เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ‘ไหว้ทีก๊องแซ’ วันปีใหม่ที่แท้ของชาวฮกเกี้ยนและหงวนเซียว จบเทศกาลตรุษจีน (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตามคติจีนเลขสิบสองเป็นเลขบริบูรณ์ เพราะแสดงถึงเดือนในรอบปีและรอบนักษัตร ดังนั้น เลขสิบสองจึงมักเกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้เสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตลอดทั้งปีจะมีความสุขความเจริญไปจนถ้วนทั่ว

ดังนั้น ในเทศกาลต่างๆ ชาวจีนฮกเกี้ยนโดยเฉพาะที่จังหวัดระนองบ้านผมยังคงไหว้บรรพชนด้วยอาหารสิบสองถ้วย เรียกว่า “จับหยี่ไฉ่อั๊ว” หรือจับหยี่อั๊ว ซึ่งแปลตรงๆ ว่าอาหารสิบสองถ้วยนั่นเอง

หากมีเวลาและทุนทรัพย์ก็จะทำอาหารสิบสองชนิด หากเป็นอย่างย่อๆ ก็จะทำเพียงหกชนิดแล้วแบ่งชนิดละสองถ้วย ส่วนกับข้าวก็เหมือนๆ กันไปทุกบ้าน เช่น หมูค้อง (หมูฮ้อง) ผัดหมี่ ตับผัดต้นกระเทียม ฯลฯ

การไหว้เทพเจ้าก็เช่นกัน นอกเหนือจากการไหว้หลักไฉ่หรือผักแห้งหกอย่างดังที่ได้เคยเล่าไว้แล้วนั้น หากเป็นงานใหญ่ก็จะจัดเป็นจับหยี่ไฉ่อั๊วเหมือนกัน โดยจัดหลักไฉ่ไว้หกอย่างและเพิ่มเติมไปอีกหกอย่างรวมป็นสิบสอง โดยเป็นอาหารเจแห้งทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นเหมือนกับข้าวของเทพเช่นเดียวกับเวลาเราตั้งกับข้าวไหว้บรรพชน

สิ่งที่มักเพิ่มเติมเข้าไปนั้น หลักๆ จะต้องมีถั่วดินหรือถั่วลิสง (ถ่อต่าว) และเม็ดบัว นอกนั้นจะเพิ่มสิ่งใดก็ได้ เช่น สาหร่ายทะเลแห้ง เห็ดหูหนูขาวแห้ง เผือกและมัน เป็นต้น

 

การไหว้ทีก๊องแซนับเป็นงานใหญ่จึงต้องตั้งจับหยี่ไฉ่อั๊ว บางบ้านหรือบางศาลเจ้าจะเพิ่มพวกผลไม้อบแห้งหรือขนมหวานแห้งอีกเก้าอย่างเรียกว่าเก้าเหลี่ยว หรืออาจเพิ่มเป็นสิบสองอย่างก็ได้ รวมตั้งเรียงกันถึงยี่สิบสี่ถ้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้าว “ชุ้นปึ่ง” หรือข้าววสันต์ (คือข้าวสวยปักดอกไม้กระดาษ) ไว้อีกสามถ้วยเพื่อเป็นเทวบรรณาการ ข้าวทั้งสามถ้วยนี้ โดยธรรมเนียมแล้วเมื่อไหว้ทีก๊องเสร็จจะเก็บตั้งไว้หน้าพระในบ้านถ้วยหนึ่งอีกสามวัน หากขึ้นราก็เป็นเครื่องเสี่ยงทายความเฟื่องฟูของบ้านดังที่ได้เล่าไว้แล้ว และนับถือกันว่าแม่นยำนัก

ยังมีของอื่นๆ ที่ไม่ใช่ขนมซึ่งจะไว้สักการะทีก๊องอีก คือไข่ไก่ต้มย้อมเปลือกด้วยสีแดง วางไว้บนก้อนหมี่สั่วที่ขดอย่างสวยงาม โดยมีเคล็ดเล็กๆ ว่าจะต้องโรยน้ำตาลแดงไว้บนหมี่สั่วนั้นด้วย เพราะหมี่สั่วมันสีขาวครับ อะไรขาวๆ จีนนับว่าไม่เป็นมงคล ก็จะต้องเอาอะไรแดงๆ หวานๆ ไปใส่เสีย อาจารย์ผมเล่าว่า บางที่ก็เอาหมี่สั่วไปผัดกับน้ำตาลแดงเลยก็มี

