ความแตกต่าง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน คุยกับน้องคนหนึ่ง ตอนนี้เธอเป็นคุณแม่ลูกสอง

คนโตอายุ 6 ขวบ คนเล็กเพิ่งขวบเดียว

แน่นอนว่าเมื่อเราคุยเรื่องอะไรก็ตามกับคนที่เป็น “คุณแม่” พักหนึ่งเธอจะวนมาเรื่อง “ลูก”

เล่าความน่ารักของลูกให้ฟัง

เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก เป็นเรื่อง “คุณแม่” ที่เป็น “คุณครู” ในชีวิตจริงอยากสอนหลักคิดทางคณิตศาสตร์เบื้องต้นให้กับลูกสาวอายุ 6 ขวบ

“ถ้าเรานั่งรถจากบ้านไปสยามพารากอนใช้เวลา 20 นาที และจากสยามพารากอนไปสีลมใช้เวลา 20 นาที” คุณแม่เริ่มตั้งโจทย์คำถามแบบชีวิตจริงเพราะบ้านของเธออยู่กลางเมืองจะไปสีลมต้องผ่านสยามพารากอน

“ถ้าลูกนั่งรถจากบ้านไปสีลม จะใช้เวลากี่นาทีคะ”

ถ้าเป็นหลักคิดแบบเดิม เราจะเอาเวลาเดินทางจากที่บ้านไปพารากอน+เวลาจากพารากอนไปสีลม

20+20 = 40 นาที

เธอต้องการให้ลูกคิดแบบนี้

แต่รู้ไหมครับ ลูกสาวตอบว่าอย่างไร

“คุณแม่ลองกด Google maps ดูสิคะ มันจะบอกเวลา”

ไม่ได้ตอบ แต่บอก “วิธีการ” การหาเวลาการเดินทางใหม่

เป็น “คำตอบ” ที่เหนือความคาดหมายมาก

คุณแม่บางคนอาจโกรธ อาจโวยวายว่าทำไมไม่ทำแบบที่เคยเรียนมา

แต่คุณแม่คนนี้หัวเราะ

และชมลูกสาวว่าเก่ง

“แม่ลืมวิธีการนี้ไปเลย”

 

ตอนที่ฟังเรื่องนี้ ผมนึกถึงเรื่องคุณครูคนหนึ่งสอนคณิตศาสตร์เด็ก ป.4

คราวนี้ไม่ใช่ “บวก”

แต่เป็น “ลบ”

“ถ้าเรามีเงิน 10 บาท ไปซื้อของราคา 3 บาท แม่ค้าจะทอนเงินให้เรากี่บาท”

คิดง่ายๆ 10-3 = 7

เด็กส่วนใหญ่ตอบ 7 บาท

แต่มีอยู่ 2 คนตอบผิด

คนหนึ่งตอบว่า 2 บาท

อีกคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ต้องทอน”

ถ้าเป็นครูแบบเดิมๆ ที่คิดว่า “โลกนี้มีคำตอบเดียว”

และต้องเป็น “คำตอบ” ตามวิธีคิดแบบครูเท่านั้น

เด็ก 2 คนอาจโดนดุ

หรืออาจโดนตี

คำถามง่ายๆ แค่นี้ทำไมตอบไม่ได้

แต่คุณครูคนนี้เริ่มต้นด้วย “คำถาม”

เธออยากรู้ว่าทำไมเด็ก 2 คนนี้จึงตอบแตกต่างจาก “คำตอบ” ของครู

“ทำไมแม่ค้าถึงทอนให้ 2 บาทคะ” ครูถามเด็กคนแรก

เด็กน้อยลุกตอบว่าเขามีเงิน 10 บาท เป็นเหรียญ 5 บาท 2 เหรียญ

“ผมเอาเหรียญ 5 บาทให้แม่ค้า เขาก็ต้องทอนให้ผม 2 บาทครับ”

โจทย์คณิตศาสตร์ในมุมคิดของเด็กคนนี้ ไม่ใช่ “ตัวเลข”

แต่เป็นเรื่องจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

10 บาท ไม่ได้มีแค่เหรียญ 10 บาท 1 เหรียญ

แต่ยังหมายถึงเหรียญ 5 บาท 2 เหรียญด้วย

ถ้าเรามีเหรียญห้า 2 เหรียญซื้อของราคา 3 บาท

เราคงไม่ยื่นเหรียญห้าทั้ง 2 เหรียญให้แม่ค้า

คงยื่นแค่เหรียญเดียว

5-3 = 2

“ทอน 2 บาท” จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

คุณครูปรบมือให้

“แล้วทำไมหนูคิดว่าแม่ค้าไม่ต้องทอนเงินให้คะ” ครูถามเด็กคนที่สอง

“เพราะหนูมีเหรียญบาท 10 เหรียญค่ะ” เด็กน้อยตอบสั้นๆ

ครับ มีเหรียญบาท 10 เหรียญ ซื้อของ 3 บาท

เราก็ส่งเหรียญบาทให้แม่ค้า 3 เหรียญ

3 บาท เท่ากับราคาของ

แม่ค้าจึงไม่ต้องทอนตังค์ให้

“ไม่ต้องทอน” จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

คุณครูยิ้มและปรบมือให้เด็กคนนี้

 

2 เรื่องนี้มีสิ่งที่เหมือนกัน 2 ข้อ

ข้อแรก หลักคิดของเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกัน

ในขณะที่คุณแม่และคุณครูตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ขึ้นมาแบบ “ตัวเลข” ที่มีเรื่องราว

แทนที่จะตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า 20+20 เท่ากับเท่าไร

