คุยกับวิโรจน์ ฉากทัศน์ 1 ปี หลังเลือกตั้ง แบรนด์ทักษิณ จุดแข็ง จุดอ่อน ก้าวไกล เพื่อไทย ไม่ใช่ศัตรู ?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฉายภาพการเมืองหลังผ่านปรากฏการณ์ 14 ล้านเสียง ครบ 1 ปีของการเลือกตั้ง 2566 โดยมองว่าการเมืองยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม คือ การที่มีกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งดิ้นรนจะต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ รวมไปถึงกลุ่มการเมืองเดิมๆ ที่มองประชาชนเป็นแค่ผู้เลือก สุดท้ายแล้วกลุ่มการเมืองนั้นสนใจ 10 กว่าล้านเสียงที่เลือกเขาหรือสนใจการกลับบ้านของคน 1 คน วันนี้ประชาชนทุกคนรับรู้ดีอยู่แล้ว

หลายคนคิดว่า เดี๋ยวประชาชนก็ลืม แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันประชาชนลืมยาก เป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้บวกกับเป็นสิ่งที่เราประทับใจมาก ในสิ่งที่เราได้ยืนหยัดกับสิ่งที่เราได้พูดที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชน

เพราะผลโพลสำรวจตลอดช่วงหลังการเลือกตั้งเรายังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในระดับที่สูง

ผมเชื่อว่า ถ้าถามประชาชนว่าอะไรเป็นจุดที่ทำให้ยังคงสนับสนุนถ้าก้าวไกลอยู่ ผมว่าคงมีหลายคำตอบ แต่หนึ่งในนั้นคือ “การยึดมั่นสัจวาจา”

การที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มคิดว่า ขอให้ได้เป็นรัฐบาลก่อน แล้วค่อยหาชุดคำอธิบายให้กับประชาชนภายหลัง ณ วันนี้ผมยังยืนยันว่าเขายังไม่สามารถหาชุดคำอธิบายที่ทำให้ประชาชนเข้าใจในการผิดคำพูดของเขาได้

และการที่เขาคิดว่าเมื่อขับเคลื่อนนโยบายได้ ประชาชนก็จะลืมว่าเขาผิดคำพูดไว้กับประชาชน ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยืนยันว่านโยบายก็ขับเคลื่อนออกมาล่าช้ามาก

หากลองมานั่งคิดว่าอะไรที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายออกมาล่าช้า เพราะการเป็นรัฐบาลผสมถูกไหม? ที่ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนกับยุคไทยรักไทย

หากไปย้อนดูสมัยนั้นเขาเป็นแกนนำที่มีอำนาจในการต่อรองสูงมากที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชนเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ภายในระยะเวลาที่สั้นมากเราก็เห็นผลงาน

แต่เมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน เพราะคุณผิดคำพูด คุณไม่มีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ในการผลักดันให้คุณมีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนนโยบาย โดยที่คุณกล้าที่จะทุบโต๊ะหรือยืนยันคำพูดนั้นใน ครม.ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม ถ้าเกิดคุณมีเสียงหนุนหลังจากประชาชน คุณยังกล้าบอกว่าเราต้องทำตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน

แล้วพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะจำเป็นต้องสนับสนุน แม้ว่าอาจจะไม่เต็มใจนักก็ตาม เพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากจะทะเลาะกับประชาชน

 

อีกปัญหาสำคัญคือ คุณละเลยที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หากลองเปรียบเทียบกับไทยรักไทยในอดีต นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน การพักหนี้เกษตรกร หลายนโยบายได้เข้าไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกษตรกร-ประชาชนมีลมหายใจเริ่มต้นใหม่

ที่พรรคไทยรักไทยเคยทำในอดีต ล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น

จุดนี้คือความแข็งแรงของแบรนด์ทักษิณ คือ “ทำได้อย่างที่พูด” คุณทักษิณ ชินวัตร ถูกท้าทายเชิงนโยบายมาโดยตลอด แต่สุดท้ายคุณทักษิณได้เป็นรัฐบาล คุณทักษิณทำได้อย่างที่พูด นี่คือแบรนด์ของคุณทักษิณ