ของไหว้ชนิดนี้ท่านว่าจะไหว้ก็ต่อเมื่อบ้านนั้นมีลูกชาย ก็เจ้าไข่ไก่มันก็แทนสัญลักษณ์ผู้ชายนั่นแหละครับ

เช่นเดียวกับขนมไหว้ทำขวัญเดือนเด็กแบบจีนที่เรียกว่าอิ่วปึ่ง (ข้าวเหนียวผัดบวกอั่งกู๊และอั่งอี๋) หากส่งไปให้ญาติผู้ใหญ่ ญาติจะรู้ทันทีว่าเด็กนั้นเป็นเพศอะไร เพราะถ้าเป็นชายเขาก็จะแนบไข่ต้มย้อมสีแดงไปด้วย

ใครเดินผ่านไปผ่านมา เห็นโต๊ะไหว้เข้าก็จะรู้ทันทีว่าบ้านนี้มีลูกชายไหม อันที่จริงโต๊ะไหว้ทีก๊องแซเป็นหน้าที่ของลูกชาย เพราะเป็น “โต๊ะอวด” คือเป็นโต๊ะไหว้ที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน ใครไปใครมาก็เห็น จึงต้องขนเอาข้าวของหรูๆ งามๆ บรรดาเครื่องโต๊ะที่บ้านสะสมไว้มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยชาม กระถางธูปเชิงเทียน โต๊ะวางบิดเจี่ยน จิ้นอั๊บหรือกล่องขนมซึ่งหากใครมีสตางค์ก็จะสั่งเป็นไม้แกะสลักปิดทองหรูหรา กี๋ไม้วางของ ผ้าปัก ฯลฯ รวมถึงบรรดาของไหว้ล้วนวิจิตรพิสดารต่างๆ ให้คนได้ชมเพียงปีละครั้ง

ใครรวยหรือมีชาติตระกูลก็จะมีของเก่าๆ งามๆ ออกมาอวด หรือจะจัดข้าวของให้มากมายอย่างไรก็ได้ ให้คนลือกันไปอีกพักใหญ่

โดยทั่วไปแล้ว เรื่องการทำกับข้าวและจัดของเซ่นไหว้ในบ้านเป็นหน้าที่ของลูกสะใภ้หรือลูกสาวที่ยังไม่ออกเรือน แต่เป็นเรื่องภายในครอบครัวซึ่งคนนอกไม่มารู้เห็นและไม่อวดกัน

ผิดกับทีก๊องแซซึ่งเป็นงานออกหน้าออกตา ลูกชายจึงรับหน้าที่แทน แต่หากบ้านไหนไม่มีลูกชายก็ได้แต่ไหว้กันเงียบๆ อันนี้เป็นค่านิยมที่ลำเอียงมาแต่โบราณ สมัยนี้ก็ลดลงไปมากแล้วแต่ก็ยังมีกลิ่นไอหลงเหลืออยู่

ผลไม้ในงานทีก๊องแซก็มักใช้ผลไม้ดีๆ และจัดเป็นคู่ทั้งชนิดและจำนวน ที่ขาดไม่ได้คือ “อ่องหลาย” หรือสับปะรด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีทั้งมงคลนามและนับว่าเป็นของดีเพราะในอดีตเป็นของหายาก

 

ส่วนของไหว้อีกอย่างซึ่งเป็นข้อถกเถียง คือหง่อเส้งหรือเนื้อสัตว์บวงสรวงทั้งห้า อันได้แก่ ไก่ หมู ปลา กุ้งและปลาหมึก บางที่อย่างสิงคโปร์และมาเลย์ก็นิยมใช้หมูย่างเป็นตัวเลยทีเดียว

แต่บางท่านเห็นว่าหยกหองสย่งเต่หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ท่านเป็นเทพชั้นสูง ย่อมไม่โปรดหรือรับของถวายเป็นของสดคาว จึงไม่ควรเอาของพวกนี้มาถวาย

