เยี่ยมชมมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย แบบเจาะลึกถึงกึ๋น

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านมา เราเขียนถึงมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย มาก็หลายตอนแล้ว ลืมไปว่าเรายังไม่ได้แนะนำภาพรวมของมหกรรมศิลปะครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตอนนี้เลยจะมาขอเล่าให้อ่านก็แล้วกัน

ก่อนอื่น เผื่อใครสงสัย ก็ขออธิบายให้ฟังก่อนว่า คำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) นั้น เป็นลักษณะของมหกรรมศิลปะนานาชาติขนาดใหญ่ ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี (Biennale หรือ Biennial นั้นเป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ปีถัดไป หรือทุกๆ 2 ปี) ที่มีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี มีชื่อเรียกว่า มหกรรมศิลปะ เวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale หรือในชื่อภาษาอิตาเลียนว่า La Biennale di Venezia) จัดขึ้นในทุกๆ สองปี ซึ่งถือเป็นมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก

หลังจากเวนิสเบียนนาเล่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะแบบ เบียนนาเล่ หรือ ไบแอเนียล ไปทั่วโลก ทุกวันนี้มีการจัดเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่มากกว่าสามร้อยเทศกาลทั่วโลก ในรูปแบบที่หลากหลาย และพื้นที่ที่หลายหลาก รวมถึงในประเทศไทยเราด้วย

ด้วยเหตุที่คำว่า “Biennale” รวมถึงแนวคิดและรูปแบบการจัดนิทรรศการศิลปะ มหกรรม หรือเทศกาลศิลปะขนาดใหญ่ขึ้นทุกๆ สองปี นั้นเป็นสาธารณสมบัติ (Public domain) ที่ใครใคร่ใช้ก็ใช้ไป ใครใคร่ทำก็ทำไป ไม่มีใครหวงห้าม แม้แต่ประเทศที่เป็นผู้ริเริ่มก็ตาม

ผลงานของ เซียว ซ่ง ในช้างแวร์เฮ้าส์
ผลงานของ เฉิง ซินเฮ่า ในช้างแวร์เฮ้าส์
ผลงานของ สว่างวงศ์ ยองห้วย ในช้างแวร์เฮ้าส์

สําหรับมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ในประเทศไทยที่เรียกกันว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่ นั้นถูกจัดขึ้นโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ทำให้ไทยแลนด์เบียนนาเล่แตกต่างจากมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติอื่นๆ ทั่วโลก คือแทนที่จะจัดขึ้นในเมืองเดียวเหมือนเบียนนาเล่ในประเทศอื่น แต่ไทยแลนด์เบียนนาเล่มีการเปลี่ยนจังหวัดที่จัดแสดงนิทรรศการในทุกครั้ง

ที่ผ่านมามีการจัดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ ขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัดอย่าง กระบี่, นครราชสีมา และล่าสุดกับมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2023 และกำลังจัดแสดงอยู่จนถึงช่วงต้นปี 2024 นี้ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดที่เคยจัดขึ้นมาในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

เอาจริงๆ เรายอมรับว่าครั้งแรกได้ยินว่าจะมีการจัดมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ ขึ้นที่จังหวัดเชียงรายนั้น เราก็พาลตีตนไปก่อนไข้ว่างานมหกรรมศิลปะครั้งนี้น่าจะมีความเป็นอนุรักษนิยมและเต็มไปด้วยงานศิลปะแบบประเพณีและงานพุทธศิลป์เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะเชียงรายเป็นเหมือนถิ่นฐานบ้านเกิดของศิลปินไทยประเพณีและพุทธศิลป์ชั้นครูหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินพุทธศิลป์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างวัดร่องขุ่น อาณาจักรพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเชียงราย ซึ่งเราเดาเอาว่าเฉลิมชัยน่าจะรับบทผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์หรือแม้แต่ภัณฑารักษ์ในมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้ด้วยซ้ำไป

