‘กับดัก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ถึงแม้ว่า ก่อนหน้าวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 ประเทศไทยจะเริ่มจริงจังกับเรื่องการปกป้องดูแลสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างเป็นระบบที่ดีแล้ว แต่คงต้องยอมรับว่า หลังจากวันที่ 1 กันยายน วันที่มีเสียงปืน 11 ม.ม.ดังขึ้นตอนรุ่งสาง จากบ้านพักของหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าเขตที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร

เสียงปืนนัดนั้น ดังกึกก้องไปทั่ว ดังมาจนกระทั่งถึงวันนี้ และเป็นเสียงอันทำให้ “กระแส” การปกป้องดูแลสัตว์ป่า ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย และเห็นผลอย่างแท้จริง

สัตว์ป่าได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควร ในบ้านของพวกมัน

ไม่เพียงแต่เรื่องการดูแลชีวิตสัตว์ป่า เรื่องราวการศึกษาเรียนรู้ทำความรู้จักพวกมัน ก็ก้าวหน้าไปมากเช่นกัน

งานศึกษาสัตว์ผู้ล่าซึ่งอยู่บนสุดอย่างเสือโคร่ง โดยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งนั้น ทำมาอย่างยาวนาน มีข้อมูลสำคัญมากมาย ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งนำมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างได้ผล

ผมได้รับโอกาสที่ดีในครั้งที่ได้เป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยนักวิจัย

การทำงานกับเสือนั้นไม่ง่าย ไม่เพียงได้มีโอกาสได้ “รู้จัก” เสือ แต่งานทำให้คล้ายกับว่า ผมได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

กลางเดือนมกราคม ในความหมายของสัตว์ป่า นี่เป็นช่วงเวลาแห่งฤดูแล้ง

คลื่นความเย็นยังปกคลุมผืนป่าด้านตะวันตกอย่างเต็มที่ อุณหภูมิบนพื้นที่ระดับความสูง 500-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช้ามืดลดเหลือ 3-4 องศาเซลเซียส

น้ำในลำห้วยเย็นจัดราวกับแช่ด้วยน้ำแข็ง อากาศหนาวจัดต่อเนื่องยาวนาน

เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานมาแล้วเช่นกันที่เราต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เพื่อเริ่มต้นทำงานก่อนฟ้าสว่าง

ทุกเช้า ไม่เฉพาะสภาพอากาศเย็นจัดที่เราต้องเผชิญ สำหรับผม อีกความรู้สึกหนึ่งคือ ความตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่างานจะสำเร็จหรือไม่

 

“ยิ่งเรียนรู้มาก รู้จักเสือมากขึ้น งานก็ยิ่งยากครับ เพราะเสือก็เรียนรู้จากเราเช่นกัน” นักวิจัยผู้ทำงานกับเสือมาเนิ่นนาน เข้าใจในงานที่ทำเป็นอย่างดี

เสือสอนให้เราอดทน สอนให้รู้ว่า ในงานที่มันทำนั้น นอกจากมีร่างกายอันได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม มีทักษะที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องอดทน เฝ้ารอ หากพลาด ต้องเริ่มต้นใหม่ ในงานของเรา คือรอเวลาที่มันพลาด

เสือตัวที่พลาด จะได้รับการสวมปลอกคอที่มีเครื่องส่งสัญญาณในระบบผ่านดาวเทียม การเคลื่อนที่ของมัน นักวิจัยจะรู้ได้โดยละเอียด

ปกติเสือโคร่งใช้เวลาในการเดินรอบอาณาเขตของมันราว 15 วัน

เสือโคร่งตัวผู้ เดินเพื่อสำรวจอาณาเขต ส่วนตัวเมีย มักเป็นการเดินเพื่อไปหาอาหาร

ชีวิตของเสือ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านซึ่งมีการปกป้องอย่างดีเพียงไร แต่หากพวกมันไม่มีเหยื่อให้ล่า รวมทั้งการล่าที่ไม่ประสบผล ชีวิตเสือก็จบสิ้น

