หมานำทางส่ง ‘ขวัญ’ ขึ้นฟ้า

โลกหลังความตายสมัยดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าหมานำทางส่งขวัญชนชั้นนำที่ตายถาวรแล้ว ออกเดินทางไกลไปทางน้ำ ขึ้นฟ้า เพื่อสิงสู่อยู่รวมพลังกับขวัญบรรพชนที่มาถึงก่อนนานแล้ว

ทำโดยฆ่าหมาฝังไปกับศพ ให้ผีขวัญหมานำทางผีขวัญคน จึงพบโครงกระดูกหมา

ในหลุมศพหลายแห่ง เช่น บ้านโนนวัด (ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา), บ้านเชียง (อ.หนองหาน จ.อุดรธานี)

และมีรูปหมาในภาพเขียนบนเพิงผาและผนังถ้ำแสดงผีขวัญบรรพชน เช่น ภูปลาร้า (อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี), ถ้ำผาลายแทง (อ.ภูกระดึง จ.เลย), เขาจันทน์งาม (อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา)

มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว คนเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ให้กำเนิดคน และมีอำนาจพิเศษนำทาง ขณะเดียวกันหมาก็นำพันธุ์ข้าวจากฟ้าให้คนปลูกกิน ฯลฯ

[มีรายละเอียดอีกมากในบทความเรื่อง “บทบาทของหมาในตำนาน และพิธีกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์” โดย ปฐม หงษ์สุวรรณ พิมพ์ในวารสาร อักษรศาสตร์ ฉบับนิทาน ตำนาน จินตนาการ ความจริง (โดย ศิราพร ณ ถลาง บรรณาธิการประจำฉบับ) ปีที่ 35 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2549) หน้า 213-241]

คำบอกเล่ามีเพิ่มเติมว่าหมานำทางผีขวัญขึ้นฟ้า แล้วขากลับนำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้มนุษย์ปลูกกินเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน

หมา 9 หาง แต่ก่อนคนเรากินเผือกกินมัน เพราะไม่รู้จักกินข้าว และไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก

ครั้งนั้นหมาตัวหนึ่งมี 9 หาง ได้ขึ้นไปบนสวรรค์ แล้วเอาหางจุ่มลงไปในกองข้าวจะขโมยพันธุ์ข้าวของสวรรค์ที่ติดหางทั้ง 9 ของหมาลงมาให้มนุษย์

เทวดาใช้เทพวุธฟาดหางขาด 8 หาง ทำให้หมาเหลือหางเดียวพร้อมพันธุ์ข้าวติดมาให้มนุษย์ปลูกกิน นับตั้งแต่นั้นมนุษย์ก็รู้จักปลูกข้าวกิน

ความใกล้ชิดกับผีขวัญทำให้หมาคุ้นเคยและรู้ความเคลื่อนไหวของผี จึงทำให้คนต่อมาเชื่อว่าหมาหอนเมื่อพระสงฆ์ตีระฆังในวัด เพราะเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปว่าขณะนั้นหมาเห็นผี

หมากับคน เมื่อหลายพันปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาจันทน์งาม นครราชสีมา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2531)
     ภาพเขียน 2,500 ปีมาแล้ว บนเพิงผา (เขาจันทน์งาม) บริเวณศูนย์กลางพิธีกรรม (เฮี้ยน) ของชุมชนดั้งเดิมลำตะคอง (เมืองเสมา) ลุ่มน้ำมูล
     (1.) รูปผี (ขวัญ) ของกลุ่มชนชั้นนำที่ตายแล้ว ไม่ใช่รูปคนที่มีชีวิต (2.) หมา เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (3.) พิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ในการแสวงหาอาหาร (มีในเดือน 5-จันทรคติ-เมษา-หน้าแล้ง) ของคนแรกเริ่มลำตะคอง ลุ่มน้ำมูล

หมาถูกทำให้ตาย

พิธีฝังศพในอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว คนในบางชุมชนต้องทำหมาให้ตายแล้วฝังรวมกับศพ เพราะเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์รู้ทางขึ้นฟ้า ผีขวัญของหมาจะพาผีขวัญของคนตายเดินทางไกลไปทางบก-ทางน้ำ แล้วขึ้นฟ้าสิงสู่อยู่รวมกับผีขวัญบรรพชนที่ตายไปก่อน เพื่อเป็นพลังปกป้องคุ้มครองคนที่มีชีวิตอยู่ในชุมชน

