ทุ่มพันล้านซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 “บิ๊กป้อม” คืนความสุขคอบอลไทย ดูให้สนุก แล้วก็ลืมๆ เรื่องนาฬิกา(ซะ)

หลังจากที่รอกันมานาน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเสียที สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018

เมื่อพี่ใหญ่แห่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่าง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นคนกลางระดมทุนจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ 7 แห่ง

ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด หรือช้าง, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้คนไทยได้ดู

โดยขณะนี้ทั้ง 7 บริษัทสามารถเจรจาตกลงกันได้อย่างลงตัว ซึ่งคนไทยจะได้รับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางฟรีทีวีและทีวีดิจิตอลทุกเกมการแข่งขันตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ รวม 64 นัด

ถือเป็นของขวัญปีใหม่ และเป็นการคืนความสุขให้คอบอลไทยอย่างแท้จริง แต่ พล.อ.ประวิตรตั้งข้อแม้กับทุกคนว่า หากได้ชมฟุตบอลโลกแล้ว ก็อย่าเล่นการพนัน!

ขณะที่นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บอกว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้ กกท. ไปหาแนวทาง รวมถึงประสานงานระหว่างบริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกกับเอกชน โดยเงินที่จะนำไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกต้องเป็นเงินจากภาคเอกชน ไม่ใช้เงินภาษีจากรัฐบาล

ซึ่งทาง กกท. ได้เชิญบริษัทเอกชนทั้งหมดมาหารือร่วมกันในการช่วยเหลือเรื่องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก วันที่ 19 มกราคม เมื่อได้ข้อสรุปจะนำรายงานต่อ พล.อ.ประวิตรตามขั้นตอน

หลังจากนั้นจะมีการพูดคุยกับทีวีช่องต่างๆ และคาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม

“เงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกตอนแรกสูงถึง 1,300-1,500 ล้านบาท แต่เราได้ต่อรองขอให้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งค่าดำเนินการด้วย เราจะใช้เงินให้ประหยัดที่สุด แม้เป็นเงินจากภาคเอกชนก็ตาม” นายสกลระบุ

ในฐานะคนดูคิดแล้วก็น่าใจหายเหมือนกัน เพราะกว่าจะได้คำตอบว่าจะได้ดูหรือไม่ได้ดู ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก

สมัยก่อนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเป็นอะไรที่หอมหวานมาก ใครๆ ก็สนใจต่อสู้เพื่อคว้าลิขสิทธิ์มาครอบครอง

ถ้าเปรียบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ก็คงมีหนุ่มแย่งกันขายขนมจีบ

แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

เพราะหลังจากมีประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือที่เรียกว่ากฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ซึ่งวางกฎเหล็กให้ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 7 กีฬาที่จะต้องออกอากาศทางช่องฟรีทีวี และไม่สามารถออกอากาศในระบบบอกรับสมาชิกได้

จึงทำให้ไม่มีทีวีช่องไหนกล้าควักกระเป๋าจ่าย

โดย 7 กีฬาสำคัญที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟ ประกอบด้วย 1.ซีเกมส์ 2.อาเซียนพาราเกมส์ 3.เอเชี่ยนเกมส์ 4.เอเชี่ยนพาราเกมส์ 5.โอลิมปิกเกมส์ 6.พาราลิมปิกเกมส์ และ 7.ฟุตบอลโลก

การที่ไม่มีช่องไหนทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเหมือนที่ผ่านมา เกิดจากปัญหาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ถูก กสทช. สั่งให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทุกนัดผ่านทางช่องฟรีทีวี

แต่อาร์เอสไม่ยอมเนื่องจากซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนที่จะมีกฎมัสต์แฮฟของ กสทช. ซึ่งอาร์เอสได้ทำสัญญาไว้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2548 และจ่ายเงินไปแล้ว ทำให้มีการฟ้องร้องกัน

สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้อาร์เอสชนะคดี

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ กสทช. หาแนวทางนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาจ่ายชดเชยให้กับอาร์เอส

ส่งผลให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกผ่านทางช่อง 5, 7 และ 8

นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทำให้ไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 มาให้คนไทยได้ดู และเชื่อว่าฟุตบอลโลกครั้งต่อๆ ไปก็คงต้องพึ่งการระดมทุนจากภาคเอกชนแบบนี้อีกอย่างแน่นอน

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ประเด็นที่ไม่มีช่องไหนทุ่มบ้าเลือดซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาถ่ายทอด ก็อาจเป็นเพราะราคาที่แพงเกินไปด้วย

หากดูค่าลิขสิทธิ์เฉลี่ยต่อนัดแล้วยิ่งสะดุ้งไปกันใหญ่ ถ่ายฟุตบอลโลก 1 นัด มีต้นทุนสูงลิบ 15 ล้านบาท ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงยุคนี้ผู้ชมมีทางเลือกมากมาย และอาจจะมีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ลักลอบนำเกมการแข่งขันไปถ่ายทอดผ่านทางโลกออนไลน์ จึงทำให้หลายๆ ช่องนิ่งเฉย เพราะมองว่าไม่คุ้ม ฝืนทำไปก็มีแต่เจ็บตัว

สำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้จะมีขึ้นที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม มี 32 ทีมร่วมฟาดแข้งรอบสุดท้าย

กลุ่มเอ ประกอบด้วย รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, อุรุกวัย

กลุ่มบี โปรตุเกส, สเปน, โมร็อกโก, อิหร่าน

กลุ่มซี ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เปรู, เดนมาร์ก

กลุ่มดี อาร์เจนตินา, ไอซ์แลนด์, โครเอเชีย, ไนจีเรีย

กลุ่มอี บราซิล, สวิตเซอร์แลนด์, คอสตาริกา, เซอร์เบีย

กลุ่มเอฟ เยอรมนี (แชมป์เก่า), เม็กซิโก, สวีเดน, เกาหลีใต้

กลุ่มจี เบลเยียม, ปานามา, ตูนิเซีย, อังกฤษ

และกลุ่มเอช โปแลนด์, เซเนกัล, โคลอมเบีย, ญี่ปุ่น

โดยนัดเปิดสนาม รัสเซียพบกับซาอุดีอาระเบีย เวลา 22.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

ขณะที่เงินรางวัลสำหรับฟุตบอลโลก 2018 ฟีฟ่าได้เพิ่มเป็น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 12,775 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ประเทศบราซิล 12 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมมีเงินรางวัล 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 11,434 ล้านบาท) ทีมที่ตกรอบแบ่งกลุ่มจะได้เงินรางวัลกลับบ้านทีมละ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 255 ล้านบาท) ส่วนทีมชนะเลิศจะได้เงินรางวัลสูงถึง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1,213 ล้านบาท)

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ฟุตบอลโลกครั้งนี้จะมีการใช้ภาพช้า (VAR) มาช่วยในการตัดสิน ลดปัญหานักเตะเล่นนอกเกมหรือตบตาผู้ตัดสิน และความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกมลูกหนังมีความเป็นธรรมมากขึ้น

เอาเป็นว่าตอนนี้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก 2018 แน่ๆ แล้ว เหลือแค่ว่าจะดูผ่านทางช่องไหน ทั้งนี้ ต้องยกความดีความชอบให้ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นหัวหอกสำคัญในการดึงบริษัทเอกชนมาระดมทุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก คืนความสุขให้คอบอลไทย

ถือเป็นเรื่องดีๆ กลบกระแสนาฬิกาเพื่อนได้ไม่มากก็น้อย?