แต่เกิดอะไรขึ้นกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แค่เริ่มต้นก็ผิดคำพูดเสียแล้ว มันเป็นการตัดสินใจที่หักกับแบรนด์ของคุณทักษิณด้วยตัวเอง มันเลยทำให้คุณค่าของแบรนด์ของทักษิณมันลดทอนลงมา

ถามว่าคุณเห็นนโยบายการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของพรรคเพื่อไทยในยุคนี้หรือยัง

คุณกลัวอะไร คุณเคยทำหวยบนดินแล้วมันเวิร์กมาก แม้แต่คนที่เคยเห็นแย้งกับคุณทักษิณ ก็ยังเห็นด้วยกับหวยบนดิน แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยยุคนี้ไม่ได้พูดถึงหวยบนดินเลย

และอีกหลายนโยบายคุณเคยคิดว่าจะถอดบทเรียนด้านบวกแล้วมาทำใหม่ในยุครัฐบาลเพื่อไทยครั้งนี้หรือไม่

สุดท้ายแล้วการขับเคลื่อนนโยบายก็มีแต่นโยบายที่เฉพาะหน้าทั้งสิ้น 10,000 บาทเงินดิจิทัล เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจริงใช่หรือไม่ มันเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นหรืออาจจะข้ามไปที่ระยะกลางต้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นนโยบายที่แก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างแบบที่พรรคไทยรักไทยเคยทำ

หากคุณแก้ต่างว่า การทำนโยบายมีข้อจำกัด อย่างการได้เสียงสนับสนุนไม่มากพอก็ต้องกลับไปคำถามที่ว่า คุณทำยังไงเขาถึงเลือกคุณได้แค่นี้

คุณดูความองอาจของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนหาเสียงสิ คุณยิ่งลักษณ์คือหมายเลข 1 คุณคิดว่าความองอาจ ความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนเชิงนโยบายมาจากไหน ตอนนั้นคุณจำคุณยิ่งลักษณ์พูดใช่ไหม แก้ไขไม่แก้แค้น แล้วคุณยิ่งลักษณ์ก็ฟอร์มรัฐบาลอย่างนั้นจริงๆ

แต่คุณดูพรรคเพื่อไทยกับกรณีคุณแพทองธาร ชินวัตร หรือคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชนสิ คุณไม่ได้รักษาคำพูด

ผมเคยถูกท้าทายบนเวทีดีเบตว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เราเข้าใจในกลไกรัฐสภา เราจะบอกว่าเราไม่ร่วมทุกพรรคเลยคงไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีความชัดเจนว่าพรรคไหนที่เราไม่ร่วมแน่ๆ เลยเกิดวลีที่เรียกว่า “มีลุง ไม่มีเรา” พรรครวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐแน่ๆ 2 พรรคนี้ที่เราไม่ร่วมแน่ๆ

เหตุผลที่เราไม่ร่วม ไม่ใช่เพราะความเกลียดชังนะ แต่ว่าแนวนโยบายมันไปด้วยกันไม่ได้ ก้าวไกลจะไปแก้ไขนโยบายต่างๆ ที่ 2 พรรคลุงผลักดัน

ที่มีคนบอกว่าต้องการสลายขั้ว แล้วประชาชนต้องการสลายรึเปล่า ผมคิดว่า คำว่า “ขั้ว” ไม่ได้หมายถึงการแบ่งข้างเพื่อเกลียดชังกัน แต่เป็นเรื่องของแนวนโยบาย คุณสลายขั้ว สุดท้ายแล้ว คุณขับเคลื่อนนโยบายได้หรือไม่ คุณก็ขับเคลื่อนได้อย่างยากลำบาก ต้องถามก่อนว่าประชาชนอยากให้สลายขั้วจริงเหรอ ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ได้ต้องการความเกลียดชัง ไม่ต้องการความขัดแย้ง แต่ประชาชนต้องการจุดยืน โดยเฉพาะจุดยืนทางนโยบาย