เรื่องนี้ผมเห็นว่าบรรพชนทำมาแล้วก็ทำตาม เพราะในสังคมเกษตร บรรดาสัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นของสูงค่า ไม่ใช่จะนำมาฆ่ากินกันทุกวันอย่างในปัจจุบัน อะไรเป็นของสูงค่าเขาก็เอาถวายเทพหรือฟ้าดินทั้งนั้น แต่เดิมมาในเมืองจีน พิธีเซ่นสรวงของกษัตริย์หรือชนชั้นสูงก็ใช้ปศุสัตว์เป็นตัวๆ เซ่นสรวงอยู่แล้ว พอคตินิยมทางศาสนาทั้งเต๋าทั้งพุทธมีอิทธิพลมากขึ้น เรื่องเนื้อสัตว์ถวายจึงกลายเป็นของต้องห้ามไปตามลำดับชั้นของเทพ

เพื่อประนีประนอม บางครั้งท่านก็จะจัดโต๊ะแยกเนื้อสัตว์ทั้งห้าไว้ด้านล่าง ต่ำกว่าโต๊ะตัวที่วางของเซ่นไหว้อื่นๆ หากเป็นตัวเดียวกันก็วางไว้ชั้นนอกสุด และมีคำอธิบายใหม่ว่าของถวายทั้งหลายแม้มุ่งต่อเทพประธาน แต่ก็เผื่อแผ่แก่เทพอื่นๆ ด้วย เพราะเทพศักดิ์ใหญ่ขนาดนี้ย่อมต้องมีบริวารติดตามมา เทพบริวารที่เสพของสดคาวก็ได้รับเอาไป

บ้างก็มีผู้อธิบายว่า หรือโดยจริงแท้นั้น เทพท่านมิได้รับเอาของสักการบูชาไปเสพเสวยอยู่แล้ว จะด้วยเพราะท่านบรรลุธรรมชั้นสูงหรือเป็นสภาวะอันเป็นนามธรรมก็ตาม แต่การที่เราเลือกเฟ้นของดีที่สุดให้ก็เพราะเราถือคุณธรรมความกตัญญูสำนึกรู้คุณเป็นสำคัญ ท่านจะรับไม่รับก็เป็นเรื่องของท่าน

และหากคิดแบบโบราณ ผลผลิตเกษตรอันเลิศเมื่อไหว้ดีพลีถูกย่อมอำนวยผลดีต่อไปอีก

 

เมื่อมีของคาวก็ต้องมีไชยบานหรือสุราแดงมงคลวางตั้งไว้ด้วย ทั้งยังต้องมีชาถวาย จะถวายสามจอกตามปกติหรือจะถือธรรมเนียมไหว้สิบสองจอกก็ได้ ที่จริงการไหว้ชาสิบสองจอกมาจากพิธีเซ่นไหว้ “จับหยี่ซานเต๋” พิธีถวายชาชั้นเลิศสิบสองชนิด โดยจัดให้มีคนสิบสองคนยกชาแต่ละชนิดพร้อมขับโศลกสรรเสริญ ซึ่งเป็นพิธีที่กระทำในอาราม แต่เมื่อสืบลงมายังชาวบ้านก็เหลือเพียงชาสิบสองจอกตั้งไว้แทน

การรินเหล้ารินชานี่ก็มีธรรมเนียมอีกครับ โดยประธานในพิธีจะทำการ “เค่งเต๋” หรือรินชาถวายไว้เพียงครึ่งเดียวก่อน ตั้งแต่เริ่มพิธี นัยว่าจะไม่ตั้งถ้วยเปล่าๆ แต่ให้มีของถวายอยู่ เมื่ออัญเชิญและทำการเสี่ยงทาย (โดยใช้ไม้โป้ย) ว่าเทพเจ้าองค์นั้นๆ ได้เสด็จมายังมณฑลพิธีแล้ว จึงจะรินถวายอีกครั้งให้เต็ม

ส่วนเหล้าก็รินไม่เต็มเช่นเดียวกัน หากการเสี่ยงทายว่า เทพเจ้าองค์นั้นยังไม่ทรงพอพระทัยการถวายสักการะ ก็ให้รินเหล้าเพิ่มไปเรื่อยๆ

