555 ปี “มาเคียเวลลี” ผู้สร้างคัมภีร์ปีศาจ สำหรับครองอำนาจทางการเมือง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

นิคโคโล มาเคียเวลลี (Niccolò Machiavelli) เป็นนักการเมืองชาวอิตาลีที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงในฐานะนักการเมืองเท่าใดนัก แต่กลับมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักปรัชญาการเมืองมากกว่า

งานเขียนที่เลื่องลือที่สุดของเขามีชื่อว่า “The Prince” ซึ่งสมบัติ จันทรวงศ์ แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “เจ้าผู้ปกครอง” ซึ่งได้รับความนิยมจนถูกตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

เนื้อหาภายในเล่มมี 26 บท กล่าวถึงวิถีของผู้นำสำหรับการเอาชนะและครองอำนาจทางการเมืองโดยไม่ยึดติดกับเรื่องศีลธรรม

ดังนั้น จึงเป็นประหนึ่งคัมภีร์ปีศาจสำหรับนักการเมืองที่มุ่งชิงชัยในบัลลังก์แห่งอำนาจอย่างไม่เลือกวิธีการ

 

มาเคียเวลลีเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ.1469 หรือ พ.ศ.2012 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 18 ของอาณาจักรอยุธยา

ซึ่งในปี พ.ศ 2567 นี้คือปีครบรอบ 555 ปีชาตกาลของมาเคียเวลลีพอดี

ส่วนหนังสือ The Prince นั้นออกเผยแพร่ใน ค.ศ.1513 หรือ พ.ศ.2056 ในปีนี้จึงมีอายุครบ 511 ปี นับว่าเป็นคัมภีร์ทางการเมืองที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ The Prince จะได้รับการยกย่องให้เป็นงานปรัชญาการเมืองชิ้นสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ใช้วิธีการอ้างเหตุผลทางปรัชญามากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นคำแนะนำคล้ายๆ กับคู่มือสำหรับเล่นการเมืองโดยยึดผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติเป็นสำคัญ

เมื่อมองในแง่นี้ The Prince จึงจัดเป็นแนวทางแบบ “สัจนิยม” (Realism) คือพิจารณาสภาพการณ์ทางการเมืองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ในเชิงอุดมคติ และไม่ได้มีจุดยืนให้ผู้ครองอำนาจต้องรักษาสัจจะด้วย

คำกล่าวหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทน “ความคิดในแบบมาเคียเวลลี” (Machiavellianism) และ “พฤติกรรมแบบมาเคียเวลลี” (Machiavellian Behaviour) ก็คือคำกล่าวที่ว่า “เป้าหมายเป็นตัวกำหนดวิถี” (The end justifies the means) คือให้ยึดผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง วิธีการใดถูกต้องให้ดูว่ามันทำให้บรรลุเป้าหมายหรือเปล่า หากผลลัพธ์ใช่วิธีการอะไรก็ได้ทั้งนั้น

แนวทางแบบนี้จึงดูคล้ายคลึงกับแนวคิดอันโด่งดังของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ที่ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่มันจับหนูได้ก็พอ”

 

ในบทที่ 18 ของ The Prince ในสำนวนของภาษาอังกฤษของ “ทิม พาร์กส์” (Tim Parks) ใช้คำว่า “A ruler and his promises” ในฉบับแปลภาษาไทยของสมบัติ จันทรวงศ์ ใช้คำว่า “ในแบบวิธีการใดที่เจ้าผู้ปกครองควรจะรักษาข้อตกลง” แนะนำว่าผู้ปกครองไม่ควรยึดติดกับคำพูดมากเกินไป และพึงตระบัดสัตย์เมื่อจำเป็น

มาเคียเวลลีกล่าวว่าผู้นำทางการเมืองที่รักษาสัญญาและวาจาสัตย์นั้นน่ายกย่องชื่นชมก็จริง แต่หากต้องการคว้าชัยทางการเมืองและเอาชนะคู่แข่งให้ได้ผู้นำก็จำเป็นจะต้องใช้เล่ห์โดยไม่ติดตรึงตนเองอยู่กับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

