เปิดใจกรรมการ “มติชนอวอร์ด 2024” ผลงานแบบไหนที่อยากให้เข้าชิงชนะเลิศ!

เปิดใจกรรมการ “มติชนอวอร์ด 2024”

ผลงานแบบไหนที่อยากให้เข้าชิงชนะเลิศ!

 

7 เมษายน เวลา 19.00 น. นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์และเครือมติชน จัดเวทีเสวนา “เขียน คิด พลิกโลก : พลังเขียน พลังคิด ยังคงพลิกโลกอยู่หรือไม่” ณ เวทีกลาง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ที่เป็นตัวแทนกรรมการและเป็นผู้ที่เคยผ่านเวทีการประกวด “รางวัลมติชนอวอร์ด” มาแล้ว ได้แก่ นายกล้า สมุทวณิช คอลัมนิสต์ ‘คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง’ ในฐานะตัวแทนกรรมการเรื่องสั้น ซึ่งเคยคว้ารางวัลด้วยเรื่องสั้น “หญิงเสา”, นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ “นายทิวา” ตัวแทนกวีนิพนธ์ และนายประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟมือรางวัล ตัวแทนกรรมการประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ที่มาร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบของพลังเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนสะท้อนสังคมไทย ว่าวรรณกรรมและตัวอักษรยังคงมีพลังหรืออิทธิพลต่อสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร และพิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

ในงานนี้ มีบุคคลจากหลากหลายวงการร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ การ์ตูนนิสต์การเมือง เจ้าของรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2563, นายอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ, นายเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี คอลัมนิสต์, น.ส.จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด อดีตบรรณาธิการมติชน, นายขุนพล พรหมแพทย์ การ์ตูนนิสต์อาวุโส, นางชื่นกมล ศรีสมโภชน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออน อาร์ต ครีเอชั่น จำกัด, ผศ.อริน เจียจันทร์พงษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร, นายกิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน บรรณาธิการ และผู้จัดการร้าน ‘หนังสือและสิ่งของ’ (Books & Belongings) ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายจักรพงษ์ เอี่ยมสอาด นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์พะโล้ เป็นต้น

กล้า สมุทวณิช

ความคาดหวังจากกรรมการ

ในฐานะตัวแทนกรรมการประเภทเรื่องสั้นและนักเขียนวรรณกรรม นายกล้า สมุทวณิช กล่าวว่า เวทีมติชนอวอร์ดมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือในบรรดาเวทีประกวดวรรณกรรมทั้งหมด มติชนอวอร์ดน่าจะเหลือเพียงแค่เวทีเดียว ที่ผู้เข้ารอบจะได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารที่เป็นกระดาษในนิตยสารมติชนสถุดสัปดาห์ แม้คนมักพูดว่าในยุคสื่อใหม่ สื่อดิจิตัลหรืออีบุ๊ก ที่ไม่ต้องมีกระดาษก็ได้ แต่ในฐานะนักเขียน ที่ไม่ว่าในยุคสมัยไหน การที่ผลงานของตนได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารที่เป็นกระดาษจริงๆ ความรู้สึกของนักเขียนคือใจฟูกว่าเยอะ นี่คือจุดเด่นมากๆ ของมติชนอวอร์ด เพราะทุกวันนี้พื้นที่ในการลงพิมพ์ตามหน้ากระดาษแทบไม่มีเหลือแล้ว เวทีมติชนอวอร์ดคือพื้นที่ที่ทำให้ความฝันของนักเขียนหลายคนที่อยากเห็นผลงานของตนได้ตีพิมพ์ตามหน้ากระดาษได้เป็นความจริง

นายกล้ากล่าวอีกว่า “นอกเหนือจากการได้ตีพิมพ์ลงหน้านิตยสาร จุดเด่นอีกด้านของมติชนอวอร์ดคือเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะทุกเวทีประกวดมักจะมีโทนหรือหัวข้อครอบคลุมอยู่ แต่มติชนอวอร์ดเป็นเวทีเดียวที่เปิดกว้างมากๆ งานที่ได้รางวัลแต่ละปีก็ไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่ นี่คือจุดเด่นที่สำคัญ”

