‘โซลอาฟเตอร์ซิกส์’ ในวันที่ไร้ ‘ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช’

คนมองหนัง

 

ต้นเดือนเมษายน 2567 มีข่าวบันเทิงเล็กๆ ที่สร้างความตื่นตกใจให้แก่แฟนเพลงไทยยุค 90-2000 อยู่ไม่น้อย นั่นคือ ข่าวคราวการตัดสินใจ “ยุติบทบาทการเป็นสมาชิก” ในวง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ของ “ปึ่ง-ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช”

ดังที่เจ้าตัวได้ประกาศเรื่องดังกล่าวผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของวงว่า

“สวัสดีครับ…

ผม ‘ปึ่ง’ ครับ… ผมขออนุญาต admin ใช้พื้นที่แฟนเพจเพื่อแจ้งข่าวและถือโอกาสขอบคุณแฟนเพลงที่ติดตามและสนับสนุน Soul After Six มาโดยตลอดครับ…

“ผมได้ยุติบทบาทการเป็นสมาชิกของ Soul After Six ด้วยเหตุผลส่วนตัวแล้วนะครับ ซึ่งทางวงก็ได้รับทราบแล้ว และผมเชื่อว่าทางวงจะสามารถหาสมาชิกมาทดแทนตำแหน่งที่ผมรับผิดชอบอยู่ได้ เพื่อให้วงเดินหน้าต่อไปครับ…

“ขอขอบคุณแฟนเพลงทุกรุ่น ทุกท่าน มากๆ นะครับ สำหรับการติดตาม ให้กำลังใจ และสนับสนุน Soul After Six มาตลอด 28 ปี… ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางวงจะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านต่อไปครับ…

“หลังจากนี้ หากเห็นผมยืนอยู่ใกล้ๆ ท่านในคอนเสิร์ตของ Soul After Six ก็อยากให้ท่านคิดว่า ผมก็เป็นแฟนเพลงเก่าแก่ของวงคนหนึ่ง แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้มายืนดูในฐานะแฟนเพลง ครับ…

“ขอบคุณมากครับ”

 

ถ้าทำโพลสำรวจความเห็นนักวิจารณ์-นักฟังเพลงไทยในหัวข้อวงดนตรีที่ยอดเยี่ยมที่สุดของอุตสาหกรรมเพลงไทย ระหว่างช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2530 ไปถึงตลอดทศวรรษ 2540

เชื่อได้ว่า “โซลเตอร์ซิกส์” น่าจะติดโผอยู่ในอันดับ “ท็อปเท็น” ของการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว และในทัศนะของบางคน วงดนตรีวงนี้อาจผงาดขึ้นไปเป็น “อันดับหนึ่ง” หรือ “ท็อปทรี/ท็อปไฟว์” เลยด้วยซ้ำ

“โซลอาฟเตอร์ซิกส์” คือศิลปินกลุ่มจากค่ายเบเกอรี่มิวสิคที่เริ่มมีผลงานชุดแรกสุดออกสู่สาธารณชนในปี 2539 ด้วยสำเนียงดนตรีแบบโซล-เอซิดแจ๊ซ ที่แปลกแตกต่างเป็นอย่างยิ่งจากบทเพลงป๊อป-ร็อกส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีไทยสากลยุคนั้น

สามสมาชิกหลักของวงดนตรีวงนี้ประกอบไปด้วยสองพี่น้องจากตระกูล “สุพรรณเภสัช” คือ “ปึ่ง ณรงค์ฤทธิ์” ผู้พี่ และ “ปิงปอง วิศรุตเทพ” ผู้น้อง ซึ่งรับหน้าที่ร่วมกันแต่งเพลง ขับร้อง เล่นคีย์บอร์ด (รวมทั้งเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ในห้องบันทึกเสียง)

ร่วมด้วยมือเบสอย่าง “บิ๊ก-วิทย์ (ศรุต) วิจิตรานนท์” ซึ่งในยุคหลัง หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักแสดงมากกว่านักดนตรี

สมทบกับนักดนตรีอาชีพระดับสุดยอดหลายชีวิตที่สลับสับเปลี่ยนกันมาสนับสนุนการทำงานของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ทั้งในกระบวนการบันทึกเสียงที่สตูดิโอและการแสดงสด