มาเคียเวลลีเสนอว่าวิถีของการต่อสู้มี 2 แบบ

แบบหนึ่งคือใช้กำลัง อีกแบบหนึ่งคือกฎหมาย

วิธีการต่อสู้สองแบบนี้เป็นวิธีของสิ่งมีชีวิตคนละประเภท สัตว์จะใช้กำลังในการเอาชนะ ส่วนมนุษย์จะใช้กฎหมาย

ทว่า ในโลกของมนุษย์นั้นผู้นำทางการเมืองไม่สามารถใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวได้ เพราะวิธีการเดียวไม่เพียงพอต่อการเอาชนะฝูงชนและคู่แข่ง แต่ต้องใช้วิธีของสัตว์ด้วย

คือผสมผสานการใช้กำลังและกฎหมายเข้าด้วยกัน

 

เมื่อกล่าวถึงวิธีการของสัตว์ มาเคียเวลลีมองว่าผู้นำจำเป็นต้องมีคุณลักษณะเด่นของสุนัขจิ้งจอกและสิงโตอยู่ในตัว

จิ้งจอกมีความเจ้าเล่ห์ สามารถมองเห็นกับดักและหลบหลีกภยันตรายไปได้

ในขณะที่สิงโตมีพลังอำนาจที่น่าเกรงขาม อันสามารถข่มขู่สัตว์ต่างๆ อย่างเช่น หมาป่า ให้หวาดกลัวและเผ่นหนีไป

ผู้นำที่ดีจึงต้องมีพร้อมทั้งคุณสมบัติของสุนัขจิ้งจอกและสิงโตจึงจะโลดแล่นอยู่ท่ามกลางเสือ สิงห์ กระทิง แรด ได้

ใน The Prince สำนวนของสมบัติ จันทรวงศ์ และทิม พาร์กส์ กล่าวไว้ว่า

“เนื่องจากเจ้าผู้ปกครองโดยความจำเป็นแล้ว จะต้องรู้เป็นอย่างดีว่าจะใช้สัตว์ป่าอย่างไร ในส่วนของสัตว์ป่า เขาจึงควรจะเลือกสุนัขจิ้งจอกและสิงโต เพราะสิงโตไม่สามารถป้องกันตนเองจากกับดัก และสุนัขจิ้งจอกไม่สามารถป้องกันตนเองจากหมาป่าได้ ดังนั้น เราจึงต้องเป็นสุนัขจิ้งจอกเพื่อจะได้รู้จักกับดัก และเป็นสิงโตเพื่อจะได้ทำให้หมาป่ากลัว” (Since a ruler has to be able to act the beast, he should take on the traits of the fox and the lion; the lion can’t defend itself against snares and the fox can’t defend itself from wolves. So you have to play the fox to see the snares and the lion to scare off the wolves.)

แน่นอนว่าในอุดมคติแล้ว ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องที่ดีงามและน่าชื่นชม

แต่ในทัศนะของมาเคียเวลลีนั้นเขามองว่าในโลกของความเป็นจริง มนุษย์ทั้งหลายไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากผู้ปกครองเอาแต่ซื่อตรงโดยที่ประชาชนไม่ได้ซื่อตรงต่อเขา ผู้ปกครองนั่นเองที่จะตกอยู่ในอันตราย เมื่อไม่มีใครซื่อสัตย์ต่อผู้นำ ผู้นำก็ไม่ต้องซื่อสัตย์ต่อพวกเขาเช่นกัน นี่คือวิถีแห่งอำนาจที่เมื่อขึ้นสู่ที่สูงจำเป็นต้องรู้ไว้และเลือกใช้ยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับมาเคียเวลลีแล้ว คำมั่นสัญญาของผู้นำนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นคำมั่นสัญญาจริงๆ แต่คือเครื่องมือสำหรับการเถลิงอำนาจและรักษาบัลลังก์ไว้ให้มั่นคง เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำจำเป็นต้องตระบัดสัตย์ก็ให้ทำโดยไม่ต้องลังเล เพราะในสถานะนี้เขาย่อมมีเหตุผลมากมายสำหรับอธิบายแก้ต่างได้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จจึงไม่ใช่การแสดงความสัตย์จริงจากผู้นำ แต่คือการแสร้งแสดงให้คนเชื่อว่าผู้นำยึดถือความสัตย์จริงต่างหาก ดังที่มาเคียเวลลีกล่าวว่า

