หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ฟ้า”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ฟ้า”

อยู่ในป่า

สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่เราอยากเห็นเสมอคือ ท้องฟ้า

โดยเฉพาะเมื่อกำลังเดินเพื่อไปยังจุดหมายที่ไม่เคยไป แม้ว่าการเดินเราจะใช้เส้นทางที่สัตว์ป่าใช้ หรือที่เราเรียกว่า “ด่าน” แต่เส้นทางของสัตว์ป่าส่วนใหญ่มักวกวน มีทางแยกสับสน

ด่านเกือบทั้งหมด เป็นเส้นทางเชื่อมแหล่งอาหาร บางเส้นจึงรกทึบ เพราะไม่ใช่ฤดูกาลที่สัตว์ใช้ หรือช้างผู้ทำเส้นทางยังไม่มา

ในขณะเดินป่า นอกจากอาศัยทักษะเดิมๆ ในการจดจำทิศ ต้นไม้ ภูเขา รวมทั้งเส้นทางด่านแล้ว

ถึงวันนี้ เรามี “ตัวช่วย” ชั้นดี มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น

เครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งเราใช้ร่วมกับแผนที่และเข็มทิศ

นั่นก็คือ จีพีเอส หรือการกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก เริ่มจากราว 40 ปีก่อน กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินโครงการ Global Positioning System

ทิศทางบนพื้นโลก มีดาวเทียมกำหนดตำแหน่งให้

ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกใบนี้ จีพีเอสสามารถช่วยนำทางได้ หากรู้พิกัด หรือตำแหน่งของจุดหมายในป่า พิกัดต่างๆ เราตรวจสอบได้จากแผนที่

ทุกวันนี้ ในการเดินทาง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ไปไหนๆ ก็ตาม คนใช้จีพีเอส เป็นคล้ายใช้อวัยวะหนึ่งในร่างกาย

ในป่าเช่นกัน เราไปถึงจุดหมายที่ไม่เคยไปได้โดยไม่พลัดหลง

แต่มีปัจจัยประการหนึ่ง เมื่อเราใช้จีพีเอสในป่า

อาจเป็นเพราะจีพีเอสที่พวกเราใช้ยังเป็น “รุ่นโบราณ” หรืออย่างไรก็ตาม

จีพีเอสจะนำทางเราได้

นั่นคือ ต้องมองเห็นท้องฟ้า

กลางฤดูฝน

08.00 นาฬิกา

ธงชาติไทยผืนค่อนข้างใหญ่ ใหม่เอี่ยม สะบัดพึ่บพั่บอยู่ปลายเสาซึ่งทำจากต้นเต็ง มีความสูงราว 12 เมตร

สายลมค่อนข้างแรง ท้องฟ้ามีเมฆดำครึ้ม

บริเวณฐานเสาธงก่อด้วยปูน ปูทับด้วยหินกาบสีดำแซมน้ำตาล

ด้านหลังเสาธง เป็นอาคารไม้ ทาทับด้วยลายพรางสีน้ำตาลและเขียว เป็นรูปสัตว์หลายชนิด

ช่องว่างระหว่างอาคารไม้เก่าๆ ที่มีระเบียงกว้าง และฐานเสาธง คือลานดินไม่กว้างนัก

ที่นี่คือที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้ ใช้เป็นที่เข้าแถวเพื่อเคารพธงชาติ

เสียงเพลงชาติไทย ที่ทุกคนช่วยกันร้องจบลง

ชายร่างท้วมผิวคล้ำ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าหน่วย ก้าวเท้าไปข้างหน้า กลับหลังหันหน้ามาทางผู้ชาย 6 คนที่ยืนเรียงกัน

ทั้งหมดอยู่ในเครื่องแบบลายพรางป่าไม้ โพกหัวด้วยผ้าผืนใหญ่สีมอๆ

เป้สีเขียววางใกล้ๆ ปืนลูกซองห้านัดตั้งพิงเป้

ทุกคนมีสีหน้าเรียบเฉย ดูทะมัดทะแมง ภาพลักษณ์ต่างจากชายหนุ่มที่นุ่งกางเกงฟุตบอลเตะตะกร้อเมื่อวาน

พวกเขากำลังจะออกลาดตระเวนตามปกติ

“มีคนพบร่องรอยคนเข้ามาแถวๆ โป่ง และได้ยินเสียงปืนด้วย เขาแจ้งพิกัดมาให้แล้ว เราจะเข้าไปตรวจสอบ”

ชายร่างท้วมผิวคล้ำพูดเสียงดัง

“ดูในแผนที่แล้ว พิกัดนั่นห่างจากหน่วยเรา 12 กิโล” ชายผิวคล้ำพูดต่อ

“ไอ้เคเตรียมถ่านพอแล้วใช่ไหม จำรูญ เสบียงดูเผื่อๆ ไว้ด้วย ถ้ายังไงเอาข้าวสารเพิ่มอีกคนละถุง เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หรือต้องตามไปถึงไหน ไอ้ด้า อย่าลืมเข็มทิศ แผนที่ แอ้ด อย่าลืมกล้องล่ะ” หัวหน้าสั่ง

เขาทบทวนกับลูกน้องอย่างรอบคอบ

ทุกคนในทีมได้รับการฝึกการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาเป็นอย่างดี

