การศึกษา “อควาเรียมหอยสังข์” บทพิสูจน์ “หมอธี” ปราบโกง

การศึกษา

“อควาเรียมหอยสังข์” บทพิสูจน์ “หมอธี” ปราบโกง

โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มดำเนินการปลายปี 2550 สมัยนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กำหนดแล้วเสร็จปี 2554 วงเงินอนุมัติ 835,576,200 บาท ภายใต้ 26 งวดงาน

แต่ผ่านมาถึงปี 2561 หรือ 10 ปีแล้ว ยังไม่เสร็จ

อควาเรียมหอยสังข์ สร้างขึ้นบนพื้นที่โครงการ 7,800 ตารางเมตร เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา

โดยสมัยนั้นมีนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ

นายบรรหารเคยพูดตอนไปตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า

“อควาเรียมแห่งนี้จะใหญ่กว่า ดีกว่าและสวยกว่าที่ จ.สุพรรณบุรี และจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้”

ก่อนจะมาเป็นอควาเรียมหอยสังข์ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้และได้นำโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ทะเลสาบสงขลา มาปรับปรุงให้ทันสมัยและเพิ่มเติมในส่วนของงานศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล

เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ให้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ และการเพาะขยายพันธุ์ ของคณาจารย์และนักศึกษา

รวมทั้งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์น้ำ และความเป็นอยู่ ชีววิทยา และระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา

ตลอดจนจะเป็นแหล่งทัศนศึกษาของชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางมายังจังหวัดสงขลา

ผ่านไป 10 ปียังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยเดินทางไปตรวจสอบ และระบุว่า โครงการนี้ใช้งบฯ ไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท

แยกเป็น เฟสที่หนึ่ง 835 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร เฟสที่สอง 269 ล้านบาท สร้างระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เฟสที่สาม 42 ล้านบาท และเฟสที่สี่ 258 ล้านบาท พบความล่าช้ามาจากการที่ไม่มีแผนงานรองรับชัดเจน

ระหว่างปี 2550-2561 มีเลขาธิการ กอศ. ดูแล 5 คน ไล่ตั้งแต่ นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กอศ. คนปัจจุบัน

โดยตลอดปี 2550-2557 มีการแก้ไขปัญหาถึง 6 ครั้ง นายวีระศักดิ์ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยตน แต่สมัยนั้นบริษัทรับเหมาพยายามขอเปลี่ยนสเป๊กและขยายงวดงาน

“บริษัทรับเหมาพยายามขอเปลี่ยนสเป๊กและขยายงวดงานให้ยาวขึ้น แต่ผมไม่ยอม ผมบอกไปว่าเมื่อคุณชนะการประกวดราคาตามสเป๊กนั้น คุณก็ต้องก่อสร้างตามสเป๊กนั้น จะมาแก้ไขไม่ได้” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ระบุอีกว่า สมัยเป็นเลขาธิการ กอศ. ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ ตรงไปตรงมา มีการประกวดราคา มีการกำหนดสเป๊กโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอธิบดีกรมการประมงสมัยนั้นเป็นประธาน โครงการไม่มีแบ่งเฟส กำหนดตลอดโครงการใช้งบฯ 830 กว่าล้านบาท แบ่งเป็น 26 งวดงาน เสร็จปี 2554 ความที่เป็นโครงการระยะยาวและวงเงินสูงถึง 830 กว่าล้านบาท

ฉะนั้น นอกจากมีคณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับงานแล้ว จึงตั้งคณะกรรมการบริหารสัญญาด้วย แต่มาถูกยกเลิกหลังจากพ้นเลขาธิการ กอศ. เนื่องจากการเกษียณ

ดังนั้น ต้องไปดูว่ามีการยกเลิกคณะกรรมการบริหารสัญญาสมัยใครเป็นเลขาธิการ กอศ. ทั้งนี้ ตอนนั้นยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน มีแค่การจ่ายเงิน 15% ช่วยผู้รับเหมาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะที่นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา อดีตเลขาธิการ กอศ. อีกคนกล่าวว่า เป็นเลขาธิการ กอศ. ปี 2552-2553 แก้ไขสัญญา 1 ครั้ง ในช่วงงวดงานที่ 2 เป็นการแก้ไขเพื่อให้การก่อสร้างเดินต่อไปได้ เพราะช่วงแรกทำๆ หยุดๆ

