มุกดา สุวรรณชาติ : ยืดไปอีกปี…ก็ไม่ดีขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย…ถูกพม่าแซง (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

สถานการณ์การเมืองกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้ง แต่มี 2 ความเห็นบางคนบอกว่าที่จำเป็นต้องเลื่อนช้า เพราะปกครองแบบนี้ง่ายกว่า

บ้างก็ว่าเป็นการรอคอยตามคำพยากรณ์ที่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นขอให้คอยไปราวๆ 1-2 ปี แต่ 3 ปีที่ผ่านมายังมองไม่เห็นวี่แววแม้ช่วงนี้อ้างว่าตัวเลข GDP จะดูดีขึ้น แต่สภาพของประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นล่างขณะนี้ยากลำบากมาก ผู้ประกอบการค้ารายย่อย รายกลางก็กำลังเจ๊ง ล้มกันไปเป็นจำนวนมาก หนี้เสียของผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่กับธนาคารก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้น 1,800 จุด ไม่ได้มีผลช่วยให้เกษตรกร คนจน คนชั้นกลางและผู้ค้ารายย่อยได้ประโยชน์อะไรด้วยเลย กำไรจากหุ้นซึ่งยังลอยอยู่ในอากาศเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ เหมือนคนที่ถูกลอตเตอรี่ไม่กี่คน

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ถูกลอตเตอรี่ด้วย หรือบางคนไม่เคยซื้อลอตเตอรี่เลย ดังนั้น คน 90% จึงไม่ได้ประโยชน์อะไร

เศรษฐกิจจะดีขึ้นจริงหรือ? มีโครงการอะไรบ้างที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในช่วง 1-2 ปีนี้ 

เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย
เป็นแค่ความหวัง

1. หลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาล คสช. ได้ผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ Special Economic Zone (SEZ) ระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ (1) แม่สอด/ตาก (2) สระแก้ว (3) ตราด (4) มุกดาหาร และ (5) สงขลา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อ

ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

สร้างงาน

กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

จัดระเบียบบริเวณชายแดน แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามายังพื้นที่ตอนในของประเทศ

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ซึ่งทั้ง 5 พื้นที่เป้าหมายมีเนื้อที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ รัฐบาลคิดว่าได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีฐานการผลิต มีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและแรงงาน ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง และไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ลงทุนใน SEZ จะได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่ของ BOI โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี

แต่เรื่องจริงคือ…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ Special Economic Zone (SEZ) ระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน มีต่างชาติลงทุนน้อยมาก ที่ถึง 1,000 ล้าน มีแห่งเดียว คือสงขลา และต่ำสุดคือสระแก้ว 19.8 ล้าน

2. นอกจากนี้ ไทยจะยังมีโครงการใหญ่ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยหวังจะให้เป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน

แต่ EEC ก็เป็นโครงการที่จะหวังผลได้ต้องใช้เวลา อีกยาวนานมาก ซึ่งคู่แข่งคงไม่หยุดนิ่ง

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่า

คู่แข่งที่น่าสนใจคือเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่าที่ชื่อว่า ติลาวา (Thilawa Special Economics Zone) ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากนครย่างกุ้งประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ที่พม่าร่วมทุนกับญี่ปุ่น และมีต่างชาติสนใจมาลงทุนมากมาย

เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาอาจเป็นแรงดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ กลายเป็นคู่แข่งสำคัญต่อการลงทุนในไทย และคู่แข่งถัดมาก็น่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายซึ่งทั้งสองแห่งจะมีผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษในไทยอับแสงลงได้

ทำไมญี่ปุ่นถึงทุ่มเทเงินลงทุนมหาศาลเข้าไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่า เนื่องจากวิสัยทัศน์ของทั้งผู้นำประเทศและกลุ่มทุนที่มองเห็นอนาคตความได้เปรียบจากสภาพภูมิศาสตร์และตลาดการค้าซึ่งมิได้หมายถึงภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าหมายในระดับโลกด้วย

นี่คือการได้เปรียบเสียเปรียบที่จะวิจารณ์ต่อไป

แต่ตอนนี้ดูตัวเลขจริง Special Economic Zone (SEZ) ของไทย ซึ่งทีมงานคัดย่อโดยการรวบรวมของ…TCIJ …จากข้อมูลธุรกิจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ข้อมูล ณ 19 ธันวาคม 2559, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560)

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก

เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่

1. ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)

2. ฝั่งตะวันตกสามารถเป็นประตูเชื่อมไปยังย่างกุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพม่า และสามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนตอนใต้

และ 3. พื้นที่ชายแดนฝั่งพม่ายังมีแรงงานจำนวนมากพร้อมรองรับการพัฒนาที่แม่สอด รวมทั้งสามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วม (co-production) กับนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี (พม่า)

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตากครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 14 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 886,875 ไร่

ปี 2559 บริษัทในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มีจำนวน 1,313 ราย ทุนจดทะเบียน 4,657.67 ล้านบาท ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจคนไทย ขนาดเล็ก

การลงทุนของต่างชาติ มีน้อยมาก มีมูลค่าทั้งสิ้น 555.53 ล้านบาท โดยประเทศที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไต้หวัน ทุนจดทะเบียน 172.86 ล้านบาท (31%) 2.ฮ่องกง 56.49 ล้านบาท (10%) 3.ญี่ปุ่น 52.12 ล้านบาท (9%) 4.พม่า 41.45 ล้านบาท (7%) 5.จีน 23.01 ล้านบาท (4%)

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

ถูกตั้งเป้าให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ …เป็นช่องทางสำคัญของไทย ในการขนส่งสินค้าไปยังพนมเปญและเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งสามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วม (co-production) กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง (กัมพูชา) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากนักลงทุนไทย เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า กล่องใส่เครื่องประดับซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในกลุ่มได้รับสิทธิ (Generalized System of Preferences : GSP)

มีพื้นที่ 2 อำเภอ 4 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 207,500 ไร่

ปี 2559 มีผู้ดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 131 ราย ทุนจดทะเบียน 933.35 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก 127 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย

การลงทุนของชาวต่างชาติ น้อยมาก มีมูลค่าทั้งสิ้น 19.81 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยประเทศที่ลงทุน ได้แก่ 1.จีน ทุนจดทะเบียน 13.40 ล้านบาท (68%) 2.กัมพูชา 5.37 ล้านบาท (27%) 3.เกาหลี 1.04 ล้านบาท (5%)

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร

ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) สามารถเชื่อมโยงสู่ลาว เวียดนาม และประเทศในแถบตะวันออกไกล (ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน)

เป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้า เช่น เครื่องดื่ม ผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

สามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (สปป.ลาว) ที่มีลงทุนการจากหลากหลายประเทศ เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูปจากญี่ปุ่น (Nikon) เป็นต้น

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 361,542 ไร่

ปี 2559 มีการลงทุนต่างชาติน้อยมาก มีมูลค่าทั้งสิ้น 34.94 ล้านบาท ได้แก่ 1.มาเลเซีย 9.78 ล้านบาท (28%) 2.จีน 8.12 ล้านบาท (23%) 3.ลาว 5.12 ล้านบาท (15%) 4.อินเดีย 2.00 ล้านบาท (6%) และ 5.สหรัฐอเมริกา 1.79 ล้านบาท (5%)

 

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด

ถูกตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่ง ขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางให้บริการด้านการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค

เป็นเมืองประตูการค้าชายแดน มีด่านการค้าบ้านหาดเล็กรองรับการพัฒนา มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้า โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (เกษตรอินทรีย์)

มีฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง (กัมพูชา) ซึ่งมีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น โรงงานรถยนต์เกาหลี (Hyundai) โรงงานผลิตวอลเลย์บอล (Mikasa) และผลิตสายไฟในรถยนต์ (Yazaki) จากญี่ปุ่น

กินพื้นที่ 3 ตำบล ในอำเภอคลองใหญ่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 31,375 ไร่

ธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด มีจำนวน 102 ราย รวมทุนจดทะเบียน 338.50 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 98 ราย ธุรกิจขนาดกลาง 3 ราย

แต่การลงทุนต่างชาติ มีมูลค่าทั้งสิ้นแค่ 22.41 ล้านบาท ได้แก่ 1.ฝรั่งเศส ทุนจดทะเบียน 20.58 ล้านบาทเพื่อทำโรงแรมและรีสอร์ต (91.8%) 2.อินเดีย 0.78 ล้านบาท (3.5%) 3.กัมพูชา 0.10 ล้านบาท (0.4%) 4.จีน ไทเป 0.10 ล้านบาท (0.4%)

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา

ถูกตั้งเป้าให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

เป็นพื้นที่ภายใต้โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ขยายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะโอกาสการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างสะเดากับบูกิตกายูฮีตัม (มาเลเซีย) เพื่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งสามารถขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนต่อเนื่องในแนวทางด่วนเหนือ-ใต้ (North-South Expressway) ในมาเลเซียเข้าสู่พื้นที่ตอนในของมาเลเซีย

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 1 อำเภอ 4 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 345,187.5 ไร่

มีผู้ลงทุนจำนวน 412 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 5,149.96 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก 385 ราย ขนาดกลาง 21 ราย และขนาดใหญ่ 6 ราย

การลงทุนของชาวต่างชาติในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,283.73 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของมูลค่าทุนทั้งหมด

โดยประเทศที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย ทุนจดทะเบียน 1,279.66 ล้านบาท (99.7%) 2.อังกฤษ 1.10 ล้านบาท (0.1%) 3.ลิเบีย 0.98 ล้านบาท (0.1%) ลงทุนการผลิตสิ่งของที่ทำจากยาง ทุนจดทะเบียน 321.00 ล้านบาท (25.0%) 2.ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ 312.06 ล้านบาท (24.3%) 3.โรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด 197.94 ล้านบาท (15.4%)

ไม่มีคำวิจารณ์ต่อการลงทุนแบบจุ๋มจิ๋ม เหมือนเด็กเล่นขายของ ใน SEZ ชายแดน แต่คาดได้ว่า SEZ 1.8 ล้านไร่ของไทย คงสู้ SEZ 15,000 ไร่ของพม่าไม่ได้…ซึ่งผู้ลงทุนทุกชาติมีเหตุผล

 

ทำไมญี่ปุ่นถึงทุ่มเทเงินลงทุน
เข้าไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา

วิสัยทัศน์แบบห้ามผู้ปฏิบัติงาน…ชาร์ตโทรศัพท์ในที่ทำงาน…คงไม่สามารถมองการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบข้ามประเทศ หรือข้ามทวีปได้ สถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบันจึงน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกรรมการยุทธศาสตร์…กลัวจะเอาโซ่มาล่ามขาเอกชนจนไม่สามารถแข่งขันได้

คู่ค้าขาใหญ่ และคู่แข่งของไทย ยังเป็นจีน…ญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านก็เติบโตก้าวหน้าขึ้น เขาคิดกันอย่างไร? 5 ปีข้างหน้าจะแข่งกันอย่างไร? ไทยจะถูกเบียดไปอยู่ตรงไหน?

(ต่อฉบับหน้า)