เกษียร เตชะพีระ : ชราปิ ทุกขา – ความแก่เป็นทุกข์

เกษียร เตชะพีระ

“ในชั่วชีวิตคนเรา จะมีสิบปีสักกี่ครั้งกัน…”

ระยะใกล้ๆ นี้ ผมนึกถึงคำรำพึงข้างต้นของเพื่อนเก่าคนหนึ่ง ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด พ.ศ.2535 และใกล้ๆ วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540

เมื่อมานั่งนึกทบทวนดู คนเดือนตุลารุ่นผมก็คงผ่าน “สิบปี” สำคัญๆ มาแล้วอย่างน้อย 3 รอบ คือ

– สิบปีแรก : 14 ตุลา 2516 ผ่าน 6 ตุลา 2519 จนเข้าป่าแล้วออกจากป่าปี 2524

– สิบปีที่สอง : พฤษภา 2535 ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จนถึงรัฐบาลทักษิณ 2544

– สิบปีที่สาม : รัฐประหาร คปค. 2549 ผ่านสงครามเสื้อสีและรัฐประหาร คสช. 2557 ถึงปัจจุบัน

ไม่อยากคิดว่าอีกสิบปีข้างหน้าในชีวิต ยังจะต้องมีอะไรสำคัญๆ ให้ผ่านพบอีกไหม?

ปีระกา 2560 คนกึ่งพุทธกาลเช่นผมอายุครบ 60 ปี เพียงแต่เผอิญผมเกิดเดือนธันวาคม จึงมาเกษียณอายุราชการเอาปีนี้ (2561) สังเกตตัวเองได้ว่ารอบปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติที่จะต้องแวะเวียนไปหาหมอแผนกต่างๆ ที่โรงพยาบาลเดือนละสองสามครั้ง เพื่อตรวจร่างกายบ้าง ตามความคืบหน้าของอาการโรคประจำตัวต่างๆ บ้าง และรับยามารับประทานบ้าง รวมทั้งไปเยี่ยมมิตรสหายที่ไปรักษาตัวบ้างเหมือนกัน

โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ครูและสหายของผมถึง 3 คนมีอันจากไปอย่างกะทันหันเหนือความคาดหมาย ได้แก่ อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน, พี่ยิ้มหรืออาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, และอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ตามลำดับ ยังไม่นับที่ป่วยด้วยโรคร้ายอย่างน่าห่วงใยอีกบางคน

ข่าวความไม่เที่ยงแท้ของสังขารเหล่านี้ทำให้ผมต้องมาจัดลำดับเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ควรทำ (priorities) ในชีวิตใหม่ ว่าอะไรบ้างที่อยากทำและพึงต้องทำ เพราะได้คิดว่าเวลาคงเหลือไม่มากนักแล้ว

ก็เลยเป็นที่มาของบทความชุด “อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลา” สิบตอนจบ ซึ่งผมตั้งใจจะเขียนหลังจากได้รับหนังสือเล่มนี้จากมือธงชัย ได้อ่านแล้วอ่านอีก และได้ใช้มันสอนสัมมนากับนักศึกษาหลายรอบหลายครั้งนานร่วมยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ก็รีๆ รอๆ จังหวะไม่ได้ลงมือทำเสียที

มาปีที่แล้ว เกรงว่าจะพลาดโอกาสอีกและบางสิ่งบางอย่างที่ผมสังเกตพบเจอใน Siam Mapped ก็น่าเสียดายที่ยังไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงและดึงออกมาให้เห็นชัด จึงตัดสินใจรีบทยอยเขียนลงคอลัมน์นี้ในปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับจดหมายบางฉบับ ซึ่งติดค้างคาใจ ควรเขียนถึงคนบางคนมานานแล้ว แต่ก็รีๆ รอๆ ยังไม่ได้ทำ เพราะเรื่องมันลึก มันนาน และมันไม่ง่ายที่จะพูดออกมา ในที่สุด ผมก็ได้เขียนไปในปีที่แล้ว ด้วยสาเหตุทำนองเดียวกัน คือเกรงว่าถ้าไม่ลงมือเขียนเสีย ก็ไม่แน่ว่าจะได้เขียนอีกในอนาคตเบื้องหน้า

