ว่าด้วย ‘อนุรักษนิยมใหม่’ กับ ‘รีฟอร์ม’ ที่ปฏิเสธ ‘ปฏิรูป’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ว่าด้วย ‘อนุรักษนิยมใหม่’

กับ ‘รีฟอร์ม’ ที่ปฏิเสธ ‘ปฏิรูป’

 

อะไรคือ “อนุรักษนิยม”…และทำไมคุณทักษิณ ชินวัตร จึงยืนกรานว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรค “อนุรักษนิยมใหม่”?

ถ้าเพื่อไทยไม่ใช่ “อนุรักษนิยมใหม่” อะไรคืออุดมการณ์หรือแนวทางของพรรคนี้?

ตอนหนึ่งในคลิปวิดีโอที่นำเสนอต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน คุณทักษิณบอกว่า

“ที่หลายฝ่ายกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยที่มีดีเอ็นเอ (DNA) มาจากพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่นั้นขอยืนยันว่า ไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของพรรคไทยรักไทย และเชื่อว่าไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทยด้วย”

คุณทักษิณบอกว่าพรรคเพื่อไทยคือพรรค “รีฟอร์ม” ที่นำการเปลี่ยนแปลง

คำว่า Reform แปลว่า ปฏิรูป

แต่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีทุกคนในรัฐบาลนี้บอกว่ารัฐบาลนี้ไม่เชื่อในการ “ปฏิรูป”

แต่ใช้แนวทาง “พัฒนาร่วมกัน”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทัพหรือระบบราชการหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะใช้วิธี “ค่อยทำค่อยไป”

รัฐมนตรีกลาโหม สุทิน คลังแสง บอกว่าไม่ปฏิรูปกองทัพเพราะเป็นการหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า จะใช้วิธีนิ่มนวลแทน

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า ‘รีฟอร์ม’ ที่คุณทักษิณพูดถึงจึงได้หล่นหายไประหว่างทางแล้วเกือบทั้งหมด

เพราะไม่ใช่พรรคที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป

กลายเป็นว่าผู้คนอื่นว่าพรรคก้าวไกลนั่นแหละคือพรรคเพื่อการเปลี่ยนแปลง

แต่คนที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างมโหฬารนี้ไม่ใช่ใครอื่น คือคุณทักษิณเองนั่นแหละ

 

ย้อนความจำว่าพรรคเพื่อไทยได้รับป้ายชื่อ “อนุรักษนิยมใหม่” หรือ Neo-Conservative มาเมื่อใด?

คำตอบคือเมื่อเพื่อไทยตัดสินใจ “สลับขั้ว” ฉีก MoU กับพรรคก้าวไกลเพื่อมาจับมือตั้งรัฐบาลกับกลุ่มอนุรักษนิยมดั้งเดิม

เป็นฝั่งที่มีพรรคภูมิใจไทย, พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเป็นหลัก

พรรคเพื่อไทยกลายมาเป็นแกนนำรัฐบาลที่มีพรรคที่โยงใยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “2 ป.”

ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นานพรรคเพื่อไทยเคยแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็น “อำนาจเก่า”

และเป็นอำนาจเก่าที่โยงกับรัฐประหารปี 2557 ที่โค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

คนของพรรคเพื่อไทยอ้างว่าการทิ้งพรรคก้าวไกลมาตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคกลุ่ม “อำนาจเก่า” นี้เพราะได้เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนตั้งรัฐบาลแล้ว

แต่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ไม่สามารถจะระดมคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาเพียงพอเพื่อรับตำแหน่งนายกฯ ได้

เพื่อ “ให้ประเทศเดินต่อไปได้” พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เพื่อตั้งรัฐบาลกับพรรคกลุ่มอนุรักษนิยม

ในช่วงนั้นมีการใช้คำว่า “ตระบัดสัตย์” และ “กลืนเลือด” กันอย่างเกลื่อนกลาดเพื่ออธิบายถึง “ความจำเป็น” และ “จำใจ” ที่จะต้อง “ข้ามขั้ว”