แต่ผิดคาด เฉลิมชัยกลับเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่ผลักดันหน่วยงานภาครัฐให้เชื้อเชิญภัณฑารักษ์และศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่าง กฤติยา กาวีวงศ์ และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มารับบทบาทผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) แถมยังดึงเอาบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรงในวงการศิลปะอย่าง อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ และ มนุพร เหลืองอร่าม มารับบทภัณฑารักษ์ ของมหกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งการที่หนึ่งในผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์อย่างกฤติยา

และหนึ่งในภัณฑารักษ์อย่างอังกฤษ มีพื้นเพเป็นชาวเชียงรายตั้งแต่อ้อนแต่ออก ก็ยิ่งทำให้ทิศทางของมหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้มีความกลมกลืนเข้ากับบริบทของพื้นที่ในจังหวัดแห่งนี้ได้ลึกซึ้งกลมกลืนอย่างไร้รอยต่อ

ผลงานของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ในช้างแวร์เฮ้าส์
ผลงานของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน
ผลงานของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ในวัดป่าสัก

เฉลิมชัยยังมีบทบาทอย่างมากในการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ Chiang Rai International Art Museum (CIAM) พื้นที่แสดงงานศิลปะขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลงานของศิลปินระดับโลกหลากหลายคนที่เดินทางมาจัดแสดงผลงานศิลปะในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี แถมยังเปิดพื้นที่ของวัดร่องขุ่นให้ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่เข้าไปจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกแหวกแนวสุดขั้วอีกด้วย

อีกทั้งศิลปินที่ถูกเชื้อเชิญให้มาร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินที่มีเส้นทางการทำงานอันโดดเด่นเป็นที่น่าจับตาในแวดวงศิลปะร่วมสมัย หลายคนยังเคยเข้าร่วมในเทศกาลและมหกรรมศิลปะชั้นนำของโลกอย่าง Documenta และ Venice Biennale และอื่นๆ อีกมาย มาแล้วทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินจากโลกตะวันตกอย่าง เออร์เนสโต เนโต (Ernesto Neto), โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger), โทมัส ซาราเซโน (Tom?s Saraceno), ปิแยร์ ฮวีก (Pierre Huyghe), แฮกู ยาง (Haegue Yang), อัลมากุล เมนลิบาเยวา (Almagul Menlibayeva), ไมเคิล ลิน (Michael Lin), ซาราห์ ซี (Sarah Sze), ทาเร็ก อาทุย (Tarek Atoui), คาแดร์ อัทเทีย (Kader Attia), มาเรีย เทเรซา อัลเวซ (Maria Theresa Alves), อัททา ความิ (Atta Kwami), อารโต ลินด์เซย์ (Arto Lindsay), มาเรีย ฮาซซาบิ (Maria Hassabi), ซิน หลิว (Xin Liu), พรีเชียส โอโคโยมอน (Precious Okoyomon), ซาไคอา บุคเคอร์ (Chakaia Booker)

หรือศิลปินร่วมสมัยจากภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เฉิน ซินเฮ่า (Chen Xinhao), สวี่ เจีย เหว่ย (Hsu Chia-Wei), หวัง เหวิน จื้อ (Wang Wen-Chih), ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido), ชิมาบุกุ (Shimabuku), โมวานา เฉิน (Movana Chen), โฮ ซู เหนียน (Ho Tzu Nyen), เหงียน ตรินห์ ตี (Nguyen Trinh Thi), โซ ยู นแว (Soe Yu Nwe), สว่างวงศ์ ยองห้วย (Sawangwongse Yawnghwe), ปังร็อค ซุลาป (Pangrok Sulap), จิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita), เซอร์ริน เชอร์ปา (Tsherin Sherpa), โทกูดูร์ ยอนดอนแจมตส์ (Tuguldur Yondonjamts), โปกล็อง อะนาดิง (Poklong Anading), ตาเยบา เบกัม ลิปี (Tayeba Begum Lipi), วุธ ลีโน (Vuth Lyno) พาโบล บาร์โธโลมิว (Pablo Bartholomew), เฉิง ซินเฮ่า (Cheng Xinhao), เซียว ซ่ง (Tcheu Siong), และ เซน เท (Zen Teh)

รวมถึงศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีผลงานโดดเด่นทั้งในประเทศไทยและในระดับสากลอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, จิตติ เกษมกิจวัฒนา, กมลลักษณ์ สุขชัย, กรกต อารมย์ดี, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, สนิทัศน์ ประดิษฐทัศนีย์, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์, อุบัติสัตย์, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ หรือแม้แต่ศิลปินกลุ่มชาติพันธุ์อย่าง บู้ซือ อาจอ

และกลุ่มศิลปินและนักสร้างสรรค์ชาวไทยอย่าง บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม และกลุ่มสถาปนิก/นักออกแบบ all (zone)

ผลงานของ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ในวัดป่าสัก
ผลงานของ เออร์เนสโต เนโต ในไร่แม่ฟ้าหลวง
ผลงานของ ริวสุเกะ คิโดะ ในไร่แม่ฟ้าหลวง

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เหล่าบรรดาศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ทั้งศิลปินพุทธศิลป์, ศิลปินไทยประเพณี, จิตรกร และศิลปินหัตถกรรมท้องถิ่นและร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง ชาตะ ใหม่วงค์, สมลักษณ์ ปันติบุญ, สมพงษ์ สารทรัพย์, ทรงเดช ทิพย์ทอง, ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ หรือแม้แต่จิตรกรผู้ล่วงลับในอดีตอย่าง จำรัส พรหมมินทร์ หรือ สล่าขิ่น ที่ต่างก็ดำรงจิตวิญญาณแห่งความเป็นท้องถิ่นของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างบทสนทนา สื่อสาร และผสานตัวเองเข้ากับความเป็นศิลปะร่วมสมัยของสากลโลกได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน

จึงทำให้มหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้ มีบุคลิกอันโดดเด่นและสามารถกล่าวได้ว่า เป็นมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดที่เคยจัดขึ้นมาในประเทศไทย ที่มีคุณภาพไม่แพ้เบียนนาเล่อื่นๆ ในโลกสากลเลยก็ว่าได้

ข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะที่อยากไปเยี่ยมชมมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย แบบเจาะลึกถึงกึ๋น ทางสำนักพิมพ์มติชนกำลังจะจัดทัวร์ศิลปะพาชมงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ในช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมฟังเบื้องลึกเบื้องหลังผลงานศิลปะทั้งจากศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของไทยและศิลปินร่วมสมัยระดับโลก นำชมโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ (ผู้เขียน)

ผลงานของ แฮกู ยาง ในไร่แม่ฟ้าหลวง
ผลงานของ บู้ซือ อาจอ ในพิพิธภัณฑ์บ้านดำ
ผลงานของ หวัง เหวิน จื้อ ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

ในทริป “MATICHON HOLIDAY TRIP SERIES เชียงราย สายอาร์ต ผ่อ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ จ.เชียงราย” โดยเจาะลึกไปที่ผลงานชิ้นเด่นเป็นไฮไลต์ที่เราเคยแนะนำไปแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา ทั้งพื้นที่แสดงงานอย่าง ช้างแวร์เฮ้าส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง), พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน และวัดป่าสัก ในเมืองเชียงแสน และพื้นที่แสดงงาน อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง), พิพิธภัณฑ์บ้านดำ และ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) รวมถึงได้พบปะพูดคุยกับหนึ่งในภัณฑารักษ์ของ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย อย่าง อังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ปิดท้ายด้วยการลองลิ้มชิมรสอาหารจากร้านเด็ดชื่อดังในเมืองเชียงรายที่เราเคยแนะนำไปในตอนที่ผ่านมา

เราจะออกเดินทางกันในวันที่ 27-28 เมษายน 2567 (2 วัน 1 คืน) สนนราคาทัวร์ ท่านละ 14,900 บาท (**พักเดี่ยวเพิ่ม 1,500 บาท**)

สนใจสำรองที่นั่งที่ LINE โดยคลิก line.me/ti/p/zM-t9v3Y9w หรือค้นหาด้วย LINE ID : Matichonmic

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ : คุณหญิง (09-2246-4140) •

ผลงานของ all(zone) ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงานของ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงานของ แฮกู ยาง ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงานของ ปิแยร์ ฮวีก ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงานของ อัลมากุล ในเมนลิบาเยวา หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์