และรายการหนึ่งในสิ่งสำคัญเร่งด่วนควรทำทั้งหมดในโอกาสอายุครบห้ารอบของผม คือไปไหว้พระไหว้เจ้าตอนข้ามปี

ในฐานะมาร์กซิสต์เก่าที่เป็นนักวัตถุนิยมวิภาษและนักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรนักหรอกครับ แต่หลังจากเก็บรับประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในโลกเห่ยๆ ใบนี้หกสิบปี ผมก็ได้เข้าใจซึ้งในภาษิตที่ครูจีนสอนผมแต่เด็กว่า “เสี้ยเส้อปู้เต๋ออี้” หรือ “เรื่องโลกไม่สมใจ”

เรื่องในโลก มันไม่เป็นไปอย่างใจเราคิดหรอก เราคุมมันไม่ได้หมด ปัจจัยกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นมันยังกระจายกว้างเกินกำมือเล็กๆ ของมนุษย์อย่างเราจะเข้าไปยึดกุมกำกับได้เบ็ดเสร็จ

เพราะฉะนั้น เพื่อให้ทำใจอยู่ในโลกใบนี้ได้ มันจึงสมเหตุสมผลที่จะเว้นที่ว่างในครรลองกรอบคิดของเราไว้สักมุมหนึ่ง เพื่อจัดวาง (ไม่ว่าคุณจะเรียกว่าอะไร) “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”, “พระผู้เป็นเจ้า”, “กรรม”, “ชะตาฟ้าลิขิต” ฯลฯ ไว้ตรงนั้น ให้มันถ่วงดุลกับความห่ามเหิมเกริมของมนุษย์เรา ให้มันช่วยเตือนสติเราว่า “เทียนเตอเต้า เหรินเตอลู่” หรือ “วิถีฟ้า หนทางคน” กล่าวคือ คนเรากำหนดโลกได้เหมือนกัน แต่คงสักครึ่งเดียว อีกครึ่งต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของฟ้ากำหนด แล้วเราก็ยอมรับมันที่ครึ่งทาง

มันช่วยรักษาสุขภาพจิตของเราให้ดีตามสมควรในการทนอยู่บนโลกอันพลการ (arbitrary) นี้

หลังจากวางแผนแล้วผลัดเลื่อนไปมาอยู่หลายครั้ง สามสี่วันก่อนสิ้นปีเก่า ผมก็ได้มีโอกาสไปไหว้พระไหว้เจ้าสมหวัง โดยเราเลือกที่วัดโพธิ์แมนคุณารามซึ่งเป็นวัดจีนฝ่ายมหายานแถวสาธุประดิษฐ์ ความที่สงบวิเวกดี ผู้คนไม่พลุกพล่าน และไม่เน้นไปทางพาณิชย์เช่นวัดอื่นบางวัด

ผมและครอบครัวก็เข้าไปจุดธูปไหว้พระขอพรตามธรรมเนียม ผมเองตั้งใจรำลึกถึงคุณพระคุณเจ้าและขอพรสามสิ่ง

เรื่องแรก ผมขอให้บ้านเมืองคืนสู่ความเป็นปกติสุขในระบอบประชาธิปไตยเสียที

เรื่องที่สอง ผมขอให้ครอบครัวญาติมิตรประสบสุขสวัสดิภาพตลอดปีใหม่

และเรื่องที่สาม ผมขอเป็นการส่วนตัว…ซึ่งในฐานะเรื่องส่วนตัวก็คงไม่ควรจะเที่ยวบอกกล่าวให้เสียความเป็นส่วนตัวไปเสีย

ความแก่เป็นทุกข์จริงอย่างพระท่านว่าแหละครับ แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราคลายทุกข์ได้ ผมเข้าใจว่าไม่ใช่การหาความสุขใส่ตัวแคบๆ ง่ายๆ แต่คือการแบ่งปันความสุขให้คนอื่นที่เราติดค้างและควรให้ ยิ่งคิดถึงคนอื่น ช่วยคนอื่นให้เป็นสุขได้มากขึ้นเท่าไร ก็จะช่วยให้ตัวเราเองปล่อยวางและไม่หมกมุ่นกับความทุกข์ของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

พอช่วยให้ได้ระบายลมหายใจยาวๆ ลืมตา และมองตรงไปที่สิบปีข้างหน้า อย่างเป็นอุเบกขาขึ้น