มนัส สัตยารักษ์ : เรื่องเล่าจากงานเขียน

โดยพื้นฐานแล้วผมเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น “นักเขียนเรื่องสั้น” ผมเห็นว่าเรื่องสั้นเป็นวรรณศิลป์ คนเขียนเรื่องสั้นให้ได้ดีน่าจะมีความเป็นอาร์ติสต์อยู่ในสายเลือดด้วย

แต่อยู่ๆ ไปก็เขียนความเรียงอย่างอื่นด้วย เป็นต้นว่า บทความ คอลัมน์ คำนำ และรีวิวหนังสือ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ มีคนขอให้เขียน กับอยากเขียนแสดงความคิดเห็นแบบพุ่งเข้าสู่เป้าหรือจุดหมายโดยเร็ว ตรงไปตรงมา ไม่ต้องสร้างจินตนาการผูกเรื่อง ไม่ต้อง compose คิดจัดเรียงลำดับขั้นตอนก่อน-หลังและจุดจบที่เหมาะสม ไม่ต้องสรรหาคำ หรือวลี หรือประโยคที่อ่านแล้วรื่นหูไม่ติดขัดหรือสะดุด

เมื่อคิดว่างานเขียนประเภทนี้มาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่งานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นเองจากจินตนาการ จึงต้องค้นคว้าหาข้อมูล ต้องพยายามไม่ให้ผิดพลาด

และมักจะใส่ยศไว้หน้าชื่อด้วยความรับผิดชอบ เป็นคนละคนกับที่เขียนเรื่องสั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นผู้เรียนน้อยและความรู้ไม่กว้างขวางพอ ความคิดเห็นจึงมีผิดพลาดบ่อยๆ

ครั้งที่มั่วสุมกันอยู่แถวอาคาร BR เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อนนักทำหนังสือคนหนึ่งฉวยโอกาสรวบรวมและเรียบเรียง “กรณีสวรรคต ร.8” ที่กลับมาฮือฮาฮีกครั้ง ผมลืมไปแล้วถึงสาเหตุที่กลับมาฮิต แต่ละสำนักพิมพ์ต่างก็แข่งขันกันทำเวลาผลิตและจำหน่าย

ผมได้รับการร้องขอให้ตรวจทานและเขียนคำนำ ด้วยเหตุผลว่าผมกำลังเป็นนักเขียนขายดี ความเป็นนายตำรวจน่าจะไม่พลาดเรื่องภาษากฎหมายและการใช้ราชาศัพท์

ในเวลาไล่เลี่ยกัน พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ รวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์พิมพ์ในรูปเล่มพ็อกเก็ตบุ๊ก ตั้งชื่อน่าหวาดเสียวว่า “คอมฯ ที่รัก” ผมเพิ่งกลับจาก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย หลังจากไปอยู่ที่นั่น 1 ปีเต็ม ภาพน่ากลัวของ “ลุงโฮ” ยังติดตาผมอยู่ โดยผมมักจะคิดว่าลุงโฮเป็นคนบุคลิกเดียวกันกับ “จางซูเหลียง”

ผมไม่สันทัดและไม่ศรัทธาในลัทธินี้ จึงเขียนได้แค่คำนำเท่านั้น มิหนำซ้ำยังขัดแย้งกับความคิดหลักๆ ของนักเขียนท่านอื่น อย่างไรก็ตาม อนันต์ยังให้เกียรติความเป็นนักเขียนโดยมีชื่อของผมขึ้นปกร่วมกับ อาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญ (ดร./อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ) พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ (พล.อ.) ร.ต.อ.วราสิทธิ์ สุมน (พ.ต.อ.)

หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก ที่อนันต์พิมพ์ออกจำหน่ายขายดีมาก ไม่ว่าจะเป็น “ดับเทวดา” (เทวดาหมายถึงถนอม-ประภาส) “คอมฯ ที่รัก” “อ.ตร. อันตราย” ทุกเล่มได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง โดยเฉพาะ “ดับเทวดา” จนอนันต์บ่นกับผมว่า “เสียดายที่พาดปกไว้ว่า “รายได้เพื่อส่งเสริม พิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของปวงชน” ถ้ารู้ว่าขายดีเอาไว้เองดีกว่า”

ผมมีส่วนได้จาก “อ.ตร. อันตราย” หายจนไปพักใหญ่ ส่วนเล่มอื่นผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะเรื่อง “อ.ตร. ไอ้ตัวร้าย” (หมายถึง พล.ต.อ.พจน์ เภกะนันทน์) ผมไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ได้แต่นึกชมอยู่ว่าเพื่อนผมตั้งชื่อได้คมคายและชวนอ่านอย่างยิ่ง (ฮา)

อนันต์ เสนาขันธ์ ในช่วงเวลานั้นมีผู้หวังดีเรียกตัวไปพบด้วยเหตุ 3 ประการ

1 เพื่อตักเตือนให้ระมัดระวังตัว

1 เพื่อให้อธิบายเพิ่มเติมถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของข้อเขียน

และอีก 1 เพื่อ “ปรับทัศนคติ” ในความคิดเห็นเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์

ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครและเหตุอะไร ก่อนหรือหลัง และผมไม่ค่อยแน่ใจว่าที่เขาเรียกพบนี้เขาเรียกเฉพาะเจาะจงอนันต์ แล้วอนันต์มาเรียกผมไปด้วยหรือเปล่า

