อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะแห่งการเป็นหมา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ขอบคุณที่มาภาพจาก http://goo.gl/tQhaVV

 

เห็นชื่อตอนนี้แล้วอย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าคอลัมน์นี้จะเปลี่ยนมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์โลกน่ารักไปเสีย

เพราะในคราวนี้เราจะพูดถึงงานศิลปะเหมือนเดิมนั่นแหละ

หากแต่เป็นงานศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ชนิดที่ว่านี้ต่างหาก

ผลงานศิลปะที่เราจะกล่าวถึงในตอนนี้เป็นผลงานของศิลปินชาวรัสเซียที่สวมบทบาทเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างสุนัข หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า หมา นั่นแหละ

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า โอเล็ก บอริโซวิช คูลิก (Oleg Borisovich Kulik) หรือ โอเล็ก คูลิก

ศิลปินชาวรัสเซียเชื้อสายยูเครน ผู้ทำงานศิลปะแสดงสด, ประติมากรรม, ภาพถ่าย ผู้เป็นที่รู้จักจากศิลปะการแสดงสดในชุด Mad Dog ที่ศิลปินสวมบทบาทเป็นหมา ด้วยการแก้ผ้าล่อนจ้อน คลานสี่ขา สวมปลอกคอ โยงด้วยโซ่ล่าม ให้คนจูงหรือผูกไว้กับที่ และแสดงการเห่าหอน หอบแฮกๆ และแยกเขี้ยวขู่ บางครั้งถึงกับไล่กัดผู้ชมที่ดูอยู่รายรอบ

เขามักบันทึกการแสดงสดของเขาด้วยภาพถ่ายและวิดีโอ

ขอบคุณที่มาภาพจาก http://goo.gl/tQhaVV

ผลงานศิลปะการแสดงสดของโอเล็กเป็นการสำรวจกายภาพและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมรำลึกถึงความเชื่อมโยงอันเก่าแก่โบราณระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ด้วยการสื่อสารผ่านความรุนแรงป่าเถื่อน และการใช้ภาษากายที่ไม่อาจคาดเดาได้แทนการสื่อสารด้วยคำพูด

โอเล็กหวังว่าผลงานชุดนี้จะทำให้เขาเข้าถึง “จิตสำนึกที่ร่วงหล่นจากขอบเขตของความเป็นมนุษย์”

เขาต้องการใช้บทบาทของศิลปินในการเป็นผู้ก่อกวนทางวัฒนธรรม ที่นำพาแสงสว่างมาสู่ความมืดบอดของความคลั่งศาสนาและความอนุรักษนิยมอย่างรุนแรง ที่เขารู้สึกว่ากำลังครอบงำสังคมรัสเซียอยู่

ด้วยการคลานสี่ขา ใช้มือและเข่าเดินต่างเท้า และแสดงอากัปกิริยาแบบหมา

โอเล็กต้องการแสดงออกถึงวิกฤตของสังคมร่วมสมัย อันเป็นผลพวงมาจากการแบ่งแยกทางภาษาและวัฒนธรรมที่สร้างกำแพงกีดกั้นผู้คนออกจากกัน

ดังนั้น เขาจึงลดกำแพงของความเป็นภาษาลง และแทนที่ด้วยการสื่อสารด้วยสัญชาตญาณพื้นฐานแบบเดียวกับสัตว์เดรัจฉานอย่าง “หมา”

ในปี 1997 โอเล็กแสดงนิทรรศการ I Bite America and America Bites Me (ที่เป็นการแสดงการคารวะและล้อเลียนผลงาน I Like America and America Likes Me (1974) ของศิลปินเยอรมันเรืองนาม โจเซฟ บอยส์ ที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้ว) ในนิวยอร์ก ที่โอเล็กเชื้อเชิญผู้ชมให้เข้าไปอยู่รวมกับเขาที่กำลังสวมบทบาทเป็นหมาอยู่ในกรงขังด้วยร่างกายเปลือยเปล่า และไม่ได้ล่ามโซ่ ซึ่งเขาจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอันน่าตื่นตระหนกและคาดไม่ถึงต่อผู้ชมเหล่านั้น ซึ่งผู้ชมก็ได้รับอนุญาตให้สวมชุดป้องกันเผื่อเอาไว้ด้วย

และศิลปินสาวชาวอเมริกัน ซูซาน ซิลลาส (Susan Silas) ที่เป็นหนึ่งในผู้ชมที่เข้าไปอยู่กับโอเล็กในกรง ก็เขียนจดหมายรักที่บรรยายถึงความประทับใจที่ได้เข้าไปใช้เวลาร่วมอยู่กับเขาในกรงในระหว่างการแสดงสดของเขา

และเปรียบเขาว่าเป็น “เจ้าชายในหมู่ชาย และเป็นยอดชายในหมู่หมา” ว่าเข้าไปนั่นเลย!

