“พญาอินทรี” ผ่อนคลาย หลังไทยมีแนวโน้มเลือกตั้ง “พญามังกร” รุกคืบ พร้อมโปรเจ็กต์ยุทโธปกรณ์ 10 ปี!!

ตั้งแต่ คสช. เข้าบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับจีนก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยข้อจำกัดในความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐอเมริกา

เห็นได้ชัดผ่านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จีน โดยเฉพาะกองทัพบก เช่น ม้าเหล็ก VT-4 รวม 38 คัน กว่า 6,985 ล้านบาท และยานเกราะล้อยาง VN-1 รวม 34 คัน กว่า 2,300 ล้านบาท เป็นต้น

ล่าสุด กระทรวงกลาโหมไทยและจีนได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมา โดยช่วงปลายเดือนกันยายน 2560

กรรมการชุดนี้ได้กำหนดรูปแบบการตั้งโรงงานศูนย์ซ่อมสร้าง

โดยมีแผนว่าจะตั้งโรงงานศูนย์ซ่อมบำรุงรถถัง VT-4 ยานเกราะล้อยาง VN-1 พร้อมสร้างคลังสะสมชิ้นส่วนซ่อมหรือโรงเก็บอะไหล่ด้วย

การกำหนดรูปแบบตัวโรงงานมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจร่วมให้ข้อมูล เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สปท.) องค์กรมหาชน ถือหุ้น 51% โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือภาคเอกชนร่วมระดมทุน

ส่วนอีก 49% อาจเป็นของบริษัทโนรินโก้ ที่เป็นผู้ผลิตรถถัง VT-4 ยานเกราะล้อยาง VN-1 หรือเป็นบริษัทผู้แทนของรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ ได้มีการทำแผนดำเนินงานระยะเวลา 10 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ช่วงปี 2560-2564 จะทำการจัดตั้งโรงงานซ่อมบำรุงสนับสนุนโดยตรง ที่ จ.ขอนแก่น หลังรถถัง VT-4 เข้าประจำการที่ ม.พัน.6 ส่วนคลังอะไหล่จะอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

ระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-2569 จะจัดตั้งโรงซ่อมยุทโธปกรณ์ตามแผนการลงทุนไทย-จีน ซึ่งมาพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยจะต้องนำยุทโธปกรณ์มาประกอบในไทยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่การส่งยุทโธปกรณ์ที่ประกอบเสร็จแล้ว 100% มายังไทยแบบเดิม

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนไทย เพื่อเพิ่มความร่วมมือในอนาคต ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว ซึ่งจะต้องมีการทำร่างกฎหมายที่สนับสนุน คือ พ.ร.บ.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง

นำไปสู่การแก้กฎหมายเรื่องการผลิตอาวุธเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมปรับให้ สปท. เป็นองค์กรมหาชนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเช่นในต่างประเทศได้

พร้อมกันนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำการศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้เหมือนการลงทุนด้านการพาณิชย์อื่นๆ ควบคู่กับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เพราะประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยก็มีการใช้ยุทโธปกรณ์จากจีนเช่นเดียวกัน ไทยจึงมีโอกาสจะเป็น “ฮับ” ของภูมิภาคอาเซียน ในการเป็นศูนย์ซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์

สําหรับชาติพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงทางทหารในไทย โดยทางสหรัฐได้ออกมาปฏิเสธว่ายังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

หลังมีรายงานข่าวเรื่องดังกล่าวออกมาจากเวที “The Defense Strategic Talk” ที่เพนตากอน กรุงวอชิงตัน ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 ที่มี “บิ๊กเข้” พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมไทย และ นายเดวิด เฮลวี ที่ปรึกษาด้านกิจการความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมเวทีดังกล่าว

นโยบาย “America First” ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็มีผลต่อท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อไทยที่เปลี่ยนไปไม่น้อย

สหรัฐย้ำเสมอว่าไทยคือพันธมิตรเก่าแก่ยาวนานในภูมิภาค

แต่ความสัมพันธ์ในทาง “เบื้องหน้า” อาจลดน้อยลงไป เพราะไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นและอยู่ในยุคการปกครองของทหาร จึงต้องมีมาตรการบางอย่าง เช่น การยกเว้นเงินช่วยเหลือทางทหาร เป็นต้น

