SearchSri : โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ อมตะนิรันดร์กาล

คอลัมน์ Technical Time-Out

ศึกเทนนิสรายการแกรนด์สแลมแรกของปี ศึก “ออสเตรเลียน โอเพ่น” ที่เมลเบิร์นปาร์ก ประเทศออสเตรเลีย มักโดนวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาสื่อและนักหวดส่วนหนึ่งว่าเป็น “ทัวร์นาเมนต์ปราบเซียน”

เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุของออสเตรเลียในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับความชื้นสูงทำให้นักกีฬาร่างกายอ่อนล้าและเสี่ยงต่อปัญหาบาดเจ็บได้ง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปีที่หลายคนยังไม่ฟิตเต็มร้อย มีปัญหาบาดเจ็บต่อเนื่องจากปีก่อน หรือไม่ก็การต้องเจอกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันจากอากาศเย็นจัดในหลายพื้นที่ที่ยังเป็นฤดูหนาว

ความโหดหินของทัวร์นาเมนต์นี้ยืนยันได้จากจำนวนนักกีฬาที่ต้องถอนตัวทั้งก่อนและระหว่างการแข่งขัน

หรือแม้แต่สภาพของ ซิโมน่า ฮาเล็ป อดีตนักเทนนิสสาวมือ 1 ของโลกชาวโรมาเนีย ซึ่งถึงกับต้องไปนอนให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลหลังพ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศประเภทหญิงเดี่ยว

 

กระนั้น ตำแหน่งแชมป์ชายเดี่ยวของรายการกลับตกเป็นของ “แชมป์เก่า” “โรเจอร์ เฟเดอเรอร์” นักหวดชาวสวิสมืออันดับ 2 ของโลก ในวัย 36 ปี กับอีก 173 ณ วันที่เขาคว้าแชมป์ได้ ทำสถิติเป็นแชมป์ชายเดี่ยวแกรนด์สแลมอายุมากที่สุดอันดับ 3 ตลอดกาล และอันดับ 2 ของยุคโอเพ่น เป็นรองเพียง “เคน โรสวอลล์” ตำนานนักหวดชาวออสซี่ซึ่งคว้าแชมป์รายการนี้ด้วยวัย 37 ปี เมื่อปี 1972

ในเรื่องฝีไม้ลายมือนั้นเป็นที่รู้กันจนไม่ต้องบรรยายใดๆ แล้ว

แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าสำหรับความสำเร็จของยอดนักหวดชาวสวิสในวันนี้คือการก้าวข้ามตรรกะต่างๆ ที่เกินจินตนาการสำหรับหลายๆ คน

สำหรับนักเทนนิสอาชีพโดยเฉพาะฝั่งผู้ชายที่เน้นหวดสโตรกหนักๆ หรือ “เพาเวอร์เกม” เป็นหลักแล้ว อายุเกิน 30 ปีถือเป็นช่วง “บั้นปลาย” ของชีวิตนักหวดกันแล้ว แม้ว่าแกรนด์สแลม 6 ครั้งหลัง แชมป์จะอายุเกิน 30 ทั้งหมดก็ตาม

แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดยิ่งยืนยันถึงความไม่ธรรมดาของ “เฟดเอ็กซ์” ได้เป็นอย่างดี

เพราะไม่ว่าจะเป็น “สตานิสลาส วาวรินก้า” เพื่อนร่วมชาติชาวสวิสที่คว้าแชมป์ “ยูเอส โอเพ่น” ปี 2016 หรือ “ราฟาเอล นาดาล” คู่ปรับสำคัญของเฟดจากสเปนที่คว้าแชมป์ “เฟรนช์ โอเพ่น” กับยูเอส โอเพ่น ปีที่แล้ว สุดท้ายก็ไม่พ้นโดนปัญหาบาดเจ็บเล่นงานจนตกรอบก่อนเวลาอันควรในศึกออสเตรเลียน โอเพ่น ปีนี้

ขณะที่อีก 2 สมาชิกของกลุ่ม “บิ๊กโฟร์” อย่าง “โนวัก โยโควิช” และ “แอนดี้ เมอร์เรย์” ซึ่งอายุล่วงเข้า 30 ปีเท่ากัน ก็เผชิญกับปัญหาบาดเจ็บไม่แพ้กัน โดยเมอร์เรย์หายหน้าไปหลายเดือนเมื่อปีที่แล้ว และต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการเจ็บที่สะโพกจนเลื่อนเวลาคัมแบ๊กไปเรื่อยๆ

ส่วนโนเล่ก็เจ็บศอกจนต้องเปลี่ยนวิธีหวดลูก และสภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์ในขณะนี้

 

เฟเดอเรอร์เองก็ใช่ว่าจะปลอดโรคภัยไข้เจ็บเสียทีเดียว เพราะเคยหายหน้าไปนาน 6 เดือนเต็มช่วงครึ่งหลังของปี 2016 เนื่องจากอาการเจ็บหลังเรื้อรัง และต้องผ่าตัดเข่าหลังได้รับบาดเจ็บขณะพาลูกๆ อาบน้ำ