“มนุษย์นั้นเป็นสิ่งธรรมดาและเคารพเชื่อฟังความจำเป็นในปัจจุบันมากเสียจนกระทั่งว่าผู้ที่หลอกลวงจะพบผู้ที่จะยอมให้ตนถูกหลอกลวงอยู่เสมอ” (People are so gullible and so caught up with immediate concerns that a con man will always find someone ready to be conned.)

 

มาเคียเวลลีเห็นว่าผู้ปกครองควรแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีคุณสมบัติที่ดีงาม แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะไม่ได้ทำตามความดีงามเหล่านั้น คุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ มีความสงสาร ซื่อสัตย์ เมตตากรุณา เปิดเผย เคร่งศาสนา สิ่งสำคัญไม่ใช่การเป็นเช่นนั้นจริงๆ อยู่ตลอดเวลา แต่คือการทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ อยู่ตลอดเวลาต่างหาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่ขึ้นมาใหม่ซึ่งอำนาจของตนยังไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคงก็ยิ่งต้องทำทีให้ผู้คนมองว่าตนมีความสงสาร มีการรักษาข้อตกลง มีความสัตย์ซื่อ มีความเมตตากรุณา และยึดมั่นในศาสนา

นอกจากนี้ มาเคียเวลลียังมองความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองว่า “โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์เราวินิจฉัยกันด้วยตามากกว่ามือ เพราะการเห็นเป็นของทุกๆ คน แต่มีไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถจะสัมผัสได้ ทุกๆ คนเห็นสิ่งซึ่งท่านมีทีท่าว่าเป็น แต่ไม่กี่คนสัมผัสสิ่งที่ท่านเป็นอยู่จริงๆ และไม่กี่คนนั้นจะไม่กล้าเอาตนไปค้านกับความเห็นของคนจำนวนมากซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐปกป้องอยู่”

(In general people judge more by appearances than first-hand experience, because everyone gets to see you but hardly anyone deals with you directly. Everyone sees what you seem to be, few have experience of who you really are, and those few won’t have the courage to stand up to majority opinion underwritten by the authority of state.)

และ “คนธรรมดาๆ (หรือฝูงชน) จะตรึงใจกับลักษณะภายนอก และผลลัพธ์อยู่เสมอ และในโลกนี้ก็ไม่มีใครอื่นนอกจากคนธรรมดาๆ จำนวนน้อยไม่มีที่อยู่ ในขณะที่คนจำนวนมาก (หรือคนส่วนใหญ่) มีที่ซึ่งพวกเขาสามารถจะเกาะได้” (The crowd is won over by appearances and final results. And the world is all crowd: the dissenting few find no space so long as the majority have any grounds at all for their opinions.)

 

ผ่านเวลามาห้าร้อยกว่าปี “คัมภีร์ปีศาจทางการเมือง” เล่มนี้ยังคงได้รับการอ่านและศึกษากันอยู่อย่างต่อเนื่องมิเสื่อมคลาย

ที่เป็นเช่นนั้นอาจไม่ใช่เพราะสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใน The Prince เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามอย่างที่วาดฝัน

หากแต่เพราะมันรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในแวดวงการเมือง

รวมทั้งสะท้อนตีแผ่วิถีอันซับซ้อนซ่อนกลในวังวนแห่งอำนาจ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดและยุคสมัยใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเยี่ยงนั้นไม่ต่างกัน