ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (14)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

การพัฒนาโครงสร้างกองทัพบก (ต่อ)

ทางด้านหน่วยกำลังรบหลัก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งกองพันทหารราบเพิ่มเติมจากเดิมที่มี 18 กองพัน เป็น 22 กองพัน และยังได้จัดตั้งหน่วยทหารเหล่าอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้ได้สัดส่วนสอดคล้องกับหน่วยทหารราบ

ในส่วนเหล่าทหารปืนใหญ่ได้จัดตั้ง “กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน” ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเตรียมรับสงครามทางอากาศสมัยใหม่ เหล่าทหารม้าก็มีการจัดตั้ง “กองรถรบ” ซึ่งนับเป็น “หน่วยยานเกราะ” หน่วยแรกของกองทัพบกสยาม รวมทั้ง “กองทหารสื่อสาร” เพื่อเชื่อมโยงให้สามารถรบร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

และเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจโดยเฉพาะการสร้างน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวระหว่างหน่วยทหารทั่วทั้งประเทศหลังเกิดความแตกแยกระหว่างทหารหัวเมืองกับทหารในพระนครครั้งเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ.2479 กระทรวงกลาโหมยังได้จัดพิธีพระราชทานธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหารจำนวน 31 หน่วย เป็นหน่วยทหารระดับกองพันทุกเหล่าซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบกและโรงเรียนนายร้อยทหารบก

การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบกตามนโยบายของหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ส่งผลให้ใน พ.ศ.2481 ก่อนกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสและสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพบกจะมีกำลังรบ ได้แก่ ทหารราบ 22 กองพัน ทหารปืนใหญ่ 10 กองพัน ทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 3 กองพัน ทหารม้า 6 กองพัน กองรถรบ 2 กองพัน ทหารสื่อสาร 5 กอง และทหารช่าง 2 กองพัน

ความสำเร็จที่สำคัญครั้งนี้ของหลวงพิบูลสงครามคือการสร้างความเชื่อถือในหมู่ทหารของชาติทั่วทั้งประเทศหลังเคยเป็นศัตรูห้ำหั่นกันเมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพปราบปราม

 

การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์

นอกจากปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของกองทัพบกแล้ว หลวงพิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังได้ให้ความสำคัญเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้แก่กองทัพบกและกองทัพเรือเพื่อเพิ่มแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศโดยได้ชี้แจงความจำเป็นให้ประชาชนได้รับทราบผ่านการปราศรัยเรื่อง “การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รัฐธรรมนูญแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2477 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งดังนี้

“ในชั่วเวลา 150 ปีที่แล้วมา การทหารเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย นอกจากมีปืนเล็กสัก 2-3 ร้อยกระบอก มีเครื่องบินที่ปราศจากอาวุธทำลายล้างทางอากาศอยู่เล็กน้อย มีเรือรบที่เก่าพ้นสมัยอยู่ 4-5 ลำเท่านั้น

ในช่วงเวลา 2 ปีที่รัฐธรรมนูญได้จัดระบอบการปกครองใหม่ ท่านคงจะเห็นได้แล้วว่าโฉมหน้าของการทหารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทางกองทัพบกก็มีอาวุธที่ทันสมัยเกิดขึ้น เช่น รถรบ ปืนใหญ่ยิงต่อสู้อากาศยาน และปืนหนัก ปืนกลเบาอีกมากมาย”

 

กองทัพบก

การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ทั้งเพื่อทดแทนอาวุธเก่าที่ล้าสมัยและสำหรับหน่วยที่จัดตั้งขึ้นใหม่มีผลงานสำคัญดังนี้

ก่อนหน้านี้ การปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของทหารราบหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใต้โครงสร้างใหม่ของพระยาทรงสุรเดชมีเพียงอาวุธใหม่คือรถถังแบบ 76 และรถบรรทุกติดปืนกลหนัก เป็นต้น

แต่หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชและเมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งมีการปรับโครงสร้างและขยายหน่วยจากนั้นก็มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมจากบริษัทในประเทศต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าทางด้านอาวุธในสมัยนั้น ทั้งจากอังกฤษ สวีเดน อิตาลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

พ.ศ.2477 กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้ออาวุธหนักสำหรับหน่วยทหารราบ ได้แก่ ปืนใหญ่ทหารราบแบบ 77 จากบริษัทโบฟอร์ส ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นปืนใหญ่เบาชนิด 2 ลำกล้องซ้อนทางดิ่งขนาด 75 และ 37 มิลลิเมตร สามารถเคลื่อนย้ายติดตามทหารราบไปได้แทบทุกภูมิประเทศด้วยวิธีเทียมลาก บรรทุก หรือถอดแล้วหาบหามไป ซึ่งถือเป็นอาวุธหนักแบบใหม่และทันสมัยที่สุดสำหรับทหารราบในสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดซื้อปืนกลหนักแบบ 77 ระบายความร้อนด้วยน้ำจากบริษัท วิคเคอร์ อาร์มสตรอง ประเทศอังกฤษ

สำหรับอาวุธสนับสนุนของทหารปืนใหญ่ ได้จัดซื้อปืนใหญ่สนามจากบริษัทโบฟอร์ส ประเทศสวีเดน เป็นปืนใหญ่หนักกระสุนวิธีราบแบบ 78 ความกว้างปากลำกล้อง 105 มิลลิเมตร ลากจูงด้วยรถยนต์ ปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีโค้งแบบ 78 ความกว้างปากลำกล้อง 150 มิลลิเมตร ลากจูงด้วยรถสายพาน ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบแบบ 80 ความกว้างปากลำกล้อง 75 มิลลิเมตร ลากจูงด้วยรถยนต์บรรจุเป็นปืนใหญ่ระดับกองพล ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้งความกว้างปากลำกล้อง 105 มิลลิเมตร ลากจูงด้วยรถยนต์เป็นปืนใหญ่กองพล ปืนกลหนักต่อสู้อากาศยานแบบ 80 ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความกว้างปากลำกล้อง 12.7 มิลลิเมตรจากประเทศญี่ปุ่น

