อภิปรายสานสัมพันธ์

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

อภิปรายสานสัมพันธ์

 

เมื่อฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็นฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คงเป็นเรื่องที่นิสิตนักศึกษาในรุ่นปัจจุบัน เห็นว่าการแข่งขันนั้นมิใช่เพียงแค่ประเพณีที่ต้องทำแบบสืบทอดกันมา แต่มองลึกลงไปถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันที่มุ่ง “สานสัมพันธ์” ระหว่างสถาบัน มากกว่าการเป็นแค่ “ประเพณี”

การอภิปรายทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีได้ใน 3 กรณี คือ

มาตรา 151 การอภิปรายทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะ

มาตรา 152 การอภิปรายทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ

และมาตรา 153 การอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ โดยทั้งสามกรณีดังกล่าวมีกรอบกำหนดในมาตรา 154 ว่า สามารถกระทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งในแต่ละกรณี

เมื่อหนึ่งปีมี 2 สมัยประชุมสามัญ การขอเปิดอภิปรายโดยฝ่ายค้านจึงแทบกลายเป็นประเพณีว่า ในแต่ละสมัยประชุม จะมีการเข้าชื่อกันของเปิดอภิปรายทั่วไปหนึ่งครั้ง โดยหนึ่งครั้งเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 151 และอีกครั้งเป็นใช้สิทธิตามมาตรา 152

วันที่ 3-4 เมษายน พ.ศ.2567 เป็นวันที่ฝ่ายค้านที่ประกอบด้วยพรรคหลักคือพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติ แต่จะเป็นการทำตามประเพณีในฐานะฝ่ายค้านที่เข้มข้นจริงจัง หรือจะเป็นเพียงการอภิปรายที่ยั้งมือเพื่อสานสัมพันธ์รอวันร่วมกันเป็นรัฐบาลนั้นไม่แน่ชัด

 

ประเด็นที่สามารถหยิบยกมาอภิปราย

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2566 เท่ากับทำหน้าที่ในการบริหารประเทศมาเกือบ 7 เดือน แม้ว่าจะมีข้ออ้างเรื่องพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2567 มีความล่าช้าสืบเนื่องจากการเสียเวลาในการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

แต่สิ่งที่ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาก็ยังสามารถหยิบยกมาเป็นประเด็นอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงได้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเร่งด่วนต่างๆ ที่ตั้งใจดำเนินการในกรอบระยะสั้น อาทิ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่ประชาชน 50 ล้านคน การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ที่ยังไม่เห็นความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ

การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่ได้แก้ที่รากฐานแต่ใช้เงินจากกองทุนมาสนับสนุนจนติดลบนับแสนล้านบาท

การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งแม้จะมีจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่มาจากสถานการณ์หลังโควิดทั่วโลก

ส่วนนโยบายเร่งด่วนข้อสุดท้ายคือการเร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งแทบจะไม่มีคืบหน้าใดๆ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่มาศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการทำประชามติเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็มาวนกลับให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าควรทำประชามติกี่ครั้งอีกรอบ

ทุกประเด็นนโยบายระยะสั้น ล้วนมีบาดแผลมากมายที่ฝ่ายค้านสามารถหยิบมาเป็นประเด็นอภิปรายที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

 

นโยบายระยะกลางและระยะยาว

ที่ยังไม่เห็นผล

การสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิต และคืนศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย เป็นนโยบายระยะกลางและยาวที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา

ทุกเรื่องล้วนอาจต้องใช้เวลา นับแต่การเจรจาการทูตเชิงเศรษฐกิจ การเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆ การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การสนับสนุนพลังสร้างสรรค์ Soft Power ต่างๆ จะเห็นนโยบายที่พอรุดหน้าได้เร็วบ้างก็เป็นเรื่องที่เคยวางรากฐานมานานแล้ว เช่น การขยายการยกระดับการบริการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม

การหยิบเอานโยบายระยะกลางกละยาวมาเป็นประเด็นอภิปรายทั่วไป จึงอาจไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาลที่เพิ่งบริหารประเทศเพียงไม่ถึง 7 เดือนนัก

 

บาดแผลฉกรรจ์

กรณีการรับโทษของอดีตนายกฯ ทักษิณ

กรณีการรักษาตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในห้องวีไอพีโรงพยาบาลตำรวจถึง 180 วันจนครบเงื่อนไขการพักโทษนอกเรือนจำ ยังคงเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของรัฐบาลชุดนี้ในด้านการอำนวยการในกระบวนการยุติธรรม

จะอ้างคำวินิจฉัยของแพทย์ ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ สิทธิในการรักษาพยาบาลของนักโทษ การรักษาความลับในข้อมูลการรักษาของผู้ป่วย การอนุมัติที่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายของผู้มีอำนาจในแต่ละระดับ แต่ภาพการไม่ต้องติดคุกจริงแม้แต่วันเดียวและการได้พักรักษาตัวในห้องพิเศษหรูหราของโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ทำให้เหตุผลคำชี้แจงต่างๆ ดูน่าเชื่อถือ

แม้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยแถลงว่า หากมีการหยิบยกกรณีดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการอภิปรายถึงกรณีดังกล่าว จะมีการประท้วงเพราะเป็นการกล่าวถึงคนนอกแต่ในมุมของการทำหน้าที่รัฐบาลเพื่ออำนายการให้เกิดความยุติธรรมและเป็นธรรมในสังคม

ประเด็นดังกล่าวคงไม่แคล้วถูกหยิบยกมาพูดเพื่อตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกแม้จะมีคำอธิบายจากฝ่ายรัฐบาลในหลายครั้งหลายโอกาสไปแล้วก็ตาม

 

ท่าทีที่จริงจังหรือถนอมไมตรี

พรรคประชาธิปัตย์ เคยแสดงท่าทีประสงค์จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยมีข่าวในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลถึงแกนนำของกลุ่ม ส.ส.ในปัจจุบัน ไม่ปฏิเสธเรื่องการเดินไปพบนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งอยู่ต่างประเทศ

พรรคก้าวไกล เคยเป็นพรรคที่จับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 และยังมีข่าวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังคงสายสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล เดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศเช่นกัน

พรรคประชาธิปัตย์ จึงอาจหวังอยู่ลึกๆ ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล อาจมีโอกาสจับมือกับพรรคเพื่อไทยอีก ด้วยเหตุที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีอดีตการเป็นพรรคตรงข้ามทางการเมืองกันอีกแล้ว

ในขณะที่พรรคก้าวไกล เหลือบมองไปแทบไม่มีพันธมิตรทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกันให้จับมือด้วย จึงยังไม่คิดแตกหักหรือมองพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูทางการเมืองอย่างถาวร เผื่อความหวังว่าในอนาคตหากยังไม่สามารถครองเสียงเกินกว่าครึ่งของสภาก็อาจยังต้องจับมือกับเพื่อไทย

แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่พร้อมจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมและพร้อมกลับมือจับมือกับพรรคก้าวไกลหากการเมืองมีการพลิกผัน

 

สานสัมพันธ์ ไม่ใช่ประเพณี

การเลือกใช้ มาตรา 152 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3-4 เมษายน 2567 แทนที่จะเป็นการใช้มาตรา 151 ที่จบลงด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจ ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของแกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนอันเนื่องจากแนวโน้มที่อาจจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคและตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

ด้านหนึ่งอาจจะมาจากการที่ยังเป็นเวลาที่น้อยเกินไปสำหรับรัฐบาลในการบริหารประเทศ

แต่อีกด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการถนอมไมตรีเพื่อสานสัมพันธ์ในการร่วมมือทางการเมือง

การเมืองนั้น ไม่จำเป็นก็ไม่ควรสร้างศัตรูถาวรให้กลายเป็นข้อจำกัดในอนาคต