ฉัตรสุมาลย์ ไขข้อข้องใจ แปลงเพศแล้ว บวชได้หรือไม่?

หากท่านผู้อ่านอยู่ในวัย 70 ขึ้น อาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของนางสาวพรหมมาจากปากคำของผู้ใหญ่ นางสาวพรหมมา เป็นผู้หญิงไทยที่ตัวสูงมากค่ะ ได้ยินเล่าว่า ตอนตายไม่มีโลงใส่ สัปเหร่อต้องตัดศพเป็นสองท่อนเพื่อใส่โลง

ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ นึกถึงเรื่องของนางสาวพรหมมา หากมีชีวิตอยู่ในสมัยนี้ แล้วมาขอบวช น่าจะบวชไม่ได้ค่ะ

เมื่ออาทิตย์ก่อนได้ยินเรื่องที่พระอุปัชฌาย์ไม่ให้คนเตี้ยบวช ว่าสูงเพียง 99 เซนติเมตร น่าจะพวกคนแคระ ประมาณนั้น

เป็นจริงค่ะ ในพระวินัยมีห้ามอย่างนั้นจริงๆ

บางคนก็ว่าไม่ยุติธรรม เขาเป็นคนดีแท้ๆ ทำไมไม่ให้บวช

บางคนก็ว่า ทำไมคนเตี้ย หรือคนสูงบรรลุธรรมไม่ได้หรืออย่างไรจึงกีดกัน

คนละประเด็น อย่าหลงประเด็นกัน

คนเตี้ย คนสูง (ผิดปกติ) สามารถบรรลุธรรมได้ทั้งสิ้น หญิงชายไม่เกี่ยง บวชหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา

นี้คือความงามของพุทธศาสนา เรื่องการบรรลุธรรม เป็นเรื่องสภาวะของจิต ไม่ถูกจำกัดด้วยเพศ สีผิว สูงต่ำ

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่ ฮือฮาเรื่องผู้หญิงออกบวช แล้วก็ถูกกีดกัน บางพวกที่มองในแง่ของความเสมอภาค ก็ว่า ไม่ยุติธรรม ปิดโอกาสไม่ให้ผู้หญิงบรรรลุธรรม

นั่นก็หลงประเด็นเหมือนกัน

เรื่องการบวชเป็นคนละเรื่องกับการบรรลุธรรม

พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้ผู้หญิงบวชได้ เพราะผู้หญิงสามารถบรรลุธรรมได้ พวกผู้ชายออกบวช เพราะชีวิตนักบวชนั้น ทรงเห็นว่าเป็นทางลัด เมื่ออนุญาตให้ผู้ชายออกบวช ต่อมาจึงต้องอนุญาตให้ผู้หญิงออกบวชเช่นกัน

แต่คนที่ออกบวชนั้น นอกเหนือจากการตั้งใจที่จะบรรลุธรรมแล้ว ในสมัยต่อมา ชัดเจนว่า ผู้ออกบวชต้องมีความรับผิดชอบต่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติจิตของตนให้ละคลายออกมาให้ได้มากที่สุด แต่เพราะคณะสงฆ์พึ่งพาชาวบ้าน คณะสงฆ์จึงต้องอยู่ในฐานะดูแลชาวบ้านด้วย

ในตอนแรกเริ่มนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงวางพระวินัย แม้พระสารีบุตรทูลพระพุทธองค์ก็ยังทรงเห็นว่า ยังไม่จำเป็นในช่วงแรก เพราะพระสงฆ์ล้วนตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นเป็นส่วนใหญ่

ในสมัยต่อมา เมื่อคณะสงฆ์เพิ่มจำนวนขึ้น จึงจำเป็นต้องวางพระวินัย เหตุผลที่วางพระวินัยให้คณะสงฆ์ถือปฏิบัตินั้น ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นห่วงท่าทีของชาวบ้านที่สนับสนุนคณะสงฆ์ด้วย จึงมีข้อที่ว่า เพื่อให้ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว มั่นคงในศรัทธา และช่วยให้ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธาเกิดศรัทธามากขึ้น

เพราะคณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ตามลำพัง คณะสงฆ์อยู่ได้ด้วยชาวบ้าน หากนิมนต์พระมาสวด แล้วมีองค์หนึ่งสูงโด่งมากกว่าคนอื่น เวลานั่งทำพิธีก็ไม่งาม จะเป็นที่เพ่งเล็งและเป็นขี้ปากของชาวบ้าน

เช่นเดียวกัน หากพระภิกษุเตี้ยแกร็น เวลาเดินก็เท่ากับสะโพกของคนอื่น เดินในแถวก็ไม่งาม คนอื่นเดินตามธรรมดา แต่ท่านต้องเดินแบบเกือบวิ่ง เพื่อให้ทันคนอื่น ลักลั่น นั่งในแถวก็ไม่งาม มิหนำซ้ำ บางทีก็เป็นที่ล้อเลียนของคนอื่น บางทีก็เข้ามาลูบศีรษะหยอกเอิน เพราะความเตี้ยเกิน ทำให้พระสงฆ์ไม่สามารถอยู่ในฐานะของผู้เป็นที่รับความเคารพจากญาติโยม

แม้ความพิการ เช่น ตาบอดทั้งสองข้าง ก็จะบวชไม่ได้ เพราะจะต้องมีผู้คอยดูแลกำกับ จะทำหน้าที่ของพระสงฆ์ไม่ได้เต็มที่ ผู้ที่พิการเดินขากะเผลกมาก พระอุปัชฌาย์ก็จะไม่บวชให้ ด้วยหลักวิธีคิดแบบเดียวกัน

สมัยที่ผู้เขียนยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีประเด็นที่โจษกันมากเรื่องกะเทยบวชได้ไหม

ถ้าเป็นบัณเฑาะว์ หมายถึงกะเทย (บัณเฑาะว์ แปลว่ากลองสองหน้า) ในความหมายว่า ไม่มีเพศ เช่น พวกขันทีที่ทำงานในวังของจีนโบราณ ผู้ชายต้องตัดอวัยวะเพศ เพื่อเข้าไปทำงานในวัง เวลาสมัครงาน ก็ต้องถือชิ้นส่วนของตัวเองที่ตัดแล้วดองในขวดไปแสดงด้วย

พวกนี้ บวชไม่ได้ ไม่มีความเป็นบุรุษครบ

เวลาที่พระกรรมาวาจาจารย์ถามว่า “ปุริโส สิ” เป็นผู้ชายหรือเปล่า หมายถึงต้องมีเครื่องเพศนี้ ถ้าไม่มีก็บวชไม่ได้

ทีนี้ ปัญหาของปัจจุบันคือ มีเครื่องเพศครบ แต่ใจเป็นผู้หญิง

กรณีนี้ ก็ต้องบวชตามเครื่องเพศ คือ บวชเป็นภิกษุ ไม่ใช่บวชเป็นภิกษุณี

ถามพระภิกษุนักศึกษาที่มาเรียนปริญญาโท ว่าในกรณีที่เครื่องเพศเขาเป็นชาย ก็ควรจะบวชเป็นภิกษุได้ เรียกว่า ไม่ขัดกับพระวินัย หากพิจารณากันตามตัวอักษร

หลวงพี่ท่านหนึ่งอธิบายว่า บางทีพระอุปัชฌาย์ไม่บวชให้ แม้ว่าจะครบเครื่องตามตัวอักษร เพราะเนื่องจากจิตเขาเป็นผู้หญิง เขาจะมีพฤติกรรมไปรุกรานพระภิกษุที่เป็นชาย

ผู้เขียนก็ยังไม่ละความพยายาม ถามต่อว่า ที่เรียกว่า “รุกราน” น่ะประมาณไหน หลวงพี่ท่านหน้าแดง แล้วว่า อย่างเช่นเข้าไปวิ่งไล่จับนม หรือองคชาตของหลวงพี่ที่เป็นชายแท้ ทำให้สังฆะป่วน

ประมาณนี้ พระอุปัชฌาย์จึงไม่บวชให้กะเทยค่ะ

สำหรับกะเทยที่แปลงเพศแล้ว ทั้งหญิงที่แปลงเป็นชาย และชายที่แปลงเป็นหญิง จะมีอุปสรรคในการบวชเช่นกัน

ในสังคมบ้านเราก็มีเรื่องราวที่ผู้ชายไปประกวดนางงามเป็นผู้หญิง สวยมากด้วย ต่อมากลับใจไปปฏิบัติธรรมและออกบวชเป็นภิกษุ มีความเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตทางธรรม น่าโมทนา

เมื่อประมาณ พ.ศ.2505 มีนายแพทย์สตรีชาวอังกฤษที่ปรารถนาการบวชมาก สมัยนั้น ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องบวชเป็นภิกษุณี เธอจึงตั้งเป้าจะบวชเป็นพระภิกษุ เธอไปผ่าตัดเอาเต้านมออก แล้วไปทำงานในเรือเดินสมุทร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนผู้ชาย แต่แม้กระนั้น ก็ไม่มีใครบวชให้ ในที่สุด เธอได้บวชเป็นสามเณร ครองจีวรแบบเถรวาท มารดาของผู้เขียนได้สัมภาษณ์เรื่องราวของเธอแล้วนำมาลงนิตยสารรายเดือน วิปัสสนา บันเทิงสาร

จะเห็นว่า ขั้นตอนการบวช และการแปลงเพศเพื่อเข้าสู่กระบวนการการบวชนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

เรามองภาพรวมของคณะสงฆ์ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงตระหนักว่า พุทธศาสนาในสมัยแรก เกิดขึ้นท่ามกลางความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ เช่นในสาวัตถีนั้น ก็เป็นศูนย์กลางของผู้ที่ปฏิบัติตามพวกนิครนถ์มาก่อน กว่าที่พระพุทธองค์จะสร้างความศรัทธาได้ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่การใส่ร้ายกันเป็นต้น

พระสงฆ์ ทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ จึงต้องทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาไปในหมู่ของทั้งคนที่มีศรัทธาแล้ว และกลุ่มคนที่ยังไม่มีศรัทธา

พระสงฆ์ นอกจากจะต้องปฏิบัติมาดี รอบรู้ในพระธรรมคำสอนพอที่จะตอบโต้กับคนนอกศาสนาได้แล้ว ยังต้องมีรูปร่างที่ดูดีด้วย เป็นความคิดแบบเดียวกับที่กระทรวงต่างประเทศเขาจะจัดเอกอัครราชทูตออกไปประจำประเทศต่างๆ บรรดาทูตานุทูต ไม่ได้ไปในฐานะของตัวเอง แต่ไปเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

พระสงฆ์ก็เช่นกัน ต้องผ่านการคัดกรองด้วยความคิดแบบนี้

เมื่อเราเข้าใจบริบท เราก็จะเข้าใจว่า พระอุปัชฌาย์จะคัดสรรให้คนบวชหรือไม่บวชอย่างไร

หากเราอยากปฏิบัติธรรม แต่ติดขัดด้วยข้อห้ามทางพระวินัยเช่นนี้ ก็ให้ทำความเข้าใจได้ว่า แม้ไม่บวชก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ และโอกาสในการเข้าถึงก็ไม่ได้มีน้อยกว่าคนอื่นเลย