08.45 นาฬิกา

ผู้ชาย 6 คนเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่า

ข้ามลำห้วยที่ระดับเพิ่มขึ้นจนท่วมหัวเข่า

ทิวเขาซับซ้อน เมฆดำมืดครึ้ม ที่ไหนสักแห่งในความซับซ้อนนั่น

คือจุดหมายที่พวกเขากำลังมุ่งหน้าไป

ไม่ผิดนัก หากจะพูดว่าช่วงกลางฤดูฝน คือเวลาที่ป่าอยู่ในความอุดมสมบูรณ์

ลมมรสุมพัดผ่าน ในกระแสลมที่พัดผ่าน มีกระแสลมหนาวแทรกอยู่

เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ที่เราจะอยู่ใต้ท้องฟ้ามืดครึ้ม สายฝนเม็ดหนาโปรยอย่างสม่ำเสมอ

ลำห้วยเล็กๆ ระดับน้ำเพิ่มอย่างรวดเร็ว สายน้ำขุ่นแดง แต่ถ้าฝนไม่ตกตลอดคืน เวลาสายๆ ระดับน้ำก็ลดและใสเช่นเดิม

ฤดูนี้ การทำงานไม่ง่ายนักหรอก ซุ้มบังไพรต้องมีผ้ายางคลุมอีกชั้น เพื่อให้กันฝนได้และมิดชิด

ในวันที่สภาพอากาศอบอ้าว ในซุ้มบังไพรจะร้อนขึ้นอีกหลายเท่า

บางวันแค่ 10 โมง เหงื่อก็เริ่มซึม เสื้อเปียกชุ่มตั้งแต่ยังไม่ถึงเที่ยง

อากาศร้อนอบอ้าวในครึ่งวันแรก คือเรื่องธรรมดาของฤดูนี้

นกเขาเปล้า นกหกเล็กปากแดง นกมูม ทยอยลงกินน้ำในแอ่งที่มีแสงแดดสาดส่อง สักพักก็มืดครึ้ม สลับไปเช่นนี้จนบ่าย ถึงเวลาที่สายฝนเริ่ม

ผึ้งบินตอมหึ่งๆ

เสียง “พรึบ” ดังๆ เกิดจากฝูงนกเขาเปล้าบินขึ้นพร้อมๆ กัน

ก่อนหน้านั้น มีเสียง “จิ๊ก” เสียงที่นกหกเล็กปากแดงร้องเตือน เพราะเหยี่ยวต่างสีตัวหนึ่งบินโฉบมาเกาะบนกิ่งไผ่เงียบๆ

เหยี่ยวหันมองไป-มา

ภาพเช่นนี้ผมเห็นเสมอ การอยู่แบบพึ่งพาของนก ทำให้การทำงานของเหยี่ยวยุ่งยากขึ้น

หมาไน ผมก็เห็นพวกมันบ่อยๆ หลายครั้งที่พวกมันไล่ล้อมและล้มกวางรุ่นๆ ลงได้ใกล้ๆ

กับพวกนักล่า การเรียนรู้เพื่อทำงานให้สำเร็จ จำเป็น

สัตว์ซึ่งมีสถานภาพเป็นเหยื่อ

ก็จำเป็นต้องรู้ว่าในแหล่งอาหาร

ในแหล่งที่ทำให้มีชีวิต

ความตายก็อยู่ไม่ไกลนัก

พลบค่ำ ผมกลับถึงแคมป์

ผมเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่า ร่วมมากับทีมของชายร่างท้วมผิวคล้ำ ตั้งแต่ 2 วันก่อน

ผมนั่งเฝ้ารออยู่ในซุ้มบังไพรริมโป่ง พวกเขาเดินหาร่องรอย

เราจะพักแรมที่นี่เพียงหนึ่งคืน รุ่งขึ้นจะเดินต่อ

ยังไม่ 2 ทุ่ม ฝนก็ตก และดูเหมือนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงตอนเช้า ฝนไม่มีท่าทีจะเบาลง

“ไม่มีสัญญาณเลยลูกพี่” เคซึ่งทำหน้าที่ถือจีพีเอส ส่ายหัว เครื่องมือนำทางใช้ไม่ได้

“บอกแล้วไงว่า ต้องอย่าลืมทักษะเก่าๆ จำทิศ จำทางไว้บ้าง เวลาที่เครื่องมือใช้ไม่ได้ จะได้ไม่งง” ชายผิวคล้ำถือโอกาสสอนลูกทีม

“เดี๋ยวข้านำเอง” เขาพูดพลางยกเป้สะพายหลัง ออกเดินทาง

ท่ามกลางความพร่าเลือนจากสายฝน ผมแหงนหน้ามองเห็นเพียงเมฆดำ

งานในป่าสอนผมอย่างหนึ่ง คือต้อง “ใส่ใจ” กับทางที่กำลังเดิน

ทุกส่วนของร่างกายสำคัญ เพราะเราต้องอาศัยมัน

ในวันที่อยู่ในสภาพอันต้องพึ่งพาตนเอง โดยไม่มีเครื่องมือใดๆ ให้พึ่ง

เราจำเป็นต้องใช้ “หัวใจ”

ไม่ใช่เพียงเพื่อเดินทางสู่จุดหมาย

แต่เพื่อบอกตัวเองว่า ท้องฟ้าไม่เคยหายไปไหน

หัวใจนำทางไปสู่จุดหมายได้เสมอ

เดินทางไปถึง แม้ว่าจะมองไม่เห็น “ท้องฟ้า”