อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : เอ็มกรีน และ แดร็กเซ็ต ศิลปินคู่หูผู้ท้าทายโลกด้วยงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ด้วยความที่ปลายปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปฟังบรรยายของศิลปินระดับโลกมา จึงถือโอกาสหยิบยกเอาเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กัน

ศิลปินระดับโลกที่เราจะนำเสนอในคราวนี้เป็นศิลปินดูโอ หรือศิลปินคู่หู ผู้มีชื่อว่า

เอ็มกรีน และ แดร็กเซ็ต (Elmgreen & Dragset)

ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบเสียดสี อีกทั้งยังท้าทายขนบเดิมๆ ของโลกศิลปะ และตีแผ่สังคม, วัฒนธรรม และโลกร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ

ผลงานของพวกเขาเป็นส่วนผสมอันลงตัวของศิลปะ, สถาปัตยกรรม และงานดีไซน์

ไมเคิล เอ็มกรีน (Michael Elmgreen) เกิดในเมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เดิมทีทำงานเขียนและเป็นนักอ่านบทกวีแสดงสด

ส่วน อิงการ์ แดร็กเซ็ต (Ingar Dragset) เกิดในเมืองทรอนด์เฮม นอร์เวย์ ศึกษาทางด้านการละคร

พวกเขาพบกันในโคเปนเฮเกนในปี 1994 และเริ่มทำงานร่วมกันในปี 1995 นับตั้งแต่ปี 1997 เอ็มกรีนและแดร็กเซ็ตนำเสนอผลงานศิลปะจัดวางในรูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมชิ้นสำคัญมากมายหลายชิ้น

ผลงานชิ้นที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของพวกเขาคือ Prada Marfa (2005) ผลงานศิลปะจัดวางเชิงสถาปัตยกรรมที่จำลองร้านบูติกของแบรนด์แฟชั่นสุดหรูเลิศอย่างปราด้า (Prada) ไปตั้งอยู่บนทะเลทรายรกร้าง ริมถนนไฮเวย์ ระหว่างเมืองวาเลนไทน์และเมืองมาร์ฟา รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

มันถูกสร้างขึ้นโดยเลียนแบบร้านบูติกของปราด้า หากแต่เป็นร้านจำลองที่ไม่สามารถเปิดประตูเข้าไปข้างในได้

ด้านหน้าของร้านมีหน้าต่างโชว์สินค้าขนาดใหญ่สองบานที่วางโชว์รองเท้าและกระเป๋าถือสุดหรูของปราด้าอยู่ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้รับความเอื้อเฟื้อโดยตรงจาก มิวเซีย ปราด้า (Miuccia Prada) มหาเศรษฐินีและเฮดดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ปราด้า โดยเป็นคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวปี 2005

อีกทั้งปราด้ายังอนุญาตให้ทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าของปราด้าในงานชิ้นนี้อีกด้วย

ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นและตั้งใจปล่อยทิ้งไว้ให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาโดยไม่ซ่อมแซม ซึ่งไม่นานนัก กระบวนการนี้ก็ถูกเร่งให้เร็วขึ้นด้วยน้ำมือของพวกมือบอนที่ไปพ่นสี และมือดีที่ทุบกระจกเข้าไปขโมยกระเป๋าถือและรองเท้าที่วางโชว์อยู่ข้างในอย่างอุกอาจ

แรกๆ ที่ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้น ด้วยความที่มันอยู่ในพื้นที่รกร้างห่างไกลความเจริญจากเมืองมาร์ฟาถึง 42 ก.ม. และต้องใช้เวลาขับรถไปถึงสามชั่วโมง จึงไม่ค่อยมีใครรู้จักมันนัก

จนกระทั่งนักร้องสาวซูเปอร์สตาร์อย่างบียองเซ่ (Beyonc?) ขับรถไปเยี่ยมชม โพสท่าถ่ายรูป และอัพลงอินสตาแกรม

ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในที่สุด

ผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะอันกันดารห่างไกลความเจริญชิ้นนี้ ถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยม เสียดเย้ยแบรนด์สินค้าหรูหราราคาแพง และตีแผ่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น รวมถึงถูกมองว่าเป็นการให้คุณค่าและสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

รวมถึงผลงานที่ติดตั้งที่ร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสระว่ายน้ำเปล่าๆ ขนาด 9 เมตร ที่ถูกพลิกวางในแนวตั้ง จนดูคล้ายกับใบหู

พวกเขาจึงหยิบเอาใบหูที่โด่งดังที่สุดในโลกศิลปะมาตั้งชื่อมัน ซึ่งก็คือ “ใบหูของแวนโก๊ะห์” หรือ Van Gogh”s Ear (2016) นั่นเอง

ลักษณะของการทำงานศิลปะของเอ็มกรีนและแดร็กเซ็ต ที่หยิบเอาข้าวของรอบตัวทั่วไปมานำเสนอในแง่มุมหรือบริบทใหม่ๆ ก็ดูเป็นอะไรที่คล้ายคลึงกับแนวคิด Readymades ของมาร์เซล ดูชองป์ อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงาน Van Gogh”s Ear ที่หยิบเอาสระว่ายน้ำมาพลิกวางตั้ง ก็ทำให้เรานึกไปถึงผลงาน Fountain (1917) ของดูชองป์ ที่หยิบเอาโถฉี่พลิกวางหงายอยู่เหมือนกัน