จนกว่าผลเสี่ยงทายจะออกมาดี

 

ของเอกในโต๊ะไหว้ทีก๊องมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ “บิ๊ดเจี่ยน” หรือผลไม้แช่อิ่ม/ตากแห้ง เช่น อินทผาลัม สับปะรดแห้ง อั่งโจ้ พลับแห้ง ส้มแห้ง ฟักเชื่อม ฯลฯ นิยมเสียบไม้คล้ายลูกชิ้น ประดับกระดาษและปักบน โต๊ะบิดเจี่ยนที่ทำเป็นโต๊ะเล็กๆ แกะสลักอย่างดี

ที่จริงบิดเจี่ยนใช้ไหว้ได้ในทุกพิธีการ ไหว้ได้ทั้งเทพทั้งผี เช่น งานศพผู้มีฐานะทางสังคมสูงก็ใช้ไหว้ได้ แต่จะเปลี่ยนสีกระดาษประดับเป็นสีขาว น้ำเงินหรือเขียว นับเป็นเครื่องเซ่นไหว้ที่มีศักดิ์สูงกว่าของไหว้ชนิดอื่น

ที่เป็นเครื่องสูงก็เพราะพวกผลไม้แห้งเหล่านี้เดิมไม่ใช่ของผลิตในเมืองจีน แต่เป็น “ของนอก” มาจากเปอร์เซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง คนจีนรับเข้ามาผ่านการค้าขายในเส้นทางสายไหมโดยเฉพาะในสมัยถัง พอเข้ามาก็เป็นของกินในพระราชวัง ต่อมาก็ทรงพระราชทานแก่ขุนนางบ้างตามพระราชอัธยาศัย

ครั้นของพวกนี้หาง่ายขึ้น เศรษฐีคนมีตังค์ก็เอาอย่างขุนนาง จัดของพวกนี้ขึ้นโต๊ะเซ่นไหว้ของตน เป็นการอวดฐานะไปในตัว

 

ที่เรามักพูดกันว่าคนจีนทางตอนใต้เป็น “ชาวถัง” หรือต่งหลาง (แต้จิ๋วว่าตึ่งนั้ง) ซึ่งทั้งกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋วต่างอ้างเช่นนั้น มิใช้เพียงเพราะมีปูมอพยพจากสมัยถังแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะยังคงมีร่องรอยวัฒนธรรมสมัยถังปรากฏอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น เจ้าบิ๊ดเจี่ยนนี่ด้วย ซึ่งคนฮกเกี้ยนได้รักษาไว้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน มีผู้อธิบายว่า บิ๊ดเจี่ยนเป็น “บายศรีจีน” เช่นเดียวกับที่มักเรียกหม้อกลัศของทางฮินดูว่าเป็น “บายศรีแขก” ผมเห็นตอนแรกก็ชอบใจว่า เออ อธิบายเข้าใจง่ายดีไม่ต้องมากความ แต่ก็คิดว่ามีความต่างอยู่หลายอย่าง เช่น บายศรีมีหัวใจอยู่ที่ข้าวในบายศรีมากกว่าตัวใบตองหรือรูปแบบภายนอก แถมยังมีคติเรื่องขวัญเป็นสำคัญ ส่วนของแขกนั้น กลัศมิได้มีคติเรื่องขวัญ และบิดเจี่ยนทางจีนก็ไม่มีคติเรื่องขวัญเช่นกัน แม้คนจีนจะมีความเชื่อเรื่องขวัญอยู่ก็ตาม จะใกล้กับบายศรีก็ควรเป็นชุ้นปึ่งมากกว่า

ที่จริงของเอกอีกอย่าง ซึ่งควรจะเป็นเอกจริงๆ กว่าสิ่งใดเพราะถูกยกไว้สูงสุด และใช้ไหว้เฉพาะทีก๊องแซเท่านั้น คือ หง้อสิ่ว หมายถึงเจดีย์และสัตว์มงคลทำจากน้ำตาลทั้งห้า แต่วันนี้เนื้อที่หมดเสียแล้ว

จึงขอยกไว้คราวหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง