การปฏิวัติ 2475 -2476 ประชาชนคือผู้ชม หลัง 2516 จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท (2)

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

การปฏิวัติ 2475 -2476

ประชาชนคือผู้ชม

หลัง 2516 จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท (2)

 

ยกที่ 2…กบฏบวรเดช 11-24 ตุลาคม 2476

หลังเปิดสภา รัฐบาลพระยาพหลฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ กลับสู่ประเทศไทย และเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2476 สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอำมาตย์เก่าและผู้สูญเสียอำนาจ พระองค์เจ้าบวรเดชจึงตัดสินใจทำการยึดอำนาจกลับ

10 ตุลาคม 2476 ฝ่ายกบฏยึดนครราชสีมา วันที่ 11 ตุลาคม นำทหารจากนครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และอยุธยา ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบางเขนและดอนเมือง ฝ่ายกบฏได้ยื่นคำขาดกับรัฐบาลว่า…

คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลลาออกภายใน 1 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และขอให้โปรดเกล้าฯ ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย…

แต่คำตอบของคณะรัฐบาลคือ กระสุนปืนใหญ่ เข้าถล่มกบฏ

วันที่ 13 ตุลาคม พวกกบฏเริ่มถอย ในตอนค่ำกองทหารบางส่วนจากจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางเข้าสู่พระนครร่วมมือกับรัฐบาลปราบกบฏ

วันที่ 23 ตุลาคม พระยาสิทธิสงคราม มือขวาของพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกยิงตายในสนามรบ

วันที่ 24 ตุลาคม ทหารกบฏที่ปากช่องยอมแพ้เพราะต้านทหารรัฐบาลไม่ไหว ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศ ไปลี้ภัยที่ไซ่ง่อน ผู้นำทหารกบฏ ประกาศยอมแพ้ ถูกจับหลายร้อยคน

ยกที่ 2 นี้ใช้เวลา 15 วัน แต่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงอำนาจแบบเป็นจริง

 

ปฏิวัติประชาธิปไตย…

ทำให้เกิดการปฏิรูปหลายด้าน

ใน 15 ปีแรก

หลังปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน

15 พฤศจิกายน 2476 มีการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ได้ ส.ส. 78 คน พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ท่านได้ผลักดันให้มีการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่น

2 มีนาคม 2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ขณะที่ประทับอยู่ต่างประเทศ

7 พฤศจิกายน 2480 สภาครบวาระ เลือกตั้งใหม่ โดยประชาชนเลือกตรงครั้งแรก มี ส.ส. 91คน พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ อีกครั้ง ไม่ถึงปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ 2481 พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) เป็นนายกฯ เมื่ออายุ 41 ปี อาจารย์ปรีดีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อายุเพียง 38 ปี

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีการออกประมวลรัษฎากร เพื่อจัดการภาษีให้เป็นระบบและมีความเป็นธรรมมากขึ้น คือมีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย จัดทำระเบียบแบบแผนงบประมาณแผ่นดิน

มีการริเริ่มการจัดตั้งธนาคารชาติไทยเป็นครั้งแรกในประเทศเพื่อควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน

การปฏิรูปสังคมสยาม… มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2475 กำหนดภาคบังคับให้เรียนถึงประถม 4 ตั้งโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนพาณิชย์ โรงเรียนสารพัดช่าง มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ

รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ได้เริ่มทำการแก้ไขต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลอาจารย์ปรีดีได้แก้ไขสำเร็จผ่านรัฐสภาในเดือนเมษายน 2489 เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

คือกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ พฤฒภาและสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา

สมาชิกทั้งสองสภาและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง

 

ประชาธิปไตย หรืออำนาจนิยม

เดือนธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.จำต้องร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น แต่อาจารย์ปรีดีก็ตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น การต่อสู้ในทางการเมืองก็ค่อยๆ แบ่งแยกออกเป็น 2 แนวทาง ญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 2488

24 มีนาคม 2489 ท่านปรีดีได้รับเลือกและแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก และได้เจรจาแก้ไขสัญญาที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ลงนามไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเสียเปรียบมาก จนอังกฤษยอมผ่อนปรนข้อเรียกร้องต่างๆ อาทิ แก้ไขสัญญาการให้ข้าวเปล่าเป็นการซื้อขาย

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เกิดกรณี ร.8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

แต่ศัตรูทางการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมก็ใส่ร้ายป้ายสีท่านปรีดีว่าเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์ จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2489 หลังจากนั้นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดีให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัน ทำรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีต้องหนีออกนอกประเทศ

การเมืองเปลี่ยนโฉมทันที

 

ยกที่ 3…รัฐประหาร และรัฐประหาร

เผด็จการครองอำนาจ 25 ปี

1.คณะรัฐประหาร 2490 ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายน 2491 ก็ถูกรัฐประหาร “เงียบ” นายควงลาออก จอมพล ป.เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ

29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป.ได้กระทำการยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างภัยคอมมิวนิสต์ สืบทอดอำนาจแบบเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญไปจนถึงปี 2500 รวม 10 ปี จึงปิดฉากเพราะถูกทำรัฐประหาร จอมพล ป.ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

2. ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการเต็มใบ

กันยายน 2500 มีการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้รัฐธรรมนูญเหมือนเศษกระดาษที่ถูกฉีกทิ้ง ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, ให้ ส.ส. และ ส.ว. สิ้นสภาพลงในทันที ระบบการปกครองเป็นเผด็จการแบบเต็มตัว

จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด, ผบ.ทบ. และอธิบดีกรมตำรวจด้วย จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ อยู่จนถึงเดือนธันวาคมปี 2506 ก็ป่วยและเสียชีวิตลง รวมเวลาครองอำนาจ 6 ปี

3. จอมพลถนอม กิตติขจร สืบทอดอำนาจต่ออีก 5 ปี… และจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 แต่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ 2 ปีกว่า 17 พฤศจิกายน 2514 รัฐประหารล้มรัฐบาลตัวเอง ยุบสภาทิ้ง แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์

ระบอบถนอม-ประภาสปกครองต่อมา (รวม 10 ปี) จนถูกขับไล่จากประชาชนในการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

 

สรุปได้ว่าตั้งแต่ 2475 จนถึง 2515 นับเวลารวมได้ 40 ปี ประชาชนเป็นเพียงผู้ชม โอกาสการพัฒนาประชาธิปไตยก็มีเพียงช่วงสั้นๆ การปกครองของฝ่ายเผด็จการกลับมีมากกว่า

ประชาชนมีโอกาสเข้าร่วมอย่างเด่นชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการพัฒนาและขยายการต่อสู้สืบทอดกันจนถึงยุคที่มีตุลาการภิวัฒน์

จะวิเคราะห์ให้เห็นในตอนหน้า