พ.ต.ต.เชาวน์ ธนสุกาญจน์ ต้องปูพื้นกันเล็กน้อยว่า “อาเชาวน์” เป็นอดีตตำรวจยุค “อัศวิน” มีสมญานามว่า “สิงห์ลำพอง” เราเรียกท่านว่า “อา” ตาม พ.ต.ท.ประสาน ธนสุกาญจน์ (นรต.16) หลานของท่านซึ่งเป็นผู้นัดให้เราไปพบที่บ้านหลัง สน.บางซื่อ

ผมและอนันต์ไปตามเวลานัดและต้องจิบน้ำชารออยู่กว่าครึ่งชั่วโมง เดาว่าท่านคงสูบฝิ่นอยู่ เพราะเมื่อท่านเดินมานั่งเก้าอี้คุยกับเรานั้น ท่าทางขณะทรุดตัวลงนั่งและลีลากรีดนิ้วมือหวีผมนั้นเหมือนการแสดงบนเวที

อาเชาวน์ซักถามจนพอใจว่าเราไม่ได้เขียน “อ.ตร. อันตราย” โปรโมตใคร แต่ข้อเขียนหลายส่วนเท่ากับโจมตีทหาร อาเชาวน์เข้าใจเบื้องลึกของผลประโยชน์ทางการเมืองดี จึงเตือนให้เรารอบคอบและระมัดระวัง

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เรียกอนันต์กับผมไปตอบคำถามในห้องประชุมใหญ่ ในที่สุดมีหนังสือถึงกรมตำรวจไม่ให้เอาผิดกับผู้เขียน “อ.ตร. อันตราย”

พล.ต.ต.อารี กะรีบุตร อดีต ผบ.ตำรวจสันติบาล ผู้เข้าใจลัทธิคอมมิวนิสต์ จนเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อาจารย์อารีพูดกับเราทำนองว่า ข้อเขียนใน “คอมฯ ที่รัก” อาจจะไม่ผิด แต่มันทำให้ “เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาไปเปล่าๆ”

กอ.รมน. โดย พล.อ. ท่านหนึ่ง เรียกอนันต์และวราสิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติราชการอยู่ใน กอ.รมน. ไปซักถาม ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้วย

“ท่านพูดกับผมว่า เขียนอย่างนี้หมายความว่าผมก็เชี่ยด้วยสิ” วราสิทธิ์เล่า “ครับ ท่านก็เชี่ยด้วย”

ผมเห็นว่าคำตอบนี้รุนแรงเกินไปสำหรับ ร.ต.อ. จะตอบ พล.อ. จึงไม่ค่อยเชื่อ

“พรุ่งนี้ผมมีกำหนดการโดดร่มดิ่งพสุธา ถ้าที่ผมเล่าไม่จริงขอให้ร่มไม่กาง!”

ผมใจไม่ค่อยดี เพราะมีข่าวพลเอกท่านนี้ แสดงความประสงค์จะโอนมาเป็น อ.ตร. โชคดีที่ถูกออกจากราชการเสียก่อนจากเรื่องทุจริตที่จังหวัดชุมพร

ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ตอนที่เราไปพบอาจารย์นั้น ผมไม่แน่ใจว่าท่านเป็นผู้พิพากษา หรือคณบดีนิติศาสตร์ มธ. หรืออธิการบดีธรรมศาสตร์

เกียรติประวัติของท่านยาวเหยียด เมื่อตอนจบนิติศาสตร์ใหม่ๆ ท่านเคยเป็นตำรวจยศ ร.ต.ท. ด้วย

“ผมเป็นไทยเชื้อจีน อยู่และเรียนที่เมืองจีนตั้งแต่อายุ 7 ขวบถึง 12 ขวบ กลับมาจบ 6 จบ 8 ที่เมืองไทยแล้วกลับไปต่อปริญญาตรีที่จีน แต่พอเขาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมกลับเมืองไทย มาจบนิติและจบเนติฯ ที่เมืองไทย… ผมรู้จักคอมมิวนิสต์จีนดี”

ท่านเสียดายที่เราเหมือนตกเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เรากล่าวหากันง่ายเกินไป… ความหมายมั่นปั้นมือที่จะเล่นงานคนที่คิดต่าง บวกกับความที่อยากจะเชื่อ ทำให้วันหนึ่งเป็นเหลือง รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งกลายเป็นแดงไปแล้ว!

อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี และองคมนตรี ในวัยหนุ่มเคยเขียนบทความประเภท “ความเป็นธรรมในสังคม” ท่านถูกกล่าวว่าเป็นสังคมนิยมหรือ “ซ้าย” ต่อมาเพิ่มดีกรีจนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นท่านสอนและเขียนเรื่องประชาธิปไตย และคงจะเข้มข้นเกินไปเพื่อให้ภาพของตัวเองหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่า “ซ้ายจัด” ในที่สุดท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “ขวาจัด” หรือฟาสซิสต์ไปเลย

กว่าจะเข้าใจและยอมรับว่าที่แท้ท่านเป็นครูบาอาจารย์-ก็อีกนาน

ในยุคของสื่อโซเชียล กล่าวหากันได้เร็วกว่า รุนแรงกว่า แต่ไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไรนัก

ผมมีเรื่องเล่าสมัยผมเป็น ร.ต.อ. อยู่เรื่องหนึ่ง…

ผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งไปเยือนผมถึงแฟลตห้องพักตำรวจกองปราบปราม ซอยโชคชัย 4 ผมได้ยินท่านพูดกับตำรวจที่มาด้วยขณะจะเดินทางกลับว่า “มีรูปในหลวงนี่หว่า”

สมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า บางทีบัตรสนเท่ห์ก็ทำให้คนสนเท่ห์กันอยู่นาน