ถ้าคำว่าสลายขั้ว คือ พรรคการเมืองไม่ต้องมีจุดยืนเชิงนโยบาย ไม่ต้องมีจุดยืนทางการเมือง คุณจะหาเสียงเลือกตั้ง มีป้ายนโยบาย คุณจะมีการดีเบตไปเพื่ออะไร

ดังนั้น คำว่าสลายขั้ว คือ “คุณแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ภายใต้จุดยืนที่อธิบายกับประชาชนได้ ถ้าคุณจะขยับจุดยืนไม่ใช่ว่าขยับไม่ได้ แต่คุณต้องมีเหตุผลเพียงพอที่คุณจะต้องขยับจุดยืนนั้น โดยที่ประชาชนรับได้ ผมว่าประชาชนเข้าใจ เราขยับจุดยืน แต่ไม่ได้ถอนไม้หลักแล้วไปปักอีกที่

 

วิโรจน์กล่าวถึงสถานะความสัมพันธ์เพื่อไทยกับก้าวไกล จากผู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ สู่วันที่รอยแยกเริ่มห่าง จริงหรือไม่ว่า

เรายังยืนยันว่าเราเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง แต่เราไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง

ก้าวไกลพร้อมที่จะแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยภายใต้กติกาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แน่นอนเรายืนยันว่าเราจะใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกลไกรัฐสภาในการแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่แน่นอน แต่เราจะไม่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เราจะไม่ใช้วิธีการที่สกปรกกับพรรคเพื่อไทย อันนี้ก็เป็นคำมั่นที่ผมให้ไว้ได้เลย

ประเด็นไหนที่เราเห็นตรงกันกับพรรคเพื่อไทย เราก็ต้องกล้ายืนยันว่าเราเห็นตรงกับพรรคเพื่อไทย

ไม่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยซ้าย เราต้องขวาอยู่เสมอ ผมว่าเราก็ตรงไปตรงมา เราใส่ใจในประเด็นที่มันเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ เกิดประโยชน์กับประชาชน

ในขณะเดียวกัน Voter ทั้งสองที่ปรากฏภาพว่าทะเลาะกันอย่างดุเดือด ผมมองว่าประชาชนเขามีความคิดเห็นตรงและความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาโลก เราเอาแต่เนื้อ เอาแต่ Content ที่เป็นแก่น เป็นประโยชน์มาพิจารณา เอามาปรับวิธีคิดของเราหลายครั้ง

ทุกวันนี้คนที่ตื่นรู้ทางการเมือง หรือว่า Active citizen เป็นพลเมืองตื่นรู้หลายครั้ง หลายคน หลายปีก่อนเขาก็เป็นปุถุชนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้สนใจทางการเมือง

ดังนั้น ถามว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลควรทำอย่างไร ผมคงตอบแทนพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ ต้องเพียรพยายามขยันในการสร้างการมีส่วนร่วมต่อไปเท่านั้นเอง คุณดูแคลนประชาชนไม่ได้

บทบาทของพรรคการเมืองคืออะไร คือการสร้างพลเมืองตื่นรู้

ดังนั้น ถ้าเรายังทำงานไม่ดี เราต้องทำงานให้หนักขึ้นหรือปรับรูปแบบที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น หรือมีความสุข หรือมีความสนุกในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองนะครับ ผมว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลก็ต้องหายุทธวิธีในการปรับ

แต่ยืนยันว่าคำพูดที่เราบอกเสมอว่า “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” เรายังคงยึดมั่นอยู่เสมอ แล้วเราเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างมาก ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของร่วมของประชาชนอย่างมาก ถ้าเรายังทำได้ไม่ดี เราจะทำให้ดียิ่งขึ้น

ชมคลิป

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024