โอกาส ‘ผู้ยึดครอง’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธุรกิจสื่อสารไร้สาย ยุค “ผู้ยึดครอง” เปิดฉากขึ้นอย่างแท้จริง ได้มองเห็นเค้าลางที่เป็นมา และภาพที่น่าจะเป็นไป

เรื่องราวซึ่งโฟกัส ธุรกิจสื่อสารสำคัญในสังคมไทย ในที่สุดเหลือ “ผู้เล่น” ทรงอิทธิพล เพียง 2 ราย “เป็นพัฒนาการธุรกิจสื่อสารไทยยุคสมัย จากยุคต้นเมื่อ 3 ทศวรรษ กับโฉมหน้า ‘ผู้เล่น’ หลายราย มี ‘ตัวละคร’ อันโดดเด่นหลายรายในแต่ละฉากตอน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างซับซ้อน ทั้งมีเหตุการณ์อันเร้าใจ โดยเฉพาะผ่านกระบวนการหลอมรวมกิจการหลายกรณีหลายครั้ง” ผมเองเคยสรุปภาพรวมไว้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

เวลาผ่านไปหนึ่งไตรมาส มีบทสรุปด้วยภาพที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นอีกขั้น พิเคราะห์และอ้างอิงจากรายงานผลประกอบการในปี 2566 ของทั้งสองบริษัท-บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) AIS (ชื่อย่อหลักทรัพย์-ADVANC)

คาบเกี่ยวและต่อเนื่องกับช่วงเวลาสำคัญ เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติอนุญาต (10 พฤศจิกายน 2566) ให้กิจการในเครือข่าย AIS เข้าซื้อธุรกิจ 3BB (บริษัท ทริปเปิ้ลทีบอรดแบนด์ จำกัด) และควบรวมธุรกิจอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์เข้าด้วยกัน

ปรากฏการณ์นั้นโฟกัสที่ AIS ทันที ด้วยได้กลายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตในครัวเรือน (home broadband internet) หรือที่เรียกกันว่า “เน็ตบ้าน”

ตามข้อมูลเวลานั้น (สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566) AIS เมื่อรวมกับ 3BB จะมีฐานลูกค้า 4.68 ล้านราย ขณะคู่แข่งสำคัญ TRUE มีฐานลูกค้า 3.79 ล้ายราย ขณะบทสรุป ณ สิ้นปี 2566 ถือได้ว่าฐานลูกค้า ทั้งสองรายอาจเรียกได้ว่าคงเดิมก็คงได้ (AIS 4.7 กับ TRUE 3.8 ล้านราย)

กับอีกกรณีเชื่อมโยงกันดูสำคัญกว่า เมื่อ TRUE กับ DTAC ได้ไฟเขียวให้ควบรวมกัน (กสทช.มีมติเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564) แต่ใช้เวลาอีกพักใหญ่ กว่ากระบวนการจริงจะเริ่มต้น (ต้นปี 2566) กิจการใหม่คงใช้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ต่อไป ได้กลายเป็นเบอร์หนึ่งทันที ในธุรกิจสื่อสารไร้สาย หรือ Mobile ด้วยมีฐานลูกค้ารวมกัน 51.37 ล้านเลขหมาย ส่วน AIS มี 44.45 ล้านเลขหมาย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 เช่นกัน) เมื่อถึงสิ้นปี 2566

ตัวเลขฐานลูกค้าทั้งสองรายมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเช่นกัน หากพิจารณารายงานอย่างละเอียด มีบางมิติที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

 

TRUE – ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านเลขหมาย เป็น 51.9 ล้านเลขหมาย หรือเติบโตที่ร้อยละ 1.0 จากไตรมาส 3 ปี 2566 และเติบโตที่ร้อยละ 4.2 จาก ณ สิ้นปี 2565 ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 0.6 ล้านเลขหมายเป็น 36.3 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนลดลงอยู่ที่ 15.6 ล้านเลขหมายเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนตัวเลขที่สนใจเป็นพิเศษ คือ ผู้ใช้บริการ 5 G (ณ สิ้นปี 2566) เป็น 10.5 ล้านเลขหมาย

AIS – ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 44.6 ล้านเลขหมาย ลดลงสุทธิ 1.4 ล้านเลขหมาย “เป็นผลจากผู้ใช้บริการเติมเงินที่ลดลง 1.5 ล้านเลขหมาย ในขณะที่ผู้ใช้บริการแบบรายเดือนเติบโตขึ้น 155,000 เลขหมาย การลดลงของผู้ใช้บริการสุทธิเป็นผลมาจากกลยุทธ์มุ่งเน้นไปยังผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ประกอบกับการเข้มงวดของกระบวนการยืนยันตัวตนในกลุ่มผู้ใช้งานเติมเงิน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ กสทช.” ส่วน ผู้ใช้บริการ 5 G เพิ่มขึ้นเป็น 9.2 ล้านเลขหมาย