“สำหรับคำถามซ้ำซากที่ว่าวรรณกรรมตายแล้วหรือยังนั้น บอกได้เลยว่าร่อแร่ คนอ่านน้อยลงจริงๆ แต่ถ้าถามว่าวรรณกรรมยังมีพลังจริงหรือไม่ ตนอยากจะยกวรรณกรรมเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่มักจะมีคนนำข้อความ ‘ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว….’ ซึ่งเป็นฉากที่พีคที่สุดของเรื่อง ที่ สาย สีมา ตัวเอกในนิยายถูกลากเข้าไปในงานเลี้ยงของเหล่าผู้ดีและถูกผู้ดีพยายามฉีกหน้าด้วยการหยามหมิ่นกำพืด การที่ฉากนี้ถูกหยิบยกมาใช้อ้างอิงบ่อยๆ สะท้อนว่า “ปีศาจ” ไม่มีวันตาย นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ทางการเมืองหลายยุคสมัย เพราะวรรณกรรมมีพลังในแง่ที่ว่า ถ้าคนเขียนเขียนได้ดีจริงๆ มันจะสัมผัสใจผู้อ่าน บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองนั่งอยู่ในห้องนั้น และรู้สึกถูกสบประมาทเหมือนกับที่ สาย สีมา โดน วรรณกรรมทำให้เราสัมผัสสิ่งเหล่านั้นได้ โดยที่เราไม่ต้องไปสัมผัสมันเอง”

ในฐานะกรรมการตัดสินรางวัล นายกล้ากล่าวว่า “ผมอยากเห็นผลงานที่มีส่วนผสมระหว่างความสนุกกับความคมคาย เพราะนี่คือการประกวดชิงเงินรางวัล ถ้าสนุกอย่างเดียวแต่ไม่คมคายผมก็ให้ไม่ได้ หรือจะคมคายแต่ไม่สนุกผมก็ไม่ให้ อยากเห็นความลงตัวระหว่างสองสิ่งนี้”

เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ “นายทิวา”

เสน่ห์ของมติชนที่หาจากไหนไม่ได้

ด้านนายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ “นายทิวา” ตัวแทนประเภทกวี กล่าวว่า ตนเติบโตมากับการเขียนบทกวีส่งตามหน้านิตยสารและเวทีต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนมีเวทีประกวดเยอะมากกว่าสมัยนี้ จนวันนึงเมื่อมติชนเปิดเวที ‘มติชนอวอร์ด’ ครั้งแรกเมื่อปี 2555 ก็ได้รับการยอมรับในทันทีว่าเป็นรางวัลวรรณกรรมที่เปิดกว้างต่องานเขียนหลากหลายแนวทาง

“เสน่ห์ของมติชนอวอร์ดก็คือ ถ้าคุณมีของ ถ้าคุณอยากนำเสนอสารชนิดไหนก็ตาม เวทีนี้เปิดพื้นที่ให้คุณ เพราะถ้าคุณมีของ กรรมการก็พิจารณาของที่คุณมีและเปิดพื้นที่ให้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เสน่ห์ของการประกวดเวทีนี้ก็คือการเปิดพื้นที่ให้ลงตีพิมพ์ในระหว่างการพิจารณางาน และต่อจากการพิจารณางานไปสู่การประกวดสุดท้ายคือรางวัลชนะเลิศ ผลงานทุกชิ้นที่ผ่านนำเสนอความคิด ทรรศนะที่เรามีบนพื้นที่กระดาษ นี่เป็นเสน่ห์นับตั้งแต่ปี 2555 ที่มติชนอวอร์ดยังทำมาอย่างต่อเนื่อง”

นายเอกรัตน์ยังกล่าวอีกว่า “มีคนถามว่าทำไมผมยังเขียนงานอยู่ ก็เพราะเวทีมติชนมีคนถามว่าทำไมผมยังเขียนงานอยู่ ก็เพราะเวทีมติยังเปิดให้ประกวดอยู่ ในหลายๆ เวทีเราจะเห็นว่ามีหัวข้อกำหนด เช่น รางวัลพานแว่นฟ้าก็ต้องเป็นการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย แต่มติชนอวอร์ดคุณสามารถเขียนเรื่องอะไรก็ได้ ถ้าสารนั้นมันโดน มันดีพอ คุณได้เผยแพร่ แล้วเวทีแบบนี้ไม่ท้าทายหรือครับ สำหรับคนที่เป็นกวี หรือพยายามจะเป็นกวีมาตลอดชีวิต ผมว่านี่คือเวทีที่คุณต้องส่งงานมาเพื่อนำเสนอความคิดความเห็นของเรา ว่าจะผ่านไหม ได้รับการเผยแพร่ไหม และจากนั้นจะได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการอย่างไร นี่คือเสน่ห์ของมติชนที่หาจากไหนไม่ได้”

นายเอกรัตน์กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันเราคุ้นชินกับการสื่อสารข่าวผ่านภาพหรือโทรทัศน์ แต่สมัยก่อน ในยุคโบราณ เราสื่อสารผ่านบทกวี เราบันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านกวี สมัยที่เราไม่มีหนังสือพิมพ์รายวัน เราบันทึกการเดินทัพผ่านลิลิตญวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย หรือนิราศหนองคาย นั่นก็คือการบันทึกข่าวสารรูปแบบหนึ่งว่าแต่ละวันกองทัพทำอะไร เกิดอะไรขึ้นในการสงคราม นี่ก็คือการรายงานข่าว การบันทึกข่าวสารในรูปแบบบทกวี”

