วิรัตน์ แสงทองคำ : สื่อกับสังคมไทย (3) ธุรกิจสื่อเปิดฉาก (ต่อ)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาทนำในสังคมไทย พร้อมกับการปรับตัวตามความเชื่อ และแรงบีบคั้น ตามแต่ละโมเดล

กรณีเปรียบเทียบสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้อยู่รอด ผู้อยู่ในสายตาสาธารณชน (จดทะเบียนในตลาดหุ้น) โดยเฉพาะบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ขอเรียก “โพสต์” บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เนชั่น” และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ “มติชน” มีพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ความจริงแล้ว เกี่ยวกับสื่อ ไม่ว่าเรื่องเล่า เรื่องราว และตำนาน มีมากมายจริงๆ เต็มไปด้วยสีสันเร้าใจ มีฉากและตอนอันพิสดาร แม้กระทั่งเกมและชั้นเชิงทางธุรกิจ ซึ่งผมไม่อาจนำเสนอเช่นนั้นได้อย่างที่ควร

ข้อเขียนชุดนี้ให้ความสำคัญเพียงบางมิติ เพื่อเชื่อมโยงกับแนวความคิด ว่าด้วยความเป็นไปอย่างคร่าวๆ กว้างๆ (โปรดพิจารณา เหตุการณ์สำคัญ ประกอบ)

 

ช่วงที่หนึ่ง (2530-2540)
ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง

โพสต์ ในฐานะเป็นสื่อสัญลักษณ์สังคมไทย ในสายตาโลกตะวันตก เปิดรับโอกาสเปิดกว้าง แผนการทางธุรกิจแตกแขนงสำคัญเปิดฉากขึ้นเมื่อนิตยสารชื่อดังระดับโลกด้านแฟชั่น เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ตามกระแสสินค้าวัฒนธรรมโลกตะวันตกที่ไม่ขาดตอน

ปรากฏการณ์เริ่มต้นด้วย ELLE เปิดฉากฉบับภาษาไทย ในปี 2537 ด้วยร่วมทุนเครือข่ายธุรกิจสื่อระดับโลก — Hachette Filipacchi M?dias, S.A. (กิจการในเครือ Lagard?re Media แห่งฝรั่งเศส) เป็นกระแสไลฟ์สไตล์ผ่านนิตยสารแฟชั่นอันดับหนึ่ง กำลังเข้าสู่ช่วงขยายตัวทั่วโลกในระลอกที่ 3

ไม่น่าเชื่อว่า ELLE เปิดฉากภาษาญี่ปุนเป็นครั้งแรก (2512) นานเกือบ 2 ทศวรรษก่อนจะมาเปิดตัวที่สหรัฐและสหราชอาณาจักร รอบที่ 2 ขยายตัวในประเทศภาคพื้นยุโรปในช่วงปี 2530 ก่อนจะมาถึงเอเชีย รัสเซีย และออสเตรเลีย

จากนั้นในปลายยุครุ่งเรือง (ปี 2540) โพสต์ร่วมทุนกับ Australian Consolidated Press (ACP) นำ CLEO นิตยสารผู้หญิงสมัยใหม่แห่งประเทศออสเตรเลียที่ก่อตั้งเมื่อ 3 ทศวรรษก่อนหน้าแนวหนึ่งที่ชัดเจนดังซึ่งกล่าวในตอนแรก (สื่อกับสังคมไทย (1) ฉากใหญ่ มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 19 มกราคม 2560) “สอดคล้องกับ Global advertising scheme (การว่าจ้างโฆษณาสินค่าในนิตยสาร พร้อมกันในเครือข่ายทั่วโลก)”

เป็นไปตามคาด นิตยสารแฟชั่นไม่เพียงมียอดจำหน่ายจำนวนมาก หากมีพื้นที่โฆษณาสินค้า โดยเฉพาะจากโลกตะวันตกอย่างมากมาย

ปัจจุบันกิจการข้างต้น กลายเป็นบริษัท โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย ซึ่งเป็นธุรกิจหลักสำคัญหนึ่งของโพสต์ “เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสิ่งพิมพ์นิตยสารต่างประเทศ ประกอบไปด้วยนิตยสารหัวนอก 9 ฉบับ คือ ELLE, ELLE DECORATION, ELLE MEN, CLEO, MARIE CLAIRE, SCIENCE ILLUSTRATED, FAST BIKES, CYCLING PLUS และ FORBES THAILAND” (อ้างจาก http://www.postintermedia.com/)

