เศรษฐกิจ / ม.44 ลอยตัวน้ำตาล…เพราะแก้ กม.ไม่ทัน หรือปูทางทหารสู่การเมือง ในห้วงเวลากลิ่นอายแห่งการเลือกตั้ง

เศรษฐกิจ

ม.44 ลอยตัวน้ำตาล…เพราะแก้ กม.ไม่ทัน

หรือปูทางทหารสู่การเมือง ในห้วงเวลากลิ่นอายแห่งการเลือกตั้ง

สร้างความงุนงงให้กับสังคมเป็นอย่างมาก สำหรับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ มีผลช่วงกลางดึกของวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

เพราะมันคือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการ

จนมีคำถามตามมาว่า นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีแกนหลักคือ การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย มีความจำเป็นถึงขนาดต้องใช้ ม.44 เลยหรือ???

เนื่องจากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีกระแสการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการใช้อำนาจ คือ ม.44 อย่างรอบคอบขึ้น หลังถูกมองว่ามีการใช้ค่อนข้าง “พร่ำเพรื่อ” และบางเรื่องควรใช้แต่กลับเพิกเฉย

ซึ่งประเด็นความจำเป็นในการใช้ ม.44 นั้น ได้รับการชี้แจงจาก นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่คลุกคลีกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมานานหลายปี ว่า เป็นการกันเหนียวไว้ก่อน หากรอตามขั้นตอนกฎหมายปกติจะใช้เวลานานอาจเป็นปี ขณะที่เรื่องการลอยตัวไปจนถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน รองรับการเจรจากับประเทศบราซิลที่ร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล

ซึ่งผลจากการลอยตัวน่าจะทำให้การเจรจาระหว่างไทยและบราซิลจบลงด้วยดี เพราะไม่มีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลแล้ว

นายสมชายกล่าวว่า เรื่องการลอยตัวราคา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) วางกรอบเวลาว่าจะประกาศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 แต่ก็ทำไม่ได้ จึงหารือกับสำนักงาน จึงมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า หากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไม่ประกาศราคาและปล่อยลอยตัวด้วยการใช้ราคาของลอนดอน นัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม เป็นข้อมูลในการดูแลราคาขายปลีกในประเทศจะเป็นอย่างไร คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา

คือ หากไม่กำหนดราคาจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แม้จะเคลียร์ประเด็น ม.44 แต่มีอีกประเด็น คือ ราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคกังวลว่าจะต้องซื้อในราคาแพงลิ่วเหมือนราคาน้ำมันที่เคยพุ่งตามตลาดโลกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ราคาโลกพบว่า ราคาน้ำตาลทรายลดลงอยู่ระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลส่งออกของไทยถูกขายทำราคาแล้วประมาณ 30% ในราคาเฉลี่ย 17 เซ็นต์ต่อปอนด์

เรื่องนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า จากสถานการณ์โลกจะทำให้ได้ราคาขายปลีกในไทยลดลงแน่นอน

ขณะเดียวกัน ผลจากการลอยตัวทำให้ต้องยกเลิกการเก็บเงินส่วนต่าง 5 บาทต่อกิโลกรัมจากผู้บริโภค จากราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่กำหนดไว้ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อหักออก 5 บาทจะเหลือ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อนำราคานี้เทียบเคียงกับตลาดโลกจะทำให้ราคาน้ำตาลถูก จากราคาก่อนลอยตัวอยู่ที่ประมาณ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ต้องรอน้ำตาลล็อตเก่าระบายออกจากตลาดให้หมดก่อน ราคาน้ำตาลใหม่อิงราคาลอยตัวจึงจะชัดเจน เบื้องต้นคาดว่าราคาหน้าโรงงานลดลง 1 บาท

แต่หากประชาชนต้องการทราบราคาเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศ สามารถตรวจสอบราคาได้จากเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ หรือติดต่อสอบถามเข้ามาโดยตรง ขณะเดียวกัน ในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนราคาสินค้าตัวอื่นแน่นอน ทำให้ราคาไม่ผันผวนเหมือนราคาน้ำมันแน่นอน

นอกจากนี้ นายสมชายยังอธิบายกลไกภายใต้การลอยตัวครั้งนี้ว่า จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่เริ่มใช้เช่นกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561