“ในฐานะที่ผมเป็นสื่อ แต่เราบอกตรงๆ ไม่ได้ว่านักการเมือง ‘นาย ก. ทุจริต’ ทั้งๆ ที่เรามีหลักฐานเต็มมือแต่เราก็เขียนไม่ได้ แต่ว่าการ์ตูน ละคร กวี ซึ่งเรื่องสั้น สามารถทำได้ ทำได้แนบเนียนกว่าด้วย เราจำไม่ได้หรอกครับว่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร แต่เราจะจำได้จากบทกวีแต่ละท่อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประวัติศาสตร์เหล่านี้ จนอาจกล่าวได้ว่าบทกวีเป็นหนึ่งในบทบันทึกแห่งยุคสมัย”

“หรือในยุคที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ คุณขรรค์ชัย บุนปาน และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เป็นนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น ก็แต่งกวี ‘กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี’ ส่วน วิทยากร เชียงกูล ก็เขียนว่า ‘ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว’ มันคือยุคที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบให้กับชีวิต บทกวีเหล่านี้ ทำให้เราจำได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เรารับรู้ข้อเท็จจริง”

“ผมอยากเห็นผลงานที่ส่งมาว่ามีข้อสังเกตหรืออะไรที่แปลกใหม่ หรือการตั้งคำถามอะไรใหม่ๆ สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบัน หรือการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต แต่ทั้งหมดนี้คือต้องมีมุมมองและกลวิธีในการนำเสนอที่น่าสนใจ หรือยิ่งถ้ามีคำตอบหรือคำเฉลยที่โดนใจ ผมคาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานแบบนี้ในเวทีมติชนอวอร์ดและเชื่อว่าจะได้เห็นแน่ๆ เพราะเวทีนี้เปิดกว้างจริงๆ” นายเอกรัตน์กล่าวปิดท้าย

ประกิต กอบกิจวัฒนา

พลังการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง

ด้านนายประกิต กอบกิจวัฒนา ในฐานะกรรมการด้านการ์ตูนรางวัลมติชนอวอร์ด กล่าวยกย่อง อ.ประยูร จรรยาวงษ์ และอรุณ วัชระสวัสดิ์ ว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง 2 คนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับตนเป็นอย่างมาก เพราะผลงานของทั้ง 2 คนมีส่วนช่วยสร้างความคิดทางการเมืองของตนขึ้นมา ผลงานของทั้งคู่การเปิดพื้นที่ทางความคิดของคน ซึ่งเป็นอะไรที่ยาก แต่ท้าทาย

“ถ้าเราได้ดูผลงานของของ อ.ประยูร จรรยาวงษ์ และพี่อรุณ วัชระสวัสดิ์ จะพบว่างานของพวกเขามีความคมคาย ด้วย 1 ภาพ 1 ประโยค แต่สามารถพาคนไปสู่ความคิดทางการเมืองได้เยอะ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่มติชนอวอร์ดเปิดพื้นที่การประกวดการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมืองขึ้นมาในปีนี้ เพราะความจริงแล้ว ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย การ์ตูนก็จะเป็นบันไดขั้นแรกๆ ของเด็กที่จะมีแนวคิดสนใจการเมืองได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคมไทย และการที่คุณเป็นบันไดขั้นแรกทางการ์ตูนการเมืองในการสื่อสาร มันจะช่วยปลุกความคิดทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่ไทยด้วย มันจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่อยากเห็นต่อๆ ไป” นายประกิตกล่าว

“แม้ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มของสื่อจากหน้ากระดาษไปสู่โซเชียลมีเดียหรือออนไลน์ แต่การ์ตูนก็ยังมีความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ด้วย จากเพจการ์ตูนที่แหลมคมมากมายในสังคม สะท้อนว่าการ์ตูนมันไม่ได้หายไปจากชีวิตเรา แต่กับคนเจนเนอเรชั่นใหม่เขาจะอ่านการ์ตูนอีกแบบ เขาอ่าน ‘เว็บตูน’ ซึ่งมีความหลากหลายมากๆ มีตั้งแต่การ์ตูนวาย ไปจนถึงการ์ตูนการเมือง นักเขียนอย่าง ‘สะอาด’ ก็เติบโตจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาก่อน จนกระทั่งมีผลงานรวมเล่ม”