นักโบราณคดีขุดค้นหลายแห่งพบโครงกระดูกหมาฝังรวมกับศพคนที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี), ที่บ้านโนนวัด (จ.นครราชสีมา) และที่อื่นๆ นอกจากนั้น ยังพบรูปหมาเป็นภาพเขียนบนเพิงผาและผนังถ้ำในที่ต่างๆ ตั้งแต่มณฑลกวางสี (ทางใต้ของจีน) ถึงไทย เช่น เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

หมา (บน) ทำท่าขึ้นฟ้ามี 9 หาง หมา (ล่าง) ทำท่าเหินลงมาจากฟ้าเหลือหางเดียว มีผีขวัญบรรพชนจูงควาย ภาพเขียนสี ราว 2,500 ปีมาแล้ว บนเขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร)

สัตว์นำทาง

ต้นเหตุที่คนสมัยเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว ยกย่องหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ใกล้ชิดผี แล้วนำทางผีขึ้นฟ้าได้สำเร็จ เพราะหมาเป็นสัตว์นำทางให้คนยุคแรกเริ่มแสวงหาอาหารด้วยการล่าสัตว์และอื่นๆ หมาจึงใกล้ชิดคนเป็นพิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ พบในวิถีของชาวลัวะภาคเหนือ [จากหนังสือ ลัวะ เมืองน่าน ของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2530 หน้า 188] จะขอคัดบางตอนมาดังนี้

ชาวลัวะเชื่อกันว่าหมาเป็นสัตว์พิเศษ มีนัยน์ตาที่สามารถมองเห็น “ผี” ได้ ชาวลัวะจึงนิยมเลี้ยงหมาไว้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด คือ ให้กินและนอนบนเรือนได้ อาหารที่ให้ก็เหมือนคนกิน เวลาไปไหนต่อไหนก็จะให้หมาตามไปด้วย โดยเฉพาะเวลาเข้าป่าหายิงสัตว์ หมาจะเห็นผีอยู่ในป่าได้รวดเร็วและชัดเจน

“มีชายหนุ่มคนหนึ่งอยากจะรู้เห็นได้ดีเหมือนหมา จึงลงทุนควักนัยน์ตาตัวเองออก แล้วก็กลายเป็นตาบอดคลำทางไปเรื่อยๆ หมาก็เห่าเอาๆ จนในที่สุดหมาสงสาร ลงทุนควักนัยน์ตาตัวเองออกมาใส่ให้นาย จากนั้นก็กลายเป็นเรื่องดีไป คือ เห็นผีได้ดีทั้งหมาและคน

โครงกระดูกหมา (แบบเต็มโครงสมบูรณ์) ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบ ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคเดียวกัน (เมื่อ พ.ศ.2547) ที่วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี (ภาพจากสุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

เพื่อนบ้านคนหนึ่งเห็นเข้าก็ชอบใจ อยากจะเห็นผีได้ดีเช่นนั้นบ้าง ถามได้ความว่า ต้องควักนัยน์ตาตนเองออกมา แกเลยทำตามอย่างบ้าง ครั้นหมาเห่า ก็โมโห ตีหมาจนเจ็บ หมาก็เลยไม่ควักนัยน์ตาให้เหมือนรายแรก เพื่อนบ้านคนนั้นก็เลยต้องตาบอดไปโดยไม่ได้ตาหมาตอบแทน”

ในชีวิตประจำวันของชาวลัวะ การเลี้ยงหมาไว้ในบ้าน กินนอนในบ้านนั้น ไปไหนก็ไปด้วยกัน ชาวลัวะจะรู้สึกเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เพราะเชื่อว่าหมาสื่อความกับผีได้รู้เรื่อง หมาจึงคุ้มครองตนให้ปลอดภัยได้

ความเชื่อเรื่องหมาเช่นนี้ อาจเป็นที่มาของพิธีกรรมก่อนสมโภชขึ้นครองเมือง ให้ลัวะจูงหมาพาแซก (นำหน้า) ไปก่อน เท่ากับให้หมาเป็นผู้นำทาง คุ้มครองความปลอดภัย กันผีที่จะมาทำร้ายได้ •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