เป็นช่วงเดียวกับที่มีข่าวลือหนาหูว่าคุณทักษิณได้เจรจา “ดีลลับ” กับ “กลุ่มอำนาจเก่า” เพื่อแลกกับการที่จะสามารถกลับบ้านจากการไปอยู่ต่างประเทศกว่า 17 ปี

ขณะนั้นไม่มีการยืนยันว่ามีการเจรจาลับเพื่อจะแลกเปลี่ยนการกลับบ้านของคุณทักษิณกับการ “ข้ามขั้ว” ของพรรคเพื่อไทยว่าจริงหรือไม่

ความมาปรากฏภายหลังว่าสองเรื่องนี้มีความโยงใยกันพอสมควร

แม้ถึงวันนี้จะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากฝ่ายไหนก็ตาม

แต่สำหรับการเมืองไทยนั้น บ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมีการกล่าวขานยอมสารภาพอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

เพราะไม่มีใครอยากเป็น “จำเลย” ทางการเมือง

ในเกมการเมืองไทย ทุกคนล้วนต้องการเป็น “พระเอก” หรือ “ผู้เสียสละ” ที่ทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าใครจะเชื่ออะไรหรือไม่อย่างไร คนไทยส่วนใหญ่ก็เริ่มจะเห็นความเกี่ยวดองระหว่างการฟอร์มรัฐบาลสูตรใหม่กับการหวนคืนสู่มาตุภูมิของคุณทักษิณอย่างชัดแจ้ง

 

ความอึดอัดและหงุดหงิดก็เกิดขึ้นในหมู่คนที่ลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

เพราะจำนวนไม่น้อยหย่อนบัตรให้พรรคเพื่อไทยก็เพราะเชื่อในความเป็น “พรรคการเมืองเสรีนิยม ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ของพรรคนี้

ที่เคยมีภาพของคุณทักษิณเป็นหัวหอกของการต่อสู้กับ “เผด็จการสืบทอดอำนาจ”

หลายคนในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งมองเห็นพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลมีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่ฝั่งเดียวกัน

จะเรียกมันว่า “เสรีนิยม” หรือ “เสรีประชาธิปไตย” ก็ตาม

แต่ที่แน่ๆ คือยืนอยู่คนละข้างกับ “พรรคการเมืองอนุรักษนิยมดั้งเดิม”

ยิ่งมีพรรคที่โยงกับ “2 ป.” อยู่ในซีกนี้ด้วยแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยกระโดดเข้ามาเป็น “หัวหอก” ของกลุ่มนี้ก็เกิดแนวทางวิเคราะห์ว่าพรรคเพื่อไทยภายใต้ “ดีลลับ” ให้คุณทักษิณกลับบ้านนั้นได้ทิ้งอุดมการณ์ความเป็น “เสรีนิยม” แล้ว

เพราะแม้แต่แกนนำของพรรคเองก็ยอมรับว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจุดยืน “เพื่อจะได้เดินต่อ”

และไม่อาจจะยืนยันที่จะจับมือกับก้าวไกลอย่างเหนียวแน่นเพื่อรอให้ ส.ว.ชุดนี้สิ้นสภาพเสียก่อนเพื่อสามารถตั้งรัฐบาล 312 เสียง

จะได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลเสรีนิยม” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการเรียกขานพรรคเพื่อไทยว่าเป็น “อนุรักษนิยมใหม่”

 

ในความหมายว่าพรรคนี้ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืน หันมากอดรัดกับฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อจะได้อำนาจรัฐโดยยอม “กลืนเลือด” และยอมรับว่าจะทำให้ฐานเสียงส่วนหนึ่งต้องสิ้นศรัทธา

การใช้คำว่า “ใหม่” ห้อยท้าย “อนุรักษนิยม” ก็คงจะมาจากคำว่า Neo ในภาษาอังกฤษ

เพื่อพรรคเพื่อไทยจะได้สวมบทใหม่ในฐานะ Neo-Conservative ที่เพิ่งจะแปลงร่างจาก Liberal มาหยกๆ

ยังไม่ถึงกับกระโดดจาก “เสรีนิยม” เป็น “อนุรักษนิยมดั้งเดิม” เสียเลยทีเดียว

แต่อยู่ในขั้นที่ยังมีความ “ใหม่” ในบทบาทใหม่อยู่

ในช่วงนั้น ไม่มีเสียงทัดทานจากแกนนำของพรรคเพื่อไทย…และไม่มีคำอธิบายต้านจากคุณทักษิณซึ่งคงจะกำลังง่วนอยู่กับการเจรจาต่อรองเรื่องการกลับบ้านของตน

คำปฏิเสธสถานภาพของ “อนุรักษนิยมใหม่” เพิ่งมาจากคุณทักษิณในคลิปวิดีโอที่พรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

โดยใช้คำว่า “รีฟอร์ม” มาตอกย้ำว่าตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยก็มีนโยบาย “นำการเปลี่ยนแปลง”

แต่ไม่ได้ย้ำว่าเป็น “เสรีนิยม” อย่างที่เคยเป็นยี่ห้อดั้งเดิมที่เป็น “แบรนด์” ในการต่อสู้กับ “ฝ่ายอำนาจเก่า”

 

วันนี้ เมื่อเพื่อไทยมาหลอมรวมกับ “กลุ่มอำนาจเก่า” กลายเป็นรัฐบาลผสม จึงถูกขนานนามว่าเป็น “อนุรักษนิยมใหม่”

ซึ่งคุณทักษิณคงจะกลัวว่าคำนี้อาจทำให้การฟื้นความนิยมของพรรคในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เป็นภารกิจที่ยากเย็นยิ่ง

เพราะพรรคก้าวไกลได้ประทับตราความเป็น “การเมืองก้าวหน้า” เป็นอุดมการณ์ที่สามารถทำให้คนกว่า 14 ล้านคนสนับสนุน

เทียบกับ 10 กว่าล้านเสียงของเพื่อไทยที่ถูกมองว่าได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นพรรคที่เดินห่างไกลจากความเป็น “เสรีประชาธิปไตย” มากขึ้นทุกที

ยิ่งหลังการเลือกตั้งแล้ว พรรคเพื่อไทยทำ “ดีลลับ” จนย้ายตัวเองมาร่วมสังฆกรรมกับ “อนุรักษนิยมเก่า” อย่างเต็มตัว ความเสี่ยงที่จะสูญเสียฐานเสียงก็ยิ่งจะมีสูงขึ้นตามลำดับ

ดังนั้น การที่คุณทักษิณปฏิเสธความเป็น “อนุรักษนิยมใหม่” จึงอาจจะไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองต่อไปอีกแล้ว

หากแต่ต้องการได้ “ภาพลักษณ์” ของความเป็น “ผู้นำความเปลี่ยนแปลง” กลับมาเพื่อจะได้จำนวน ส.ส. มาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง

 

เป็นภารกิจที่ยิ่งวันยิ่งยาก เพราะการชำระล้างคราบแปดเปื้อนของ “อนุรักษนิยมเก่า” เพื่อแลกกับการได้กลับบ้านมาบริหารประเทศนั้นไม่อาจจะทำเพียงด้วยการประกาศผ่านวิดีโอคลิปเฉยๆ

การเมืองวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน

สูตรที่เคยสำเร็จเมื่อ 20 ปีก่อนก็มิอาจจะนำมาใช้วันนี้ให้ได้ผลลัพธ์แบบที่เคยหวังอีกต่อไป

ยิ่งหากเกิดยุบพรรคก้าวไกล พรรคใหม่ที่จะรับไม้ “เสรีนิยม” ต่อไปก็อาจจะเหมือน “ติดเทอร์โบ” อย่างที่บางคนคาดการณ์

ก็ยิ่งจะทำให้การ “คืนชีพ” ของพรรคเพื่อไทยลำบากยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่า