ประสบการณ์การทำงาน กับคน GenZ พวกเขาคืออนาคตต่อโลก

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมอายุใกล้ 40 เป็นคน Gen-Y ช่วงต้นๆ เติบโตมาพร้อมกับโลกที่คนยุค Boomer ครองโลก มีคน Gen-X ที่เชื่อเรื่องการทำงานหนักและพิสูจน์ตัวเอง

คนรุ่นผมเริ่มทำงานในภาวะส่วนผสมของคนหลายรุ่น ที่มีภาวะความเป็นพิษที่แตกต่างกัน

คน Boomer ก็จะชอบอธิบายถึงประสบการณ์อันยากลำบาก การอ่อนน้อมถ่อมตน การอยู่เป็น

ส่วนคน Gen-X ที่เป็นระดับหัวหน้าหรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่าในสายงาน ก็มักอธิบายถึงความสามารถเฉพาะที่พวกเขามี จนสามารถเอาชนะผู้คนขึ้นมาได้ถึงจุดนี้ และมักบ่นถึงคนรุ่นหลังที่ไม่พยายามมากพอ

ไม่ทันได้ปรับตัวหรือเติบโตสุดสายในสายอาชีพของตัวเอง คน Gen Z หรือคนที่เกิดประมาณปี 2541 ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนยุค Boomer เกษียณเลี้ยงหลาน มีเงินเก็บมีบ้านมีรถ คน Gen-X ที่พอมีตำแหน่งก็เริ่มชักกระไดหนี

คน Gen-Y จึงเริ่มอยู่ งงๆ กับคน Gen-Z ที่มีอายุราวๆ 14-26 ปีในปัจจุบัน

 

คน Gen X กับ Boomer ในบริบทไทยจะไม่ชอบ Gen-Z

ก็ไม่แปลกเพราะบริบทการเติบโตมันแตกต่างกันมาก

เครื่องมือการสื่อสาร ความคิดเกี่ยวกับเวลา และสถานที่ คน Gen-X กับ Boomer มีกรอบความเข้าใจที่ต่างจาก Gen Z สิ้นเชิง

ดังนั้น ตัวเชื่อมสำคัญคือพวกเขาหวังว่าคน Gen-Y ที่สถานะทางเศรษฐกิจครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีอำนาจทรัพยากรแบบ Boomer ไม่มีเรื่องราวประสบความสำเร็จแบบ Gen-X และไม่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวแบบ Gen-Z จะสามารถสื่อสารและเข้าใจแรงงานรุ่นใหม่ได้ ก็ดูเป็นความคาดหวังที่หนักหน่วงเหมือนกัน

พอมีปัญหาอะไรเราจึงเห็นว่า “คน Gen Z รับจบ” คนทุกรุ่นเหมือนจะมีปัญหากับพวกเขา และพยายามขุดเรื่องราว ที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็น สัมมาคารวะ ความอดทน วินัย หรือปัญหาทักษะการทำงาน

แต่ในมุมมองของผมที่ทำงานใกล้ชิดกับคน Gen-Z ผมขอสรุปลักษณะที่น่าสนใจได้ดังนี้

 

1.เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและสื่อสาร

Gen Z เป็นคนที่เติบโตขึ้นพร้อมกับการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและสื่อสาร เข้าใจการใช้เทคโนโลยีและโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

พวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เครื่องมือค้นคว้าข้อมูลออนไลน์

ไม่ใช่เรื่องแปลกเวลาที่ผมบรรยายหน้าห้องแล้วนักศึกษาจะค้น Google และแย้งข้อมูลทันที

เช่นเดียวกันกับการประชุมทีม พวกเขาสามารถมีกรณีศึกษาสดใหม่ ที่กำลังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ขณะนั้นขึ้นมาถกเถียง

และอธิบายได้ว่า กลุ่มคนที่ไม่เคยมีแสง มีเสียง ไม่ได้เป็นนักวิชาการ หรือคนมีอำนาจ คนธรรมดาพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

 

2.คิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

Gen Z มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เข้าใจและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน

คนรุ่นก่อนอาจคุ้นเคยกับวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ

ผมลองยกตัวอย่างว่า ถ้าเราให้คน Gen-X หรือ Boomer ขยายเครือข่ายเพื่อผลักดันประเด็นต่างๆ พวกเขาจะคิดถึงคอนเนกชั่น เครือข่ายที่พวกเขามี เช่น เพื่อนโรงเรียนเก่า เพื่อนที่ทำงานเก่า คนที่เคยเรียนหลักสูตรเดียวกัน ฯลฯ

แต่ Gen-Z จะคิดถึงคนที่พวกเขาไม่รู้จัก คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้

แต่พยายามสร้างนวัตกรรมและเหตุจูงใจให้ผู้คนที่หลากหลายเข้ามาในเครือข่ายการทำงาน

 

3.หลีกเลี่ยงความเชื่อถือทางด้านอำนาจแบบเดิม

Gen-Z มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อถือหรือมองเห็นความสำคัญในระบบแบบเดิมของอำนาจหรือองค์การ

พวกเขามักมองหาความเป็นธรรมและความเท่าเทียม อันมาจากบริบทสังคมที่พวกเขาเติบโต

คนรุ่นก่อนอาจมองว่าพวกเขาไม่มีสัมมาคารวะ ไม่ยืดหยุ่น

แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขามีแนวโน้มการปฏิเสธระบบอุปถัมภ์ หรือเงื่อนไขความไม่โปร่งใสต่างๆ

และหากเราจำกันได้ ระบบอำนาจนิยมพวกพ้อง ก็เป็นหนึ่งในค่านิยมที่กีดขวางการพัฒนาในสังคมไทยมาช้านานและรอคอยการเปลี่ยนแปลง

 

4.เป็นทีมงานที่ดีในสภาวะการทำงาน

Gen-Z มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม รับฟังความคิดเห็นและมีมุมมองที่หลากหลาย

รวมถึงมีความยืดหยุ่นและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยพวกเขาเติบโตในสังคมที่มีความเป็นระนาบเดียวกัน

พวกเขาเรียนรู้ว่าความคิดเห็นโดยคนคนเดียวมีความผิดพลาดสูง (หรือที่ภาษาคนรุ่นใหม่ เรียกว่า “บ้ง”)

ความผิดพลาดยุคสมัยใหม่ มี Digital Footprint ที่เก็บไว้ได้ยาวนาน

ดังนั้น การมีคนร่วมแชร์ ความดีความชอบ ร่วมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่มีผลต่อคนส่วนมากจึงเป็นสิ่งที่คน Gen-Z มองเป็นเรื่องปกติ

 

เมื่อพิจารณาในแง่นี้จึงจะพบว่า จากประสบการณ์ของผมการทำงานกับคน Gen-Z เป็นโอกาสการสร้างประสบการณ์ สร้างนิยามความสำเร็จรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในแง่องค์กร และการเปลี่ยนแปลงสังคม

ในเมื่อเราท่องกันมายาวนานว่าทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศคือ “มนุษย์”

การพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์เต็มศักยภาพของพวกเขา จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ

เพราะพวกเขาจะนำพาเราสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมที่ดีขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น

เพียงแต่เราจัดวางทรัพยากรให้พวกเขาได้รับอย่างสมดุลเพียงพอ เหมือนครั้งหนึ่งที่พวกเราก็เคยได้รับโอกาสนั้นมาก่อน