ประกอบด้วย การยกเลิกระบบโควต้าน้ำตาลที่มี 3 ส่วน คือ บริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) ที่ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 ล้านกระสอบ ส่งออกเพื่อทำราคาขาย (โควต้า ข.) และส่งออกโดยโรงงาน (โควต้า ค.) โดยระบบจัดการรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดให้โรงงานจัดสรรน้ำตาลใน ประเทศให้เพียงพอ

ขณะที่การส่งออกจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำราคาให้ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อให้โรงงานใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งออก ซึ่งการส่งออกนั้นไม่ต้องกังวลว่าหากราคาตลาดโลกพุ่งแล้วจะทำให้โรงงานจะขายน้ำตาลจนบริโภคไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลได้อนุญาตให้การนำเข้าส่งออกน้ำตาลมีภาษีเป็น 0%

ดังนั้น หากในประเทศเน้นส่งออก โรงงานที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบหรือผู้ค้าส่งน้ำตาลก็สามารถนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้

ซึ่งจุดนี้จะเป็นความเสี่ยงของผู้ผลิตในประเทศมากกว่า เพราะหากราคาโลกลดลง น้ำตาลอาจขายไม่ได้

“สำหรับสถานการณ์ราคาขายปลีก ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรมและกระทรวงพาณิชย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน ขณะเดียวกัน จะมีกองทุนดูแลทั้งภาวะราคาตกต่ำเพื่อช่วยเกษตรกร และภาวะสูงเพื่อดูแลผู้บริโภค โดยเงินกองทุนปัจจุบันมีประมาณ 8,000 ล้านบาท รายได้ของกองทุนตามโครงสร้างใหม่จะใช้วิธีนำราคาเฉลี่ยขายปลีกของผู้ใช้บริโภครายหลัก อาทิ โรงงานผลิตอาหาร โมเดิร์นเทรด มาลบกับราคาตลาดโลก (ลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม) และนำส่วนต่างเข้ากองทุนเป็นรายได้หลัก แต่หากลบแล้วติดลบก็ไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุน”

นายสมชายกล่าว

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมแนวทางการดูแลราคาน้ำตาล และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ

โดยมาตรการเบื้องต้นที่จะใช้ในการบริหารจัดการ คือ จะให้คงสินค้าน้ำตาลไว้ในบัญชีรายการสินค้าควบคุมเช่นเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และไม่มีการยกเลิกเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้สามารถออกมาตรการได้ทันท่วงที กรณีมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพราคา และใช้เป็นเกณฑ์ในการดูแลสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค

สำหรับดูแลเรื่องการรายงานสต๊อก การปรับขึ้นลงของราคาขาย ทั้งนี้ หากมีร้านค้าใดขายน้ำตาลทรายเกินราคากำหนด จะเข้าข่ายมีความผิดละเมิดประกาศ กกร. มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เชื่อว่า แนวทางลอยตัวดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการปลดล็อกสินค้าเกษตรของไทยให้เคลื่อนไหวตามตลาดโลก

แต่ในทางกลับกันก็น่าสนใจว่า การลอยตัวที่เป็นผลบวกพอดิบพอดีกับประชาชนครั้งนี้หวังผลปัจจัยการเมืองแอบแฝงหรือไม่ ในช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งเข้าไปทุกขณะ

ที่สำคัญเริ่มมีกระแสกระเซ็นกระสายออกมาว่ามีกลุ่มนายทหารที่เริ่มติดใจการเมือง กำลังฟอร์มทีมจัดตั้งพรรคการเมือง ด้วยมั่นใจต่อกระแสนิยมในตัว “ลุงตู่” ของประชาชน

ยิ่งปี 2561 รัฐบาลประกาศนโยบายมุ่งเน้นดูแลประชาชนระดับฐานรากเป็นเรื่องเร่งด่วน อันดับหนึ่ง ก็ยิ่งน่าคิด

ว่ากันว่า มันคือความประจวบเหมาะ ทั้งแรงกดดันจากบราซิลที่ไทยก็แพ้ไม่ได้ บวกกับราคาโลกที่สมควรลอยตัวเพราะราคาขายปลีกถูกลงด้วย คือปัจจัยที่ทำให้ คสช. ประเดิม ม.44 แรกของปีด้วยคำสั่งลอยตัวน้ำตาล

แต่เมื่อใดที่ราคาโลกผันผวนจนราคาน้ำตาลโลกพุ่งกระฉูด

ก็น่าติดตามว่าภาครัฐจะมีมาตรการดูแลที่รัดกุมเพียงพอหรือไม่เพื่อไม่กระทบต่อคนไทยที่กินน้ำตาลทุกวัน…