อันที่จริง สื่อ แฟนๆ และนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อย เคยวิเคราะห์ว่าเส้นทางเทนนิสอาชีพของเฟดน่าจะจบไปแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทั้งช่วงที่พักยาวครึ่งปีดังกล่าว และช่วงที่ว่างเว้นจากแชมป์แกรนด์สแลมนานถึง 5 ปี (ระหว่างปี 2012-2017) เนื่องด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นกับสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เหมือนก่อน

แต่เขาก็ทำให้ทุกเสียงวิจารณ์เงียบลง เมื่อกลับมาลงสนามและคว้าแชมป์แกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น กับ “วิมเบิลดัน” เมื่อปีที่แล้ว ก่อนจะมาคว้าแชมป์ต้นปีนี้

กลายเป็นนักหวดชายคนแรกในประวัติศาสตร์ที่กวาดแชมป์ชายเดี่ยวแกรนด์สแลมได้ถึง 20 รายการ

และเป็นคนที่ 4 ของโลกซึ่งทำผลงานดังกล่าว ต่อจากยอดนักหวดหญิง “มาร์กาเร็ต คอร์ต” ตำนานสักหลาดชาวออสซี่ (24 ครั้ง), “สเตฟฟี่ กราฟ” อดีตราชินีเทนนิสโลกชาวเยอรมัน (23 ครั้ง) และ “เซเรน่า วิลเลียมส์” อดีตมือ 1 ของโลกชาวอเมริกัน (23 ครั้ง)

แถมยังทำได้ในอายุที่เข้าขั้น “ไม้ใกล้ฝั่ง” ของวงการสักหลาดอีกต่างหาก!

 

เคล็ดลับความ “อมตะ” ของเฟเดอเรอร์นั้น เกิดจากปัจจัยหลายประการ เหตุผลที่เขายังเล่นได้ในระดับแนวหน้าในจังหวะที่คู่แข่งอายุน้อยกว่าพากันทยอยบาดเจ็บ เป็นเพราะสไตล์การเล่นที่ไม่ฝืนตัวเอง

เกมเทนนิสของเฟดเป็นเกมบุก เน้นปิดสกอร์เร็วไม่โต้บอลยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น

ผิดกับสไตล์หลักๆ ของผู้เล่นยุคนี้ที่มักเน้นตีโต้ที่เบสไลน์ รอจนอีกฝ่ายพลาดไปเอง หรือจะโจมตีเฉพาะตอนที่มั่นใจแล้วเท่านั้น ซึ่งสไตล์หลังนั้นทำให้ร่างกายต้องรับภาระหนักไปโดยปริยาย

เฟเดอเรอร์ยังไม่ดื้อจนเกินไป เมื่อถึงช่วงหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าเริ่มถึงทางตันกับสไตล์ของตัวเอง เขาก็ยอมเปลี่ยนไปใช้แร็กเกตที่หัวใหญ่ขึ้น ฝึกการหวดแบ๊กแฮนด์ที่ต่างจากเดิม จนเปลี่ยน “จุดอ่อน” ให้กลายเป็น “อาวุธ” สำคัญ

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความรักที่มีต่อกีฬาเทนนิสซึ่งไม่เคยหายไป ยืนยันจากน้ำตาที่หลั่งออกมาด้วยความตื้นตันในพิธีมอบรางวัลออสเตรเลียน โอเพ่น ที่เรียกเสียงปรบมือยาวนานจากแฟนๆ ทั่วสนาม

 

สําหรับคนที่รักกีฬาแล้ว น้ำตาของเฟเดอเรอร์เป็นการสื่อสารว่า เขายังให้ความสำคัญกับแชมป์แกรนด์สแลมที่ 20 ไม่ต่างกับครั้งแรกของตัวเอง และยัง “แคร์” มากพอที่จะลงเล่นเพื่อไล่ล่าแชมป์ไปเรื่อยๆ เพราะรักที่จะเล่นกีฬานี้ (ต่างจากตอนโยโควิชที่พอได้แชมป์เฟร้นช์ โอเพ่น ที่รอคอยมานานเมื่อปี 2016 จู่ๆ เกมของเขาก็ชอร์ตไปดื้อๆ)

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แฟนๆ กีฬาทั่วโลกส่วนใหญ่จะพากันเทใจเชียร์ให้เขาไปได้ไกลที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

อีกหนึ่งปัจจัยที่เฟเดอเรอร์ยกให้เป็นเครดิตสำคัญของความ “อมตะ” ของตัวเอง คือ ครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เมียร์ก้า” ภรรยาสุดรัก ซึ่งยังยินดีจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อให้กำลังใจเขาตลอดทั้งปี เนื่องจากคุณพ่อลูกสี่ตั้งกฎเหล็กไว้ว่าจะไม่ยอมห่างลูกเกิน 2 สัปดาห์เด็ดขาด

ตราบใดที่ภรรยายังไม่เหนื่อยที่จะดูแลลูกๆ และร่วมเดินทางกันไปเป็นครอบครัวใหญ่ เขาก็ยังมีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปได้เสมอ