อาทิ วรรณยศ มิตรานนท์ (กลอง) สู ดรัมเทค (กลอง) วิโรจน์ สถาปนาวัตร (เบส) ปธัย วิจิตรเวชการ (คีย์บอร์ด) ธีรพงษ์ สวาสดิ์วงศ์ หรือกัปตันโลมา (กีตาร์) ธนภัทร มัธยมจันทร์ (กีตาร์) โอสถ ประยูรเวช (กีตาร์) มารัต ยุลดีบาเยฟ (แซ็กโซโฟน) พิสุทธิ์ ประทีปะเสน (แซ็กโซโฟน) และสุรสีห์ ชานกสกุล (ทรัมเป็ต) เป็นต้น

คุณภาพของวงดนตรี “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ได้รับการยืนยันด้วยการคว้า 6 รางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ จากสตูดิโออัลบั้มของพวกเขาที่มีเพียงแค่สองชุด

ไล่ตั้งแต่รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม, ศิลปินคู่และกลุ่มยอดเยี่ยม และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (อีกทีได้ไหม) ประจำปี 2539 บวกเพิ่มด้วยรางวัลศิลปินคู่และกลุ่มยอดเยี่ยม, อัลบั้มยอดเยี่ยม และเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (ยังไม่พร้อม) ประจำปี 2545

ขณะที่อัลบั้มพิเศษ “เมลโลว์ มูดส์” (2546) ซึ่งนำเอาเพลงเก่ายุค 80 ถึง 90 ของศิลปินรุ่นพี่-รุ่นเพื่อน ที่สมาชิกหลักในวงชื่นชอบมาคัฟเวอร์ให้มีลีลาดนตรีแบบ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ก็กลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

ในช่วงประมาณหนึ่งทศวรรษหลัง แม้จะยังไม่มีผลงานอัลบั้มเต็มชุดใหม่ แต่ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ก็ปล่อยซิงเกิลใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะ เช่น “เวลา” และ “ในฝัน”

ตลอดจนการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ “ความทรงจำของก้อนหิน” เมื่อปี 2562

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าสองพี่น้องอย่าง “ณรงค์ฤทธิ์-วิศรุตเทพ สุพรรณเภสัช” หรือ “ปึ่ง” กับ “ปิงปอง” คือแกนหลักผู้เป็น “มันสมอง” ของวงดนตรีชื่อ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์”

เห็นได้จากการที่สองพี่น้องมีเครดิตเป็นผู้ร่วมกันแต่งบทเพลงทั้งหมดของวง

เพลงของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ที่ “ปึ่ง ณรงค์ฤทธิ์” มีเครดิตเป็นผู้แต่งแบบเดี่ยวๆ นั้นอาจมีจำนวนน้อยกว่าเพลงของ “ปิงปอง วิศรุตเทพ” หรือเพลงที่ทั้งคู่แต่งด้วยกัน

ทว่า หลายบทเพลงของ “ณรงค์ฤทธิ์” ก็ไพเราะ มีเสน่ห์ และติดตรึงอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลง เช่น เพลงที่โด่งดังที่สุดของวง (หรืออาจกล่าวได้ว่าโด่งดังยิ่งกว่าตัววง) อย่าง “ก้อนหินละเมอ” รวมถึง “คงรักตลอดไป”, “เก็บเอาไว้”, “เจ้าพายุ” และ “ยังไม่พร้อม”

นอกจากนั้น “ปึ่ง ณรงค์ฤทธิ์” ยังเคยฝากฝีมือในการทำงานร่วมกับศิลปินร่วมยุครายอื่นๆ ด้วย

ผลงานชั้นเลิศชิ้นหนึ่งของเขา (ที่หลายคนอาจลืมเลือนไปแล้วหรือไม่เคยทราบมาก่อน) ก็ได้แก่ การรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับผลงานชุดแรก-ชุดเดียวของวง “แอร์เฮด” ศิลปินอินดี้เจ้าของเพลง “ให้เธอ” และ “รู้หรือเปล่า (รักเธอ)” เมื่อปี 2541

 

ภายหลังการประกาศอำลาวงของ “ณรงค์ฤทธิ์” สองสมาชิกหลักของวงที่เหลือก็ออกมาแสดงจุดยืนและให้คำอธิบายเพิ่มเติมกับแฟนเพลง

ดังที่ “ปิงปอง วิศรุตเทพ” ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“วันนี้หลายๆ คนคงจะทราบข่าวการเกษียณจาก Soul After Six ของพี่ปึ่งแล้วนะครับ ผมอยากเขียนถึงพี่ปึ่งสักเล็กน้อย