โดยภาพรวม TRUE (หลังจากควบรวมกับ DTAC มาราว 10 เดือน) มีรายได้โดยรวมมากกว่า AIS แล้วอย่างชัดเจน (208,323 ล้านบาท / 189,720 ล้านบาท) ทั้งนี้ เมื่อรวมกัน สะท้อนภาพอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก และอิทธิพลพอควรในสังคมธุรกิจไทย

เมื่อพิจารณาความเป็นไป AIS ผู้ดำเนินกิจการต่อเนื่อง คงเส้นคงวา โดยเฉพาะในช่วงต่อเนื่อง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบแนวโน้มว่า รายได้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ

ขณะ TRUE อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ในการหลอมรวมกิจการ ข้อพิจารณามีมิติที่แตกต่างกันพอสมควร ด้วยกล่าวถึง Keyword บางดัชนีชี้วัดกระบวนการเปลี่ยนผ่าน อาทิ การรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมขั้นต้น (Gross Synergies) ค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม (Integration costs) และผลประโยชน์จากการควบรวมสุทธิ (Net Synergies) รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization)

ว่าด้วยมุมมองภาวะเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งสองกิจการไม่ได้แตกต่างกัน

“การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการทำกำไร ท่ามกลางปัจจัยเชิงบวกของเศรษฐกิจมหภาค การเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว ทำให้การไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4 ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากการลดลงของอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า” (TRUE)

และ “ปี 2566 เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโดได้พอสมควรท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเกิดจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ในขณะที่ยังเผชิญความท้าทายในด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มรากหญ้า” (AIS)

 

ว่าไปในภาพกว้างขึ้น ด้วยมองไปข้างหน้า ถือได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อสารไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญด้วย อ้างอิงดัชนีที่มาตัวเลขชุดหนึ่งในรายงานผลประกอบการปี 2566 (อ้างถึงข้างต้น) สะท้อนความเป็นไปเช่นนั้น นั่นคือสัดส่วนเลขหมายยังคงอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำ ระหว่างผู้ใช้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด กับผู้ใช้บริการ 5 G (TRUE 51.9/10.5 และ AIS 44.6/9.2)

ข้างต้นมีความเชื่อมโยง “ผู้ยึดครอง” กับมุมมองเชิงบวก ว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจยังคงเปิดกว้าง

“อุตสาหกรรมให้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้นเทคโนโลยี 5 G ยังเป็นเครื่องยนต์พื้นฐานในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยผู้ให้บริการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่าย 5 G ของตนทั้งในด้านคุณภาพและความครอบคลุม และยังคงความพยายามส่งเสริม ผู้ใช้งานมีการใช้งานบนระบบ 5 G เพิ่มขึ้น เป็นผลให้จำนวนผู้ใช้บริการ 5G เติบโตอย่างก้าวกระโดด” AIS นำเสนอบทวิเคราะห์ข้างต้นไว้อย่างตั้งใจ

ขณะ TRUE เสนอแผนการใหญ่ทางธุรกิจไว้ ให้ภาพบางมิติ สัมพันธ์และเกี่ยวกับมุมมองที่ว่าเช่นกัน

“การลงทุนด้านเครือข่ายที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป้าหมายคือการเพิ่มความเร็วสูงสุดของเทคโนโลยี 5 G ขึ้นสองเท่า และเพิ่มผู้ใช้บริการเทคโนโลยี 5 G ขึ้นสามเท่าหลังจากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการเพิ่มความครอบคลุมของเครือข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเขตการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นร้อยละ 99 และร้อยละ 90 ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ TRUE ตั้งใจเจาะจงขยายจินตนาการธุรกิจตามตามแบบแผนธุรกิจที่ดำเนินมา ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่มีความแตกต่างจาก AIS อยู่บ้าง อ้างถึงระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่เรียกว่า True’s smart living ecosystem โดยยกตัวอย่างบริหารอันหลากหลาย อาทิ “ระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้าน (Home security) อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoTs) นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ (Smart energy) และอื่นๆ อีกมากมาย”

“ผู้ยึดครอง” กับพลังขับเคลื่อนยิ่งใหญ่ที่เป็นมา เชื่อว่ามาจากมุมมอง และเดิมพันข้างต้นด้วย อย่างมิพักสงสัย •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com