นิด ศ.ทวีสิน ชกอุ่นเครื่อง พิกัดน้ำหนัก (ม.) 152 สังเวียน ‘สัปปายะสภาสถาน’

ก่อนเดินเส้นทางการเมือง นายเศรษฐา ทวีสิน คือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีภาพเป็นนักธุรกิจที่เปิดกว้างต่อความคิดใหม่ๆ

ช่วงก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ นายเศรษฐาได้แสดงจุดยืนทางการเมือง โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียจำนวนมาก

ตั้งแต่การชุมนุมของม็อบคณะราษฎร ประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัวของความเจริญ การกระจายอำนาจ กระทั่งดีเทลเรื่องการเกณฑ์ทหาร

ไปค้นข่าวเก่าๆ จะเจอจุดยืนที่ชัดเจนของนายเศรษฐาเต็มไปหมด

นั่นคือร่องรอยแห่ง “แพสชั่น” ทางการเมืองของนายกฯ คนปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า ดิจิทัลฟุตพริ้นต์

 

แต่การเมืองแห่งความเป็นจริงช่างโหดร้าย เมื่อเข้ามาเล่นในเกมที่ถูกออกแบบไว้โดยอำนาจเก่าซีกอนุรักษนิยม การเมืองที่ต้องประนีประนอม ถือธงของการพยายามเจือจางความขัดแย้งลง

ยกส่งผลกระทบต่อจุดยืนทางการเมือง ดังที่เคยปรากฏใน “ดิจิทัลฟุตพริ้นต์”

เมื่อแนวโน้มใหม่พรรคเพื่อไทยหลังการเลือกตั้ง เปลี่ยน “ขั้ว” เส้นทางเดินในทางการเมือง หันจับมือกับขั้วอำนาจเก่าอนุรักษนิยมตั้งรัฐบาล สร้างความกดดันทางการเมือง “ระดับสูง”

พอสูญเสียความศรัทธาทางการเมือง ซึ่งเพื่อไทยมั่นใจว่าด้วยความสามารถและประสบการณ์ของพรรค จะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจและทำให้ท้ายที่สุด แรงศรัทธาทางการเมืองจะฟื้นกลับมาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ภารกิจของนายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองระดับสูงยิ่ง ประสานกับวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสในระดับที่นายทักษิณ ชินวัตร ยังเอ่ยปากว่าฟื้นฟูยากกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เสียอีก ยิ่งทำให้นายเศรษฐาทำงาน “ยาก”

ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

เรื่องเศรษฐกิจ ถึงวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่านายเศรษฐาขยัน จากการเดินทางไปต่างประเทศมากกว่า 14 ประเทศ การเดินทางไปพบปะชักชวนบริษัทต่างๆ มาลงทุน แน่นอนว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ อาจจะสำเร็จน้อยหรือไม่สำเร็จเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากร อำนาจ และอื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังประสบอยู่

แต่ต้องยอมรับความจริงว่านโยบายเรือธงหลายอย่างของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ยังไม่เป็นรูปร่างเท่าที่ควร

ยิ่งในเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่ารัฐบาลเพื่อไทยยังติดลบ และยังไม่มีท่าทีจะฟื้นกลับมาได้ง่ายๆ เร็วๆ นี้

ผลสำรวจความนิยมของหลายสำนัก โดยเฉพาะนิด้าโพลครั้งล่าสุดคือเครื่องยืนยันว่าความนิยมของฝ่ายค้าน พุ่งกระฉูดยิ่งกว่าช่วงหลังเลือกตั้งเสียอีก

 

และแล้วสังเวียนการต่อสู้ของ รัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดยนายเศรษฐา กับพรรคฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกล ก็เวียนมาถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในนามการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 หรือที่เรียกกันว่า เวทีซักฟอกรัฐบาล ซึ่งจะไม่มีการลงมติโหวตไม่ไว้วางใจ

สัปดาห์เดียวกันกับที่นายเศรษฐาเดินทางไปพักผ่อนวันหยุด พร้อมปล่อยภาพกำลังฝึกซ้อมชกมวยออกกำลังกาย ประหนึ่งเหมือนฝึกซ้อมเตรียมขึ้นสังเวียน “ชก” กับคู่แข่ง

