เศรษฐกิจ / บาทแข็งค่าเหรียญสองด้าน เอกชนหวั่นซ้ำรอยปี “40 วิกฤตหรือโอกาสเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจ

บาทแข็งค่าเหรียญสองด้าน

เอกชนหวั่นซ้ำรอยปี “40

วิกฤตหรือโอกาสเศรษฐกิจไทย

ผ่านมาแค่เดือนแรกของปี 2561 เงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 1 บาท หรือกว่า 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างเร็ว และแข็งค่าไปแล้วกว่าครึ่งที่ศูนย์วิจัยและหน่วยงานเศรษฐกิจของธนาคารต่างๆ คาดการณ์ว่าเงินบาททั้งปีมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นราว 7-8% จากสิ้นปีก่อน

ซึ่งค่าเงินบาทที่ระดับ 31.30-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้เห็นมากว่า 50 เดือน หรือนับตั้งแต่ช่วงปี 2557

เหตุผลหลักของการแข็งค่าขึ้นมาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เพราะความไม่ชัดเจนทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวของสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าจะมีปัจจัยมาหนุนค่าเงินดอลลาร์ให้กลับทิศทางในขณะนี้ จึงมีการมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่ราคาสินทรัพย์ไม่แพงเกินไปและผลตอบแทนยังดี รวมทั้งปัจจัยในประเทศหนุน เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศในเอเชียดันค่าเงินแข็งค่าขึ้นไปเช่นเดียวกับค่าเงินบาท

ในระยะสั้นค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่

และหากยังแข็งค่าในระยะยาวต่อไป ก็อาจจะส่งผลกระทบถึงต้นทุนผู้ประกอบการได้

จากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจขาดทุนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ท้ายที่สุดแล้วอาจจะวนกลับมาถึงซัพพลายเชน ไปจนถึงกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจในประเทศได้ เพราะภาคการส่งออกยังเป็นสัดส่วนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

มุมมองจาก สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้า ธุรกิจบริการและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ต่อแนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องนั้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากคือ ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก

เช่น ธุรกิจเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% หรือเกษตรแปรรูป

หากธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อให้ขายได้ราคาดีขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างตลาดการแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันจากคู่ประเทศแข่ง โดยกลุ่มธุรกิจเกษตรคิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออกรวม เพราะถ้าส่งออกแล้วแปลงเงินกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อย เมื่อนำไปซื้อสินค้าเกษตรหากเป็นไปได้คงอยากซื้อในราคาที่ถูกลง

แต่ขณะนี้ทิศทางราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น อาจจะคุมต้นทุนไม่ได้ กระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งจะกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกรวม

“กังวลว่าหากภาครัฐไม่ออกมาดูแลค่าเงินบาทอาจจะหลุดลงไปต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและเอสเอ็มอีเป็นหลัก กลุ่มนี้จะถูกกระทบทันทีเพราะกำลังซื้อของกลุ่มนี้ยังอ่อนแออยู่ จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงท่าทีว่าจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทและอธิบายให้สาธารณะเข้าใจว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งผิดปกติมาจากสาเหตุอะไร”

สนั่นระบุ

เช่นเดียวกับ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาท

ซึ่ง กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธาน กกร. ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหามาตรการดูแลค่าเงินบาท ขณะนี้ได้สรุปประเด็นที่จะหารือกับทาง ธปท. เรียบร้อยแล้ว มีประเด็นที่จะนำเสนอและหารือกันราว 4-5 ประเด็น

เช่น การดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออก การแข่งขันของธุรกิจกับประเทศคู่ค้าจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นต้น คาดว่าจะเข้าหารือกับทาง ธปท. ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง กกร. ประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเงิน 1 บาทจะกระทบต่อการส่งออกไทยราว 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจนั้น อาจจะแตกต่างกันตามสินค้าที่ส่งออก หากธุรกิจส่งออกแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทแล้วยังมีกำไรครอบคลุมกับต้นทุนของธุรกิจ ธุรกิจนั้นยังอยู่ได้ แต่หากกำไรหดจนกระทบกับต้นทุนธุรกิจ ธุรกิจก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่สายป่านสั้นกว่าธุรกิจรายใหญ่

แม้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่เมื่อสินค้าของทุกประเทศขายเป็นราคาดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐในทิศทางเดียวกัน ประเด็นสำคัญที่ไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะต้นทุนการผลิตแพงเกินไป ซึ่งในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่านี้ก็เป็นโอกาสที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาระบบการผลิต

รวมทั้งการใช้เครื่องจักรในการทำงานเพื่อลดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานที่กำลังจะปรับขึ้นได้

ในกรณีของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้น สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ประธานกรรมการ บริษัท ฤทธา จำกัด ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับอานิสงส์อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้วัสดุก่อสร้างจากในประเทศเป็นหลัก ไม่ได้พึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งปกติได้มีการจัดซื้อวัสดุเป็นล็อตใหญ่อยู่แล้ว

ส่วนการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรการก่อสร้างจากต่างประเทศมักใช้ซัพพลายเออร์ กลุ่มซัพพลายเออร์อาจจะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งบาทแข็งค่าก็ส่งผลให้การนำเข้าต้นทุนลดลง ซึ่งอาจจะมีการเจรจาลดราคากับซัพพลายเออร์ได้บ้าง แต่ต้นทุนโดยรวมไม่ได้ลดลงมากนัก เพราะผลกระทบจากการปรับค่าแรงงานมีผลมากกว่า

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันมีตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยได้รับความนิยมจากต่างชาติมากขึ้น เพราะตลาดไทยมีศักยภาพในการเติบโตและราคายังไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมา

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มองว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อ สัดส่วนต่างชาติที่เข้ามาซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มองผลตอบแทนระยะยาว คาดว่าความต้องการซื้อของต่างชาติยังเพิ่มขึ้น แม้ระยะสั้นมีความเป็นไปได้ที่จะกระทบบ้างหากค่าเงินบาทแข็งเทียบดอลลาร์สหรัฐ

แต่สัดส่วนหลักยังเป็นนักลงทุนในเอเชียต้องพิจารณาว่าค่าเงินบาทเทียบสกุลเอเชียด้วยกัน อย่างหยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในภาวะที่ธุรกิจอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำเข้าใช้กับธุรกิจรองรับความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าบาทที่แข็งค่าถือเป็นอานิสงส์ที่ได้รับให้ค่าใช้จ่ายถูกลง

ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ 4 ราย และปีนี้ก็จะยังลงทุนต่อ

ทุกอย่างล้วนเป็นเหรียญสองด้าน

ค่าเงินบาทก็เช่นกัน มีทั้งคนที่ได้และเสียประโยชน์

ดังนั้น ท่าทีและการดูแลด้านนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะที่ผ่านมาไทยเคยมีบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาแล้ว

ซึ่งล่าสุด ธปท. เองก็กังวลว่าหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้

จึงต้องติดตามว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาดูแลค่าเงินบาทหรือไม่

รวมทั้งยังต้องดูแลในระดับที่เหมาะสม เพราะอาจจะถูกจับตาจากสหรัฐว่าเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อการค้า

แต่ที่สำคัญคือเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ!!!