรูปนั้นสำเร็จการศึกษาตามแนวทางสายพม่าจากกรุงพุกาม กระนั้น

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คำว่า พระพุทธกาม มีความหมายว่า มีความปรารถนาต่อความเป็นพุทธะอย่างแรงกล้านั่นเอง

เมื่อไปแปล(ง) เป็นพระพุทธพุกามเช่นนี้แล้ว ส่งผลให้ทำเนียบรายชื่ออดีตเจ้าอาวาสวัดสวนดอกรูปหนึ่ง ก็มีการแก้ไขให้เป็น พระพุทธพุกามตามไปด้วย

เป็นอันว่า พระภิกษุเหล่านั้น ล้วนไปสืบพระศาสนาจากสายพม่ารามัญวงศ์กันเป็นทิวแถว

พระพุทธกาม (ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีอายุในยุครัชสมัยใดของล้านนา แต่ราวๆ พ.ศ.1960-1980 โดยประมาณ) คือผู้รจนา “มูลสาสนา” ด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา

สถานที่รจนาคือวัดสวนดอก เรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมที่ภิกขุฝ่ายบุปผวาสีอารามสวนดอกไม้ ได้รจนาขึ้นเพื่อให้เป็นจดหมายเหตุการพระศาสนาในล้านนาช่วงยุคต้นถึงกลางราชวงศ์มังราย

พระพุทธกามไม่ได้รจนาเสร็จในช่วงชีวิตของท่าน ยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ชื่อว่าพระพุทธญาณ ได้ทำการ “แต้มต่อ” คือรจนาเพิ่มเติมต่อมาอีกระยะหนึ่ง กระทั่งเหตุการณ์สิ้นสุดในยุคที่พระพุทธญาณได้รจนาไว้ คือจบลงที่ปี จ.ศ.871 (พ.ศ.2052)

แตกต่างไปจาก มูลสาสนา ฉบับเชียงตุง แม้ในปัจจุบันยังคงทำการ “แต้มต่อ” มูลสาสนากันอยู่ คือยังทำการบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของวงการพระพุทธศาสนาในเชียงตุง อยู่จนถึงยุคของสมเด็จอาชญาธรรมองค์ที่ 14

 

จุณณียบทคาถาบาลีสำคัญอย่างไร

สิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการไปเปลี่ยนชื่อคนเขียน ก็คือการตัด “จุณณียบทคาถาบาลี” ทิ้งไปดื้อๆ ไม่คงไว้ให้ผู้อ่านได้เห็นรากที่มาของรูปศัพท์ เพื่อจะได้ตรวจสอบความถูกต้องเลย

กล่าวคือ เรื่องมูลสาสนานี้ ก่อนจะพูดถึงเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ในทุกๆ ย่อหน้าใหม่ ต้องมีการขึ้นคาถาภาษาบาลีสั้นๆ ไว้ก่อนเสมอ คล้ายเป็นการเกริ่นนำว่าในบทนี้ ย่อหน้านี้จักกล่าวถึงเรื่องอะไรต่อไปบ้าง

เมื่อเปรียญทั้งสองได้ตัดจุณณียบทคาถาบาลีทิ้งไปหมด เป็นอันว่าจบเห่กัน หากเขาพาเราเดินเข้ารกเข้าพงก็ไม่มีวันทราบข้อเท็จจริง เพราะหลักฐานชั้นต้นที่สามารถใช้เป็นเชิงอรรถอ้างอิง ได้ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อไม่มีคำภาษาบาลีให้ตรวจสอบ ผู้อ่านก็ย่อมไม่ทราบว่าผู้แปล แปลถูกหรือผิด เขียนอย่างไรมาก็เชื่อตามนั้น เช่นบทที่กล่าวถึง ไก่อารักษ์เมืองหริภุญไชย ผู้แปลแปลว่า ไก่นี้มีชื่อว่า “เปตตกุกุฏะ” หมายถึงไก่ที่ตายไปแล้วเป็นเปรต

แต่ในจุณณียบทคาถาบาลี กลับเขียนว่า เมตตกุกุฏะ จะเห็นได้ว่า เมตตา กับ เปตตา เป็นคนเรื่องกัน จากไก่ผู้มีเมตตา กลายเป็นไก่เปรตไปเสียนี่

 

โชคดีที่ยังมี “มูลสาสนาสำนวนล้านนา”

แล้วจะให้คนรุ่นหลังทำเช่นไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านต้นฉบับตั๋วเมืองกันออก

อีกประการหนึ่ง จะให้คนทั่วไปไปค้นหาคัมภีร์ใบลานจากที่ไหนมาอ่าน

และเมื่ออ่านแล้ว พบศัพท์ยากๆ จะมีใครช่วยให้คำแนะนำ

อาจารย์เกริกกล่าวว่า โชคดีที่ “ลุงหนานเป็ง” หรือรองศาสตราจารย์บำเพ็ญ ระวิน เปรียญธรรม 9 ประโยค อดีตอาจารย์จากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้จะมีพื้นเพดั้งเดิมจากภาคอีสาน แต่ก็มีความเข้าใจภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง ได้ทำการปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่อง “มูลสาสนา สำนวนล้านนา” ไว้ให้แล้ว

หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ขึ้นในวาระครบรอบ 700 ปีนครเชียงใหม่ ใช้เวลาปริวรรตศึกษานาน 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2536-2538

ลุงหนานเป็ง ได้ทำการสอบทานต้นฉบับใบลานจำนวน 4 ฉบับ โดยใช้ฉบับวัดพวกหงษ์ เชียงใหม่ จารเมื่อ พ.ศ.2356 (ที่เห็นว่าศักราชไม่เก่านั้น เป็นเพราะคัดลอกต่อๆ กันมา ยังไม่มีใครพบมูลสาสนาฉบับดั้งเดิม พ.ศ.1980 เศษๆ) เป็นฉบับหลัก และใช้ต้นฉบับอีก 3 แห่งสำหรับสอบทานความถูกต้อง

ได้แก่ ฉบับวัดศาลาหม้อ ลำปาง (พ.ศ.2368) ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่ (พ.ศ.2417) และฉบับวัดนันทาราม เชียงใหม่ (พ.ศ.2470-2471) ในการชำระสอบทานต้นฉบับครั้งนี้ ลุงหนานเป็งสามารถรักษาอรรถรสภาษาล้านนาไว้อย่างครบถ้วนเต็มๆ ไม่ติดข้อด้วยสำนวนไทยกลางปนแทรก

ข้อสำคัญคือ การดึงเอาจุณณียบทคาถาบาลีกลับมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกครั้ง