มุมมอง “พันธมิตร-กปปส.” สุริยะใส กตะศิลา “อำนาจ คสช. สั่นคลอนมากขึ้น”

“เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเหนือความคาดหมาย ว่าปี 2561 จะไม่มีเลือกตั้ง แต่ถามว่าการยื้อไปเรื่อยๆ สะท้อนอะไร? ผมคิดว่าคำถามใหญ่วันนี้คืออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่? หรือที่บางคนบอกว่ายื้อเลือกตั้งเพื่อรอให้พรรคทหารพร้อม ส่วนตัวผมไม่ค่อยมั่นใจว่านี่คือสมมติฐานที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะว่ามันไม่คุ้มในทางการเมือง เพราะต้นทุนและความนิยมลดลง ผมว่ามันได้ไม่คุ้มเสียและจะทำให้กระแสคะแนนนิยมพรรคการเมืองสูงขึ้นเป็นลำดับ ถึงตอนนั้นการกลับเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกไม่ง่าย หรือใครที่ประกาศตัวเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ในนามพรรคใหม่ๆ ที่จะตั้งมากันผมคิดว่าอาจจะต้องทบทวนเหมือนกันนะ”

นั่นคือมุมมองจาก สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และ กปปส. ที่มีต่อสถานการณ์ล่าสุดหลัง มีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้

: ประเด็นนาฬิกาหรู ส่งผลต่อกองเชียร์กองหนุนอย่างไร?

เป็นความท้าทายของกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลที่ประกาศว่าจะมาปราบโกง หรือบอกว่ารัฐบาลทหารดีกว่านักการเมือง วันนี้เหมือนได้รับการพิสูจน์เหมือนกัน สังคมก็อาจจะเห็นว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่ ไม่ว่าที่มาแบบไหนก็ตาม ถ้ากลไกของการตรวจสอบมันอ่อนแอการทุจริตก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น อำนาจที่การตรวจสอบทำไม่ได้เต็มที่แน่นอนมันก็คาใจผู้คนและก็จะเป็นคำถามที่ค้างคาใจไปอีกนานเท่านาน ตราบใดที่ยังไม่มีคำชี้แจงที่ดี

ส่วนประเด็นที่ว่ากองเชียร์หวานอมขมกลืนสำหรับกองหนุนก็เป็นเรื่องธรรมดาพอรัฐบาลมาใหม่ๆ ก็มีความนิยมกันทั้งนั้น แต่พอถึงจุดหนึ่งก็อาจจะผิดหวังกันเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องเรียนรู้ต่อไป

: ปัจจัยที่จะทำให้กองเชียร์-กองหนุนรู้สึกว่ายังสามารถเชื่อมั่นต่อไปได้คืออะไร?

อันนี้เป็นคำถามที่ดี “การไม่ปฏิรูปตัวเองของพรรคการเมือง” คือจุดที่ได้เปรียบของ พล.อ.ประยุทธ์อันหนึ่ง ก็คือว่า คะแนนนิยมของแกแม้จะร่วงแล้ว แต่คนยังรู้สึกว่ามันยังดีกว่าพรรคการเมืองดีกว่านักการเมืองหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็น มันทำให้คนมีความรู้สึกว่าหากกลับไปก็เหมือนเดิมอีก ประชาชนก็กบเลือกนายขัดแย้งกันอีก อันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย

คำถามคือบรรดาพรรคการเมืองทุกพรรค คุณจะใช้กระแสขาลงของทหาร แล้วชิงการนำกลับมาได้หรือไม่ ชิงความศรัทธากลับมาได้หรือไม่? ซึ่งถ้าคุณไม่ปฏิรูปตัวเอง ผมบอกได้เลยว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นอาจจะมีกระแส “โหวตโน” กลับมา หรือเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้คำตอบอีก

ฉะนั้น ผมคิดว่าหากมองอีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสของกลุ่มก้อนพรรคการเมืองทั้งหลายที่จะปฏิรูปตัวเอง เรียกความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาได้หรือไม่ ถ้าไม่ทำมาผมเชื่อได้เลยว่าต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์คะแนนนิยมลดต่ำลงแค่ไหน ก็เข็นกลับมาเป็นนายกฯ คนนอกได้อยู่ดี

: ข้อเสนอการเปลี่ยนชอยส์ใหม่ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ คนนอก?