ส่วนการขายยุทโธปกรณ์นั้น สหรัฐเองก็ต้องการขายให้ไทย แต่ไทยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐได้อนุมัติขายเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk ให้ไทย 4 เครื่อง หลังหยุดชะงักช่วงรัฐประหารปี 2557 เพื่อเข้าประจำการให้ครบ 16 เครื่อง หรือ 1 ฝูง ตามแผน หลังเข้าประจำการไปแล้ว 12 ลำ ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ในปี 2561 การฝึก Cobra Gold 2018 ครั้งที่ 37 ไทยยังจะได้ร่วมฝึกรบกับ 7 ประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติ กับผู้สังเกตการณ์การฝึกอีก 20 ประเทศ ซึ่งมีประเทศเมียนมาเข้าร่วมเป็น “ผู้สังเกตการณ์พิเศษ” ส่วนจีนและอินเดียได้ร่วมฝึกบรรเทาสาธารณภัย

สำหรับการฝึก Cobra Gold ปีนี้ จะกลับมาเป็นแบบ “Heavy Year” อีกครั้ง ตามวงรอบ ทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพลจะเพิ่มมากขึ้น

ซึ่ง “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.สส. กับ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เตรียมร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการฝึก วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ณ อาคารม้าแดง สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง

ขณะเดียวกัน การเข้าพบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ของ นายหู ปิน เฉิน รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ก็ทำให้มีการจับตาการเข้าพบเป็นการ “ภายใน” ครั้งนี้ไม่น้อย

ก่อนหน้านั้น พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคตะวันออก กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเรือรบ 3 ลำเยือนไทย พร้อมลูกเรือ 700 คน ตามนโยบายของ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ให้ใช้กองเรือเป็นสะพานกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกับกองทัพประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล

พร้อมเลือกไทยเป็นประเทศปลายทางสุดท้ายในการเยือน โดย พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า ย้ำว่าการเดินทางมาไทยเป็นประเทศสุดท้ายสะท้อนถึงความสำคัญสูงสุดและความใกล้ชิดที่สุด

ความคืบหน้าอีกอย่างในปี 2561 คือ รถสะเทินน้ำสะเทินบกจีน ZTD-05 หรือ ZTD-2000 ที่มีรหัสส่งออก คือ VN-16 และ VN-18 ทั้ง 2 รุ่นต่างกันที่ “ตัวปืน” ที่ไทยสนใจจัดซื้อ เพื่อเข้าประจำการที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หลังเคยผ่านการฝึกผสมกองทัพเรือไทย-จีน “Blue Strike 2016” ในการฝึกใช้กระสุนจริง ที่สนามฝึกบ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี

ก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน เคยเยี่ยมชมการสาธิต VN-16 ที่นครฉงชิ่ง เมื่อต้นปี 2560 พร้อมกันนี้ ไทยมีโครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 เพิ่มอีก 10 คัน ในปี 2561

สำหรับรถถัง VT-4 ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกกำลังพลใช้งาน หลังทางการจีนส่งมอบให้ไทยก่อนกำหนดถึง 6 เดือน ในล็อตแรกที่จัดซื้อไป 28 คัน ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี

โดยจะทำการเผยโฉมต่อสาธารณะครั้งแรกในงานวันเด็กแห่งชาติ 13 มกราคม 2561 ที่ พล.ม.2 รอ. สนามเป้า แต่จะเปิดให้สื่อไปชมการสาธิตใช้งานหลังวันที่ 18 มกราคม

สิ่งสำคัญที่ทำให้กลไกของจีนรวดเร็ว คือสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน อีกทั้งพญามังกรยังพยายามทำตัวเป็น “ดุลอำนาจใหม่” ในโลกยุค “หลายขั้วอำนาจ” เช่นเดียวกับไทยที่ต้องเลือกสร้าง “สมดุล” ระหว่างหลายมหาอำนาจ

ในปี 2561 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ประกาศเบื้องต้นจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน หากไม่มีอุปสรรคใดๆ แต่ถ้ามีความล่าช้าออกไป ก็อาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2562

ส่งผลให้ท่าทีของสหรัฐผ่อนคลายต่อไทยมากขึ้น ขณะที่จีนก็ต้องเร่งฝีเท้าเข้าหาไทย ด้วยความร่วมมือนานัปการ ยังไม่รวมความร่วมมือหลังการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T มูลค่า 13,500 จำนวน 1 ลำ ที่รวมโรงซ่อมบำรุง อาวุธตอร์ปิโด อะไหล่ต่างๆ และหลักสูตรฝึกบุคลากร ซึ่งตัวเรือจะส่งถึงไทยราวปี 2566

ตั้งแต่ปี 2561 อาวุธแดนมังกรจะเริ่มประจำการ หลายฝ่ายกำลังเฝ้าจับตาประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์เหล่านั้นว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง?

เพราะแม้ยังไม่เข้าประจำการแบบเต็มร้อย แต่ “ไทย-จีน” ก็มีโปรเจ็กต์ยุทโธปกรณ์ร่วมกันยาวล่วงหน้าไปถึง 10 ปีแล้ว

เรียกว่าน้องๆ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เลยทีเดียว!!