“เมื่อเราพูดถึงภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไป พื้นที่การ์ตูนก็มีความสำคัญเช่นกัน ฝ่ายหนึ่งก็นำเสนอ ‘แอนิเมชั่น 2475’ ส่วนอีกฝั่งก็มี ‘สะอาด’ ที่มีผลงาน ‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ ที่เป็นเหมือนด้านตรงข้ามกันและกัน ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ไปอ่านความคิดที่ผู้เขียนสะท้อนถึงความเชื่อทางการเมืองในสายตาของตน ซึ่งไม่ใช่แค่การ์ตูนการเมืองเท่านั้นที่เราพูดกัน แต่หลายๆ เรื่องก็คือการเมืองนั่นแหละ อย่างเช่นการ์ตูนวายที่มีแง่มุมเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือเอาเข้าจริงที่เราพูดถึงการ์ตูนวายกันมากๆ ในช่วงนี้มันก็สะท้อนถึงพลวัตรของสังคมที่มันเปลี่ยนไป”

ส่วนคำถามที่ว่า ความร้อนแรงทางการเมือง จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการ์ตูนเสียดสี ล้อเลียนการเมืองด้วยหรือไม่นั้น นายประกิตกล่าวว่า การ์ตูนเป็นพื้นที่ระบายออกทางความคิด เป็นพื้นที่เสรีภาพทางความคิด ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ในการใช้เป็นเครื่องมือบอกแก่ผู้อำนาจ ถึงสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาฝัน สิ่งที่เขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

“การเปิดเวทีให้คนแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนมีฝีมือแต่ไม่มีพื้นที่ให้คนเห็น การเปิดพื้นที่ประกวดการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมืองของมติชนอวอร์ดในปีนี้เป็นครั้งแรกคือสิ่งที่น่าดีใจ เพราะเป็นการมอบพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่ขาดโอกาสในการแสดงออกได้มีพื้นที่ปล่อยของออกไป การสร้างชื่อสร้างตัวตนของศิลปินสักคนต้องใช้เวลายาวนาน ไม่มีใครสร้างผลงานชิ้นเดียวแล้วประสบความสำเร็จทันที การมีเวทีให้แสดงออกเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน”

“และในฐานะกรรมการตัดสินรางวัลประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ตนอยากเห็นงานที่คมคาย และจากที่ตนได้เห็นผลงานที่ส่งมาบางส่วนในเบื้องต้น ก็ทำให้ได้เห็นความแตกต่างทางเจนเนอเรชั่นของคนที่ส่งกันเข้ามา ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียนการ์ตูนดีๆ ได้สักชิ้น เพราะผมเชื่อว่าความคิดที่คมคายที่สะท้อนผ่านผลงานย่อมเริ่มต้นจากการอ่าน ถ้าเวทีนี้ตั้งมาตรฐานให้สูงมากๆ เข้าไว้ ผมเชื่อว่าจะเป็นเวทีที่ผลิตคนเก่งๆ ออกมาอีกหลายคนเลยทีเดียว” นายประกิตกล่าว

รายชื่อคณะกรรมการตัดสินรางวัลมติชนอวอร์ด

สำหรับกรรมการที่จะมาร่วมคัดสรรผลงาน ล้วนแต่เป็นบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักเขียนมืออาชีพ คณะกรรมการตัดสินประเภทเรื่องสั้น ได้แก่ กล้า สมุทวณิช คอลัมนิสต์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งคว้ารางวัลมติชนอวอร์ดด้วยเรื่องสั้น ‘หญิงเสา’, นฤพนธ์ สุดสวาท ที่เคยได้รางวัลมติชนอวอร์ด จากผลงานเรื่อง ‘กลายเป็นผีเสื้อ’ และ นิวัต พุทธประสาท แห่งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

ในส่วนของกวีนิพนธ์ กรรมการที่ตัดสินเป็นที่รู้จักกันดี อย่าง ละไมมาด คำฉวี มือกระบี่แห่งบทกวีไม่มีฉันทลักษณ์ รวมทั้ง ผศ.ดร.ญาดา อรุณเวช อารัมภีร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณคดี-ภาษาไทย และ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่จะมาช่วยพิจารณาตัดสิน

ส่วนรางวัลการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ได้รับเกียรติจากการ์ตูนนิสต์อาวุโสทั้ง อรุณ วัชระสวัสดิ์ และขุนพล พรหมแพทย์ ที่มีผลงานทั้งในประชาชาติธุรกิจและมติชนสุดสัปดาห์ ก็จะมาช่วยตัดสิน พร้อมด้วย ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟมือทองที่จะมาร่วมพิจารณาด้วยอีกแรงหนึ่ง

ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 ทางอีเมล์ [email protected] เรื่องสั้น กวี และการ์ตูนที่ผ่านการเข้ารอบจะตีพิมพ์ลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2567 และตัดสินผลรางวัลในเดือนธันวาคม 2567 นี้

อีกทั้งในปีนี้ยังมีการประกาศรางวัล “มติชนเกียรติยศประจำปี 2567” เพื่อมอบถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ให้แก่นักเขียน-คอลัมนิสต์มติชนที่สร้างผลงานได้ตราตรึงใจ สร้างสรรค์งานเขียนมายาวนาน และมีผลงานเด่นชัดอีกด้วย •

 

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์