สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน…เยือน ร.ร. I see U โรงเรียนพักนอน วิชาชีพ วิชาชีวิต ที่บ้านสบเมย (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เสร็จภารกิจที่โรงเรียนบ้านแม่สามแลบ คาราวานการศึกษา กพฐ. สัญจร เคลื่อนตัวต่อไปสู่ท่าเรือริมแม่น้ำสาละวิน เรือหางยาวลำใหญ่จอดเทียบข้างเรือนแพร้านค้า รอผู้โดยสารทั้งจากฝั่งไทยและพม่าข้ามมาซื้อของใช้กลับไป

บนหลังคาเรือนแพมีแผงโซลาร์เซลคอยเก็บพลังงานแสงแดดไว้ใช้ คนนำทางบอกว่า ทหารพม่าข้ามฝั่งมาเที่ยวร้องคาราโอเกะตามร้านที่บ้านแม่สามแลบเป็นประจำ

ได้เวลา เสียงเครื่องยนต์ครางดังกระหึ่ม ก่อนเรือใหญ่สามลำจะวิ่งล่องไปตามสายน้ำเชี่ยวกราก นายท้ายเบนหางเสือเพื่อหลบเลี่ยงเกาะแก่งโขดหินกล่างลำน้ำด้วยความคุ้นชิน

เรือเร็วทหารพราน ชุดอาวุธพร้อมมือแล่นประกบแซงหน้า ตามหลังไปตลอดทาง

มองข้ามไปริมฝั่งพม่าหลายจุด ลูกน้องนายทุนต้อนฝูงควายมารวมกัน รอลำเลียงลงเรือข้ามมาฝั่งไทยขึ้นรถบรรทุกส่งขายต่อไปตามเส้นทางของนักค้าข้ามชายแดน

ทำให้นึกถึงค่าโสหุ้ยเบี้ยบ้ายรายทางที่พ่อค้าถูกรีด ถูกบวกเป็นราคาเนื้อบนเขียงในตลาดสดหลายแห่งฝั่งไทย

คณะใช้เวลาเดินทางทางเรือเกือบชั่วโมงถึงเป้าหมายโรงเรียนบ้านสบเมย อ.สบเมย ระยะทางห่างจากที่ทำการเขตพื้นที่การศึกษา 72 ก.ม. หากมาทางรถจากบ้านแม่สามแลบใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง

โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเมยบรรจบสาละวิน จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียน 247 คน ชาย 139 คน หญิง 108 คน ไปกลับ 132 คน อยู่ประจำ 115 คน ครู 14 คน มี นายบุญช่วย ขัติยะ เป็นผู้อำนวยการ

ทันทีที่ก้าวผ่านรั้วโรงเรียน นักเรียนหญิง ชายในชุดชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือปกากะญอ เรียงแถวกระจายตัวอยู่ทั่วสนาม โชว์ความสามารถแสดงรำต้อนรับคณะผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นประทับใจ ก่อนพากันไปดูการดำเนินงาน อาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ บ้านพักครู โรงอาหาร ที่สำคัญ โรงพักนอน

เอกสารแนะนำโรงเรียน ย้ำคำสอน “สอนลูกให้จับปลา ดีกว่าหาปลาให้ลูกกิน หากไม่แล้ว ต้องหาปลาให้ลูกกินตลอดชาติ”

ขณะเดียวกัน บ่งบอกความต้องการ ร้องขอความช่วยเหลือจากปัญหาความขาดแคลน ทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ หอพักนอนนักเรียนพักนอน โรงอาหารนักเรียน ห้องสมุด บ้านพักครู และรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ

เดินชมนิทรรศการผลงานนักเรียนล่าสุด ได้รับรางวัลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยแห่งประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2560-2562 การแข่งขันการใช้เข็มทิศและการคาดคะเนและการสะกดรอย ป.4-ป.6 ชนะเลิศเหรียญทอง การร้อยมาลัยดอกไม้สด ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ป.1-ป.6 ชนะเลิศเหรียญทอง การแข่งขันจักสานไม้ไผ่ ป.4-ป.6 รองชนะเลิศ อันดับ 1 เหรียญทอง กับอีก 9 รางวัล รวม 13 รางวัล ด้านการกีฬาเป็นตัวแทนระดับเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬานักเรียน สพฐ. เอพีฮอนด้า วิ่ง 3 ขา ปีที่ 13 ประจำปี 2560 ที่ จ.สุโขทัย

โล่ ถ้วยรางวัล ใบประกาศ วางเรียงโชว์เต็มตู้ ริมผนังทั้งห้อง ละลานตาจนอ่านไม่หมด

บนพื้นห้อง นักเรียนล้อมวงทำพานพุ่ม เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันผลงานการจัดการศึกษา ทักษะอาชีพและทักษะชีวิตการทำงานร่วมกัน จนเป็นเจ้าของรางวัลเหรียญทองการแข่งขันประดิษฐ์พานพุ่มสักการะ ป.4-ป.6 ในงานศิลปหัตถกรรมระดับเขตพื้นที่การศึกษาครั้งที่ 67 ปี 2560