นอกจากนี้ ยังเป็นเหมือนการฝึก “ซ้อมใหญ่” เตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่แท้จริง นั่นคือเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเวทีซักฟอกจริง ตามมาตรา 151

เมื่อเหตุการณ์นั้นยังมาไม่ถึง แต่ขณะนี้ก็มีข่าวลือหนาหูเรื่องการปรับ ครม. สอดคล้องไปกับกระแสการอภิปรายซักฟอกของฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นการสลับเก้าอี้เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจาก 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายคนผลงานไม่เข้าเป้า หรือต้องการโยกย้ายเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มากกว่าข่าวลือการปรับเก้าอี้ภายในพรรคเพื่อไทย ยังมีข่าวลือการปรับดึงเอาผู้แทนฯ ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามานั่งในรัฐบาลเพื่อเพิ่มเสียงของรัฐบาล ที่แม้จะแข็งแรงอยู่แล้ว แต่เพื่อลดอำนาจต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

 

ยิ่งใกล้วาระที่ ส.ว.ชุดลากตั้งจะหมดวาระ สถานการณ์ยิ่งน่าจับตามอง

เพราะ ส.ว.ลากตั้ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค นั่นคือ รวมไทยสร้างชาติ อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเสมือนสัญลักษณ์ และพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเสมือนสัญลักษณ์

การซักฟอกครั้งนี้ แม้ดูเผินๆ จะไม่มีพิษภัยหรือสร้างผลกระทบในทางการเมืองมาก

แต่ความเปราะบางของสถานะทางอำนาจบางประการของรัฐบาลขณะนี้ เมื่อประกอบกับการที่พรรคก้าวไกลเปิดแผลรัฐมนตรีครั้งแรก รวมกับงบประมาณที่จะมีผลบังคับใช้ จึงเป็นบททดสอบแรกที่น่าจับตาว่าจะมีการปรับ ครม.หรือไม่? แม้นายกฯ จะกล่าวตอบโต้ว่า “ลือก็ให้จบที่ลือ” ก็ตาม

ในส่วนการชี้แจงในสภา บรรยากาศส่วนหนึ่งของการอภิปราย จะเห็นความ “เก๋า” ทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของนายเศรษฐา เช่น จังหวะการลุกขึ้นโต้กลับทางการเมืองต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นรัฐมนตรีโลกเซ็ง ด้วยวาทกรรม พรรคการเมือง “โลกงง” ด่ารัฐบาลแต่ก็มีข่าวอยากมาเข้าร่วมรัฐบาล

การยกเหตุผลนี้มาโต้กลับประชาธิปัตย์ท่ามกลางกระแสข่าวลือ ปรับ ครม.ดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้า กลับสะท้อนความหมาย “บางอย่าง” ว่าข่าวลือก็ไม่ได้ไม่มีมูล ไปเสียทีเดียว

“ไม่มีหรอกที่นายกฯ จะบินไปเหมือนกับแมลงวัน ขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากเห็นว่าฝ่ายค้านเป็นแมลงหวี่ที่จ้องจะเล่นแต่การเมือง” นายเศรษฐากล่าวตอบโต้นายจุรินทร์ดุเดือด

 

ขณะที่บทบาทของพรรคก้าวไกลในศึกอภิปราย ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านที่นำโดยก้าวไกล มาตรฐานไม่ตก ในสภาวะที่พรรคก้าวไกลจะโดนยุบไม่ยุบอยู่เร็วๆ นี้ ก็ยังทำหน้าที่สำคัญคือ ตั้งคำถามหนักยิงตรงไปยังรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านที่เปิดเวทีซักฟอก ฉายภาพกว้างปัญหาของรัฐบาล นโยบายเรือธงของรัฐบาลขาดแนวทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ปัญหาการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านไป 7 เดือนแล้วยังคงวกไปวนมา ไม่รู้จะมีประชามติวันไหน ต่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง ก็อาจจะเป็นฉบับไม่ไว้วางใจประชาชนเช่นเดิม กระบวนการนิติสงครามยังดำเนินต่อไปไม่ต่างจากหลังการรัฐประหาร ระบบราชการยังเต็มไปด้วยตั๋ว

