(ถูก) พิชิต (ไม่) ชื่นบาน

ใครๆ ก็คิดว่าภารกิจสุดท้ายของ 250 ส.ว.ลากตั้งสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังต้องกัดฟันทนเห็นดูทำงานของสภาสูงจากการแต่งตั้งของ คสช.มาตลอด 5 ปี

แต่แม้หมดวาระ อยู่ในขั้นรักษาการ จู่ๆ ก็มีข่าว ส.ว.ร่วมกันลงชื่อ 40 คน ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคุณสมบัติ “นายพิชิต ชื่นบาน” ปมจริยธรรมจากคดีถุงขนม 2 ล้าน และขอให้พิจารณาถอดถอนจากตำแหน่ง

ที่ “รุนแรง” กว่านั้นคือพ่วงร้องนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ร่วมไปด้วย ฐานเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี

เรียกได้ว่าป่วนจนวาระสุดท้ายจริงๆ ทั้งๆ โดยมารยาททางการเมือง ส.ว.ชุดนี้ก็ “ไม่ควรต้องทำอะไรแล้ว”

 

จะว่าไป การเดินเกมแบบนี้ สะท้อน “ความนัย” หลายอย่าง

หลักใหญ่ใจความก็คือหนีไม่พ้น “อำนาจเก่า” ฝ่ายอนุรักษนิยมส่วนหนึ่ง ยังมีพิษภัยพร้อมจะปล่อยอาวุธใส่คนที่เขาไม่ไว้ใจได้เสมอ

วันนี้คือการเปิดเกม “รุกกลับ” เพื่อไทย

ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมในพรรคเพื่อไทยไม่น้อย วันแรกที่มีข่าว พิชิตให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีแข็งกร้าว ยืนยันไม่ลาออก พร้อมท้าดวล ส.ว.ที่ยื่นร้องตัวต่อตัว

ถัดมาแค่วันเดียว นายพิชิตกลับประกาศลาออก ให้เหตุผล เพื่อให้นายกฯ ได้บริหารประเทศต่อ พร้อมส่งภาพข่าวอย่างเป็นระบบเข้าไปยังผู้สื่อข่าว

การเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของคนระดับรัฐมนตรีภายในไม่กี่ชั่วโมง มองจากคนที่ไม่ต้องสนใจข่าวการเมืองมากก็ย่อมเห็นชัดว่า เป็นการตัดสินใจด้วยถูก “กดดัน”

เป็นการกดดันให้ยอม “สละชีวิตทางการเมือง” เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม กระโดดลงจากเรือที่กำลังอาจจะจมให้ “แล่นต่อไปได้อีก”

ทำให้นายพิชิตเป็นรัฐมนตรีคนที่ 3 ที่ลาออกจาก ครม.เศรษฐา 1/2 ทั้งที่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 24 วัน

ก็จริงดังที่ ส.ส.ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า นี่มัน ครม.อะไรกันนี่ แต่งตั้งใหม่ยังไม่ถึงเดือน ก็เกิดเหตุชุลมุนเข้าออกกันวุ่นไปหมด เดี๋ยวน้อยใจ เดี๋ยวไม่ให้เกียรติ เดี๋ยวกลัวขาดคุณสมบัติ

 

ต้องยอมรับว่าเส้นทางการเมืองกว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ไม่ธรรมดา

จากการทำงานด้านกฎหมายช่วยนายทักษิณ ชินวัตร ใกล้ชิด ยาวนาน จนมีชนักติดหลังคือกรณีอื้อฉาวนำถุงขนมที่มีเงินนับล้านไปให้เจ้าหนี้ที่ศาล ถูกลงโทษฐานดูหมิ่นศาล และถูกสภาทนายความลบชื่อ

แม้จะผ่านมรสุมมาได้และรับโทษทางอาญามาแล้ว นายพิชิตก็ยังคงอยู่ในเส้นทางการเมือง ทำงานกฎหมายให้พรรคเพื่อไทย

