หลุมหลบภัยสาธารณะในพระนคร ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา หลุมหลบภัยสาธารณะ

ณัฐพล ใจจริง

แม้นที่ผ่านมา รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างหลุมหลบภัยให้แก่ประชาชนแล้วก็ตาม แต่การสร้างหลุมหลบภัยนั้นต้องใช้พื้นที่และเงินทุนในการก่อสร้าง อีกทั้งช่วงสงครามนั้น วัสดุก่อสร้างขาดแคลนและมีราคาแพง ทำให้ประชาชนทั่วไปที่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง หรือตามแหล่งชุมชนการค้าเกิดความไม่สะดวกและไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ

เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ รัฐบาลจึงสร้างหลุมหลบภัยสาธารณะตามแหล่งชุมชนและแหล่งยุทธศาสตร์เพื่อคุ้มครองชีวิตและความปลอดภัยให้สาธารณชนด้วย

จากความทรงจำของวราห์ โรจนวิภาต ชาวฝั่งธนบุรีเล่าว่า ครั้งนั้น รัฐบาลให้คำแนะนำประชาชนสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศ บ้านใครมีสนามหน้าบ้านก็สามารถสร้างได้ แต่ส่วนบ้านใครที่ไม่มีบริเวณจะพากันไปหลบภัยในที่หลุมหลบภัยสาธารณะที่รัฐบาลสร้างขึ้น

ในพระนครนั้น มีหลุมหลบภัยที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง สำหรับย่านฝั่งธนบุรีนั้นมีหลุมหลบภัยที่เชิงสะพานเจริญพาศน์ หน้าโรงเรียนศึกษานารี เป็นต้น (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

ครั้นเมื่อเกิดการโจมตีทางอากาศ ชาวบ้านจะฉวยกระเป๋าใบเล็กๆ ที่ทำด้วยเสื่อจันทบูรที่เย็บติดโครงลวดให้มีความแข็งแรงแทนกระเป๋าหนังที่มีราคาแพงและหายาก ภายในกระเป๋าเสื่อจะใส่เสื้อผ้าสัก 1-2 ชุด พร้อมยารักษาโรค ไม่ขีดไฟ เทียนไขและของจำเป็นอื่นๆ ติดตัวไปหลบภัยด้วย (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

หลุมหลบภัยสาธารณะที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงถูกรื้อถอน เมื่อ 2511

หลุมหลบภัย
ที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง

สําหรับหลุมหลบภัยหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้นสร้างขึ้นในช่วงสงคราม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงครึ่งวงกลมครอบลงกับพื้น มีความแข็งแรง บนหลังคามีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีขนาดบรรจุคนหลบภัยได้ถึง 100 คน

เหตุผลที่รัฐบาลสร้างไว้หน้าสถานีรถไฟแห่งนี้อาจเพราะสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางของเส้นทางการคมนาคมหลักในสมัยนั้น จึงย่อมตกเป็นเป้าหมายโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งพื้นที่ละแวกนั้นเป็นเขตชุมชน การค้า ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยในอาคารพาณิชย์ ห้องแถว จึงไม่มีพื้นที่สำหรับการสร้างหลุมหลบภัยสำหรับครอบครัว ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

ต่อมา อาคารดังกล่าวถูกทุบทิ้งราวปี 2511 ปัจจุบัน สถานที่ดังกล่าวถูกปรับปรุงเป็นลานน้ำพุหน้าสถานีรถไฟแทน

หลุมหลบภัยหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง
ร่องรอยสะเก็ดระเบิดที่หลุมหลบภัยหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงในช่วงสงคราม

หลุมหลบภัยภายในเขาดินวนา

สําหรับในพื้นที่ชานเมืองในครั้งนั้น พบว่า ในช่วงสงครามรัฐบาลสร้างหลุมหลบภัยสาธารณะขึ้นในเขาดินวนา หลุมดังกล่าวสามารถจุผู้คนได้ 60 คน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างแข็งแรง มีบันไดคอนกรีตสำหรับประชาชนเดินลงไปหลบภัยภายในหลุม พื้นที่ในหลุมที่ต่ำกว่าระดับผิวดินเพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดจากระเบิด

จากภาพทางลงหลุมหลบภัยในเขาดินวนาจะเห็นได้ว่า อาคารหลุมหลบภัยดังกล่าวถูกสร้างตามหลักการอย่างแข็งแรงและมีความปลอดภัยยิ่ง มีทางเดินลงหลุมจากผิวดินที่ลึกลงไปใต้ระดับพื้นดิน บันไดทางลงมีการสร้างแบบหักศอกเพื่อป้องกันแรงอัดจากระเบิดและสะเก็ดระเบิดจากผิวดินเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนที่หลบภัยให้ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว ต่อมาทางสวนสัตว์ได้ปรับปรุงหลุมหลบภัยให้เป็นนิทรรศการจัดแสดงสื่อนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของสงครามมหาเอเชียบูรพาและจำลองชีวิตในหลุมหลบภัย

ปัจจุบันไม่ทราบว่าหลุมหลบภัยดังกล่าวยังดำรงอยู่หรือไม่ ด้วยสวนสัตว์ถูกย้ายออกไปและพื้นที่สวนสัตว์ถูกพัฒนาไปเป็นอย่างอื่น

สำหรับฝั่งธนบุรีนั้น มีหลุมหลบภัยสาธารณะอยู่ข้างสะพานเจริญพาศน์ และหน้าโรงเรียนศึกษานารี ที่ข้างสะพานเจริญพาศน์นั้นถูกสร้างสะพานข้ามไปตอนขยายสะพาน ส่วนหน้าศึกษานารีนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับถนนขึ้นสะพานพระปกเกล้าฯ จึงจมลงไป หลังคาถูกถมดินกลายเป็นสวนหย่อมหน้าโรงเรียน สังเกตเห็นได้ยาก

หลุมหลบภัยภายในเขาดินวนา
ทางหลุมหลบภัยที่เขาดินวนา
ภาพภายในหลุมหลบภัยของเขาดินวนาที่บรรจุคนได้ 60 คน

หลุมหลบภัย หน้าโรงเรียนศึกษานารี

หลุมหลบภัยหน้าโรงเรียนศึกษานารี ย่านวงเวียนเล็ก เป็นอาคารคอนกรีตรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนมีท่อระบายอากาศ 3 ปล่อง ยังคงเหลือหลักฐานอยู่

แต่ตัวอาคารจมดินไปครึ่งหนึ่งแล้ว บนหลังคาหลุมหลบภัยถูกดัดแปลงปลูกต้นไม้

หากท่านผ่านไปเชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ด้านซ้ายขอให้สังเกตแปลงปลูกต้นไม้หน้าโรงเรียน

ภาพหลุมหลบภัยอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่หน้าโรงเรียนศึกษานารี มุมด้านซ้ายของภาพ ถ่ายเมื่อ 2499 เครดิตภาพ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
สภาพหลุมหลบภัยหน้าโรงเรียนศึกษานารีในอดีตและปัจจุบัน

หลุมหลบภัยเอเชียทีค

สําหรับหลุมหลบภัยที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง บริเวณเอเชียทีคในปัจจุบันนั้น คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงสงคราม

เป็นอาคารทรงกระบอกสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

ด้วยเหตุที่ในครั้งนั้น ถนนเจริญกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งที่ตั้งโรงสี โกดังเก็บสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม อู่ต่อเรือของพ่อค้าคนไทย

คนจีนและคนญี่ปุ่นจึงถือเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์การทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร

หลุมหลบภัยที่เอเชียทีค เครดิตภาพ : springnews.co.th
12-อาคารหลุมหลบภัยสี่เหลียมผืนผ้า 2 อาคาร บริเวณถนนสิบสามห้าง มุมซ้ายล่าง ถ่ายเมื่อ 2489
หลุมหลบภัยที่เอเชียทีค เครดิตภาพ : springnews.co.th
12-อาคารหลุมหลบภัยสี่เหลียมผืนผ้า 2 อาคาร บริเวณถนนสิบสามห้าง มุมซ้ายล่าง ถ่ายเมื่อ 2489

