‘ประโยชน์ข้าฯ’ ต้องมาก่อน

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘ประโยชน์ข้าฯ’ ต้องมาก่อน

 

ทุกคณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารจัดการประเทศ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นเจตนารมณ์เรื่อง “ปฏิรูประบบราชการ” ทั้งนั้น

อาจจะเสียงเบาหน่อยสำหรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และหนักแน่นจริงจังหน่อยสำหรับ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

ทุกพรรคการเมืองในประเทศนี้ ล้วนแล้วแต่มีนโนยายในทาง “ปฏิรูปราชการ” ต่างกันตรงที่ปริมาณการรื้อและสร้างใหม่ที่บางพรรคคิดทำแค่น้อยๆ บางพรรคเสนอแนวทางแบบที่เรียกว่า “โละสร้างใหม่” กันเลย

แต่เรื่องแปลกแต่จริงยิ่งกว่าคือ แม้ทุกคน ทุกฝ่ายจะเห็นความจำเป็นว่า “ข้าราชการต้องเปลี่ยนแปลง” และประชาชนล้วนแล้วแต่เห็นดีเห็นงาม เพราะต่างรับรู้ว่าที่เป็นอยู่ “ไม่ไหวแล้ว” ด้วยมีแต่ทั้งเป็นอุปสรรค และสร้างปัญหาสารพัดกับการพัฒนาประเทศ ด้วยไม่ว่าตั้งใจแค่ไหนหากการทำงานของข้าราชการยังเป็นแบบที่เป็นนี้ ไม่มีทางที่จะนำพาการพัฒนาให้เดินหน้าไปได้

หากถามว่าสาเหตุที่รู้ทั้งรู้ว่า “ต้องเปลี่ยน” แต่ “เปลี่ยนไม่ได้” เพราะอะไร ถึงวันนี้ล้วนได้คำตอบแล้วว่า “เพราะข้าราชการมีอำนาจพอที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงไปแค่ให้อยู่ในความคิด ไม่ให้ปรากฏผลในทางปฏิบัติ” เพราะด้วยกติกาและกลไกของการจัดการความเป็นไปของประเทศ “อำนาจในทางปฏิบัคิยังถูกควบคุมด้วยระบบราชการ”

ทุกความเปลี่ยนแปลงหากข้าราชการไม่เห็นด้วย ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ “ใครคิด หรือทำให้เกิดขึ้น คนคนนั้นจะอยู่ในอำนาจไม่ได้”

ดังนั้น แม้ทุกคนรู้ว่าการปฏิรูปราชการมีความสำคัญ แต่คำตอบที่จำเป็นต้องรู้คือ “ข้าราชการมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองแค่ไหน”

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร” ดูจะทำให้พอมองเห็นแนวโน้มของคำตอบนี้

ในคำถามถึง “สาเหตุที่ทำให้รู้สึกเบื่อในระบบหรืองานราชการ” ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน, รองลงมา ร้อยละ 31.53 ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ, ร้อยละ 28.24 เงินเดือนน้อย, ร้อยละ 22.44 ตัวชี้วัดทั้งหลาย, ร้อยละ 20.38 โครงสร้างการปกครองหรือสั่งการตามลำดับชั้น, ร้อยละ 18.93 การประสานงานที่ไม่เป็นระบบ, ร้อยละ 17.02,การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความดีความชอบและตำแหน่งที่สำคัญ, ร้อยละ 16.49 การคอร์รัปชั่นในระบบราชการ, ร้อยละ 16.18 เจ้านาย, ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เบื่ออะไรเลย, ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เพื่อนร่วมงาน, ร้อยละ 11.07 ระบุว่า การทำงานแบบผักชีโรยหน้า, ร้อยละ 10.23 การแทรกแซงของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล, ร้อยละ 8.47 ลูกน้อง, ร้อยละ 7.25 งานที่มีความเสี่ยงจะผิดกฎระเบียบ และร้อยละ 6.41 ระบุว่า ประชาชนที่ไม่เข้าใจในระบบงาน กฎระเบียบของราชการ

ภาพรวมของคำตอบดังกล่าวก่อให้เกิดความคิดว่า ข้าราชการส่วนใหญ่รู้ดีว่าปัญหาของระบบราชการอยู่ตรงไหน

แต่เมื่อถามถึงความศรัทธาต่อระบบราชการไทย ร้อยละ 49.47 ระบุว่า ค่อนข้างศรัทธา, รองลงมา ร้อยละ 22.52 ศรัทธามาก, ร้อยละ 21.53 ไม่ค่อยศรัทธา, ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ศรัทธาเลย และร้อยละ 0.14 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อจี้ด้วยคำถาม “คิดลาออก หรือการย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ” ร้อยละ 63.04 ระบุว่าไม่อยากลาออกและไม่อยากย้ายหน่วยงาน, รองลงมา ร้อยละ 14.89 อยากลาออกจากหน่วยงานของรัฐ, ร้อยละ 13.44 อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ, ร้อยละ 8.32 ลาออกหรือย้ายหน่วยงานก็ได้ และร้อยละ 0.31 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

แปลว่ารู้ทั้งรู้ว่าต้องรื้อระบบราชการ แต่น้อมใจไปในทางไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งเปี่ยมด้วยศรัทธาว่าระบบแบบนี้จะไปได้ ที่หนักแน่นกว่าคือ “เลือกที่จะอยู่แบบเดิมมากกว่าเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น”

จากคำตอบทั้งหมดนี้ หากมุ่งไปที่โอกาสในการพัฒนาประเทศอย่างมีความหวัง จะต้องมีคำตอบว่าจะทำอย่างไรกับข้าราชการที่รู้ทั้งรู้ว่าระบบการบริหารมีปัญหา เกิดการยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูป

เพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม มากกว่าที่จะยืนหยัดไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ในนิยาม “รัฐสวัสดิการข้าราชการ”