ชัยธวัชทิ้งท้ายอย่างแหลมคม “แทนที่เราจะเห็นการยกระดับทางการเมืองเดินไปข้างหน้า สกัดการเมืองแบบเก่าเพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ เรากลับเจอกับการเมืองที่พยายามทำลายสิ่งใหม่เพื่อรักษาสิ่งเก่า สภาวะทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่สามารถตอบสนองกับความคิดแบบใหม่ของพี่น้องประชาชนในยุคสมัยใหม่ได้”

หรือจะเป็นประเด็นเรื่องเงินดิจิทัล ที่อภิปรายโดย ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ยกให้เห็นว่า รัฐบาลได้เปลี่ยนแหล่งเงินไปมาประมาณ 5 ครั้ง มีการเลื่อนการแจกอย่างน้อยมาแล้ว 4 ครั้ง มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นที่ใช้ เปลี่ยนเรื่องจำนวนคนตลอดเวลา มันทำให้ชวนคิดเขาว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่หรือไม่ ที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใดๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น แถมยังขยันแถลงทั้งที่ไม่มีรายละเอียด

ขณะที่ ส.ส.ก้าวไกลอีกหลายคนก็อภิปรายนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง ทั้งเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ตำรวจ ประเด็นความมั่นคง ภายใต้ธีม “รัฐบาลเพื่อใคร หัวใจไม่ใช่ประชาชน” อันเป็นการปักธง ทำสงครามความคิด มรดกการเมืองสืบทอดจาก “อนาคตใหม่”

 

เป็นอันว่าข่าวการเดินหน้ายุบพรรคก้าวไกลไม่ต้องลืออีกแล้ว เพราะขั้นตอนขณะนี้คือศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเป็นที่เรียบร้อย นับถอยหลังสู่การยุบพรรคการเมืองที่มีคะแนนอันดับ 1 ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้เลย

ซึ่งเรื่องนี้เอาเข้าจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำงานในพรรคก้าวไกล แม้แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็มองออกมานานแล้ว ยิ่งถามแกนนำในพรรคก้าวไกล ยิ่งรู้สึกได้ถึงความไม่กังวล ตระหนกตกใจใดๆ เพราะรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

การซักฟอกรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐาครั้งแรก ครั้งนี้จึงอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่กระทำในนาม “พรรคก้าวไกล”

แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลใช้โอกาสนี้อย่างคุ้มค่า ด้วยการถือโอกาสเปิดตัวแกนนำ “แถวสาม” หลายคน ตลอดการอภิปรายจะเห็นแนวโน้มการพยายามผลักดันนักการเมืองหน้าใหม่ขึ้นพูด ที่จริงทำมาตั้งแต่คราวอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 แล้ว

นายเศรษฐาสอบผ่านศึกซักฟอกไม่ลงมติไปได้ไม่ยาก เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ แต่ความเป็นคู่ตรงข้ามกับฝ่ายค้านโดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล ดูหนักแน่น-รุนแรงขึ้น

แต่ที่จริง หากมองให้ถึงแก่นการซักฟอกครั้งนี้ “สารของพรรคก้าวไกล” ที่ต้องการจะสื่อไปถึงคือประชาชนต่างหาก ตามยุทธศาสตร์ปักหมุดความคิด โดยใช้เครื่องมือเดียวที่มีคือ “ปาก” ในการอภิปรายในสภา

ขณะที่รัฐบาลจะมัวตั้งหน้าตั้งตาใช้ทั้งหมัด-ทั้งปาก “ชก” กับฝ่ายค้าน “ชก” กับประชาชนที่เห็นต่างไม่ได้ ต้องใช้มือทำงาน มีผลงานรูปธรรม ที่หาเสียงไว้ต้องทำให้ได้ตามสัญญา

เพราะถ้าทำไม่ได้ ไม่ใช่พรรคก้าวไกลที่จะลงโทษรัฐบาล แต่คือประชาชน