เอกสารแผ่นพับแนะนำวิธีประดิษฐ์ พานพุ่มสักการะ จัดทำโดยนักเรียนหญิง 6 คน ครูผู้สอน คือ ว่าที่ ร.ต.หญิงศิริเพ็ญ ปงใจดี น.ส.ปรางมาศ ใจปัญญา น.ส.รุ่งทิพย์ ศรีอมรมาลี สาระกล่าวถึงตั้งแต่ แนวความคิด ความเป็นมา วัสดุอุปกรณ์ วิธีทำ ขั้นตอนการทำ แบบเข้าใจง่าย จนถึงการคิดราคาวัสดุ รวม 1,460 บาท ราคาขาย 1,800 บาท กำไร 340 บาท

จัดเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน บูรณาการสาระวิชา ศิลปหัตถกรรม งานฝีมือ กับคณิตศาสตร์ คิดคำนวณเลข ต้นทุน กำไร ไว้เสร็จสรรพ

เข้าสังเกตการณ์ห้องเรียนประถม 1 คุยกับครู ผมสุ่มทดสอบความสามารถอ่านออกเขียนได้นักเรียนคนโตสุด ให้เธอเขียนชื่อ แนะนำตัวเองในสมุดบันทึก

เด็กน้อยค่อยๆ จรดดินสอลงบนกระดาษ เขียนเลขโดยตัวอักษรไทย ชื่อ “ด.ญ.สะสึยือมู ฉัน ป. ๑ ๑๒ ปี บ้านอยู่แม่ละมะ กะเหรี่ยง”

สะสึยือมู เพิ่งมาเรียนตอนโตรวมกับนักเรียนร่วมห้องซึ่งอายุเฉลี่ย 4-6 ขวบเพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน

ส่วนครู 2 คน ครูกัญจนา ปิ่นตาคำ จบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิชาเอกภาษาไทย กับครูสุนิสา ชาญกิจมั่น จบมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง วิชาเอกภาษาอังกฤษ เพิ่งมาเป็นครูได้ไม่นาน ตามระเบียบใหม่ครูต้องอยู่ 4 ปี ถึงมีสิทธิขอย้ายไปที่อื่น

ไปอีกอาคารพบครูแจ่มจันทร์ ใบไม้ทอง ถามถึงโครงการคูปองครูหัวละหมื่น เธอว่า “เลือกเข้าอบรมหลักสูตรการทำวิจัยในชั้นเรียนกับการอ่านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมาจัดการอบรมที่แม่ฮ่องสอน 2 หลักสูตร 10,000 บาทพอดี ที่เหลือเป็นค่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ต้องจ่ายเอง

นี่แหละครับ ชีวิตจิตใจของคนเป็นครู เพื่อความก้าวหน้าและเพื่อพัฒนานักเรียน ครูยอมแม้ต้องควักกระเป๋าตัวเองเพราะมันคือความภูมิใจ ความอิ่มเอมใจของครูที่จะนำพาให้ชีวิตของนักเรียนดีขึ้น

เธอบอกว่า “เด็กชายขอบ การพูดจะขาดมาตราตัวสะกด ไม่มีแม่กก แม่กด ครูสอนอ่าน สอนเขียน ใช้วิธีแบบ แจกลูกผสมคำ ทำให้เด็กอ่านคล่องขึ้น เขียนได้ดีขึ้น”

ระหว่างเยี่ยมหอพักนอนนักเรียน 3 หลัง รองรับนักเรียนอยู่ประจำ 115 คน ต้องทำที่นอนเป็นเตียงสองชั้น หากมีใครไม่สบาย เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นปัญหาสุขภาวะต้องช่วยกันระมัดระวัง ด้านหน้าหอพักนอน ราวตากผ้าไม้ไผ่ มีเสื้อผ้าแขวนอยู่อย่างเป็นระเบียบ ดูงามตา

สะท้อนวิชาชีวิตที่ครู โรงเรียนฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย ช่วยเหลือดูแลตัวเองและช่วยเหลือกันเอง

ผอ.บุญช่วยบอกว่า “ปัญหาเด็กบ้านไกล เดินทางลำบาก ยังมีเด็กอย่างน้อยอีก 4 หย่อมบ้าน ผู้ปกครองยังไม่ยอมให้มา”

เด็กที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ขาดโอกาสทางการเรียนเหล่านี้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด หน่วยงานการศึกษาที่รับผิดชอบจัดการอย่างไร

รวมทั้งการจัดการศึกษาแบบอยู่ประจำหอพักนอน แนวปฏิบัติ กฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกให้นักเรียน ผลตอบแทนครู เพียงพอ เหมาะสมกับภาระที่เพิ่มขึ้น แค่ไหน

รายงานวิจัยการศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการโรงเรียนพักนอน ของสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 34 เชียงใหม่ แม่ฮองสอน สะท้อนความจริงน่ารับรู้ไม่น้อยทีเดียว