หรือ 10-3 เท่ากับเท่าไร

แต่เขาใส่เรื่องราวให้น่าสนใจขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “การเดินทาง” จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง

หรือการซื้อของจากแม่ค้า

แต่ในมุมของเด็ก เขาให้ความสำคัญกับ “เรื่องราว” มากกว่าการคิดเลขแบบง่ายๆ

และคิดเรื่องราวอย่างจริงจัง

คนหนึ่ง คิดว่าเมื่อคุณแม่อยากรู้ “เวลา” ในการเดินทางจาก “บ้าน” ไป “สีลม”

แทนที่จะใช้หลักการคำนวณ

เธอรู้จัก “เครื่องมือ” ตัวหนึ่งซึ่งคาดว่าคุณแม่ก็คงใช้เป็นประจำเช่นกัน

นั่นคือ Google maps

แค่เขียนว่าจะไปที่ไหน

เครื่องมือนี้จะคำนวณให้เลยว่าใช้เวลากี่นาที

ได้ “คำตอบ” ที่ง่ายกว่าและดีกว่าการคำนวณอีก

เด็กอีกคนหนึ่ง คิดแบบ “ชีวิตจริง” ไม่ใช่ “ตัวเลข”

เขาคิดถึงเงิน 10 บาทแบบจริงจัง

10 บาทมีหลายแบบไม่ใช่แค่เหรียญ 10 บาทเท่านั้น

“คำตอบ” ของเด็กน้อยจึงเป็น “2 บาท” และ “ไม่ต้องทอน”

ข้อที่สอง “ผู้ใหญ่” ในเรื่องนี้ ทุกคนใจกว้าง

คุณแม่หัวเราะ และชมว่าเด็กเก่ง

ยอมรับว่าแม่ลืมวิธีคิดนี้ไปเลย

ส่วนคุณครูแทนที่จะดุเด็ก และสรุปว่าเด็กคิดผิด เพราะ “คำตอบ” ไม่ตรงกับที่เธอเฉลย

คุณครูกลับเริ่มต้นด้วย “คำถาม”

ถามว่าเด็กคิดอย่างไร ทำไมเด็กจึงได้คำตอบแบบนี้

นี่คือ สิ่งที่ “ผู้ใหญ่” ควรทำเมื่อได้รับ “คำตอบ” ที่แตกต่างจาก “คำตอบเดิม” ที่ตนเองเชื่อมานาน

และเมื่อเด็กบอกวิธีคิดของตัวเอง

แม้จะนอกกรอบความคิดเดิม

แต่คุณครูก็ยอมรับ

 

เรื่อง “ความแตกต่าง” ทางความคิดระหว่าง “เด็กรุ่นใหม่” กับ “ผู้ใหญ่” กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของสังคมไทย

เพราะดูเหมือนว่าจะเริ่มห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ

อาจเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายและเสรี ทำให้เขาตั้งคำถามกับหลายเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่เคยถาม

หรือไม่กล้าถาม

นอกจากนั้น “เครื่องมือ” ในวันนี้ก็แตกต่างจาก “เครื่องมือ” ในวันก่อน

สมัยผมยังเด็ก “ป๋า” จะสอนเรื่องการใช้ลูกคิด

คนดีดลูกคิดเก่งๆ จะคิดเลขได้เร็วมาก

สมัยนั้น “เครื่องคิดเลข” ยังไม่มี

พอรุ่นลูก “เครื่องคิดเลข” เป็นเรื่องปกติธรรมดา ในโทรศัพท์มือถือก็ยังมี

ถ้าผมบังคับให้เขาใช้ “ลูกคิด”

ลูกคงจะบ่นว่าทำไมพ่อไม่ใช้ “เครื่องคิดเลข”

ง่ายกว่าตั้งเยอะ

ตอนที่ฟังน้องที่เป็นคุณแม่ลูกสองเล่าเรื่องลูกตั้งคำถามว่าทำไมแม่ไม่ใช้ Google maps

ผมนึกถึงเรื่อง “ลูกคิด” กับ “เครื่องคิดเลข” ขึ้นมาทันที

แต่ละยุคสมัย เรามีเครื่องมือที่ใช้แตกต่างกัน

เหมือนกับวันนี้ที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

“ความรู้” ในอดีตที่ใช้เวลาเรียนรู้มานานกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

ขอเพียงแค่ใช้ “คำสั่ง” ให้เป็น

เครื่องมือใหม่จะทำให้คนยุคนี้ลัดขั้นตอนได้มากขึ้น

และเกิด “คำถามใหม่” อีกมากมาย

 

“ความแตกต่าง” ทางความคิดของคน 2 รุ่นจะยิ่งห่างกันไปเรื่อยๆ

ผมนึกถึงคุณครูตอนที่ได้ยินคำตอบที่แตกต่างจากกรอบคำตอบเดิมของเด็ก 2 คน

เธอเริ่มต้นด้วย “คำถาม”

ถามเด็กว่าทำไมถึงคิดแบบนี้

แทนที่จะด่วนสรุปว่าคำตอบที่แตกต่าง คือ คำตอบที่ผิด

โลกของ “คนต่างยุค” มันแตกต่างกันจริงๆ ครับ

ไม่มีผิด ไม่มีถูก

มีแต่ต้องยอมรับ “ความแตกต่าง”

และเคารพ “ความคิด-ความเชื่อ” ที่แตกต่างกัน

คนที่เกิดก่อนไม่ใช่จะถูกทุกเรื่อง

ส่วนคนที่เกิดทีหลังไม่ใช่จะผิดไม่เป็น •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์