ดูเหมือนจะแตกต่างจากมติชน ซึ่งมีหนังสือพิมพ์มติชน และประชาชาติธุรกิจ ตอบสนองกลุ่มผู้อ่านในสังคมเมืองแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะประชาชาติธุรกิจมีพื้นที่โฆษณาสินค้ามากพอควร รายได้จากค่าโฆษณาสินค้าเป็นรายได้หลัก สอดคล้องกับสังคมบริโภค และสังคมธุรกิจไทยกำลังเติบโต

ในช่วงเวลานั้น มติชนได้เปิดตัวสือสิ่งพิมพ์ เน้นต้นทุนการผลิตไม่แพง มุ่งฐานสมาชิก (Readership) กว้างขึ้น สอดคล้องมุมมองเชิงสังคม เป็นแผนการทางธุรกิจในความพยายามสร้างความสมดุล ในแง่สื่อในเชิงอุดมคติกับสื่อในฐานะสินค้าที่มีความหลากหลาย

ส่วนเนชั่น ได้ชื่อว่ามีแผนการเชิงรุกเข้ากับการเปลี่ยนแปลง การเติบโตสังคมธุรกิจไทยอย่างกระชั้น ด้วยการเปิดหนังสือพิมพ์รายวันธุรกิจ-กรุงเทพธุรกิจ ดำเนินไปค่อนข้างราบรื่น แต่ปรากฏการณ์อันตื่นเต้น ไปไกลกว่ารายอื่น ดูไปแล้วค่อนข้างเป็นเรื่องบังเอิญ

นั่นคืออุบัติการณ์ทีวีเสรี เริ่มต้นขึ้นในยุครัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เชื่อมโยงมาสู่แผนการอันห้วหาญของธนาคารไทยพาณิชย์

กิจการในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (บริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์) ก่อตั้งขึ้นในต้นปี 2537 เพื่อเข้าสู่ธุรกิจทีวีเสรี โดยมีที่มาและแรงบันดาลใจเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านั้น

“อิทธิพลของข้อมูลข่าวสารและระบบสื่อสารที่มีพลังอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ได้สร้างแรงบันดาลใจต่อนักวางแผนธุรกิจใหญ่อย่างมาก โดยเฉพาะการเติบโตอย่างน่าเกรงขามของกลุ่มธุรกิจสื่อสารใหม่ๆ ในสังคมไทย” ผมเคยเสนอความเห็นไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

ปรากฏการณ์การเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องน่าเกรงขาม ทว่า ความผันแปรอย่างรวดเร็ว ตามมาในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 เนชั่นได้มีส่วนร่วมกับฉากและเหตุการณ์นั้นในฐานะผู้ร่วมทุน เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่มีบทบาทอย่างมาก ในฐานะทีวีเสรีให้ความสำคัญรายการข่าว

แม้ว่าสุดท้ายเนชั่นต้องถอนตัวอออกมาอย่างไม่ราบรื่น แต่ได้พกประสบการณ์มีค่าในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์รายแรก ที่มีประสบการณ์ข้ามพรมแดนไปสู่สื่อทีวี เป็นทีมสื่อทีวีมีประสบการณ์งานข่าวมากที่สุด

 

ช่วงที่สอง (2540-2560)
สองทศวรรษแห่งความผันแปร

เมื่อสื่อผสมผสานกันมากขึ้น เป็นโลกใหม่ค่อนข้างสับสน ท่ามกลางโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ผลิตเนื้อหา (Content) ไม่ใช่โมเดลอิสระเช่นเดิมในโลกเก่า หากต้องอยู่ในเครือข่าย หรือแพลตฟอร์มของต่างชาติ เป็นประตูที่ไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริง เป็นประตูต้องจ่ายค่าเข้า เพื่อเชื่อมโยงสำคัญกับผู้บริโภคเนื้อหา โดยเฉพาะกับเบราเซอร์ (web browser) สื่อสังคม (social media) โดยเฉพาะ face book และ YouTube (จะขออรรถาธิบายประเด็นนี้อย่างละเอียดในตอนต่อๆ ไป)

ความเป็นไปได้อย่างมาก หวังว่าสามารถจะเดินตามอิทธิพล และเทคโนโลยีระดับโลกได้กระชั้นชิด เพียงแค่นั้น ความหลากหลายผสมผสาน จึงปรากฏเป็นเส้นทางที่มาบรรจบกัน นั่นคือ สื่อแบบทีวี

