ตำรวจกาลเวลา : มีด้วยหรือคนที่ไม่สำคัญ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เมื่อทราบว่ามีอะนิเมะ “ตำรวจกาลเวลา” สตรีมทางเน็ตฟลิกซ์ต้นเดือนพฤษภาคมก็ไม่รอช้ารีบดูในทันใด

เหตุหนึ่งเพราะตอนที่ผู้เขียนโดเรมอน Fujiko F. Fujio ถึงแก่กรรม (1996 และ 2022) การ์ตูนที่รักมิได้เขียนอะไรไว้อาลัยท่านเลยด้วยไม่รู้จะเขียนอะไร

มีผู้เขียนถึงท่านทั้งสอง โนบิตะ และโดเรมอนมากมายแล้ว

วันนี้ก็ยังมีคนเขียนถึงอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

ตํารวจกาลเวลา หรือ Time Patrol Bon หรือ TP Bon เป็นงานเขียนมังงะของ Fujiko F. Fujio เราจะได้เห็นร่องรอยของไจแอนต์และซูเนโอะตอนเป็นนักเรียนมัธยมต้นปรากฏตัวด้วย ชวนให้อดคิดมิได้เหมือนกันว่าหรือนี่เป็นภาคอนาคตในอีกมิติหนึ่งของเด็กๆ ทั้งสี่คนจริงๆ

มังงะนี้เคยสร้างเป็นอะนิเมะก่อนแล้วเมื่อ 1989 ครั้งนี้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ของเน็ตฟลิกซ์ หนังเริ่มเหมือนในหนังสือคือตอไม้ใหญ่บนเนินเขาเหนือเมือง วงปีของต้นซีดาร์แสดงให้เห็นอายุ 800 ปี นานเท่ากับอายุของคุณปู่สิบคนที่ นามิฮิระ บอน และเพื่อนๆ อาศัยอยู่ คุณปู่อายุ 80 ปี

อ๊ะ ไม่ใช่สิ

จำได้ว่าตอนที่อ่านหนังสือ ตอของต้นซีดาร์ที่เห็นอายุเพียง 700 ปี เท่ากับคุณปู่สิบคนซึ่งอายุ 70 ปี เป็นตอนที่กองทัพญี่ปุ่นจะไปรบมองโกลเคลื่อนผ่านมาที่บริเวณนี้ บทสนทนาว่าเป็นศตวรรษที่ 12 แต่เวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์ว่าต้นซีดาร์นี้อายุ 800 ปี และเมื่อดูต่อไปสักพักจึงมีบทสนทนาที่บอนพูดว่า “นี่มันศตวรรษที่ 21 แล้วนะ”

ที่แท้ตอนที่มังงะออกเผยแพร่ครั้งแรกเป็นศตวรรษที่ 20 คือระหว่างปี 1978-1986

มีอีกฉากหนึ่งที่บอนพบเยลลี่สีเหลืองบินได้เป็นครั้งแรกเขายกมือถือกดรูป เอาล่ะสิ จำได้ว่าไม่มีมือถือตอนอ่านมังงะแน่ๆ ถึงตอนนี้ต้องแช่ภาพบนจอทีวีค้นมังงะมาอ่านใหม่ให้แน่ใจ ต้นซีดาร์นั้นอายุ 700 ปีจริงๆ มิใช่ 800 ปี และมือถือยังไม่เกิดขึ้นในมังงะ

เท็ตซึโอะเพื่อนรักร่างอ้วนของบอน (แต่มิใช่ไจแอ้น) หนักใจที่คะแนนสอบได้ศูนย์ เขาตกตึกขณะกำลังเล่นกับบอนในแฟลต หัวฟาดพื้นเลือดนองแดงฉาน พอดูหนังเลือดสีแดงแผ่กว้างไปตามฟุตปาธดูรุนแรงกว่าตอนอ่านมังงะซึ่งถมดำ

ที่แท้เพราะเครื่องมือของตำรวจเวลาสาว รีม สตรีม เกิดรวนขึ้นชั่วคราว ทำให้เวลาผันผวน รีมจึงมาช่วยชีวิตเท็ตซึโอะไม่ทัน มิหนำซ้ำบอนพบยานเวลาที่รีมซ่อนไว้แล้วเอาไปเล่นเสียอีก อะไรๆ ต่อมิอะไรจึงผิดพลาดไปหมดในตอนปฐมฤกษ์นี้

ตำรวจเวลาสาว รีม และผู้ช่วยเยลลี่บินได้สีเหลืองชื่อ บูโยยอน อธิบายให้บอนฟังว่าพวกเขาจำต้องลบบอนออกไปจากโลกเหตุเพราะบอนล่วงรู้ความลับของตำรวจเวลาเสียแล้ว วิธีคือทำให้พ่อแม่ของเขาไม่เคยพบกัน

“นั่นเท่ากับฆ่าฉันน่ะสิ”

“ตำรวจเวลาช่วยคน เราไม่ฆ่าคนและห้ามฆ่าคน ทำให้เธอไม่เกิดมาจะใช่การฆ่าเสียที่ไหน”

ประโยคนี้เป็นปัญหาทางจริยธรรม เมื่อเราคัดไข่ฟองหนึ่งไปใช้ผสมเทียม ไข่ฟองอื่นย่อมมิได้เกิด จะใช่การฆ่าเสียที่ไหน?

