จัตวา กลิ่นสุนทร : นพพร บุณยฤทธิ์ (อดีต) บ.ก.หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” จากลาอย่าง “เงียบเหงา”

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อถึงเวลาทุกคนก็ต้องกลับไปที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ แล้วทุกสิ่งอย่างก็จะถูกฝังกลบด้วยเวลา

ต้องการเขียนเรื่องเก่าๆ จากความจำมากกว่าไปค้นหาเอามาจากแหล่งอื่น ซึ่งหาได้ไม่ยาก แต่คิดว่ามันไม่ได้อารมณ์ และบรรยากาศเหมือนการย้อนรำลึกกลับไปยังความรู้สึกเก่าๆ ที่ได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง

รู้ข่าวการเสียชีวิตของ (พี่) นพพร บุณยฤทธิ์ (อดีต) บ.ก.หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” นิตยสาร “ชาวกรุง” แต่ครั้งกระโน้นเมื่อต้นเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ.2560 เข้าโดยบังเอิญพร้อมๆ กับ “อาจารย์ช้าง” หรือ (เจ้าสัว) ขรรค์ชัย บุนปาน ของชาว “มติชน”

ตามปกติมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ช้างอยู่อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาสบายๆ ปลอดจากงานอันมากมาย และ (เจ้าสัว) ท่านพอมีเวลาเจียดให้ได้พบพูดคุยกันบ้าง ด้วยความเป็นกันเองจึงคุยกันไปเปิดดูแฟ้มงานไป

ได้พบข้อความซึ่งมีผู้โทรศัพท์มาฝากไว้กับเลขาฯ ว่า (พี่) นพพร บุณยฤทธิ์ เสียชีวิต และฌาปนกิจเรียบร้อยแล้วเมื่อตอนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 (ไม่แน่ใจว่ามีการสวดพระอภิธรรมคืนเดียวหรือเปล่า?)

 

(เจ้าสัว) ขรรค์ชัย รู้จักมักคุ้นผูกพันกับผู้คนมากมายในสังคมประเทศนี้ ในฐานะเป็นนักเขียน นักกลอน นักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะก้าวสู่เบอร์ 1 ของ “มติชน” ทั้งระบบ

ในแวดวงคนเขียนหนังสือ นักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ เมื่อครั้งที่เขายังอยู่ในมหาวิทยาลัยก่อนจะออกสู่โลกกว้าง ไม่มีรุ่นพี่คนไหนที่เขาไม่รู้จัก และไม่รู้จักเขา

ถึงเวลาผู้อาวุโสเหล่านั้นร่วงโรยลง “อาจารย์ช้าง” ได้หยิบยื่นความสุขให้ในเรื่องของการงาน การพบปะสังสรรค์ร่วมรับประทานอาหารกันเสมอๆ เป็นบางครั้งบางคราวตามเวลา กับโอกาสที่จะเอื้ออำนวย

ราว 4-5 ปีที่ผ่านมีการนัดหมายรับประทานอาหารกลางวันกันยังภัตตาคารอาหารจีนย่านเยาวราช ไชน่าทาวน์ของ (กรุงเทพฯ) เมืองไทย มี ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (พี่) อาจินต์ ปัญจพรรค์ ณรงค์ จันทร์เรือง (เสียชีวิต) (พี่) นพพร บุณยฤทธิ์ (เสียชีวิต) โดยมีผู้ติดตามรับส่งอีกคนสองคน เนื่องจากท่านเหล่านี้เริ่มยากลำบากเป็นอย่างมากกับการเดิน และการเดินทาง

(แหลม) พูมพล ภุมราพันธ์ ซึ่งเป็นเพื่อนของพวกเราเป็นชาวราชบุรี เช่นเดียวกับอาจารย์ช้าง และยังได้เข้ามาเกี่ยวดองกับ (พี่) นพพร จึงได้เป็นผู้รับส่งในการรับประทานอาหารครั้งนั้น และดูเหมือนว่าอาจารย์ช้างได้เคยบอกกับเขาไว้ว่า “มีอะไรบอกมา–”

ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้รู้เลยว่า (พี่) นพพรเสียชีวิตแล้ว ถ้าหาก (แหลม) พูมพลไม่เป็นผู้โทรศัพท์ส่งข่าว

ซึ่งดูเหมือนว่าเขาเองก็ไม่ได้มีโอกาสได้สั่งเสียหรือเดินทางไปทันในวันฌาปนกิจเพราะได้รับข่าวกะทันหัน

 

ต้องติดต่อกลับไปหา (แหลม) พูมพล เพื่อขอทราบเรื่องการเสียชีวิตของ (พี่) นพพร ไม่อย่างนั้นคงจะไม่สบายใจนัก ทั้งๆ ที่ก็ไปทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมมากเท่าไร นอกจากได้รับการบอกเล่าว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอะไร ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ บอกแต่เพียงว่าลูกสาวคนเดียวของท่านได้ทำการฌาปนกิจไปแล้ว ที่วัดแถวพระราม 3–รู้แค่นั้นจริงๆ

ชีวิตคนเราก็เท่านี้ (พี่) นพพรขณะเป็นบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน “ชาวกรุง” ในเครือ “สยามรัฐ” เป็นแหล่งที่สร้างนักเขียนมากมายไม่แพ้ “สยามรัฐสัปดาหNวิจารณ์” ท่านมีผลงานปรากฏออกมาไม่น้อยในยุคสมัยนั้น มีการพิมพ์รวมเล่มไว้หลายเล่มเหมือนกัน

เท่าที่จำได้เนื่องจากเคยติดตามในรูปของเรื่องสั้น มี “รอยยิ้มกลางแดด” – “หัวร่อในวารี” – “ไม่หวานไม่เผ็ด” และ ฯลฯ— “นิตย์ นราธร” เป็นนามปากกาของท่าน–(พี่) นพพรได้รับรางวัล “นราธิป 2550 “จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”

นักเขียนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงวรรณกรรม โดยเฉพาะเรื่องสั้นร่วมสมัยของ นพพร บุณยฤทธิ์ จนกระทั่งได้รับการเรียกขานว่าเป็น “มนุษย์ 4 แบบ” มี “รัตนะ ยาวะประภาษ” (เสียชีวิต) – “รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เจ้าของสมญานาม “พญาอินทรีย์แห่งสวนอักษร” (เสียชีวิต) – “นพพร บุณยฤทธิ์” (เสียชีวิต) และ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” ซึ่งยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว

ทั้ง 4 ท่านมีอายุแก่อ่อนกว่ากันไม่เกิน 3 ปี

 

ไม่ค่อยจะมีรายละเอียดอะไรมากนักเกี่ยวกับตัวตนของ (พี่) นพพร บุณยฤทธิ์ ทราบแต่เพียงว่าเกิดปี พ.ศ.2469 (อายุ 91 ปี) เป็นคนฝั่งธนบุรี เข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์ “ชาติไทย รายวัน” พ.ศ.2488 และเมื่ออาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ขึ้นในปี พ.ศ.2493 (พี่) นพพร ก็เดินเข้ามาสังกัดหนังสือพิมพ์ซึ่งทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น

(พี่) นพพร เป็น บ.ก.นิตยสาร “ชาวกรุง” ปี 2497 ต่อมาอีก 7 ปีจึงได้เข้าสู่ตำแหน่ง บ.ก. “สยามรัฐ รายวัน” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปี 2518

สำหรับตำแหน่ง บ.ก.สยามรัฐ ช่วงระยะเวลานั้นต้องพานพบกับเรื่องราวเหตุการณ์เยอะแยะมากมาย ล้วนแล้วแต่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

สยามรัฐ เป็นทีมแรกบุกตะลุยเข้าไปทำข่าว “กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร” ซึ่งนายทหาร-ตำรวจเดินทางโดยใช้พาหนะเฮลิคอปเตอร์ นำอาวุธของทางราชการเข้าป่าไปล่าสัตว์ ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แสวงหาความสุขส่วนตัว และ ฯลฯ

สยามรัฐ เหมือนอยู่ในที่เกิดเหตุ เพราะใกล้กับ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ท้องสนามหลวง” สถานที่รวมตัวกันก่อนลากยาวมาเป็น “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

ได้เข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เมื่อปี พ.ศ.2513 จากการชักชวนของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเงอะงะอยู่เพราะไปทำงานเพียงอาทิตย์เดียว (อาจารย์ใหญ่) “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ก็เดินหน้าบานหัวเกรียนขึ้นมาสมัครงานด้วยตนเองกับหนังสือพิมพ์ฉบับที่ยอมรับกันว่าเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยของคนหนังสือพิมพ์

สุจิตต์เข้ามาทำงานวันแรก อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ชวนไปกินข้าวเย็นด้วยกันที่บ้านพักซอยสวนพลู โดยมี (พี่) นพพร ขณะนั้นยังเป็น บ.ก.นิตยสาร “ชาวกรุง” ตามไปสมทบกับเรา 2 คนด้วย

ซึ่งกว่าจะถึงมื้อเย็นมีการดื่มสุรากันหลายชนิด แล้วมาดื่มต่อหลังอาหารอีกไม่น้อย เพราะประเด็นการพูดคุยยังไม่จบ กระทั่ง 2 หนุ่มมีอาการเมาหลับ กับคายของเก่า

แต่ยังพอจำถ้อยคำการสนทนาของอาจารย์คึกฤทธิ์ กับ (พี่) นพพร ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นการถกเถียงแบบประชดประชันกันไม่ผิดนักเกี่ยวกับเรื่องการสับเปลี่ยนตำแหน่ง บ.ก.หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวัน

ซึ่งคิดว่า (พี่) นพพร ยังคงรออยู่หลังจากได้ทราบแล้วว่าจะได้รับการแต่งตั้ง อาจเป็นเพราะความมึนเมาทำให้กล้าไปเร่งกับอาจารย์ และท่านได้ตอบกลับว่าจะทำงานใหญ่ให้ใจเย็นๆ ไว้ (พี่) นพพรไม่รู้ไปพูดว่ายังไง ทำนองประชดประชันประมาณว่าจะ “ลาออก” อาจารย์จึงบอกว่า “ไอ้–ไปหยิบกระดาษมาให้มันเขียนใบลาเดี๋ยวนี้”

 

จําได้อีกนั่นแหละว่าในที่สุดทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่ได้บอกกล่าวเล่าขานซึ่งเวลามันผ่านมาแล้วถึงกว่า 4 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม “สุจิตต์ วงษ์เทศ” อยู่ “สยามรัฐ” สัก 1 ปีเห็นจะได้ อดรนทนไม่ไหวพาตัวเองบินสู่สหรัฐอเมริกา ศึกษาหาความรู้ ตามหาหัวใจ ความรัก อะไร? ไปโน่น แล้วกลับมาเขียนหนังสือรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ “เมด อิน ยูเอสเอ”

อาจารย์ช้างเข้ามาแทนที่ยัง “สยามรัฐ รายวัน” ในช่วงที่กุมารหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ ทำงานทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งการจัดหน้าอยู่เป็นแรมปี พร้อมทั้งเป็นที่ชอบพอรักใคร่ของคนหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นรวมทั้งเจ้าของผู้ก่อตั้ง

(เจ้าสัว) ขรรค์ชัย จัดงานสมรสโดยมีอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเจ้าภาพ ขึ้นที่ศาลาทรงไทยภายในบ้านซอยสวนพลูอย่างเรียบง่าย บังเอิญได้มีโอกาสรับเกียรติเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวซะด้วย ส่วน (พี่) นพพร เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเดินทางไปทำหน้าที่ปูที่นอนให้ อาจเป็นคำตอบถึงความผูกพันกันพอสมควร และ (เจ้าสัว) ขรรค์ชัย ไม่เคยละเลยทอดทิ้งเพื่อนๆ พี่ๆ ตลอดมา

เสียดาย (พี่) นพพร (อดีต) บ.ก.หนังสือพิมพ์ซึ่งทรงอิทธิพล มีชื่อเสียง ได้จากไปอย่างเงียบๆ ไม่มีใครรู้ แม้แต่ผู้คนในแวดวงเดียวกัน