โล่เงิน : แกะสูตรปฏิรูปตำรวจ ก.ต.ช.-ก.ตร.-ผบ.ตร. ตอบโจทย์จริงหรือ!

ปิดจ๊อบส่งการบ้านก่อนเวลา

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กับภารกิจศึกษาและเสนอแนะดำเนินการ “ปฏิรูปตำรวจ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้เวลา 1 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560

ในมาตรา 258 ง. (4) บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ว่าเพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจในเรื่องหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม

แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ

มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เหมาะสมแก่ภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน

เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ ภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนและมีขวัญกำลังใจในการทำงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการอีก 35 คน เรียกกันว่า “36 อรหันต์” เดินหน้าถกปฏิรูปตำรวจกันมา 9 เดือน ครบกำหนดส่งการบ้าน 1 เมษายน แต่ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเวลา ส่งการบ้านบิ๊กตู่ก่อนกำหนดตั้งแต่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

“บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาสำคัญขององค์กรตำรวจด้วยตัวเอง

พร้อมแถลงในวันประชุมนัดสุดท้ายเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

“การบริหารบุคคลและการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ได้ส่งบทสรุปไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เรื่องหลักคือการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้ ผบ.ตร. เป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม 1 ถึง 2 หรือ 3 รายชื่อให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณา โดยองค์ประกอบ ก.ตร. เปลี่ยนแปลงจากเดิม มี ผบ.ตร. เป็นประธาน แล้ว ก.ตร. จะคัดเลือกจากรายชื่อที่ ผบ.ตร. เสนอ ออกมาเพียงคนเดียว แล้ว ผบ.ตร. จะเสนอคนที่เหมาะเป็น ผบ.ตร. คนต่อไปให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ”

“หากไม่เห็นชอบต้องมีเหตุผลประกอบ แล้วให้ ก.ตร. คัดเลือกใหม่ แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจนเห็นชอบ”

“ขณะที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ยังมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ไม่มีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้าย องค์ประกอบปรับปรุงใหม่ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายให้กระจายอำนาจการแต่งตั้งไปยังกองบัญชาการต่างๆ อาทิ บช.1-9 บช.น. ตชด. ฯลฯ ที่เหลือเป็นอำนาจ ผบ.ตร. แต่จริงๆ ผบ.ตร. ก็ยังมีอำนาจทั้งหมด แต่ถ้าทำไม่ไหวต้องแบ่งมอบกระจายอำนาจออกไป”

“ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามีปรัชญา คิดตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า ในสังคมคงมีคนดีทั้งหมดไม่ได้ เราทำให้คนในสังคมดีหมดไม่ได้ เพียงแต่เราต้องสนับสนุนคนดีให้เป็นผู้นำ ให้คนดีมีบทบาทสำคัญในสังคมแล้วสังคมจะดีขึ้น นี่คือวิธีที่เป็นไปได้ วิธีลัดที่สุดในการดูแลสังคมให้สงบเรียบร้อย คือตั้ง ผบ.ตร. ที่ดีที่สุดแล้วท่านจะมีบทบาทสูงที่สุดในการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับถัดลงมา คล้ายกับรูปแบบของกองทัพ แต่ไม่เหมือนกันเพราะตำรวจ ทหารไม่เหมือนกัน แต่ใช่ว่าหลักดีๆ ของทหารตำรวจจะเอามาใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นี่คือวิธีการที่ดีที่สุด”

ประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ ย้ำแนวคิด

ในสรุปรายงานการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ชี้สภาพปัญหาของการบริหารงานบุคคลของตำรวจในปัจจุบัน ไว้ 6 ข้อ คือ

1. การแทรกแซงการบริหารงานบุคคลจากภายนอกองค์กร

2. การถ่วงดุลการใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายของผู้มีอำนาจยังไม่มีประสิทธิภาพ

3. การบริหารงานบุคคลภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การพิจารณาบำเหน็จความชอบของผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นยังขาดหลักประกันการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอ

5. ค่าตอบแทนข้าราชการตำรวจไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับภารกิจและความรับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ขาดขวัญและกำลังใจ

6. ระบบการพัฒนา การศึกษาและฝึกอบรมข้าราชการตำรวจยังไม่ครอบคลุมต่อเนื่อง

ในรายงานเสนอว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลดังกล่าว จำเป็นต้องสร้างความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล เพื่อมิให้ถูกแทรกแซงหรือตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลหนึ่งบุคคลใด

มีการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลอย่างเหมาะสม

สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ ปรับปรุงการพิจารณาบำเหน็จความชอบและค่าตอบแทนเรื่องเงินเพิ่มพิเศษ รวมทั้งการพัฒนาด้านระบบการศึกษาและฝึกอบรม และจัดหากำลังพลทางเลือกเพิ่มเติม

คณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอ ปรับ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจตำรวจ หรือ ก.ตร. และที่มาของผู้นำตำรวจ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” ตามที่ พล.อ.บุญสร้าง ระบุในตอนต้น

ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่ใช้มานานมากกว่า 10 ปี ให้ ก.ต.ช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลือก และแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยตามกฎหมายตำรวจปี 2547 ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.อ. ในที่นี้ตำแหน่งใดก็ได้ แล้วเสนอให้ ก.ต.ช. พิจารณาเห็นชอบ

จากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

กระทั่งมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 เป็นต้นมา มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ออกประกาศและคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก.ต.ช., ก.ตร. และที่มา ผบ.ตร. โดยยังให้อำนาจหน้าที่ ก.ต.ช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพิ่มรองนายกรัฐมนตรี เป็นรอง ตั้ง ผบ.ตร.

ส่วน ก.ตร. ตัดผู้ทรงคุณวุฒิออก การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตํารวจที่ดํารงตําแหน่งจเรตํารวจแห่งชาติหรือรอง ผบ.ตร. แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมการปฏิรูปฯ ปรับใหม่

ให้ ก.ต.ช. มีอำนาจหน้าที่เฉพาะด้านการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น

โดยตัดอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. ในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้ง ผบ.ตร.

ให้ ก.ต.ช. มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบทางยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ปรับปรุงองค์ประกอบของ ก.ต.ช.

ก.ต.ช. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งได้รับการสรรหาโดยกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านยุทธศาสตร์ การวางแผน กฎหมาย หรือการพัฒนาองค์กร ไม่มี ผบ.ตร. เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเหมือนที่ผ่านมา

ปรับบทบาทหน้าที่และองค์ประกอบของ ก.ตร.ใหม่ ให้ทำหน้าที่คัดเลือก ผบ.ตร. ปรับองค์ประกอบของ ก.ตร. โดยตัดฝ่ายการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีออกไป คณะกรรมการปฏิรูปฯ ชี้ว่า เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้หนึ่งผู้ใด

องค์ประกอบของ ก.ตร. ประกอบด้วย ผบ.ตร. เป็นประธาน ก.ตร. กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ จากการเลือกตั้ง มาจากผู้ซึ่งเคยรับราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป แต่พ้นจากความเป็นตำรวจไปแล้วเกิน 1 ปี และต้องไม่กลับเข้ารับราชการตำรวจ

โดยให้ข้าราชการตำรวจตั้งแต่ผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือก จำนวน 6 คน

และกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นและไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 2 คน ซึ่งได้รับการสรรหาโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือก

ไฮไลต์สำคัญคือ ที่มา ผบ.ตร. ซึ่งรายงานสรุปของคณะกรรมการ ระบุว่า

“ปรับปรุงขั้นตอนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้มีการถ่วงดุลกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ผบ.ตร. ก.ตร. และนายกรัฐมนตรี

โดยการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้ ผบ.ตร. เสนอรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรอง ผบ.ตร. ไม่เกิน 3 คน แต่ไม่น้อยกว่า 2 คน พร้อมจัดเรียงลำดับเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาคัดเลือกเพียง 1 คน

แล้วให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

โดยหากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบรายชื่อตามที่ ก.ตร. เสนอ ให้ส่งกลับพร้อมเหตุผลไปยัง ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. พิจารณาใหม่จากรายชื่อที่เหลือเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อไป” สูตรตั้ง ผบ.ตร. ตามแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุด พล.อ.บุญสร้าง เสนอ

ดังที่ พล.อ.บุญสร้าง บอกว่า ทางลัดในการดูแลสังคมแก้ปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายสีกากีคือ เลือกคนที่ดีที่สุด เป็น “ผู้นำ” ด้วยวิธีการ องค์ประกอบ และกลไกใหม่ ที่ออกแบบโดยบอร์ด 36 อรหันต์ตามพิมพ์เขียวที่เสนอนี้ จะตอบโจทย์ตามรัฐธรรมนูญ “การพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด”

และจะแก้ปัญหาที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ พบ “การแทรกแซงการบริหารงานบุคคลจากภายนอกองค์กร” ได้จริงหรือไม่?!