ขอบคุณที่มาภาพจาก http://goo.gl/tQhaVV

นอกจากบทบาทการเป็นศิลปิน โอเล็กยังสวมบทบาทเป็นภัณฑารักษ์ ให้กับหอศิลป์เรจินา (Regina) ในกรุงมอสโก โดยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการจัดแสดงงานศิลปะอันแปลกแหวกขนบอย่าง การเอาภาพวาดติดล้อให้แล่นไปไหนมาไหนได้ หรือจ้างคนมาแบกงานศิลปะเดินให้คนดู เป็นต้น

ผลงานการเป็นภัณฑารักษ์ที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือการจัดนิทรรศการ Leopards Bursting into a Temple (1992) ของศิลปินชาวรัสเซีย อนาโตลี ออสโมลอฟสกี้ (Ana-toly Osmolovsky) ที่ให้ผู้ชมดูงานอยู่ในกรง โดยมีเสือดาวตัวเป็นๆ สองตัวเดินอาดๆ อยู่นอกกรงภายในหอศิลป์อีกที

โอเล็กกล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนการอุปมาอุปไมยถึงสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันใดในชีวิตของคนเรา”

ส่วนผลงานศิลปะแสดงสด “คนล่นเป็นหมา” ครั้งที่อื้อฉาวที่สุดของโอเล็ก เกิดขึ้นในนิทรรศการแสดงศิลปะกลุ่มที่พิพิธภัณฑ์ ฟาร์กฟาบริเคน (Fargfabriken) ที่กรุงสตอกโฮล์ม, สวีเดน

โดยเขาสวมบทบาทเป็นหมาที่ถูกล่ามโซ่เอาไว้ และมีป้ายเขียนเตือนว่า “อันตราย” วางอยู่ใกล้ๆ

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อผู้ชมงานไม่ได้ใส่ใจกับป้ายที่ว่า และเดินเข้าไปใกล้ๆ โดยไม่ระมัดระวัง เขาก็พุ่งเข้ากัดคนเหล่านั้นทันที (อั๊ยย่ะ!)

ว่ากันว่า เขากัดขาของลูกสาวหัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ หนำซ้ำเขายังทำลายผลงานศิลปะของศิลปินคนอื่นๆ ที่ร่วมแสดงงานในนิทรรศการนี้จนเสียหายหลายชิ้นอีกด้วย

ซึ่งผลก็คือเขาถูกแจ้งความจับเข้าซังเตไปในที่สุด

ขอบคุณที่มาภาพจาก http://goo.gl/tQhaVV

โอเล็กอ้างว่าการกระทำของเขานั้นมีเหตุผล (แบบหมาๆ) และไม่ควรถือสาหาความ เพราะอันที่จริงเขาก็ติดป้ายเตือนให้ระวังเอาไว้แล้ว แต่คนเหล่านั้นก็เลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ใส่ใจกับมัน

เขากล่าวว่า การที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขาที่มีต่อวิกฤตทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ผ่านความโกรธอันรุนแรงของหมานั่นเอง

ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังตลกร้ายจิกกัดเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัย เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2017 ที่ผ่านมาอย่าง The Square ของผู้กำกับฯ ชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลุนด์ (Ruben ?stlund)

โดยเปลี่ยนจากศิลปะการแสดงสดเป็นหมาของโอเล็ก มาเป็นศิลปินแสดงสดที่สวมบทบาทเป็นลิง เข้าไปปั่นป่วนคุกคามเหล่าแขกผู้มีเกียรติและมีหน้ามีตาในงานเลี้ยงสุดหรูของวงการศิลปะร่วมสมัยในหนัง จนวงแตกกระเจิดกระเจิงฉิบหายวายป่วงกันไปถ้วนหน้า

ขอบคุณที่มาภาพจาก http://goo.gl/tQhaVV

ซึ่งหนังก็หยิบยืมเอาชื่อของ โอเล็ก ไปใช้เป็นชื่อของศิลปินลิงคนที่ว่าในหนังด้วย ซึ่งหนัง The Square ที่ว่าก็เข้ามาฉายในบ้านเราในเดือนมกราคมนี้ (คิดว่ากว่านิตยสารวางแผงหนังคงยังจะพอเหลือรอบอยู่บ้างน่ะนะ)

ใครเป็นคอหนังคอศิลปะก็ขอแนะนำให้ไปดูหนังเรื่องนี้กัน บอกได้คำเดียวว่า “แซบ” จริงๆ

สนใจก็เข้าไปสอบถามรายละเอียดและรอบฉายได้ที่ https://www.facebook.com/HALfilm/ กันตามสะดวก