ปี 2562 ได้รับความไว้วางใจนั่งประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็พลาดถูกยุบ

ปี 2566 เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนข้างทางการเมือง หันมาจับมือกับขั้วอำนาจเก่ารัฐบาล คสช. นายทักษิณกลับประเทศไทยได้สำเร็จ ครม.เศรษฐา 1 จึงมีชื่อนายพิชิตอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

แต่แล้วเรื่องอื้อฉาวในอดีตก็ถูกขุดขึ้นมาตั้งคำถาม กระทั่งโจมตี ร้อนจนต้องถอดชื่อนายพิชิตออกจากการแต่งตั้งในนาทีสุดท้าย เพราะดูจะได้ไม่คุ้มเสีย

เมื่อเห็นว่าคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต “เป็นคุณ” ต่อการตอบคำถามสังคม

การปรับ ครม.เศรษฐา 1/2 ก็ปรากฏชื่อนายพิชิต สมดังใจหวัง

แต่ใครจะไปคิดว่า 40 ส.ว. เจอช่องกฎหมายใหม่ให้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่ ครม.ร้องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

 

“แผ่นดินไหวระดับทำลายล้างสูง” จึงเกิดขึ้นทันทีที่พรรคเพื่อไทย บังเกิดเป็นมาตรการตัดไฟแต่ต้นลม ทำให้นายพิชิตต้องลาออก

จาก “พิชิต ชื่นบาน” วันนี้กลายเป็น “ถูกพิชิต ไม่ชื่นบาน” ต้องทิ้งเก้าอี้เพื่อความสบายใจของพรรค

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น

ฝ่าย 40 ส.ว.และผู้สนับสนุนเรียงหน้ากันออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันแม้พิชิตลาออกก็ไม่ช่วยอะไร เนื่องจากความผิดสำเร็จแล้ว

เอาผิดพิชิตไม่ได้ ก็ยังสามารถเอาผิดเศรษฐาได้

แต่อีกแนวเคราะห์หนึ่งมองบรรทัดฐานจากในอดีต ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลยุติธรรมปกติ แต่เป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญ โดย “สาระ” จึงยึดถือมิติความเป็นการเมืองมากกว่า

เมื่อลาออกแล้ว ต้นเหตุของการยื่นร้องไม่อยู่แล้ว คำร้องก็เป็นอันจบลง

 

ครม.เศรษฐา 1-2 วันนี้จึงเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ไม่นิ่ง

แม้นายกรัฐมนตรีวันนี้จะยังอยู่ในการเดินทางไปต่างประเทศต่อเนื่องกันมากกว่า 10 วัน พกผ้าขาวม้าไปอวดสร้างแฟชั่นกันในเมืองศูนย์กลางแฟชั่นโลกสบายใจเฉิบ แต่การเมืองวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ย้อนกลับมาดูผลงานรัฐบาลสู่เดือนที่ 9 ถ้าพูดกันในเชิงรูปธรรมต้องบอกว่าเหนื่อย

ผลงานอย่างการเดินสายขายของ ชวนต่างชาติมาลงทุนเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นผล โดยเฉพาะที่เป็นตัววัดจริงๆ คือสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยหาเสียงไว้ หลายอย่างวันนี้ต้องยอมรับยังอยู่ในระดับ “ยังจับต้องไม่ได้มาก”

ต้องไม่ลืมว่าเพื่อไทยเสียความชอบธรรมทางการเมืองมากแค่ไหนจากการพลิกขั้วการเมืองตั้งรัฐบาล

ที่จริงเพื่อไทยก็รู้ตัวดีว่าตัวเองมีความชอบธรรมทางกฎหมาย แต่มีปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ทำให้นายกฯ ยิ่งขยันทำงาน

เมื่อผลลัพธ์ยังไม่เข้าเป้า จึงยังไม่สามารถฟื้นศรัทธาที่สูญเสียไปช่วงจัดตั้งรัฐบาลได้