“การปกป้องดูแลเสือ หมายถึงต้องรักษาทุกชีวิตในป่านั่นแหละ”

นักวิจัยย้ำความจริงนี้เสมอๆ

 

บางวันสัญญาณที่ส่งมาจากเสือตัวหนึ่ง นิ่งอยู่ในตำแหน่งเดิมมากกว่าหนึ่งวัน นักวิจัยรู้ดีว่า นั่นหมายถึงเสือล่าเหยื่อได้

เมื่อตามเข้าไปดู เสือทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นวิธีการของมัน เสือจะลงมือในจุดหนึ่งเมื่อฆ่าได้ มันจะลากซากไปจากจุดที่ล่า ไกลกว่า 100 เมตร มันกินน้ำตรงไหน รวมทั้งนอนพักที่ใด

เหยื่ออย่างกระทิง หรือวัวแดงโตเต็มวัย น้ำหนักร่วมตัน ไม่ใช่ปัญหาที่เสือจะลากไปไกลๆ ได้

การลากเหยื่อจากจุดเดิมนั้น มีอีกเหตุผลคือเพื่อให้หนอนหลุดร่วงไปบ้าง ไม่เช่นนั้น ซากจะโทรมเร็ว

สิ่งที่ผมเห็นอีกอย่างนั่นคือ เสือจะใช้เหยื่อที่มันล่าได้อย่างคุ้มค่า กินหมดเกือบทุกชิ้น เหลือไว้เพียงเศษหนังและกระดูกชิ้นโตๆ

 

เสือโคร่ง – ระยะเวลาสองปีที่ลูกเสืออยู่กับแม่นั้น เป็นช่วงเวลาอันมีค่า เพราะเป็นเวลาที่มันจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิตเมื่อเติบโตเต็มวัยแล้ว

 

เมื่อพบซาก ผู้ช่วยนักวิจัยจะตรวจสอบอย่างละเอียด บันทึกขัอมูลต่างๆ และจะตรวจว่า ในแต่ละวัน เสือกินซากไปเท่าไหร่

ในครั้งที่พบซากครั้งแรก เป็นวัวแดงตัวผู้โตเต็มวัย ถูกลากลงมาใกล้ลำห้วยสายเล็ก กลิ่นซากรุนแรงจนผมแทบสำลัก

แต่สักพัก เมื่อสูดลมหายใจลึกๆ ผมก็เริ่มคุ้นชิน ซากและกลิ่นเหม็นรุนแรงรวมทั้งหนอนมากมาย เป็นสิ่งปกติ

ซากส่วนใหญ่ที่พบ มักเป็นสัตว์ที่อยู่ในวัยชรา

นั่นมันทำให้ภาพการทำงานเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ของเสือชัดเจน

 

ในสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ทุกเช้าเรามารวมตัวกันที่กองไฟ เพื่อเตรียมตัวเริ่มงาน กองไฟให้ความอบอุ่น แต่มันก็ทำให้ผิวของเราแตกระแหงไปพร้อมๆ กันด้วย

ดวงจันทร์เสี้ยวบาง คล้อยต่ำ

ผมไม่รู้หรอกว่า เมื่อไหร่เสือจะพลาด อีกนานไหมงานจะสำเร็จ

ขณะนั่งมองเปลวไฟไหววับแวม ผมรับรู้ถึงความรู้สึกแบบหนึ่ง ดูเหมือนว่า ผู้ที่เดินไปมาอย่างเสรีข้างนอกนั่น คือเสือ

ส่วนผู้ที่ต้องเตรียมพร้อมไปไหนมาไหนไม่ได้ ราวกับกำลังติดอยู่ในกับดัก คือเราเอง

 

คงเหมือนกับอีกหลายเรื่องราวในชีวิต ที่เราคล้ายจะติดอยู่ในกับดัก

อีกทั้งไม่ใช่เรื่องซึ่งควรจะท้อถอย เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

เพราะเป็นการติดใน “กับดัก” ที่เราเปิดขึ้นมาเอง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