พระปิดตา ‘หลวงปู่ศุข’ พิมพ์กรมหลวงชุมพรฯ วัดปากคลองมะขามเฒ่า

“พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยวิทยาคมแก่กล้า ได้รับสมญาเจ้าสำนักทางพุทธาคมยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เป็นพระอาจารย์ทางวิทยาคมรูปแรกของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและใกล้ชิด

อีกทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูง เป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน อาทิ เหรียญรูปเหมือน พระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑล พระปรกใบมะขาม ตะกรุด ประคำ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีพระปิดตาด้วย และที่หายากที่สุดคือ พระปิดตาพิมพ์กรมหลวงชุมพรฯ

พระปิดตานั้น สร้างไว้หลายพิมพ์ มีทั้งเนื้อตะกั่วและเนื้อผง และเนื้อผงคลุกรัก

 

จากคำบอกเล่า หลวงปู่ศุข เริ่มสร้างขึ้นที่วังกรมหลวงชุมพรฯ (วังนางเลิ้ง) กทม. เนื่องในวันไหว้ครูที่จัดขึ้นทุกปี โดยหลวงปู่ศุขจะได้รับนิมนต์มาด้วยทุกปี ในวันแรกจะนิมนต์พระสงฆ์ฉันเช้า สวดมนต์และฉันเพล พิธีไหว้ครู มีด้วยกัน 3 วัน

วันแรก ไหว้ครูหมอยา วันที่สอง ไหว้ครูมวยไทยและกระบี่กระบอง วันที่สาม ไหว้ครูด้านวิทยาคม

ในงานไหว้ครู จะมีผู้ที่เคารพนับถือเสด็จในกรมฯ ได้แก่ ทหารเรือและพลเรือนเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงวันที่ 3 เสด็จพิธีไหว้ครูแล้ว หลวงปู่ศุขจะแจกพระเครื่องแก่ผู้ที่เข้ามาร่วมงานโดยทั่วถึงกันทุกคน

พระปิดตาพิมพ์กรมหลวงชุมพรฯ เป็นพระปิดตาอีกพิมพ์หนึ่งที่แจกในวันไหว้ครูของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เป็นพระเนื้อผงคลุกรัก มีขนาดเล็กมาก และผู้ที่ได้รับมักจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ดังนั้น พระพิมพ์นี้จึงพบเห็นได้ยากมาก

พระปิดตารุ่นนี้ เป็นพระที่มีขนาดเล็ก มี 2 ขนาด คือ ขนาดพิมพ์ใหญ่ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนพิมพ์เล็กนั้น กว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร พุทธศิลป์เหมือนกันทั้งสองพิมพ์

ลักษณะเป็นพระสังกัจจายน์ปิดตา นั่งขัดสมาธิเพชร มือที่ปิดตาเป็นนิ้วทั้ง 10 นิ้วค่อนข้างยาวและชัดเจน ช่วงแขนล่ำสันและกางออกเห็นพุงกลมใหญ่ออกมาเสมอต้นแขนองค์พระ

ปัจจุบัน หายากที่สุดในบรรดาพระปิดตาของหลวงปู่ศุข

พระปิดตา พิมพ์กรมหลวงชุมพรฯ

มีนามเดิมว่า ศุข เกิดในสกุล เกษเวช (ภายหลังใช้เป็น เกษเวชสุริยา) เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันคือบ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท บิดา-มารดา ชื่อ นายน่วม-นางทองดี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและทำสวน มีพี่น้องรวมกัน 9 คน โดยเป็นพี่ชายคนโต

ในวัยเด็กเป็นคนมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเชื่อมั่นในตัวเอง จึงมักถูกยกให้เป็นผู้นำของเด็กในย่านตลาดวัดสิงห์

ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในแถบลำคลองบางเขน จ.นนทบุรี จนมีครอบครัวและมีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

แต่ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะบวชทดแทนคุณบิดามารดา พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบทที่วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบันคือวัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมีหลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง เป็นพระอุปัชฌาย์

เป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลัง

ซึ่งหลวงปู่ศุขได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระอุปัชฌาย์อย่างครบถ้วน

หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า

จากนั้น ก็เริ่มออกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวกฝึกฝนวิทยาการต่างๆ พร้อมแสวงหาและศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูปในด้านพระกัมมัฏฐานและวิทยาคม อาทิ พระสังวราเมฆ ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น ที่สำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม ด้านการเล่นแปรธาตุและโลหะเมฆสิทธิ์ โดยพักอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน ฯลฯ

จึงเป็นผู้รอบรู้และแตกฉานทั้งพระไตรปิฏก วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ

เวลาล่วงเลยไป มารดาที่พำนักอยู่ที่บ้านมะขามเฒ่าก็แก่ชราลง จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่า จนเสร็จสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2447 โดยมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ เป็นกำลังสำคัญ

ที่ปรากฏเป็นประจักษ์พยาน คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ และภาพเขียนสีน้ำมันรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มกายและถือไม้เท้า ที่ยังคงรักษาไว้อย่างสมบูรณ์

สมณศักดิ์สุดท้ายพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่พระครูวิมลคุณากร ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันคือ เจ้าคณะอำเภอ) เป็นรูปแรกของ อ.วัดสิงห์ ก่อนมรณภาพลงในปลายปี พ.ศ.2466 สิริอายุ 75 ปี พรรษา 50

ทุกวันนี้ผู้เคารพศรัทธายังขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ศุขอย่างต่อเนื่อง

นาม “หลวงปู่ศุข” ยังทรงพุทธาคมมาจนถึงทุกวันนี้ •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]