ยิ่งทำให้ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับนโยบายและการบริหารของรัฐบาลเพื่อไทย ยิ่งถ่างออกจากกัน

เมื่อยังไม่ได้สัมผัสนโยบายที่เคยสัญญา ความรู้สึกว่าเพื่อไทยคือ “ตัวแทนอำนาจของประชาชน” ยิ่งจางลงทุกที

นั่นนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของการวิพากษ์ หนักสุดคือความไม่ร่วมมือ เช่นที่ประชาชนเคยแสดงกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ยิ่งทักษิณและคนในตระกูลชินวัตร พรรคเพื่อไทย เล่นการเมืองแบบเดิม ยิ่งเข้าทางฝ่ายอำนาจเก่า

ล่าสุดคือส่งอดีตนายกฯ ลงชิงเก้าอี้ ส.ว. อันเป็นการส่งสัญญาณเดินเกมชิงเก้าอี้สภาสูง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและประคองเกมอำนาจ

ซึ่งในมุมของนายทักษิณเองก็มีความจำเป็น เพราะ ส.ว.ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคขัดขวางทางการเมืองสำคัญที่ต้องเคลียร์

 

แต่ในทางกลับกัน “เกมรุกเหล่านี้” ยิ่งทำให้พลังเก่า กลุ่มอำนาจอนุรักษนิยม ที่เคยเป็นศัตรูทักษิณในอดีต กลับมาจับจ้องนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยมากขึ้น

เพื่อไทยและทักษิณวันนี้จึงต้องสู้กับการเมือง 2 ฝั่ง

1. ต้องเอาตัวให้รอดจากพลังใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิม และรับไม่ได้กับการเมืองของการประนีประนอมแบบเพื่อไทย

2. ต้องเอาตัวให้รอดจากพลังเก่า ฝ่ายอำนาจเดิม ที่วันนี้เห็นชัดว่าไม่ได้เป็นปึกแผ่น มีหลายระดับ หลายกลุ่มอำนาจ พลังอนุรักษ์จารีตเหล่านี้ พร้อมกลับมาใช้อาวุธชนิดดึกดำบรรพ์ เล่นงานเพื่อไทยเสมอ ถ้ามีโอกาส

การขยับของกลุ่ม 40 ส.ว. จึงเป็นตัวอย่างสะท้อนชัดว่า เขาพร้อมที่จะต่อรองไปจนกระทั่งต่อสู้กับเพื่อไทยจนวาระสุดท้ายเพื่อทำให้เพื่อไทย “อยู่ในกรอบ” หรือเป้าหมายสูงสุดคือ “ล้มนายกฯ”

อย่าลืมว่าวันนี้ชะตาชีวิตการเมืองพรรคก้าวไกล คู่แข่งเพื่อไทยกำลังแขวนบนเส้นด้าย

ภาวะที่ฝ่ายพรรคก้าวไกลอ่อนแอเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่กลุ่ม 40 ส.ว.จะฝันล้มรัฐบาล แบบที่กลุ่ม 40 ส.ว.รุ่นพี่เคยล้มรัฐบาลพลังประชาชนของ นายสมัคร สุนทรเวช ได้จากคดีชิมไป บ่นไป

ชะตากรรมเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร วันนี้อยู่ที่ฝ่ายอำนาจเก่า (ที่วันนี้ก็มีหลายเฉด หลายกลุ่ม) จะเดินเกมอย่างไร

หากฝ่ายอำนาจเก่าที่มีอำนาจยังเห็นว่าก้าวไกลเป็นศัตรูเบอร์ต้น พรรคเพื่อไทยและทักษิณก็ยังมีความสำคัญ

ยังได้อยู่ “หน้าชื่น ตาบาน” บนตึกไทยคู่ฟ้าต่อไป

แต่ระหว่างทางก็อาจจะโดนกับดักระเบิด แบบที่ “พิชิต ชื่นบาน” โดน

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024