หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ฝูง”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ฝูง”

ปลายปีพุทธศักราช 2560

เสียงดังคล้ายๆ ใบพัดขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ผ่านยอดไม้เบื้องบน ทำให้ผมต้องเงยหน้าขึ้นมอง

เงาดำพาดผ่าน นั้นคือนกเงือกกรามช้างหนึ่งตัว

นกมุ่งหน้าไปทางทิศใต้

ผมมองตามกระทั่งนกลับไปจากสายตา

ดวงอาทิตย์ลับสันเขา ท้องฟ้าเริ่มเป็นสีส้มทาทาบเมฆที่กระจายเป็นก้อนเล็กๆ

นกซึ่งบินอยู่ลำพัง ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาก่อนหน้านี้ของพวกมัน ช่วงเวลาที่อยู่ในฝูง

ผมไม่รู้หรอกว่าขณะบินอยู่ลำพัง

นกเงือกกรามช้างตัวนี้คิดถึงอะไร

โดยปกติในป่าด้านตะวันตก

กลางๆ เดือนตุลาคม เหล่านกเงือกกรามช้างจะพาลูกๆ ออกจากโพรงมาสักพักหนึ่งแล้ว นี่เป็นเวลาที่ลูกยังอยู่กับพ่อ-แม่ เรียนรู้การดำเนินชีวิตไปสักระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเติบโตพอที่จะแยกไปรวมอยู่กับนกรุ่นๆ เดียวกัน

ช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่เหล่านกเงือกจะมาอยู่ร่วมกัน

พ่อแม่นกมาพบปะแนะนำให้ลูกๆ รู้จักกัน

เสียงปีกแหวกอากาศดังราวกับพายุ เวลาพวกมันโผบินออกจากต้นไม้ที่เกาะรวม

และเมื่อลงเกาะ ก็จะมีเสียงร้องก้องดัง ฟังคล้ายๆ เสียงตะโกนคุยกัน

วันไหนมีกระแสลมแรง นกจำนวนไม่น้อยจะบินร่อนตามลม และมีไม่น้อยบินฉวัดเฉวียนโต้ลม ด้วยท่าทางมีความสุข สนุกสนาน

การรวมฝูงเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ

หลังจากนี้ เหล่านกจะแยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวของตนเองตามปกติ

นั่นเป็นเวลาที่ต้องบินอยู่ลำพัง กับงานเลี้ยงดูลูก

นกเงือก รวมถึงสัตว์อีกหลายชนิด ดำเนินวิถีนี้มาเนิ่นนาน

สัตว์บางชนิดยึดวิถีรวมฝูงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ

ขณะบางชนิดไม่เคยจากฝูงไปไหนเลย

ในป่า ต้นฤดูฝน

เราจะเห็นสัตว์ฝูงบ่อยๆ และในฝูงจะมีลูกเล็กๆ อยู่ด้วย

ลูกกระทิง ลูกวัวแดงแรกเกิด สิ่งที่พวกมันต้องเร่งทำคือ รีบลุกขึ้นและเดินให้ได้อย่างรวดเร็ว แม่จะเลียตัว รวมทั้งกระตุ้นลูก เพราะนี่เป็นเวลาที่ป้องกันตัวเองไม่ได้ หากผู้ล่าได้กลิ่น แม้ว่าแม่และสมาชิกในฝูงจะช่วยป้องกัน แต่โอกาสที่ผู้ล่าจะประสบผลก็มีมาก

ในระยะแรกเริ่ม ลูกสัตว์ป่าจึงต้องรีบเรียนรู้ และปฏิบัติตามบทเรียนอย่างครบถ้วน และเคร่งครัด

ชีวิตหากขาดการเรียนรู้ในระยะเริ่มต้น

เมื่อเติบโต อาจอ่อนแอเกินกว่าจะเดินไปบนหนทางของตัวเองได้

จากการศึกษา เรารู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์ป่าได้รับการถ่ายทอดมาทางยีน

แต่หลายอย่างการเฝ้าสังเกตและเรียนรู้จากพ่อแม่

คือเรื่องจำเป็น

พลบค่ำ

ทั่วบริเวณสถานีวิจัยสัตว์ป่า เงียบสงบ ไม่มีเสียงเฮฮา หรือเสียงเพลงจากบ้านพักหลังใด

ผ่านวันเข้าพรรษามาหลายวัน เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานในป่าส่วนใหญ่จะหยุดกิจวัตรประจำ คือกินเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ส่วนใหญ่จะทำสำเร็จ แต่ก็มีหลายคนที่ยอมแพ้ความตั้งใจของตนเอง