เป็นไปได้ว่าใกล้ถึงช่วงเลือกตั้งต้องประเมินอีกทีในการเปลี่ยนตัว ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะถูกใช้ในช่วงแรกหลังเลือกตั้งหรือไม่ หรือให้ใครมาขัดตาทัพ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาในช่วงสั้นๆ แล้วเปลี่ยนตัวใหม่

คุณต้องยอมรับประการหนึ่งว่าพอคุณโยนอำนาจกลับไปที่การเลือกตั้งแล้ว เกมอำนาจจะเปลี่ยน มันจะไม่อยู่ในการควบคุมของ คสช. โดยลำพังอีกต่อไปแล้วกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มขั้วการเมืองจะเข้ามาและชอบธรรมมากขึ้น กระดานมันจะเปิด

ฉะนั้น คุณจะใช้อำนาจในสภาพบังคับกับทุกกลุ่มมันไม่ได้ ใช้ ม.44 ไม่ได้ นายกฯ คนนอกอาจจะเข้ามาได้โดยง่ายแต่จะปกครองได้ยาก ผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนร่างหรือแปลงกายสับขาหลอกหานอมินีมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและถึงวันนั้นการเมืองมันเปิดบุคลิกคนที่เป็นอำนาจนิยม จะไม่ง่ายแล้ว คงต้องมีผู้นำบุคลิกประชาธิปไตยรับฟังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แต่ถ้าคุณไปผูกอยู่ที่กลุ่มก้อนเดิม จะเกิดแรงต้านขึ้นได้แล้วก็จะวนกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาทั้งหมดยังอยู่ในวิสัยที่ พล.อ.ประยุทธ์จะสะสางได้ เงื่อนไขเดียวที่จะดึงกองหนุนกลับมา สมมุติว่าเลือกตั้งต้องเกิดต้นปี 2562 การปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งมันจะเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้กองหนุนกลับมา เหลือปีกว่า ทำได้ถ้าจะทำ เช่น ปฏิรูปตำรวจ ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนอยากเห็นที่สุด

แล้วไม่แน่ผมไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้สูตรนี้หรือไม่ในช่วงที่วิกฤตสุดสุด เขาอาจจะคิดนอกกรอบก็ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทางการเมืองต้องดูจากนี้ไปว่าโค้งสุดท้ายแล้วจะมีไม้อะไร เพราะว่าพอถึงต้นปี 2562 คุณจะอ้างเหตุผลเลื่อนอีกมันจะยากแล้ว (เว้นแต่มีสงครามโลกครั้งที่ 3)

ถ้าหากเราจะอ่านการเมืองแบบ ปีต่อปีมันยากแล้ว ต้องมองกันเดือนต่อเดือนเลย โอกาสของนายกฯ คนไหนก็มีแต่ต้องรอให้ถึงวันนั้นก่อน ช่วงใกล้เลือกตั้งจริงๆ คสช. เองก็รู้ว่าอำนาจที่มีอยู่ในมือขณะนี้ไม่สามารถที่จะคิดอะไรยาวๆ ได้

วันนี้ชัดเจนว่าอำนาจของ คสช. สั่นคลอนมากขึ้น

: มองสูตรร่วมมือกันต่อสู้ของ 2 พรรคใหญ่อย่างไร?

ผมมองว่านี้เป็นสูตรพิสดารไม่มีทางเกิดขึ้น สำหรับผมคิดว่าเป็นทฤษฎีเพื่อข่มขู่ คสช. เท่านั้น เพราะเขาจะอธิบายกับครอบครัวของผู้สูญเสียชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้ด้วยกันอย่างไร (ทุกฝ่าย) เพราะอุดมการณ์อะไรต่างๆ มันไม่ง่ายที่จะพูดกับเขา แต่ถ้าเหตุการณ์หากเป็นช่วงปี 2535 ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ ในยุคที่มิตรแท้ศัตรูถาวรทางการเมือง ตอนนี้ทุกพรรคก็เล่นเกมการเมือง-มวลชนไปหมดแล้ว

: นิยามการต่อสู้ทางการเมืองไทยในขณะนี้คืออะไร?

มันเป็นสงครามของขั้วอำนาจที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย เป็นสิ่งที่เข้ามาพร้อมกับประชาธิปไตย เพียงแต่ว่ากติกาของบ้านเราอาจจะดูไม่มีมาตรฐานพอที่จะทำให้เกมของการต่อสู้ ของเรามันออกนอกกรอบไปหน่อย จนเกิดความขัดแย้งแตกแยกบานปลายอันนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง เป็นประเด็นที่เราจะสร้างกติกาที่มีประสิทธิภาพมีมาตรฐานให้เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มาก ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีก็ไม่ตอบโจทย์

ประการต่อมาผมคิดว่าในบริบทแบบนี้คนที่จะมองแบบตรรกะเดิมๆ ผ่านแว่นเดิมๆ ว่าจะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ เป็นการประเมินที่ต่ำไป เพราะผมรู้สึกว่าประชาชนเรียนรู้มากขึ้น คุณไปดูเถอะสุดท้ายแกนนำไม่สามารถที่จะกุมสภาพการนำได้ตลอดเวลา ไม่สามารถเป็นเจ้าของมวลชนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะแดงจะเหลืองหรือฟ้าหรือเขียว เพราะมวลชนตื่นตัวและเรียนรู้ที่จะปรับตัว

อย่างเช่นพันธมิตรของผม พอถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องยุติ เราเคยวิเคราะห์ว่ามวลชนเขาเติบโตเรียนรู้ไป แต่ถ้าเรายึดถือว่าเราเป็นแกนนำตลอดกาลอันนี้เป็นเรื่องที่ผิดนะ หลายเรื่องผมก็เรียนรู้จากความตื่นตัวกับพัฒนาการของภาคประชาชน ผมเห็นว่าโตขึ้นแม้ว่ามันอาจจะยังไม่มากพอที่จะเป็นพลังที่ 3 ที่ 4 ที่จะเข้ามาต่อกรกับอำนาจส่วนนำที่ปล้ำกันมาหลายทศวรรษ แต่ว่ามีบทบาทมากขึ้นในขณะเดียวกันก็ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายอำนาจนำเดิม

สิ่งหนึ่งที่ผมพบก็คือว่าสู้กับเผด็จการเป็นเรื่องยากก็จริงเสียเลือดเสียเนื้อแต่สร้างประชาธิปไตยผมรู้สึกว่ามันยากกว่าอีก เพราะประชาธิปไตยในความหมายของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกันทั้งที่อ้างประชาธิปไตยด้วยกัน แต่ทำไมมันคุยกันไม่รู้เรื่อง ประชาธิปไตยของผมกับของคุณก็อาจจะต่างกัน

ฉะนั้น มันต้องใช้เวลาผมคิดว่าผมมองบวกและทุกอย่างมันมีวิวัฒนาการและประชาชนก็เติบโตขึ้น เข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น คุณจะหอบเงิน 50 ล้านเพื่อจะเอา ส.ส. มาสัก 1 เขตมันไม่ใช่เรื่องง่ายแบบเดิมอีกต่อไป นี่เป็นตัวแปรที่ผมคิดว่าต้องให้เวลากับประชาชน

แต่คุณจะไปบอกว่ามันเป็นเกมเป็นทวิรัฐทางการเมืองที่เปลี่ยนมาเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่หนีไม่ออก อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์แบบนี้ต่างหาก แล้วเราจะต่อยอดมันอย่างไรเพื่อไม่ให้มันย้อนรอยกลับมาอีกตรงนี้ที่ผมคิดว่านักต่อสู้ทั้งหลายต้องสรุปบทเรียนของตัวเองด้วย โดยเฉพาะทฤษฎีเตะหมูเข้าปากสุนัขอะไรทำนองนั้น ข้อพิจารณาอันนี้เป็นข้อพิจารณาที่พึงระวังของนักเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม

: บ้านเมืองจะอยู่ในวังวนรัฐประหาร-เลือกตั้ง-รัฐประหาร-เลือกตั้ง?

ผมมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในวงวนนี้ต่อให้ไม่มีคุณทักษิณ ชินวัตร ผมก็คิดว่ายังมีสภาวะทวิรัฐทางการเมือง มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งสลับกับรัฐบาลที่มาจากทหาร ผมรู้สึกอย่างนั้น และหลังๆ มีตัวแปรจากนอกประเทศมากขึ้น เช่น เรื่องของความมั่นคง ก็กลายเป็นข้ออ้างของทหาร (เว้นวันหนึ่งจะมีการปฏิรูปกองทัพ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีทางออกอื่นที่จะทำให้การเมืองออกไปจากกับดักหรือวังวนอันนี้ได้ แต่เงื่อนไขความแตกแยกยังอยู่ ตัวกลางจะถูกถามหาตลอด โหยหาถึงตลอด

กองทัพก็จะน้อยลง! และผมไม่คาดหวัง ความปรองดองว่าจะเกิดขึ้นโดย คสช. เพราะเขาไม่เห็นทำ!