หลุมหลบภัยที่บางลำพู

หลุมหลบภัยที่หน้าวัดบวรนิเวศฯ บางลำพูนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสงครามเช่นกัน

สร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 อาคาร

หลังคามีท่อระบายอากาศหลายปล่อง ตัวฐานอาคารขุดลงต่ำกว่าระดับพื้นดินเพื่อลดแรงอัดของระเบิด บรรจุคนได้ราว 50 คน

ตั้งอยู่บนเกาะกลางระหว่างถนนหน้าวัดบวรนิเวศฯ กับถนนสิบสามห้าง

ภายหลังสงครามยุติแล้ว เทศบาลนครกรุงเทพฯ ปรับปรุงเป็นห้องน้ำสาธารณะ

แต่ปัจจุบันถูกทุบทิ้งแล้ว เพื่อสร้างสถานีรถไฟใต้ดิน

หลุมหลบภัยที่หน้าวัดบวรนิเวศฯ บางลำพู ที่กลายเป็นห้องน้ำสาธารณะ

หลุมหลบภัยที่เชิงสะพานเจริญพาศน์

สําหรับหลุมหลบภัยสาธารณะย่านฝั่งธนบุรีที่ยังเหลือหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง คือ หลุมหลบภัยที่เชิงสะพานเจริญพาศน์

รัฐบาลสร้างเป็นอาคารหลุมหลบภัยเชิงสะพานเจริญพาศน์ อยู่ด้านตลาดยั่งยืน

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ริมน้ำแถวร้านนายหมัด กัลป์นาณสุต ซึ่งเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้าง ด้านหน้าเขียนว่า “หลุมหลบภัยบรรจุได้ 60 คน” มีทางเข้าทางเดียว

ต่อมามีการขยายสะพานเจริญพาศน์ทำให้อาคารอยู่ใต้สะพาน ยากแก่การมองเห็น (lek-prapai.org/home/view.php?id=190)

อาคารหลุมหลบภัยที่สะพานเจริญพาศน์ เครดิตภาพ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

หลุมหลบภัยเชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฯ

จากหลักฐานเรื่องเล่าของ อาจินต์ ปํญจพรรค์ ชาวปากคลองตลาดในครั้งนั้น เล่าว่า ที่เชิงสะพานพุทธ ฝั่งพระนครมีหลุมหลบภัยขนาด 30 คน สร้างด้วยคอนกรีตแข็งแรงมาก มีทางเข้าออกหักมุมทั้งหัวท้าย ป้องกันแรงและสะเก็ดระเบิดได้เป็นอย่างดี

แต่โชคร้ายในช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานพุทธ แต่พลาดเป้าหมาย ระเบิดมาตกตรงหลุมพอดี นำไปสู่โศกนาฏกรรม ประชาชนอย่างน้อย 30 คนในครั้งนั้นเสียชีวิตทั้งหมด (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 92)

แม้ว่าหลุมหลบภัยจะสร้างขึ้นเพื่อรักษาชีวิตให้กับประชาชน แต่วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เล่าเกร็ดเสริมว่า เมื่อครั้งพระนครถูกโจมตีทางอากาศนั้น เขาเห็นว่า การหลบระเบิดจากเครื่องบินด้วยการเข้าไปหลบในหลุมหลบภัยนั้นน่ากลัวมากกว่าระเบิด เพราะสัตว์เลื้อยคลานที่หลบซ่อนในหลุมนั้นน่ากลัวมากกว่าระเบิดเสียอีก ดังนั้น เขาจึงไม่หลบภัยในหลุมหลบภัยในยามนั้น (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2554, 40-41)

แบบแปลนหลุมหลบภัยแบบปิดที่รัฐบาลแนะนำและใช้แบบก่อสร้างหลุมหลบภัยสาธารณะ
หลุมหลบภัยที่หน้าวัดบวรนิเวศฯ บางลำพู ที่กลายเป็นห้องน้ำสาธารณะ