บ้านพักสีขาวซีดๆ ถูกเรียกว่า “บ้านนกเงือก” เพราะบ้านแห่งนี้เป็นที่พัก และเก็บสัมภาระของนักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนกเงือก

บ้านหลังนี้อยู่ติดชายป่า ค่อนข้างห่างจากบ้านพักหลังอื่นๆ

ผ้ายางสีฟ้าเก่าๆ ที่เราขึงกันแดดและฝนหน้าบ้าน ขาดรุ่ย จนต้องปลดออก

ท้องฟ้ามืดครึ้ม เทียนแท่งใหญ่ที่ใครสักคนเอามาจากวัด ให้ความสว่างดี ใช้ได้นาน

โต๊ะประกอบจากไม้กระดานเก่าๆ ใช้เป็นที่วางกับข้าว

รอบโต๊ะมีเสียงหัวเราะดังเป็นระยะ

ต้นเหตุมาจากผู้ชายร่างท้วมผิวคล้ำ วัย 50 กลางๆ ที่กำลังเล่าเรื่องต่างๆ ด้วยเสียงอันดังฟังชัด

ทุกคนเรียกชายผู้นี้ว่าน้าหมุด

น้าหมุด หรือชื่อจริงว่าสมุทร เป็นพ่อของเค หนึ่งในคนงานสถานีวิจัยสัตว์ป่า

น้าหมุดคุยเรื่องลูกชาย เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาหลายครั้งแล้วล่ะ แต่ก็ยังตั้งใจฟังเรื่องไม่น่าขำ แต่น้าหมุดเล่าแบบให้เราขำ

“ตอนนี้ผมไม่ต้องการอะไรมากหรอก บอกไอ้เคให้มันตั้งใจทำงานดีๆ อยู่ใกล้ๆ จะได้ไม่ห่วง”

หลายปีก่อน เคเบื่องานในป่า เขาลาออกมุ่งหน้าเข้าไปผจญภัยในกรุงเทพฯ

“ผมห่วง แต่ไม่รู้จะไปตามมันที่ไหน”

น้าหมุดไม่มีวิธีติดต่อลูกชาย แต่กระนั้นก็เข้ากรุงเทพฯ นั่งรถมาถึงสถานีขนส่ง

“นั่งอยู่หมอชิตนั่นแหละ ภาวนาให้ลูกเดินผ่านมา”

ไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น น้าหมุดกลับเข้าป่าอย่างสิ้นหวัง

จากนั้นอีกร่วมปี เคก็กลับบ้านมาหาพ่อ การผจญภัยของเขาจบลงพร้อมกับบทเรียนว่า เขาไม่เหมาะกับชีวิตในเมืองใหญ่

เขากลับมาอยู่ในทีมวางกล้องดักถ่าย เพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง

น้าหมุด คือพิทักษ์ป่าอาวุโส เส้นทางหลายเส้นทางเขาอยู่ในชุดบุกเบิก

ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้น เขากำลังถ่ายทอดให้ลูกชาย

ราวสองทุ่ม 2 พ่อลูกขอตัวกลับบ้านพักที่อยู่ห่างไปสัก 50 เมตร

ผมมองตามแสงไฟฉายวับแวมหายเข้าไปในความมืด

สองทุ่ม ในป่าอันเงียบสงัดดูราวกับดึกดื่น

“จะกลับไปทำงานในเมืองอีกไหม” ผมเคยถามเค

“อยู่ที่นี่เหมาะกับผมแล้วครับ” เขาตอบน้ำเสียงจริงจัง

เรียนรู้ในระยะเริ่มต้น จำเป็น

การยอมรับประสบการณ์จากผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในระยะไหน ก็คือเรื่องจำเป็นเช่นกัน

เคแจ้งข่าวการจากไปของน้าหมุดเมื่อต้นปีก่อน

ถึงวันนี้ เขาเป็นพ่อลูกสอง ทำหน้าที่ขับรถเป็นกำลังของทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งในป่าด้านตะวันตก

ผมมองตามนกเงือกกรามช้าง จนกระทั่งลับสายตา ก่อนทรุดตัวลงนั่งลงบนก้อนหิน ปลดสายเป้ ขยับเสื้อที่เปียกชุ่ม หนทางเล็กๆ ต้องเดินไป จุดหมายดูชัน และรกทึบ

เสียงปีกแหวกอากาศราวกับใบพัดขนาดใหญ่ผ่านไปแล้ว

เสียงจะดังราวกับขบวนรถไฟแล่นผ่าน เมื่อถึงช่วงเวลาที่นกรวมฝูง

การรวมฝูงของนกเงือก เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ

บินอยู่เพียงลำพัง เหนือผืนป่ากว้าง

คือวิถีปกติของพวกมัน