“พี่ปึ่งเป็นคนปลูกฝังเรื่องดนตรีให้ผมตั้งแต่เด็กๆ เป็นเมนทอร์คนแรกของผมในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับดนตรีเลยก็ว่าได้ เป็นคนสอนผมเล่นทั้งเปียโน, กลอง, เบส, กีตาร์ สอนผมแต่งเพลง สอนผมฟังเพลง จนถึงร่วมกันก่อตั้งวงขึ้นมา

“บอกเลยว่าพี่ปึ่งนี่แหละ เป็นมันสมองของ Soul After Six อย่างแท้จริงครับ อีกทั้งเพลงที่ทำให้คนรู้จักอย่างกว้างขวางที่สุดของวงเราอย่าง ก้อนหินละเมอ พี่ปึ่งก็เป็นผู้เขียนไว้…

“ผมและพี่ๆ น้องๆ Soul After Six ทุกคนได้เห็นความตั้งใจ ความรัก และทุ่มเทของพี่ปึ่งที่มีให้กับวงมาตลอด 30 ปี

“ด้วยความที่เป็นพี่ใหญ่ของวง ทำหน้าที่ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ปัญหาทั้งเล็กและไม่เล็กที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งมันวิ่งเข้าไปหาพี่ปึ่งก่อนคนอื่นเสมอ อีกทั้งเรื่องการจัดการต่างๆ ที่พี่ปึ่งมักจะทำและแก้ไขด้วยตัวเองก่อนอย่างประณีต กว่าจะหลุดมาถึงคนอื่นบางทีก็เบาบางลงไปมากแล้ว

“ความเหนื่อยล้าทั้งกายใจที่เกิดขึ้นมาหลายปี ในวันที่พี่ปึ่งบอกลาสมาชิกวง เราเข้าใจและเคารพในการตัดสินใจ รวมทั้งขอบคุณพี่ปึ่งมากๆ สำหรับการเป็นหัวเรือผู้นำพวกเราเดินทางมาไกลจนถึงทุกวันนี้ และยังยินดีเสมอถ้าวันนึงพี่ปึ่งจะกลับมาสนุกด้วยกันอีกครั้ง มาร่วมเล่นดนตรีด้วยกันอีกครั้ง…

“จากนี้ Soul After Six ผมกับพี่บิ๊กและพี่ๆ น้องๆ นักดนตรีทุกคนมีหน้าที่เซ็ตวงให้พร้อม หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และยังขอเชิญชวนทุกคนเดินทางกันต่อไปครับ…

“ไปกันต่อครับผม”

 

เช่นเดียวกับ “บิ๊ก ศรุต” ที่โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ที่สุดของการบริหารจัดการวงมา 28 ปี วงเรามายืนอยู่จุดนี้ได้เพราะเป็นพี่ปึ่งที่ตั้งใจและทุ่มเทให้กับวงอย่างเต็มที่มาตลอด ซึ่งมันสำคัญมากๆ จริงๆ

“และถ้าไม่เจอพี่เมื่อ 34 ปีก่อน ก็จะไม่มีผมที่ได้ใช้นามสกุล Soul after Six มาจนถึงทุกวันนี้ ขอบคุณทุกความทุ่มเทที่พี่มีให้มาตลอดครับ

“Soul After Six จะดำเนินต่อไปอย่างดีที่สุดเท่าที่ผมกับปองและพี่ๆ น้องๆ ในวงทุกคนจะทำได้ ตามแนวทางที่พี่เคยทำไว้ครับ”

จุดท้าทายหลังจากนี้ ก็คือ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” จะเดินหรือประคับประคองตัวเองไปอย่างไรบนวิถีทางใหม่ๆ ในวันที่ไร้พี่ใหญ่ของวงชื่อ “ปึ่ง ณรงค์ฤทธิ์”

อย่างไรก็ดี แม้จะประกาศวางมือจากวงดนตรีที่เขาร่วมก่อตั้งและสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งอาจหมายถึงการอำลาจากแวดวงดนตรีด้วย แต่ผลงานและตัวตนของ “ณรงค์ฤทธิ์ สุพรรณเภสัช” น่าจะยังไม่จางหายไปจากความทรงจำของแฟนเพลงที่รัก-ชื่นชอบในวง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์”

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/soulaftersixband

 

| คนมองหนัง