เนชั่นด้วยประสบการณ์อันภาคภูมิกับสื่อทีวี จึงมุ่งเส้นทางนั้นอย่างเต็มกำลัง จังหวะเหมาะกับช่วงสังคมไทยกำลังเดินตามเส้นทางอย่างไม่ประหวั่นพรั่นพรึงสู่ทีวีดิจิตอล เป็นเส้นทางเดินช่วงต้นๆ ที่มองเห็นแค่ลางๆ ส่วนโพสต์ มีประสบการณ์อย่างฉาบฉวยมาประมาณหนึ่งทศวรรษ กำลังเดินหน้าในฐานะผู้ผลิตที่มองข้ามความเป็นจ้าของโครงข่าย เช่นเดียวกับมติชนทีวี เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่เกมใหม่ด้วยความมั่นใจ ในฐานะผู้มาทีหลังได้ประมาณ 5 ปี

สื่อแบบฉบับทีวี มีลักษณะผสมผสาน สามารถก้าวข้ามสื่อและเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งได้อย่างดี เป็นความเชื่อ เป็นแนวทางที่เป็นไป เป็นเช่นนั้น หรือไม่ อย่างไร

เหตุการณ์สำคัญ

ยุคก่อตั้ง
2489 Bangkok Post
2519 The Nation
2521 หนังสือพิมพ์มติชน (และประชาชาติธุรกิจ) และปี 2523 มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม


ยุคเข้าตลาดหุ้น
2527 POST: บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ โพสต์
2531 NMG: บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ เนชั่น
2532 MATI : บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ มติชน

2530 มติชน เปิดตัวนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, เนชั่น เปิดตัวหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน–กรุงเทพธุรกิจ

2534 มติชน ดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

2537 โพสต์ ร่วมทุนกับ Hachette Filipacchi M?dias ผลิตและจำหน่ายนิตยสาร ELLE ภาคภาษาไทย และปี 2539 ผลิตและจำหน่ายนิตยสาร ELLE Decoration ภาคภาษาไทย รวมทั้งร่วมทุนกับ Australian Consolidated Press (ACP) ปี 2540 ผลิตและจำหน่ายนิตยสาร Cleo ภาคภาษาไทย

2538 มติชน เปิดตัวนิตยสารเส้นทางเศรษฐี, มีการเปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรี กลุ่มบริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ชนะการประมูล สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟช่องแรกของประเทศไทยเปิด แต่ต่อมา เนชั่นเข้าร่วมถือหุ้นข้างน้อย และบริหารโปรแกรมข่าว

2539 มติชน เปิดบริการศูนย์ข้อมูล

ยุคปรับตัวหลังวิกฤตการณ์

2543 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น เข้าซื้อหุ้นไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เนชั่นต้องถอนตัว มาเปิดตัว Nation Chanel ทางทีวีแบบบอกรับ
2544 เนชั่น เปิดตัวหนังสือพิมพ์รายวัน คมชัดลึก
2545 โพสต์ เปิดตัวหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันฉบับภาษาไทย-โพสต์ทูเดย์

ยุคแห่งความผันแปร

2548 ครบรอบ 59 ปีของการก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ได้จัดตั้งฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์มีเดีย
2549 เปิดมติชนอคาเดมี “ศูนย์การเรียนรู้” เสริมทักษะในด้านการบริหารจัดการ รวมถึงการทำอาหารและสันทนาการต่างๆ
2550 โพสต์ ได้เริ่มดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์และกระจายเสียงทางวิทยุ, ศูนย์ข้อมูลมติชน เปิดตัว www.matichon.co.th, www.khaosod.co.th และ www.prachachat.net
2551 เนชั่น ปรับโครงสร้างทางการเงิน ขายสำนักงานที่ถนนบางนา-ตราด ก.ม.4.5 และมีแผนแบ่งแยกธุรกิจตั้งบริษัทย่อยเพื่อนำเข้าตลาดหุ้น
2552 บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้ง จำกัด (NBC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
2554 มหาวิทยาลัยเนชั่น ก่อตั้งขึ้นโดยเปลี่ยนชื่อจาก “วิทยาลัยโยนก” ซึ่งก่อตั้งปี 2531
2555 มติชน เริ่มเข้าสู่การผลิตรายการโทรทัศน์โดยร่วมผลิตรายการข่าวกับช่องเวิร์คพอยท์
2556 เนชั่น ชนะประมูล ได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 2 ช่อง–ข่าว และวาไรตี้
2558 โพสต์ถือหุ้น 51% ในบริษัท มัชรูมเทเลวิชั่น ผู้ประกอบการผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อขยายฐานธุรกิจการพัฒนาสื่อใหม่ ทั้งมัลติมีเดีย วิดีโอ รายการโทรทัศน์ และสื่อดิจิตอล