ถามผู้เกี่ยวข้องพบว่างวดงานกับแบบไม่สัมพันธ์กัน คือไม่ก่อสร้างตามลำดับขั้นตอน

เช่น ทำขั้นตอนที่ 3 ก่อนขั้นตอนที่ 2 แต่การอนุมัติแก้ไขสัญญาสมัยนั้น ต้องเสนอให้คณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นประธานอนุมัติ

ซึ่งช่วงนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

จำไม่ได้ว่ารัฐมนตรีคนไหนเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม เดือนพฤษภาคม 2552 น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. สมัยนั้น ได้ตรวจสอบโครงการและระบุว่า “คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ได้สรุปสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้ามาจาก 2 ประเด็น คือ 1.บริษัทผู้รับเหมาไม่ก่อสร้างตามที่มีการเซ็นสัญญา และ 2.จ่ายเงินมัดจำไปแล้วจำนวน 125 ล้านบาท”

และขณะนั้นมีรายงานว่า มีการหยุดก่อสร้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ถือเป็นการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะ สอศ. จ่ายเงินมัดจำไปแล้วถึง 125 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามสัญญา

แว่วว่าเรื่องนี้ผู้ใหญ่ในสงขลาไม่ได้นิ่งนอนใจและเป็นฝ่ายกระตุ้นเจ้ากระทรวงให้ช่วยตรวจสอบเพราะเห็นว่าเนิ่นนานเป็น 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้

ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ส่ง พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตของ ศธ. และผู้เชี่ยวชาญด้านอควาเรียมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตฯ สัปดาห์นี้

จากการลงพื้นที่และได้เจอบริษัทรับเหมา พล.ท.โกศลบอกว่า “บางอย่างพูดได้ไม่หมด เพราะจะกระทบ เรื่องนี้ถูกหมกเม็ดมาเป็น 10 ปี เราเพิ่งเข้าไปตรวจสอบได้ไม่ถึงเดือน จึงต้องใช้เวลา”

และบอกว่า “บริษัทรับเหมามีพลังอำนาจ”

ศธ. จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อใช้อำนาจขอเอกสารและเชิญเลขาธิการ กอศ. คนก่อนๆ มาชี้แจง และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เปลี่ยนเจ้าภาพโครงการจาก สอศ. ไปเป็นหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านอควาเรียม

ท่ามกลางข้อเรียกร้องของชาวสงขลาที่ขอให้เดินหน้าสร้างให้เสร็จเพราะมองว่าทุ่มเงินไปเยอะแล้วและใกล้เสร็จแล้ว จึงขอให้รัฐเร่งจัดสรรงบฯ เพิ่มเติมเพื่อเร่งสร้างให้เสร็จใน 2 ปี

ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐตรวจสอบว่ามีปัญหาทุจริตหรือไม่

โดยวันที่ 18 มกราคม จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบในวันที่ 31 มกราคม

มิเช่นนั้นจะเชิญชวนมวลชนออกมารวมพลังเพื่อกดดันให้แก้ไขปัญหา ขณะที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ใช้เวทีประชุมผู้ปกครองชี้แจงประชาคมสงขลาไปแล้วว่าเป็นโครงการของ สอศ. ที่ใช้พื้นที่ของวิทยาลัย

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศว่า ปี 2561 นี้ จะสะสางเรื่องทุจริตในอดีต โดยเฉพาะอควาเรียมหอยสังข์ ฉะนั้น ต้องรอดูบทสรุปว่าจะสะสางได้สำเร็จหรือไม่

ทั้งนี้ มีการขายฝันให้คนในพื้นที่ว่าจะเป็นอควาเรียมที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ขอเอาใจช่วยเพราะจากนี้ยังต้องใช้เม็ดเงินอีกมากในการสร้างตลอดจนซ่อมแซมงานที่ชำรุดเสียหายเนื่องจากพ้นระยะประกันไปแล้ว

อย่าได้เป็นโฮปเลส 2 (โฮปเวลล์) หรือเป็นไปตามวลีที่ชาวสงขลาเสียดสี จะดู “สุสานหอยพันล้านปี” ให้ดูที่กระบี่ แต่ถ้าจะดู “สุสานหอยพันล้านบาท” มาดูที่สงขลา