ซึ่ง เอ็มกรีน หนึ่งในศิลปินคู่หูที่มาบรรยายแบบฉายเดี่ยวให้เราฟัง กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“แน่นอนว่าเราได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากดูชองป์ ที่หยิบเอาข้าวของรอบตัวหรือของสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นงานศิลปะ แต่งานของเราแตกต่างจากดูชองป์ตรงที่เราทำการสร้างสิ่งของเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเองอย่างประณีต ยกตัวอย่าง เช่น ผลงาน “สระว่ายน้ำ” เราก็ไม่ได้เอาสระว่ายน้ำจริงๆ มาตั้งเฉยๆ หากแต่เราสร้างสระว่ายน้ำขึ้นมาใหม่เลย และถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่า ด้านหลังของสระว่ายน้ำนี้มีการเก็บรายละเอียดอย่างเรียบร้อยสวยงาม ต่างจากด้านหลัง (หรือด้านใต้) ของสระว่ายน้ำปกติ ที่คนมองไม่เห็น จึงไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยก็ได้”

พูดง่ายๆ ว่า ถ้างานดูชองป์คือ Readymades (สำเร็จรูป) งานของเอ็มกรีนและแดร็กเซ็ต น่าจะเรียกว่าเป็น Well-made (ทำขึ้นอย่างประณีต) สินะ

เอ็มกรีนและแดร็กเซ็ตมีผลงานแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก และร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลศิลปะที่อิสตันบูล ในปี 2011, 2011, 2013

เทศกาลศิลปะที่ลิเวอร์พูล ในปี 2012

เทศกาลศิลปะ Performa 11 ที่นิวยอร์ก และเทศกาลศิลปะที่สิงคโปร์ ในปี 2011

เทศกาลศิลปะกวางจูในปี 2002, เทศกาลศิลปะที่เซาเปาโล ในปี 2002

และเทศกาลศิลปะที่เบอร์ลินในปี 1998 รวมถึงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ครั้งที่ 53 ในปี 2009, ล่าสุด ในปี 2017 พวกเขาเป็นภัณฑารักษ์รับเชิญในเทศกาลศิลปะอิสตันบูล เบียนนาเล่ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี

นอกจากนี้ ในปี 2008 พวกเขายังเคยมาแสดงงานศิลปะประเทศไทยเรามาแล้ว ด้วยผลงาน DISLOCATED Oriental (2008) ซึ่งเป็นการจำลองทางเดินหน้าห้องพักของโรงแรมสุดหรูชื่อดังก้องโลกของกรุงเทพฯ อย่างโรงแรมโอเรียนเต็ล มาตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ

และสถานที่เดินทางอันแสนจะสับสนวุ่นวายอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง จนสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ผู้คนที่เดินทางสัญจรผ่านไปมาบริเวณนั้นอย่างมาก

ข่าวดีก็คือ ในปี 2018 ที่จะถึงนี้ ศิลปินคู่หูอย่างเอ็มกรีนและแดร็กเซ็ต ถูกเชิญให้มาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Beyond Bliss หรือ สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต

กับคำถามที่ว่า ในโลกที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ ศิลปะจะนำพาความ “สุขสะพรั่ง” ให้กับผู้คนได้จริงๆ หรือ? เอ็มกรีนตอบว่า

“การที่คนในโลกปัจจุบันกำลังแสวงหาความสุข และพยายามทำให้ตัวเองดูสมบูรณ์แบบทุกสิ่งอย่างบนโลกออนไลน์ บางคนรู้สึกด้วยซ้ำว่า ถ้าตัวเองไม่มีความสุข นั่นคือความผิด มันเลยทำให้ผมกลับมาย้อนมองตัวเองในฐานะศิลปิน และตระหนักว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราเป็นมนุษย์ที่อยู่กับความจริงมากขึ้น คือถ้าศิลปิน (ขี้เกียจๆ) อย่างผม ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง สร้างงานประหลาดๆ ผมมองว่าคนที่เห็นและมาดูงาน ก็อาจจะมีความกล้า ปลดเปลื้องความกลัวในใจของตนเอง และลุกขึ้นมาทำอะไรที่เราอยากจะทำได้ ผมคิดว่าศิลปะมีคุณสมบัติในการลดความกลัว พอเราไม่กลัวปุ๊บ เราก็จัดการกับอะไรในชีวิตของเราได้ง่ายขึ้น”

“การทำงานเป็นศิลปินอาชีพ บางทีมันก็เป็นเรื่องของความบังเอิญและโชคด้วย ผมเห็นศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในเมืองใหญ่หลายคน พยายามทำงาน พยายามหาเงิน จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง จนทำให้ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว การเป็นศิลปินคือการที่ได้สื่อสารกับผู้คน ถ้าคนดูงานได้อะไรจากผมไปบ้าง นั่นคือความสำเร็จของผมแล้ว”

“สำหรับผม ความสำเร็จไม่ได้วัดที่เงิน ไม่ได้วัดว่ามีคนมาดูจนล้นห้องแสดงงาน แต่ถ้าทุกคนกลับไปแล้วไม่ได้อะไรเลย ผมก็คงเสียใจ ความสำเร็จของผม คือการที่ศิลปินคนหนึ่งได้สื่อสารบางสิ่งบางอย่างออกมา แล้วคนที่รักศิลปะ อาจจะเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ แต่รวมตัวกันมาดูงานศิลปะด้วยความเข้าใจ เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้ว สิ่งนี้ต่างหากคือความสำเร็จของผม”

เอ็มกรีนกล่าวทิ้งท้าย