อาวุธเหล่านี้จะได้ใช้ในราชการสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2483-2484 และสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อ พ.ศ.2484

 

สําหรับอาวุธของเหล่าทหารม้าคือ “กองรถรบ” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ได้จัดซื้อรถถังเบาแบบ 77 ขนาด 2 ตัน และรถถังเบาแบบ 81 ขนาด 7.5 ตันจากประเทศอังกฤษ

ในส่วนของเหล่าทหารสื่อสาร นอกจากจัดซื้อจากต่างประเทศแล้ว กระทรวงกลาโหมยังได้จัดงบประมาณสนับสนุนให้กองทัพบกจัดตั้งโรงงานทหารสื่อสารเพื่อเป็นหน่วยงานในการออกแบบและผลิตเครื่องมือสื่อสารขึ้นใช้ในกองทัพบก เช่น เครื่องทัศนะสัญญาณ เครื่องโทรศัพท์สนามและเครื่องรับส่งวิทยุที่ใช้เลขสัญญาณ

นอกจากนี้ ยังมีการผลิตแบตเตอรี่แห้ง แบตเตอรี่น้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องมือสื่อสารอีกด้วย

ในการจัดตั้งกรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน ในช่วงเริ่มแรกรัฐบาลได้ใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในการดำเนินการและยังเปิดรับทุนบริจาคจากประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ในเดือนตุลาคม 2477 เปิดรับบริจาคทุน 4 รายการ ประกอบด้วย ทุนสะสมอาวุธ ทุนบำรุงการบิน ทุนบำรุงกรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน และทุนช่วยราชการทหารเรือ

 

สําหรับกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานได้รับบริจาคจากประชาชนจำนวน 2 ล้านบาท นอกจากนั้น กองทัพบกยังลดค่าใช้จ่ายด้วยการอนุญาตให้ทหารลาพักเป็นเวลา 6 เดือนแล้วนำเงินทั้งหมดนี้ไปซื้อปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 75 มิลลิเมตรจากบริษัทโบฟอร์ส 4 กระบอก รวมทั้งเครื่องไฟฉายขนาด 110 เซนติเมตร ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานที่ไม่เคยมีประจำการในกองทัพบกมาก่อน

เครื่องไฟฉายนี้ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่ตั้งได้เพื่อใช้ในการส่งลำแสงกราดไปบนท้องฟ้าค้นหาตำแหน่งเครื่องบินข้าศึกหรือชี้เป้าให้หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานทำการยิง โดยในเวลากลางคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 รัฐบาลได้จัดให้มีการฝึกซ้อมการป้องกันภัยทางอากาศขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามเฉพาะในเขตพระนครและธนบุรี ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

หน่วยงานทางทหารที่สำคัญอีกหน่วยหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2478 คือ “กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก” มีภารกิจในการค้นคว้าและทดลองด้านวิทยาศาสตร์ของกองทัพบกเพื่อผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกันอาวุธเคมีซึ่งยังคงปฏิบัติงานในชื่อนี้มาจนทุกวันนี้

หลวงพิบูลสงครามเห็นความสำคัญของน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญทางทหารจึงได้จัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” ขึ้น ให้เป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพบก ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็น “กรมเชื้อเพลิง” และจัดตั้งคลังน้ำมันขึ้นที่ ต.ช่องนนทรี อ.ยานนาวา จ.พระนคร รวมทั้งยังได้สั่งต่อเรือบรรทุกน้ำมัน 1 ลำเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน

 

กรมยุวชนทหาร

หน่วยงานใหม่ที่หลวงพิบูลสงครามจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกที่น่าสนใจคือ “กรมยุวชนทหารบก” ซึ่งจัดตั้งเมื่อ 23 กันยายน พ.ศ.2478 เพื่อฝึกอบรมให้เยาวชนมีความรู้พื้นฐานทางทหารและเสริมสร้างระเบียบวินัยเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในยามสงบและยามสงคราม

ปีแรกที่เปิดดำเนินการ เฉพาะจังหวัดพระนครมียุวชนสมัครโดยได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองจำนวน 600 คน ในปีถัดมา พ.ศ.2479 เพิ่มอย่างก้าวกระโดดเป็น 2,500 คน และได้ขยายไปยังต่างจังหวัดตามเสียงเรียกร้องของประชาชน จนใน พ.ศ.2483 สยามมียุวชนทหารรวมทั้งสิ้นถึงประมาณ 32,900 คน แบ่งเป็นยุวชนนายทหาร 10,000 คน ยุวชนนายสิบ 1,800 คน และยุวชนทหารประมาณ 20,000 คน รวมทั้งยุวชนนารีพยาบาลประมาณ 2,000 คน และยุวชนโยธาอีกประมาณ 100 คน ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญร่วมกับทหารและตำรวจในทุกจุดที่ทหารญี่ปุ่นรุกรานสยาม

หน่วยงานยุวชนทหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและในอินโดจีนของฝรั่งเศส

หลวงพิบูลสงครามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสามารถทำให้ทหารกับประชาชนมีความใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น และจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคะแนนนิยมของหลวงพิบูลสงครามในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีกในเวลาต่อมา