ดูการ์ตูนเรื่องนี้ก็อย่าคิดมาก เป้าหมายของตำรวจเวลาคือช่วยชีวิตคนที่ไม่สมควรตายในอดีต แต่ต้องเป็นคนไม่สำคัญ เช่น จะไปช่วยจูเลียส ซีซาร์ จากการถูกกลุ้มรุมสังหารมิได้เพราะซีซาร์เป็นคนสำคัญ ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแปลง

ก็ชวนให้นึกถึงหนังปี 1946 It’s a Wonderful Life ของผู้กำกับฯ แฟรงก์ คาปรา นำแสดงโดยเจมส์ สจ๊วร์ต และดอนน่า รีด ที่บอกว่าคนทุกคนสำคัญ เมื่อเทวดาพาไบลีย์ที่กำลังจะกระโดดน้ำตายไปดูโลกที่เขาไม่ตาย จึงรู้ว่าเขาจะได้สร้างอะไรและเปลี่ยนวิถีชีวิตคนอีกหลายคน

มีใครบ้างที่ไม่สำคัญ

หลังจากรีมช่วยเท็ตสึโอะได้แล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการดึงบอนมาร่วมทีมตำรวจเวลา ก่อนอื่นเขาต้องเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ นานามากมายด้วย “เครื่องบีบอัดข้อมูล” ทำได้โดยการโยนหนังสือทั้งหมดใส่กล่องแล้วต่อท่อใส่หน้าผากเพียงเท่านั้นก็เสร็จ คลับคล้ายคลับคลาว่าโดเรมอนมีเครื่องมือเรียนหนังสือลักษณะนี้เหมือนกัน

เวลารีมและบอนจะเดินทางไปทำงานที่ยุคไหน ก็ต้องใช้เครื่องบีบอัดข้อมูลนี้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยุคนั้นของประเทศนั้นก่อน อีกทั้งแปลงสีผิวหนัง สีผม และภาษาด้วย คนเขียนเรื่องรอบคอบ

ยังมีฉากซามูไรตัดหัวคนเลือดสาด 2-3 ฉาก เมื่อดูต่อไปฉากรบระหว่างกรีกกับเปอร์เซียใช้หอกกระซวกท้องเลือดกระฉูด ธนูพุ่งทะลุหัวผ่านไป ฉากเหล่านี้ตอนอ่านหนังสือถมดำไม่น่ากลัว พอสร้างเป็นหนังการ์ตูนแล้วต่างกัน

เงื่อนไข “ช่วยเฉพาะคนไม่สำคัญ” กับไม่แทรกแซงประวัติศาสตร์ที่แท้ก็ทำเท่าที่ทำได้

เอาแค่ตอนที่สอง เมื่อรีมและบอนมีภารกิจช่วยคุณยายยามาดะให้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองหมาดๆ ดูวิธีช่วยคุณยายด้วยการยกรถบรรทุกทั้งคันที่ลูกชายของยายซึ่งเป็นทหารผ่านศึกนอนหลับอยู่ที่เมืองหนึ่ง ลอยผ่านน่านฟ้าไปปลุกคุณยายยามาดะที่กำลังจะจมน้ำตายที่โตเกียว

สนุกแท้

หลายตอนก็ดีมากเขียนได้ดีมีเหตุผลอย่างเช่น ตอน “การดวลที่ใกล้ๆ โอเคคอราล” กับ “สงครามมาราธอน” สองเรื่องนี้ทั้งอิงประวัติศาสตร์ ทั้งช่วยชีวิตคน และทั้ง “เซฟ” ประวัติศาสตร์กันได้จริงๆ ชวนให้นึกถึงหนังทีวีปี 1966 อุโมงค์มหัศจรรย์ (The Time Tunnel) ที่สองนักวิทยาศาสตร์หลงไปในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในอดีตทั่วโลก

เรื่องการดวลที่โอเคคอราลนี้มีหนังสร้างให้ดูกันหลายครั้ง ที่ดีที่สุดยังคงเป็นฉบับปี 1957 โดยเบิร์ต แลงคาสเตอร์ และเคิร์ก ดักลาส ในชื่อ Gunfight at the O.K. Corral ผมดูซ้ำไม่เบื่อ

“การดวลที่ใกล้ๆ โอเคคอราล” เป็นเหตุการณ์ที่บอนจับพลัดจับผลูต้องดวลกับมอร์แกนสหายของพี่น้องแคลนตัน แต่จะการดวลนี้จะเกิดก่อนที่พี่น้องแคลนตันดวลกับไวต์ แอตเอิร์บกับด๊อก ฮอลิเดย์ ถึงห้าเดือน ถ้าบอนฆ่าแคลนตันได้จะกระทบประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเขาไม่ฆ่าแคลนตัน ก็จะมีคนดีๆ บริสุทธิ์ตาย รีมกับบอนจะทำอย่างไร

ส่วนเรื่อง “สงครามมาราธอน” อันเป็นต้นตำนานวิ่งมาราธอน รีมและบอนมีภารกิจไปช่วยชีวิตทหารกรีกและเปอร์เซียที่ตายในสนามรบครั้งนั้น พวกเขาจะได้พบ ฟีดิบพีดีส (Pheidippides) ซึ่งตามตำนานว่าวิ่งจากเมืองมาราธอนไปเอเธนส์ระยะทาง 42 กิโลเมตร

เรื่องนี้ชวนอ่านกูเกิลก่อนดูการ์ตูนครับ สนุกดี ·

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์